×

From Generations to Collaborations กลยุทธ์สร้างคนเพื่อส่งต่อ DNA ของธุรกิจ

03.11.2023
  • LOADING...

การส่งต่อธุรกิจ SMEs หรือ Family Business ที่ประสบความสำเร็จในรุ่นปัจจุบันไปยังมือของรุ่นถัดไป คีย์เวิร์ดสำคัญคือ Alignment หรือการสื่อสารและสร้างความชัดเจนระหว่างทุกคนในองค์กร ไม่ใช่แค่เฉพาะรุ่นปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างความเข้าใจและเป้าหมายที่ตรงกันกับคนทุกรุ่น

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดที่ 5 ของซีซั่น 7 นี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน คุณวีชัชชฎา ยงสุวรรณกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟิร์ม จำกัด มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างคนและ DNA ขององค์กร รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างธุรกิจ

ระหว่างธุรกิจครอบครัวกับองค์กรขนาดใหญ่ มีความแตกต่างในเรื่องของค่านิยมองค์กรอย่างไรบ้าง

 

สำหรับธุรกิจครอบครัว เราพบว่าค่านิยมหรือคาแรกเตอร์การขับเคลื่อนองค์กรมาจากผู้ก่อตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะลักษณะของผู้สร้างธุรกิจจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตให้การขับเคลื่อนองค์กรเป็นไปในแบบฉบับที่เขาเป็น ซึ่งถ้าถามว่ามีความแตกต่างอย่างไรกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวัฒนธรรมองค์กรชัดเจน คำตอบคือองค์กรใหญ่จะมีความโปรเฟสชันนัล ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างองค์กร ที่สำคัญคือจะมีภาพชัดเจนว่าไม่มีคนที่เป็นเจ้าของเบอร์หนึ่ง ซีอีโอเป็นเพียงแค่ผู้ขับเคลื่อนองค์กรเท่านั้น ฉะนั้นการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรขนาดใหญ่จึงมีคาแรกเตอร์และวิธีการที่แตกต่างจากธุรกิจครอบครัวซึ่งมีผู้ก่อตั้งเป็นตัวเป็นตนอย่างชัดเจน

 

แต่ทุกธุรกิจในโลกนี้ ก่อนที่จะโตไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่ได้ก็ต้องมาจากผู้ก่อตั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาทั้งสิ้น โดยเฉพาะในบ้านเราที่ 70-80% ของธุรกิจเป็น SMEs ตรงนี้มันเป็นธรรมชาติที่มีทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนในระยะเวลาที่เหมาะสมของการเจริญเติบโต ธุรกิจที่เริ่มสตาร์ตขึ้นมาในแต่ละสเตจของการเติบโตมันมีทั้งจุดเด่นและมีทั้งจุดที่ต้องปรับปรุงไปพร้อมๆ กัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้การที่เรามองว่าธุรกิจจะมี New S-Curve หรือมีการขยายอะไรต่างๆ ก็อยู่ที่การขับเคลื่อนของผู้บริหารที่จะมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งเช่นกัน

 

ที่สำคัญคือถ้าคุณเป็นสตาร์ตอัปที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตสู่ความแข็งแกร่ง จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะไม่เจอกับ Founder’s Trap คือสมมติธุรกิจของคุณโต ร่ำรวย สินค้าติดตลาด แต่ถ้าคุณติดกับดักความมั่งคั่งนั้น แล้วไม่ปรับโครงสร้างการเติบโตขององค์กรไปสู่สเตจอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นก็จะเป็นข้อด้อยของตัวผู้บริหารเอง

 

เราจะสังเกตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Founder’s Trap ได้อย่างไร

 

เชื่อว่านักธุรกิจทุกคนเขารู้ตัวอยู่แล้ว แต่การที่จะใช้เครื่องมืออะไรเข้าไปขยับเขยื้อนตัวเองได้นั้น อันดับแรกต้องเป็นเรื่องของมายด์เซ็ต ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เริ่มเอ็นจอยความมั่งคั่งและความสำเร็จจะมี 2 แบบ แบบแรกคือมีความสุขกับความสำเร็จแล้วก็ทำเหมือนเดิมต่อไป กับอีกแบบหนึ่งคือเขาจะมีแพสชันสูงมาก ไม่หยุดทำ อยากจะโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ในมุมนี้ถ้าเรามาโฟกัสกับคนที่อยากโต เวลาอยู่ในสเตจที่จะโตได้ คุณต้องทำโครงสร้างของตัวเองให้ดี บอกเลยว่า SMEs ส่วนใหญ่ 99% ที่ประสบความสำเร็จ หลังบ้านจะไม่ค่อยสวย และเขารู้ตัวเองอยู่แล้วด้วย ดังนั้นถ้าเป็นอะไรที่ต้องเดินเข้าไปสู่วงสังคม หรือเปิดให้คนมาร่วมลงทุนหรือโตไปด้วยกัน จะต้องมีการปัดฝุ่นหลังบ้านครั้งใหญ่เลยทีเดียว

 

ฉะนั้นโครงสร้างแรกที่ทุกคนควรจะมองสำหรับการขยาย การส่งต่อ หรือการเติบโต ในมุมที่สินค้าเราแข็งแรงแล้ว มีรายรับเข้ามาพอสมควรแล้ว คือต้องกลับมาดูหลังบ้านว่าเรามีโครงสร้างที่แข็งแรง พร้อมสำหรับการขยายไปสู่สเตจอื่นมากน้อยแค่ไหน นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

 

ถ้าขยายความเรื่องโครงสร้างในมุมมองของธุรกิจครอบครัว อย่างแรกเลยที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือโครงสร้างการบริหารจัดการ ธุรกิจทั่วๆ ไปโดยปกติจะมี 4-5 ด้าน เช่น แผนกเซลส์, มาร์เก็ตติ้ง, บัญชี, ทรัพยากรบุคคล หรือโปรดักชัน ซึ่งนี่คือหลังบ้านทั้งสิ้นที่เราจะต้องทำให้โครงสร้างตรงนี้มันมีความโปรเฟสชันนัล เช่น ถ้าเป็นการเงิน คุณก็ต้องเคลียร์ให้โปร่งใส เป็น Good Governance มีบัญชีเดียว รวมถึงการวางโครงสร้างที่เชื่อมโยงระหว่างแผนกต่างๆ ทำให้มันเชื่อมโยงเป็นแนวทางเดียวกัน (Alignment) การควบคุมต่างๆ เกิดจากลักษณะของแผนกหรือหน่วยงาน ไม่ใช่ให้เถ้าแก่มาสั่งอย่างเดียว

 

อย่างที่สองคือคุณต้องเช็กตลอดเวลาว่าธุรกิจของตัวเองอยู่ในกระแสหรือเปล่า เป็น Sunrise หรือ Sunset ตรงนี้ต้องคอยเช็กเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ทำ เราอาจจะไปสู่จุดที่เรียกว่า Get Stuck ฉะนั้นการเช็กเทรนด์ของธุรกิจก็จะช่วยทำให้เรามี New S-Curve อยู่ตลอดเวลา

 

อีกมุมหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวมักจะพูดถึงเรื่องผู้สืบทอด หรือ Successor ถ้าหากยังไม่ได้ปรับโครงสร้างเข้าไปสู่ความเป็นตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เกือบร้อยทั้งร้อยเขาก็จะมองลูกหลานในครอบครัวเพื่อส่งต่อ ดังนั้นก็ต้องมีการวางแผนเรื่องนี้เอาไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนและรอบคอบ

 

การส่งต่อธุรกิจไปพร้อมกับวัฒนธรรมองค์กร ทำอย่างไรให้คนรุ่นต่อไปยังสามารถรักษาความเป็นองค์กรแบบเดิมได้ 

 

ถ้าพูดในมุมของธุรกิจครอบครัว คำว่าวัฒนธรรมองค์กรมันอาจเป็นภาพที่ยังไม่ชัด แต่ถ้าจะให้แตะก็คงเป็นคำว่า Value คือคุณค่าของธุรกิจครอบครัวนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยอะไร เพราะโดยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นลักษณะของการขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เช่น องค์กรจะถูกขับเคลื่อนโดยการส่งมอบวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่มา 130 ปี เขามักจะมองกลับไปที่บรรพบุรุษเสมอ เช่น อากงสอนมาว่าอย่างไร คุณพ่อมีนิสัยที่ขยันและอดทน ถึงแม้จะรวยแต่ก็ประหยัด มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือส่วนใหญ่จะถูกขับเคลื่อนด้วยความเป็นสมาชิกครอบครัว และวิธีการสร้างค่านิยมต่างๆ ก็จะมาจากแพสชันของคนคนนั้นที่เรามองเห็นจากสภาพแวดล้อมของสมาชิกในครอบครัวด้วยกันเอง

 

คราวนี้พอค่านิยมถูกส่งต่อมาแบบนี้ ก็ต้องบอกว่ามันก็มีความยากลำบากเล็กน้อยในมุมของการขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ที่มักจะมีคนสองรุ่นทำงานด้วยกัน ซึ่งมันแยกไม่ขาด แล้วก็คงต้องเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะการทำงานในรูปแบบธุรกิจครอบครัว ถ้าคุณยังไม่ได้ผันตัวเองไปสู่ระบบมืออาชีพแบบที่มีผู้บริหารมาอยู่ระดับ C Level แสดงว่าคุณต้องขับเคลื่อนโดยสมาชิกครอบครัวที่มาทำงานร่วมกันใน Top Level เมื่อเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะมีคนสองรุ่นมาทำงานด้วยกัน เพราะนี่คือธรรมชาติของการส่งต่อ

 

แต่พอคนสองรุ่นมาทำงานด้วยกันก็จะมีเรื่องของยุคสมัยที่มีความแตกต่าง แน่นอนว่าคำว่าค่านิยมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งมันไม่ควรจะตายตัว และมันก็ใช้ไม่ได้จริงๆ เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็ต้องมีการดีเบตกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่าเราควรจะเก็บอันนี้ไว้ไหม หรือเราควรจะทำอะไรใหม่ ฉะนั้นเวลาที่เราเข้าไปให้คำปรึกษาก็จะมีการถกเรื่องนี้เป็นประตูด่านแรกๆ เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ของแต่ละบ้าน แต่ละสินค้า หรือแต่ละธุรกิจ เขาจะต้องคุยกันเองว่าคาแรกเตอร์ที่เหมาะกับบ้านเขาเป็นอย่างไร

 

อยากสร้าง Alignment ระหว่างคนสองรุ่น ควรทำอย่างไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ยังดี และธุรกิจยังเดินหน้าต่อได้

 

ไม่ยากเลย คุณแค่ต้องพยายามนำโครงสร้าง Alignment แบบองค์กรใหญ่ๆ เข้ามาใช้ นั่นคือ Seamless Communication การสื่อสารที่ไม่มีจุดสะดุด วันนี้ในองค์กรขนาดใหญ่เขากำลังพยายามทำสิ่งนี้ คือทำให้การสื่อสารมันทะลุกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นระดับแผนก แนวตั้ง หรือแนวนอน

 

แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจครอบครัว ถ้าอยากจะให้คนที่เคยชี้นิ้วสั่งมาสื่อสารการทำงานแบบ Seamless Communication ไปถึงข้างล่างก็ต้องบอกว่าเป็นงานที่ไม่ง่าย แล้วก็ต้องใช้กระบวนการและมายด์เซ็ตที่ต้องเปิดใจ รวมถึงใช้ความต่อเนื่องในการสร้างระบบให้เป็นนิสัย อาจจะเริ่มจากการทำธรรมนูญครอบครัว ที่มันจะเกิดคำว่าสภาครอบครัวขึ้น ซึ่งเปรียบเหมือน Horizontal Level Communication คือเจ้าของและลูกหลานคุยกันเองในสภาครอบครัว แต่อีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำคือเรื่องของ Executive Board Level คือการดึงพนักงาน ผู้บริหาร หรือหลงจู๊ที่อยู่ในองค์กรขึ้นมาร่วมงาน และทำให้เกิดการสื่อสารที่มีความต่อเนื่องด้วยกัน ทำให้พนักงานได้มีโอกาสมาระดมสมองร่วมกัน และทำให้เกิด Alignment ส่งต่อไปยังกลุ่มที่เป็นคนทำงานจริงๆ

 

อยากนำคนนอกเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว ควรทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น

 

ก่อนอื่นต้องถอยออกมาหนึ่งสเตปก่อน ปัญหาทุกวันนี้ที่เราเจอกันบ่อยคือทางฝั่งเจ้าของ เพนพอยต์คือเราหามืออาชีพมาทำงานแบบนี้ยากมาก ทุกวันนี้คำว่าโปรเฟสชันนัลจริงๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนและเปลี่ยนองค์กรได้คือพวก Top Level แต่การที่ SMEs จะได้คนนอกที่เป็นมืออาชีพมาทำงาน เต็มที่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นแค่ Middle Level เพราะมืออาชีพที่เก่งๆ การที่จะเดินเข้ามาในองค์กร SMEs เขาต้องคิดหนักนะ คนที่เก่งแล้วจะเดินเข้ามาในองค์กรที่ยังไม่มีโครงสร้างชัดเจน แสดงว่าคนคนนั้นต้องกล้าและมี Turning Point ของชีวิตตัวเองสุดๆ ที่จะยอมเดินลงมาลองสู้สักตั้งกับโครงสร้างที่ไม่คุ้นเคย

 

ต่อมาคือถ้าหากมีมืออาชีพเข้ามาร่วมงานแล้ว เพนพอยต์อีกอันหนึ่งคือการส่งมอบอำนาจจากเจ้าของเดิมสู่มืออาชีพที่มารับช่วงต่อมันไม่ขาด และสุดท้ายจะกลายเป็นเป้าหมายไม่ชัด มองคนละมุม ทำงานได้ยากขึ้น และผลลัพธ์ที่ดีจะไม่เกิด ดังนั้นตราบใดที่เจ้าของต้องการคนนอกจริงๆ คุณจะต้องปรับมายด์เซ็ตเลยว่าสิ่งที่ตัวเองเคยควบคุมไว้ หรือประสบการณ์ที่มีมา 30-40 ปีแล้วบอกว่ามันถูกต้อง บางทีต้องยอมปล่อยออกไปบ้างเพื่อให้มันเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบฉบับเดิมๆ 

 

คำแนะนำสำหรับการส่งต่อสู่คนรุ่นถัดไป ทำอย่างไรให้ยังสามารถสานต่อธุรกิจได้อีกหลายเจเนอเรชัน

 

การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอย่างราบรื่นและยั่งยืนจริงๆ มีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่ 2 ด้าน

 

หนึ่ง เรื่องของ Alignment การพูดคุยกันให้ทะลุปรุโปร่งของคนทั้งสองรุ่นที่ทำงานร่วมกันหรือเชื่อมต่อกัน รวมไปถึงทุกๆ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่วมกันในบ้าน ในธุรกิจนี้ ซึ่งการพูดคุยแบบมีโครงสร้างก็หนีไม่พ้นเรื่องของกฎระเบียบ ค่านิยม วิสัยทัศน์ ใครมีหน้าที่ มีสิทธิอะไรในธุรกิจบ้าง สิ่งเหล่านี้มันถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญครอบครัวทั้งสิ้น สมาชิกในครอบครัวควรจะค่อยๆ เริ่มคุยไปทีละข้อก็ได้เพื่อให้การปรับโครงสร้างการทำงานมันเกิดขึ้นจริงๆ บนโต๊ะ ไม่ใช่ใต้โต๊ะ

 

สอง ถ้าจะอยู่กันแบบยั่งยืน คุณต้องกลับไปดูเรื่องพื้นฐานทั้งหมด นั่นก็คือหลังบ้านของธุรกิจที่เราอธิบายไปแล้วในช่วงต้น เพราะถ้าไม่ปรับ มันจะกลายเป็นเรื่องยากในภายหลัง

 


 

Credits 

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising