×

ครม. โควตาค่ายลุงป้อมวุ่น ‘ไผ่ลิกค์ – อรรถกร’ ใครคือว่าที่รัฐมนตรีป้ายแดง

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2024
  • LOADING...
ประวิตร วงษ์สุวรรณ

รัฐนาวาภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินมา 7 เดือน ถึงเวลาที่พรรคร่วมรัฐบาลออกอาการอยากขยับเขยื้อนเพื่อปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียกคืนตำแหน่งรัฐมนตรีโควตาตอบแทนบุญคุณ และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ไร้ผลงานจนโลกลืมออก

 

การปรับ ครม. เศรษฐา 2 ครั้งนี้ แม้โฟกัสของคนส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล แต่หากซูมลึกเข้าไปจะพบว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการแบ่งสันปันส่วนโควตาเก้าอี้ ครม. ที่มีอย่างจำกัดให้เพียง 6 พรรคการเมืองเท่านั้น

 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 158 วรรคหนึ่ง กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีจำนวน 36 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน โดยพรรคร่วมรัฐบาลมอบโควตารัฐมนตรีต่อจำนวน สส. 10 ที่นั่งประกอบด้วย

 

  1. พรรคเพื่อไทย (141 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 9 ตำแหน่ง 
  2. พรรคภูมิใจไทย (71 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง 
  3. พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง 
  4. พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
  5. พรรคชาติไทยพัฒนา (10 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง 
  6. พรรคประชาชาติ (9 เสียง) รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

 

ตลอดระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ ‘ค่ายลุงป้อม’ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่อยากจะให้มีการปรับ ครม. มากที่สุด เนื่องจากพรรคได้ส่งชื่อบุคคลที่จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควตา คือ 2+2 ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง แต่กลับได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 3 คนเท่านั้น 

 

พรรคพลังประชารัฐจึงอยากปรับ ครม. เติมโควตาที่ยังขาดอยู่ให้เต็มเท่านั้น ซึ่ง 3 รัฐมนตรีของพรรคประกอบด้วย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายร่วมสายเลือด และเป็นตัวแทนพี่ใหญ่ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรองนายกรัฐมนตรี พร้อมควบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สันติ พร้อมพัฒน์ นั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย

 

ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีอีกตำแหน่งที่ยังว่างอยู่นั้น เป็นของ ‘ไผ่ ลิกค์’ สส. กำแพงเพชร 3 สมัย วัย 46 ปี เป็นบุตรชาย ‘เรืองวิทย์ ลิกค์’ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 3 สมัย คือ สมัยแรกอยู่กับพรรคเพื่อไทย และ 2 สมัยล่าสุดอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันอยู่ในกลุ่ม สส. โซนภาคเหนือ เป็นคนสนิทของ ร.อ. ธรรมนัส ซึ่งถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ต้น

 

ไผ่ ลิกค์ สส. กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ​ สวมเครื่องแบบข้าราชการชุดปกติขาว เข้าร่วมพิธีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กลับไม่พบรายชื่อของเขา เนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4 หน่วยงานให้ความเห็นว่า เขาเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

จากนั้น ไผ่ ลิกค์ ได้ร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากการกระทำของทั้ง 4 องค์กรข้างต้นเป็นเพียงการให้คำปรึกษาและความเห็นทางกฎหมาย โดยปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และการทูลเกล้าฯ รายชื่อบุคคลเพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรี 

 

ถึงกระนั้น ร.อ. ธรรมนัส ยืนยันว่า ‘ยังสนับสนุน’ และโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างอยู่เป็นของ ‘ไผ่ ลิกค์’ เช่นเดิม การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไม่ใช่การปฏิเสธคุณสมบัติ โดยขอให้รอฟังนโยบายนายกรัฐมนตรี เพราะท้ายที่สุดคนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมีเพียงคนเดียว คือนายกรัฐมนตรี 

 

หากท้ายที่สุด ‘ไผ่ ลิกค์’ ไม่สามารถรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ พรรคพลังประชารัฐเตรียมชื่อสำรองไว้แล้ว ซึ่งโอกาสทองนี้จะไปตกเป็นของ ‘อรรถกร ศิริลัทธยากร’ สส. ฉะเชิงเทรา จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีแทน พร้อมเปลี่ยนจากโควตาเดิม คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทน 

 

อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ​ ระหว่างเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

สำหรับ ‘อรรถกร’ นั้น เขาเป็นบุตรชาย ‘อิทธิ ศิริลัทธยากร’ อดีตผู้แทนฯ คนแปดริ้ว 5 สมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชวน หลีกภัย ปัจจุบันเป็น สส. สมัยที่ 3 ในสมัยแรกอยู่กับพรรคเพื่อไทย และ 2 สมัยล่าสุดอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เลือกตั้งรอบที่ผ่านมา เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 และการเลือกตั้งหนนี้เขาเปลี่ยนมา ลง สส. เขต 2 ฉะเชิงเทรา และได้รับเลือกให้เป็น สส. เพียงหนึ่งเดียวของพรรค จากพื้นที่เลือกตั้งทั้งหมด 4 เขต ถูกรายล้อมไปด้วยพรรคแดงและพรรคส้ม 

 

ที่ผ่านมา ‘อรรถกร’ ทำหน้าที่ในพรรคพลังประชารัฐในฐานะกรรมการบริหารพรรค และทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรในสัปปายะสภาสถานเป็นอย่างดี และคล่องแคล่วมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เขาไม่มีก๊วน สามารถทำงานได้กับทุกคน-ทุกกลุ่ม ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบัน เขาเป็นวิปรัฐบาลตัวแทนพรรค เป็นตัวหลักงานสภาที่แม่นข้อบังคับต่างๆ เป็นอย่างดี 

 

หลายคนต่างวิเคราะห์ตรงกันว่า ‘ลุงป้อม’ ได้มอบตำแหน่งเสนาบดีให้เขาเพื่อตอบแทนในฐานะคนทำงานจริงของพรรค ทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ ไร้ความขัดแย้ง ตั้งใจทำงานการเมือง เป็นคนรุ่นใหม่ตามสโลแกนพรรค ‘อนุรักษนิยมทันสมัย’ 

 

สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ, อรรถกร ศิริลัทธยากร, ไผ่ ลิกค์ สส. พรรคพลังประชารัฐ​ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

สุดท้ายแล้วโควตารัฐมนตรีที่เหลืออยู่อีก 1 ตำแหน่งของพรรคพลังประชารัฐจะเป็นของ ‘ไผ่ ลิกค์’ หรือ ‘อรรถกร’ 2 คนรุ่นใหม่ลูกหลานคนบ้านใหญ่ ใครจะเข้าวินได้เป็นรัฐมนตรีป้ายแดง พรรคพลังประชารัฐก็ต้องรีบส่งรายชื่อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพราะขณะนี้นายกรัฐมนตรีเพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไปเองว่า ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ และพรรคพลังประชารัฐเองก็ยังไม่ส่งชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising