ทุกวันนี้ เรื่องของความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่แต่ละธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากต้องการที่จะสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความยั่งยืนมาพร้อมกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม แล้วสำหรับ SMEs ที่อาจไม่ได้มีทรัพยากรเหลือเฟือจะเลือกลงทุนอย่างไรเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนไปพร้อมกัน
THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดที่หกของซีซั่นนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน พนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนองค์กร และ GRI Certified Sustainability Professional มาช่วยแชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องการปั้นธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นิยามของ ‘ความยั่งยืน’ คืออะไร
ถ้าพูดในมุมมองส่วนตัว เราจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ความยั่งยืนระดับโลก ซึ่งจะเป็นไปตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ เขาบอกว่าความยั่งยืนคือการส่งมอบความสามารถในการใช้ชีวิตของเราในวันนี้ไปสู่เจเนอเรชันถัดไป สู่คนในโลกอนาคต เรากำลังจะส่งมอบสังคมที่ดีหรือทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อให้เขาไปใช้ในอนาคตได้เหมือนกับที่เราใช้ นี่คือความยั่งยืนในมุมมองสากล ฉะนั้นธุรกิจต่างๆ หรือภาคเอกชนที่มีการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจเยอะมากๆ มีการจ้างงาน มีการใช้ทรัพยากร และมีการสร้างมลพิษเยอะมาก ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้เพื่อส่งมอบให้คนรุ่นถัดไป
ต่อมาคือ ความยั่งยืนในระดับองค์กร (Corporate Sustainability) ถ้าถามว่าทำไมองค์กรของคุณถึงต้องยั่งยืน ก็เพราะคุณต้องซัปพอร์ตโลกใบนี้ ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน การดูแลทรัพยากรต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ทรัพยากรต่างๆ ยังคงมีอยู่เพื่อคนในรุ่นถัดไปนั่นเอง
การให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อองค์กร
สำหรับที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนขององค์กร จริงๆ แล้วมีหลายขนาดและหลายรูปแบบมาก ทั้งบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก บริษัทต่างประเทศ บริษัทโลคัล หรือแบบรายบุคคลก็มี เราจะมีหน้าที่ในการเข้าไปให้คำแนะนำบริษัทที่ต้องการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยสามารถให้คำแนะนำตั้งแต่องค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นไปจนถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจว่า ในการที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืนในบริษัท เราจะต้องเริ่มต้นที่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง
แต่การให้คำปรึกษาธุรกิจที่อยากจะเริ่มดำเนินการเรื่องความยั่งยืนก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทขององค์กรนั้น ไม่ว่าจะเป็นขนาด อายุ หรือตามข้อบังคับของธุรกิจที่เขาพบเจอมาว่าตนเองจะต้องปรับปรุงด้านไหน ซึ่งข้อนี้เราก็จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนและให้คำแนะนำว่าควรจะต้องทำอย่างไร
ส่วนสิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าองค์กรของคุณจะอยู่ในรูปแบบไหน นั่นก็คือเรื่องของกฎหมายหรือกฎระเบียบ เช่น กลต. เขาจะกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินเป็นรายงานประจำปี แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนสภาพเป็น 56-1 One Report ซึ่งจะมีทั้งงบการเงิน รวมไปถึงการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วย ซึ่งจะต้องเปิดเผยผลการดำเนินงานในด้านของสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเข้ามา
ความยั่งยืนคือการส่งมอบความสามารถในการใช้ชีวิตของเราในวันนี้ไปสู่เจเนอเรชันถัดไป สู่คนในโลกอนาคต
โอกาสที่ซ่อนอยู่ของ SMEs ในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน
จริงๆ แล้ว SMEs มีโอกาสที่ดีกว่าบริษัทใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ เพราะมีขนาดเล็ก ทำให้ค่อนข้างคล่องตัว ตัดสินใจได้ง่าย ปรับตัวเองได้ง่ายกว่าบริษัทใหญ่ ส่วนในเรื่องของการดำเนินธุรกิจก็มีโอกาสเยอะ เพราะตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในเรื่องของกฎหมายและความสนใจของผู้บริโภค ซึ่งบางทีบริษัทใหญ่ๆ อาจไม่ได้ลงไปทำ ทำให้พอจะมีช่องทาง Niche Market ที่ SMEs สามารถแทรกตัวเข้าไปหาโอกาสทางธุรกิจได้จากตรงนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย การสร้างสมดุลจึงสำคัญมาก เพราะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดควบคู่ไปกับความยั่งยืนในระยะยาวด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรมองคือความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเลือกทำ มันเป็นเรื่องของมายด์เซ็ตที่เราต้องทำเพื่อความอยู่รอดทั้งระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ และถ้าเราสามารถผนวกความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในธุรกิจได้ เราก็จะสามารถอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ได้เช่นกัน
ต่อให้เศรษฐกิจจะถดถอยอย่างไร แต่ทั้งโลกโดนเหมือนกันหมด ขณะเดียวกันความสนใจของผู้บริโภคหรือกฎหมายต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนไป มันยังคงเหมือนเดิม ฉะนั้นถ้าเราจัดการทรัพยากรได้ สามารถจัดการกับเรื่องปัจจุบัน และยังมองไปถึงอนาคตได้ด้วย เมื่อถึงวันหนึ่งที่เศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่จุดเดิม เราจะสามารถไปต่อในอนาคตได้ยาวๆ มันเหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมในแต่ละด้านเอาไว้ก่อน เราต้องรู้ว่าประเด็นไหนที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนั้นๆ ที่จะทำให้คุณสามารถอยู่รอดได้ นั่นคือสิ่งที่คุณจะต้องทุ่มทรัพยากร วางระบบการจัดการให้ดี อย่ามองแค่ระยะสั้น ให้มองในภาพรวม
ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ต่างหาก
เฟรมเวิร์กสำหรับ SMEs ในการจัดลำดับประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนภายในองค์กร
การที่เราจะหาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของแต่ละธุรกิจ จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่มันจะมีมาตรฐานบางอย่างอยู่ เช่น GRI (Global Reporting Initiative) ที่บอกว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีประเด็นอะไรบ้างที่สำคัญ และเราควรจะโฟกัสอะไรก่อนหลัง ซึ่งเราควรจะต้องมาดูอีกทีว่าอะไรที่เหมาะกับธุรกิจของเรา ประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องของ ESG ที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนของเราและของโลกด้วย โดยมีเช็กลิสต์ดังนี้
- รู้ว่า Purpose ของธุรกิจคืออะไร เราอยู่ไปเพื่ออะไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร และกำลังส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับสังคม ข้อนี้สำคัญมากๆ เพราะมันจะทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง
- รู้ว่าปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง เช่น เทรนด์ของโลก การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค หรือกฎหมายต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
- รู้ว่าตัวเราสร้างผลกระทบอะไรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้าง โดยดูจากห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง เราสร้างอะไร แล้วเราจะสามารถเพิ่มคุณค่าลงไปในแต่ละห่วงโซ่ได้อย่างไร
- นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล จะทำให้รู้ได้ว่าประเด็นใดที่สำคัญสำหรับธุรกิจเรา ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Material Topics เสร็จแล้วก็จะเริ่มวางกลยุทธ์จากข้อมูลตรงนี้ว่าควรจัดการอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง จะลงเงินหรือลงคนเท่าไร เพื่อโฟกัสให้ถูกจุดว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด
แต่สำหรับ SMEs บางกลุ่มที่อาจไม่ได้มีทรัพยากรมากพอ คำแนะนำง่ายๆ เลยคือให้เริ่มรับผิดชอบต่อผลกระทบของตัวเองก่อน สิ่งที่น้อยที่สุดที่สามารถทำได้คือการปฏิบัติตามกฎหมาย นี่คือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการเริ่มต้นง่ายๆ จากตัวเราเอง เช่น รับกลุ่มคนพิการเข้ามาทำงาน หรือจ้างงานผู้สูงอายุที่เขาอยากมีรายได้ เป็นต้น เราสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมได้ ขณะเดียวกันก็ยังลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของเรา เช่น ถ้ากระบวนการผลิตเรามีขยะเยอะจะจัดการอย่างไร หรือถ้าขายอาหารแล้วมีของเหลือ แทนที่จะทิ้ง เราจะจัดการกับเศษอาหารเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง
ขั้นต่อมาคือทำให้มันดีขึ้น เช่น กฎหมายกำหนดให้ปล่อยน้ำเสียได้เท่านี้ แต่เราจะทำให้ดีกว่านั้น โดยเอาน้ำไปรีไซเคิลในกระบวนการให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราลดค่าน้ำประปาได้อีก ในขณะที่เราก็ช่วยโลกได้มากขึ้นด้วย แต่ส่วนมากคนจะมองความยั่งยืนเฉพาะในมุมของสิ่งแวดล้อม เพราะมันเป็นเรื่องที่วัดง่าย เห็นตัวเลขชัด แต่จริงๆ แล้วมันมีเรื่องของมิติทางสังคมด้วย ก็คือคนภายในองค์กรของเรา ถ้าเราดูแลพนักงานดีๆ พนักงานก็ไม่อยากไปไหน มีใจในการทำงาน มีใจในการให้บริการ ฉะนั้นผลผลิตก็จะดีขึ้น ไม่มีความล่าช้า ลูกค้าพอใจ สุดท้ายแล้วผลกระทบเชิงบวกก็จะกลับมาที่ธุรกิจของเราเช่นเดียวกัน
วัดผลความสำเร็จด้านความยั่งยืนด้วยการตั้งเป้าแบบ SMART Goals
- Specific เป้าหมายต้องชัดเจน
- Measurable วัดได้จริง
- Achievable มีความเป็นไปได้ สามารถไปถึงได้จริง
- Relevant เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราทำอยู่
- Time-Bound ต้องมีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจนในการติดตามผล เช่น ทุก 3 เดือน, ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี
วิธีการที่จะรู้ว่าเราเดินทางมาถึงจุดที่สำเร็จแล้วหรือยัง ต้องย้อนกลับไปที่ Purpose ของเราว่าอยากจะทำอะไร เป้าหมายระยะยาวในอนาคตขององค์กร 5-10 ปีข้างหน้า เราอยากจะไปอยู่ที่จุดไหน แล้วตอนนี้เราเป็นอย่างไร มันมีช่องว่างอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง ฉะนั้นเราสามารถตั้งเป้าได้เป็นช่วงๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดที่เราต้องการ วิธีนี้จะทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจในการค่อยๆ เดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
อย่าไปกลัวว่าลงทุนไปแล้วจะเสียเปล่า เพราะถ้าไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยบริษัทของคุณก็ยั่งยืนแน่นอน
กรณีศึกษาขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืน
ขอยกตัวอย่างร้านอาหารที่เขาใหญ่ ชื่อร้าน ‘เป็นลาว’ เขาเริ่มมาจากเพิงเล็กๆ ที่ขายได้วันละ 30 บาท ซึ่งจุดประสงค์เริ่มต้นของการทำร้านนี้ไม่ได้มาจากความต้องการในการทำร้านอาหาร แต่เพราะอยากจะช่วยเหลือลูกน้องเก่าที่สูงอายุ ตกงาน แต่ยังอยากมีรายได้
โดยเจ้าของร้านเขามี Purpose ที่ชัดเจนมากว่าถึงจะเป็นร้านอาหารสำหรับคนตัวเล็ก แต่เป็นคนตัวเล็กที่มี Big Inspiration ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังอยู่ คนที่ไม่มีโอกาสทางสังคม เขาเอามาทำงานในร้านนี้หมดเลย เมื่อเขาสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง เด็กๆ ที่อยู่ในละแวกนั้นก็ได้มาทำงานแบ่งเบาภาระพ่อแม่ เป็นต้น
อีกทั้งร้านนี้ก็ยังใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากชาวบ้านในท้องถิ่น และไม่ใส่ผงชูรสเลย ซึ่งตรงนี้คือการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ จนทำให้สามารถขยายร้านไปได้เรื่อยๆ จนถึงวันนี้ผ่านมา 15 ปีแล้ว ร้านนี้มีสาขาอยู่ที่สิงคโปร์ และได้ Michelin Bib Gourmand ถึง 2 ปีซ้อน
สิ่งที่อยากฝากทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการ SMEs
อยากให้กำลังใจ SMEs ทุกคน เพราะเราทราบดีอยู่แล้วว่ากว่าที่คุณจะตั้งตัวและก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ อย่างแรกคือต้องมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการอยู่ในตัว มีเลือดนักสู้ และนอกจากที่เรามีทรัพยากรต่างๆ อยู่กับตัวนั้น สิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมเข้าไปคือเรื่องของ Sustainability Mindset เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่เราเพิ่งมาทำทีหลัง แต่เราสามารถเบลนด์มันเข้าไปในแนวคิด ซึ่งถ้าทำได้ดี มันก็ช่วยส่งเสริมเรา สิ่งดีๆ จะขึ้นกับตัวเราเอง อย่าไปกลัวว่าลงทุนไปแล้วจะเสียเปล่า เพราะถ้าไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยบริษัทของคุณก็ยั่งยืนแน่นอน
Credits
Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน
Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader วรรษมล สิงหโกมล
THE STANDARD Webmaster Team
THE STANDARD Archive Team