×

From Legacy to Unity: วางยุทธศาสตร์เพื่อสานต่อธุรกิจระยะยาว

11.10.2023
  • LOADING...

ธรรมนูญครอบครัวคืออะไร หลักการแนวคิดของเรื่องนี้ประกอบไปด้วยประเด็นไหน และทำไมจึงสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจและการส่งมอบความสำเร็จไปสู่รุ่นถัดไป

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน วิเชฐ ตันติวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว มาเล่าถึงการสร้างธรรมนูญครอบครัวตั้งแต่ 3 หลักปฏิบัติ จนไปถึงขั้นตอนการลงมือทำจริงในแบบที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น และทำให้ผู้ชมฟังสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อการวางยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน 

 


 

ธรรมนูญครอบครัว คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

 

ธรรมนูญครอบครัว (Family Charter) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนเป็นกฎของบ้าน เป็นข้อตกลงของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ว่าจากนี้ไปบ้านเราจะทำอะไร จะสืบทอดธุรกิจกันอย่างไร หรือจะมีวิธีแบ่งสมบัติกันอย่างไรในอนาคต แล้วถ้าหากมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น เรามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะมาช่วยแก้ไขให้สถานการณ์เป็นไปอย่างราบรื่น และที่สำคัญคือธรรมนูญครอบครัวเป็นข้อตกลงในการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

 

ธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ แต่คนไทยยังไม่ค่อยมองเห็นตรงนี้ชัดเจน เพราะคิดว่าการสั่งสอนลูกหลานให้ทำธุรกิจมันเป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะมีพื้นฐานความขยัน มีรูปแบบการสั่งสอนโดยการทำให้ดู หรือพาไปพบเจอกับลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเราก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพียงแต่การทำธรรมนูญครอบครัวนั้นเป็นการนำเอาแนวปฏิบัติมาเขียนให้เป็นตำรา ให้เป็นข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างสมาชิกในครอบครัว 

 

ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองคิดว่าพ่อของเราตอนที่อายุ 50 กับ 80 ปีนั้นแตกต่างกัน ท่านอาจจะมีความหลงลืมบ้าง หรือบางเรื่องที่เคยตัดสินใจด้วยเหตุผลอย่างหนึ่ง แต่เมื่ออายุมากขึ้น เรื่องเดียวกันที่เกิดขึ้นอาจจะถูกตัดสินด้วยเหตุผลอีกแบบหนึ่ง นั่นแสดงว่าความผิดเพี้ยนในเรื่องการให้เหตุผลก่อนจะตัดสินมันมีอยู่ เนื่องจากการหลงลืม ความซับซ้อน หรืออายุที่มากขึ้น ดังนั้นธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือในการล็อกเอาไว้ไม่ให้หลงลืม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เหตุการณ์จะผ่านไปกี่ปี การตัดสินใจจะเป็นเหมือนเดิม

 

หลักปฏิบัติ 3 ข้อ สำหรับธรรมนูญครอบครัว

 

1. หลักการปกครองกันเองในครอบครัว

 

เป็นสิ่งที่ต้องทำผ่านสภาครอบครัว (สมาชิกในครอบครัว) มารวมตัวพูดคุยกันว่าใครจะเป็นกรรมการของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่อาวุโสที่สุดในครอบครัวจะเป็นประธาน หรืออาจเป็นผู้อาวุโสที่ไม่ใช่ญาติ แต่เรานับถือเขาคนนั้นในฐานะที่บุกเบิกธุรกิจมาด้วยกัน รู้เรื่องครอบครัวเราทั้งหมด เขาก็มีสิทธิ์อยู่ในสภาครอบครัวได้เช่นกัน โดยสภาครอบครัวจะคุยกัน 3 เรื่อง คือ

 

  • การบริหารเงินกองทุนครอบครัว คือการแบ่งปันผลประโยชน์จากธุรกิจครอบครัว รายได้ เงินปันผลต่างๆ
  • การลงทุนเปิดธุรกิจใหม่ เช่น ตั้งบริษัท ซื้อที่ดิน การร่วมธุรกิจกับคนอื่นๆ
  • สวัสดิการ ตกลงกันว่าจะดูแลคนในครอบครัวอย่างไร ทั้งคนแก่ที่ไม่ได้ทำงานแล้ว หรือลูกหลานที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัว

 

2. หลักการทำธุรกิจของครอบครัว

 

เป็นการตกลงกันว่าจะทำธุรกิจครอบครัวอย่างไร ในเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจคือคนในครอบครัว แต่บางครั้งผู้ที่ถือหุ้นอยู่ในธุรกิจอาจเป็นชื่อคนคนเดียว เมื่อมีกำไรหรือปันผลเกิดขึ้น จึงไม่ควรเป็นแค่เจ้าของหุ้นที่จะได้รับส่วนแบ่งก้อนนั้น เพราะเชื่อว่าผู้ก่อตั้งธุรกิจอย่างพ่อแม่นั้นคาดหวังให้มีดอกผลร่วมกันในครอบครัว


ฉะนั้นการทำธุรกิจครอบครัวจึงต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจน หุ้นตัวไหนหรือที่ดินผืนไหนที่คุณถืออยู่ในชื่อตัวเอง ถ้าหากเป็นในนามของครอบครัวก็ให้เอาขึ้นมาอยู่ใน Family Wealth ไม่ใช่ Corporate Wealth เราถึงต้องมีการตั้งกองทุนครอบครัวขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่า Holding Company โดยผู้ถือหุ้นจะเป็นสมาชิกครอบครัวทั้งหมด และนำรายได้จากตรงนี้กลับเข้าไปลงทุนหรือถือหุ้นใน Operating Company อีกทีหนึ่ง ในที่สุดรายได้จากธุรกิจครอบครัวไม่ว่ามาจากทางไหนหรือปันผลมาเท่าไรก็จะมารวมกันอยู่ที่ Holding Company แล้วค่อยนำรายได้ตรงนั้นไปแชร์กันในครอบครัว ซึ่งเมื่อกติกาตรงนี้ชัดเจน ทุกคนก็ไม่สามารถจะออกไปจากกรอบตรงนี้ได้ เพราะมันถูกบันทึกไว้หมดแล้วในธรรมนูญครอบครัว 

 

3. หลักการถ่ายโอนให้รุ่นต่อรุ่น

 

เรียกว่าเป็นหลักการหา Successor หรือคนรุ่นต่อไปที่จะก้าวขึ้นมาบริหารธุรกิจก็ว่าได้ ซึ่งถ้าไม่มีการคุยหรือบันทึกข้อตกลงส่วนนี้เอาไว้ ส่วนใหญ่มักจะมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น กรณีนี้ถ้าในครอบครัวมีลูกแค่คนเดียวก็จบ แต่ถ้าหากมีลูกสองคนขึ้นไป แล้วคนไหนที่เก่งที่สุด หรือลูกแต่ละคนอาจจะไม่ยอมกันเลย แต่เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าธรรมนูญครอบครัวเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่าคนที่เหมาะสมจะต้องเป็นมีคุณลักษณะแบบไหน การคัดเลือกเบอร์หนึ่งขึ้นมาจากท่ามกลางลูกหลานหลายๆ คนที่มีอายุใก้ลเคียงกัน เป็นสายเลือดเดียวกัน จะคัดเลือกด้วยคุณสมบัติอะไร ด้วยคณะกรรมการชุดไหน กติกามันจะแฟร์มากขึ้น เรื่องของความรักกับความเหมาะสมจะถูกแยกออกกัน พูดง่ายๆ คือถ้ามีปัญหาให้อ้างตำราอย่างเดียว 

 

ธรรมนูญครอบครัว เป็นเหมือนกฎของบ้าน และเป็นข้อตกลงในการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง 

 

เมื่อไรที่ธุรกิจควรจะคิดเรื่องธรรมนูญครอบครัว ต้องเริ่มและจัดลำดับความสำคัญอย่างไรบ้าง 

 

ถ้าสิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายที่คุณต้องการ ธรรมนูญครอบครัวช่วยได้ 

 

  1. คุณอยากที่จะให้ Corporate Wealth กับ Family Wealth ถูกบริหารจัดการอย่างชัดเจน 
  2. คุณอยากให้ลูกหลานสืบทอดธุรกิจต่อไปในอนาคตโดยที่ไม่ต้องทะเลาะกันหรือไม่
  3. คุณอยากที่จะทำให้หุ้นทั้งหมดตกอยู่ในครอบครัวนี้ นามสกุลนี้ไปตลอดหรือไม่

 

จากประสบการณ์ที่เคยสอนเรื่องนี้มาหลายร้อยครอบครัว ทุกคนจะบอกว่าชอบ ดีจัง เจ๋งมาก แต่ปัญหาคือเราอนุญาตให้เข้ามาเรียนเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่ทั้งครอบครัว แต่เวลาเขียนข้อตกลงมันต้องเขียนถึงทุกคน กลายเป็นว่าคนที่มาเรียนรู้ชอบ แต่พอกลับไปทำจริงที่บ้านแล้วยากมาก



ดังนั้นข้อแนะนำคือคนในครอบครัวควรจะต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้ดีๆ ศึกษาดูว่ามันฟังก์ชันดีไหม ถ้าหากคิดเห็นตรงกันว่าดี เวลาอันเหมาะสมที่ควรทำคือตอนที่ยังไม่ทะเลาะกัน เพราะจะตกลงกันได้ง่ายที่สุด 

 

ธุรกิจประเภทไหนที่เหมาะสมและควรจะทำธรรมนูญครอบครัว

 

บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งควรทำธรรมนูญครอบครัว เพราะ 95% ของธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์คือ Family Business ที่เป็นแบบนั้นเพราะไซซ์ของธุรกิจมีความเหมาะสม เนื่องจากราคาค่าจัดการในการทำธรรมนูญครอบครัวค่อนข้างสูง แต่ละเคสใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และมีค่าใช้จ่ายเป็นหลักล้านต่อหนึ่งครอบครัว เพราะเราใช้มืออาชีพทั้งหมด



แต่ละครอบครัวต้องกลับไปถามตัวเองว่ามีข้อกังวลในเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า ตกลงกันให้ดี สมาชิกครอบครัวไม่ควรจะทะเลาะกันจนบริษัทเจ๊ง เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว แต่จะกระทบไปถึงผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ด้วย ฉะนั้นการคุยกันในครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ และบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งควรจะทำ 

 

แต่ถ้ายังไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน จากประสบการณ์คิดว่าบริษัทที่ผ่านการบริหารมาสัก 2-3 เจเนอเรชันก็เป็นเวลาที่เหมาะสม การบริหารต่อหนึ่งรุ่นโดยปกติจะอยู่ที่ 30-35 ปี ถ้าตอนนี้ในครอบครัวเริ่มมีเด็กเล็กรุ่นที่ 3 เกิดขึ้นมา บริษัทก็คงจะมีอายุสัก 60-70 ปีแล้ว ถ้าบริษัทอยู่มาได้ถึงตอนนี้แสดงว่าเริ่มมีความซับซ้อนของธุรกิจเยอะ เปิดบริษัทลูกเยอะ มีสมาชิกครอบครัวเยอะขึ้น มีลูกมีหลานหลายสาย แต่ยังไม่ทะเลาะกัน อนาคตอาจจะเริ่มมีความยุ่งยากเกิดขึ้นว่าต่อไปใครจะขึ้นมาบริหาร เวลาได้รับเงินปันผลจะแบ่งกันอย่างไร เราจะดูแลคนในครอบครัวอย่างไร ถ้าถามคำถามเหล่านี้แล้วตอบไม่ได้ก็ควรทำธรรมนูญครอบครัว แล้วจะไม่ปวดหัวอีกต่อไป เพราะมันจะเป็นเหมือนการทำตำราเอาไว้เล่มหนึ่ง แล้วให้ทุกคนปฏิบัติตามนั้น 

 

ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือในการล็อกเอาไว้ไม่ให้หลงลืม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เหตุการณ์จะผ่านไปกี่ปี การตัดสินใจจะเป็นเหมือนเดิม 

 

ข้อแตกต่างที่ต้องคำนึงถึง ระหว่างการหาผู้สืบทอด (Successor) จากคนในครอบครัว กับการหาคนนอกที่เป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน 

 

ก่อนอื่นคนในครอบครัวจะต้องตกลงกันแล้วว่าไม่มีผู้สืบทอดแล้วแน่ๆ หรือคนที่มีอยู่ไม่มีฝีมือ มีทักษะที่ไม่ตรงสายงาน ก็สามารถเลือกมืออาชีพมาเข้ามาบริหารธุรกิจได้ แต่ด้วยความเขาเป็นคนนอก ข้อเสียคือเขาไม่ได้รักนามสกุลนี้ ฉะนั้นดีลที่ตกลงกันจะต้องชัดเจนมากๆ เช่น ถ้าผลงานถึงเป้าจะต้องจ่ายเขาเท่านี้ ต้องให้หุ้น หรืออื่นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าเราเลือกคนที่ถูกต้อง แล้วเขาเป็นคนที่สร้าง Corporate Wealth ให้เราได้จริงๆ Family Wealth ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีระเบียบที่บอกว่ามืออาชีพที่เข้ามาบริหารควรมีคุณสมบัติแค่ไหนถึงจะมาอยู่ตรงนี้ได้ หรืออาจจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่าทุกคนในครอบครัวเห็นว่าเขามีความจงรักภักดีต่อธุรกิจของบริษัท

 

ส่วนข้อดีก็คือคนนอกไม่มีทางมาแทนที่ Family Wealth เขาจะแชร์ส่วนแบ่งจาก Corporate Wealth เท่านั้น ฉะนั้นการที่เขาสามารถทำให้ Corporate Wealth ดีขึ้นมาคือเป้าหมายเดียว ไม่สนใจว่าได้มาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เขาขอรับส่วนแบ่งตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่แรก ดังนั้นถ้าเรามี Incentive ที่ดี ก็แปลว่า Corporate Wealth จะได้คนที่ฝีมือดีมากๆ มาทำ เพราะแม้ว่าลูกหลานของเราจะไม่เก่งพอ แต่บริษัทยังอยู่ต่อ

 

ตัวอย่างของธุรกิจที่มีธรรมนูญครอบครัว แล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เป็นบริษัททางภาคใต้ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 4 เจเนอเรชัน มีอายุร้อยกว่าปีแล้ว มีสมาชิกหลายสาย รวมๆ แล้วน่าจะ 150 คน แต่ก่อนครอบครัวนี้ทำธุรกิจเหมืองแร่ แต่วันนี้ไม่ได้ทำแล้ว เขาก็ต้องเอาที่ดินมาทำโน่นทำนี่ มีทั้งขาย ให้เช่า หรือทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนในครอบครัวจะทำธุรกิจหลากหลายมาก และแน่นอนว่าเมื่อคนเยอะ สมาชิกบางคนอาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง หรือบางคนอาจจะทิ้งธุรกิจครอบครัวไปแล้วด้วยซ้ำก็มี แต่เพราะว่าเขาทำธรรมนูญครอบครัวเอาไว้ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในสมาชิก เพราะธรรมนูญมันส่งผลแบบนั้น

 

คำถามถัดไปคือเมื่อทุกคนเข้าใจกัน แปลว่าคนในครอบครัวรักกันอยู่ แต่ตอนนี้ Family Wealth มาจากไหนล่ะ ตอนนี้รวยก็รักกัน แต่ถ้าเริ่มไม่มีอะไรกินจะเป็นอย่างไรต่อ คุณจะเอาเงินจากไหนมาแบ่งกัน มันเลยแตะไปที่ Corporate Wealth ต้องไปจัดระเบียบว่าธุรกิจทั้งหมดมีอะไรบ้าง อันไหนควรจะเลิกทำ อันไหนควรไปต่อ อันไหนควรขยาย หรือควรสร้างธุรกิจใหม่เลย เพราะครอบครัวมีที่ดินเยอะ ซึ่งเมื่อมีธรรมนูญครอบครัวก็มีข้อตกลงที่คุยกันรู้เรื่อง และสามารถดึงเอาพลังทั้งหมดที่มีมาช่วยกันคิดว่ารุ่นต่อไปจะใช้แหล่งเงินทุนตรงไหนมาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการคิดแผนอนาคตให้กับลูกหลานตัวเอง ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ดี และเราอยากให้ทุกครอบครัวเป็นแบบนั้น

 

เมื่อมีธรรมนูญครอบครัวก็มีข้อตกลงที่คุยกันรู้เรื่อง และสามารถดึงเอาพลังทั้งหมดที่มีมาช่วยกันคิดว่ารุ่นต่อไปจะใช้แหล่งเงินทุนตรงไหนมาเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

คำแนะนำและข้อควรระวังสำหรับภาคธุรกิจทั่วไปอยากนำหลักการของธรรมนูญครอบครัวไปปรับใช้กับตัวเองบ้าง 

 

ข้อควรระวัง ถ้าพูดแบบสนุกๆ ก็คือระวังจะทำไม่ทัน หมายความว่าอย่ารอให้ถึงตอนที่ทะเลาะกันไปแล้ว มันจะช้าไปและแก้ไขไม่ทัน อยากให้ลองนำหลักการที่บอกไว้ไปคิดเปรียบเทียบกับธุรกิจเราเป็น โจทย์ไหนที่ยังตอบไม่ได้ คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง อย่าคิดว่าปล่อยผ่านไปก่อน ทะเลาะกันแล้วค่อยว่ากัน สุดท้ายมันไม่จบแน่นอน 

 

ฉะนั้นต้องแยกคำว่า Corporate Wealth กับ Family Wealth ให้ออก ถ้าไม่ใช่ครอบครัวอาจจะเป็น Friends Wealth, Group Wealth หรือ Personal Wealth ที่มันจะงอกเงยขึ้นมาจาก Corporate Wealth ไม่มีใครแช่อยู่ในนั้นตลอดเวลาหรอก หรือต่อให้คุณแช่ ไม่มีปันผลเลย ราคาหุ้นก็ต้องขึ้น คุณมีสิทธิ์ขายหุ้นและได้รับเป็น Personal Wealth อยู่ดี เรื่องนี้ต้องดูแลให้เหมาะสมและแฟร์ เนื่องจากมันเป็นของไม่มีชีวิต จึงต้องใส่คนที่มีชีวิตเข้าไป เรื่องของคนก็นานาจิตตัง นานาคาแรกเตอร์ นานาคุณสมบัติ ฉะนั้นจึงต้องมีกฎกติกาที่สำคัญเพื่อให้ได้ The best at that moment 

 

ถ้าเข้าใจหลักการทั้งหมดของมัน คุณก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย อย่างที่บอกไปแล้วว่ามีอยู่ 3 เสาหลัก หากไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว แต่เป็นเพื่อนที่มาก่อตั้งธุรกิจด้วยกัน แล้วคุณต้องการจะปกครองกันอย่างไร จริงๆ มันคล้ายๆ สัญญาผู้ถือหุ้น แต่อันนี้คือสัญญาในการบริหารจัดการ 

 

ส่วนเรื่องผู้สืบทอดยังไม่ต้องพูดถึงในตอนนี้ เพราะยังไม่ถึงจุดนั้น ลืมการแบ่งผลประโยชน์ไปก่อน เพราะธุรกิจไม่ได้เกิดจากสมาชิกครอบครัว แต่การนำเอาหลักการไปใช้มันคือ Good Governance ถ้าบริหารจัดการดี ทุกอย่างมันก็จะดี

 


 

Credits 

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising