×

เช็กลิสต์ทำความเข้าใจ Blockchain สำหรับ SMEs ก่อนเริ่มใช้จริง

05.07.2022
  • LOADING...

SMEs ที่อยากนำ Blockchain มาปรับใช้กับธุรกิจต้องเริ่มอย่างไร ควรพิจารณาจากปัจจัยไหน เหมาะสมกับทุกอุตสาหกรรมหรือไม่ และเพราะอะไร Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญเบื้องหลังโลก Web 3.0

 

เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด คุยถึงนิยามความหมายที่แท้จริงของ Blockchain พร้อมทำความเข้าใจการนำไปใช้จริงกับธุรกิจ พร้อมเคสตัวอย่างจริง ใน THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ที่เดียว 

 


 

Blockchain คืออะไร จะมาสร้างเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้อย่างไรบ้าง

Blockchain แปลตรงตัวก็คือกล่องที่มีห่วงโซ่เชื่อมร้อยธุรกรรมหรือข้อมูลต่างๆ เอาไว้ หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดคือ มันเป็นเหมือนบัญชีสาธารณะที่คอยป้องกันการปลอมแปลง ทุกๆ คนสามารถเข้ามาช่วยกันจดและตรวจสอบธุรกรรมได้ จึงปลอมแปลงได้ยาก และเรายังสามารถไล่ธุรกรรมย้อนไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบเลย รู้ได้ว่าธุรกรรมตรงนี้เกิดจากจุดไหนไปสู่จุดไหน มีการเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง

 

Blockchain ไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับ Crypto เพียงอย่างเดียว แต่มีประโยชน์มากกว่านั้น 

ก่อนอื่นต้องแบ่งประเภทของ Blockchain ก่อน อันแรกคือ Public Blockchain จะเป็นเน็ตเวิร์กคล้ายๆ Ethereum ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าไปดูธุรกรรมของมันได้ทั้งหมด อันที่สองคือ Private Blockchain จะเป็นข้อมูลธุรกรรมที่ใช้สื่อสารกันภายใน คล้ายๆ กับ Intranet ที่นิยมใช้กันภายในองค์กรช่วงที่ยุคอินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้น  

 

ข้อดีของ Blockchain คือความโปร่งใส ปลอมแปลงข้อมูลยาก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น มีองค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งที่เลือกนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เช่น Walmart ที่เอาไปใช้กับเรื่อง Supply Chain หรือบริษัทเฮลท์แคร์ที่นำ Blockchain มาใช้เก็บข้อมูลของคนไข้ ในมุมอุตสาหกรรมก็มีการนำมาใช้ในเรื่องของการระดมทุน นอกจากนี้ธุรกิจสื่อและอื่นๆ ตอนนี้ก็เริ่มมีการประยุกต์ใช้ Blockchain แล้วเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วสามารถใช้ได้หลากหลายแนวทาง ไม่ใช่แค่ธุรกิจด้านการเงินเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปส่งเสริมธุรกิจของตัวเองได้อย่างไรบ้าง

 

ข้อดีของ Blockchain คือความโปร่งใส ปลอมแปลงข้อมูลยาก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

 

สำหรับ SMEs ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก การลงทุนใน Blockchain ควรต้องพิจารณาความเหมาะสมจากอะไรบ้าง

ต้องเริ่มจากการตีโจทย์ก่อนว่าธุรกิจของคุณมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับ Blockchain มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เบสิกที่สุดเลยคือเรื่องการรับชำระเงิน (Payment) ผ่านระบบ Blockchain หรือ Cryptocurrency นั่นเอง อีกอย่างคือการนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิต หรืออาจจะเป็นการ Settlement กันระหว่างองค์กรที่เป็นคู่ค้าของเราก็ยังได้

 

เคสที่เห็นหลักๆ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ สาเหตุเพราะด้วยข้อจำกัดของตัวมันเองคือค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ Blockchain ตอนนี้ยังค่อนข้างสูง ดีเวลลอปเปอร์ก็ยังมีน้อยอยู่ และมันเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก หลายๆ คนจึงยังไม่ค่อยเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจะเอาเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้อย่างไรได้บ้างในธุรกิจของตัวเอง ยิ่งถ้าคุณยังไม่ใช่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผมคิดว่าก็อาจจะยังไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องลงไปอย่างมหาศาล

 

ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เขาจะมีต้นทุนและทรัพยากรเยอะในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการระบบ Blockchain อย่างจริงจัง เพราะว่ามันยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ และมีต้นทุนสูง การศึกษาความเป็นไปได้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำเป็นมาก 

 

แต่ถ้าถามเรื่องตัวเลขการลงทุนเพื่อทำ Blockchain ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมันยังไม่สามารถบอกได้แน่นอนขนาดนั้น มีตั้งแต่ 1 ล้านเหรียญไปจนถึงหลายสิบล้านเหรียญก็มี แต่ส่วนใหญ่เขามักจะเริ่มจากโปรเจกต์เล็กๆ ก่อน เพราะไม่ต้องใช้เงินทุนสูง เริ่มทดสอบกับคู่ค้าไม่กี่คน คอยดูว่าระบบมันเสถียรจริงไหม แล้วค่อยขยายไปสู่คู่ค้ารายอื่นๆ ต่อไป

 

สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ยังมีขนาดเล็ก การตัดสินใจที่จะใช้ Blockchain อาจจะต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะยังมีต้นทุนที่สูงอยู่

 

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain ที่ SMEs นำมาปรับใช้ได้ เพื่อเตรียมพาตัวเองก้าวเข้าสู่ยุค Digitize 

ยูสเคสของ Blockchain ที่น่าสนใจมีหลายรูปแบบ อันแรกที่เห็นกันเยอะคือ Decentralized Finance (DeFi) คือระบบการเงินไร้ศูนย์กลางที่มีเทคโนโลยี Blockchain หนุนหลังอยู่ ซึ่ง SMEs ก็มีโอกาสก้าวเข้าสู่แหล่งเงินทุนใหม่ๆ แบบนี้ได้โดยการระดมทุนผ่านระบบ Blockchain ต่างๆ 

 

ตัวอย่างที่เห็นจากองค์กรใหญ่ๆ ก็เช่น SiriHub Token ก็มีการระดมทุนผ่านเหรียญ ตรงนี้เหมาะสำหรับคนที่มีโปรเจกต์ แต่ไม่มีเงินทุน แทนที่จะไปกู้ธนาคารก็สามารถมาทำผ่านระบบ DeFi ได้ โดยเป็น Investment Token ให้คนทั่วโลกระดมทุนเข้ามา หลังจากธุรกิจไปได้ดีก็ค่อยแบ่งกำไรให้กับนักลงทุน 

 

อีกแบบหนึ่งคือการนำไปใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น Walmart ที่เคยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของผลไม้ที่รับซื้อมาจากหลายแหล่ง เขาแก้ปัญหาโดยการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยด้วยวิธีการ Verify ข้อมูลผลไม้ทุกอย่างลง Database ของเขา เวลาของมีปัญหาหรืออยากจะตรวจสอบสินค้า ก็สามารถสแกนดูข้อมูลผลิตภัณฑ์บนฉลากได้เลยว่าเส้นทางของมันเป็นมาอย่างไร สินค้ามาจากฟาร์มไหน ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ข้อดีของวิธีการนี้คือถ้าสมมติสินค้านั้นเสียหายขึ้นมา แทนที่จะเหมารวมทั้งล็อต เราก็จะรู้ได้ว่าชิ้นนี้มาจากฟาร์มไหน และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น สามารถติดตามสินค้าได้ว่าของที่เลือกซื้อเป็นออร์แกนิกจริงหรือเปล่า 

 

แต่สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ยังมีขนาดเล็ก การตัดสินใจที่จะใช้ Blockchain อาจจะต้องคิดให้รอบคอบก่อน ถ้าเป็นธุรกิจขายส่งแบบปกติทั่วไปอาจจะยังไม่เหมาะ เพราะเราใช้งานแค่ธุรกรรมพื้นฐาน แต่ถ้าเป็นธุรกิจค้าปลีก มีเรื่องของ Customer Engagement เข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้อาจจะต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะนำ Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในด้านไหนได้บ้าง เช่นเดียวกับการระดมทุนผ่าน Blockchain ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กเกินไปก็อาจจะไม่คุ้มทุน การไปกู้ธนาคารอาจจะเหมาะสมกว่า เพราะในอนาคตธนาคารก็จะมีการนำเรื่องของ DeFi มาเกี่ยวข้องมากขึ้นอยู่แล้ว

 

คำแนะนำสำหรับองค์กรที่อยากจะเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจในอนาคต 

ไม่ใช่แค่ Blockchain เท่านั้น แต่เทคโนโลยีอื่นๆ อย่าง AI หรือ Big Data ก็นำมาปรับใช้ได้เช่นกัน ขั้นแรกเลยคือในบริษัทของคุณควรจะมีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะเหมาะมาก เพราะเขาจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ได้เร็วกว่า ด้วยสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีที่คล่องแคล่วกว่าคนยุคก่อน เมื่อได้ข้อมูลแล้วค่อยให้มาพรีเซนต์ให้ผู้บริหารฟัง แล้วร่วมกันประเมินความเป็นไปได้ว่าจะสามารถนำแนวทางในการใช้เทคโนโลยีพวกนี้ไปต่อยอดธุรกิจอะไรได้บ้าง จากนั้นอาจจะเป็นการทดลองทำโปรเจกต์เล็กๆ ขึ้นมาจริงๆ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลก็ได้

 

หรืออีกวิธีหนึ่งคือการหาพาร์ตเนอร์ที่จะทำให้วิน-วินไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย แทนที่จะต้องลงเงินเพื่อสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ลองเจรจาแล้วใช้วิธีแลกทรัพยากรกันก็ได้ แนะนำว่าให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยชิมลางไปเรื่อยๆ ว่าธุรกิจของเรามีศักยภาพในองค์กรที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไรได้บ้าง

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Editor เสาวภา โตสวัสดิ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising