×

Doctor A to Z – Health Tech ของไทย เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการรักษากับแพทย์อย่างทั่วถึง

17.12.2021
  • LOADING...

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ชวน นพ.อนุชา พาน้อย กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง Doctor A to Z บริการทางการแพทย์บน digital platform ที่ใช้แอปพลิเคชันในการรักษาเฉพาะทางแบบออนไลน์ คุยถึงบทเรียนจากการทำ startup เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับสังคมไทยและสังคมระดับโลก

 


 

Doctor A to Z คืออะไร 

Doctor A to Z เป็นสตาร์ทอัพสาย Health Tech ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในวงการแพทย์ครับ ตอนนี้เราเป็นแพลตฟอร์มที่มีแพทย์เฉพาะทางที่คนไข้สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และเรายังร่วมพัฒนาเทคโนโลยีให้กับ Healthcare Industry หรือระบบนิเวศของ Healthcare ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือระดับเมืองต่างๆ

 

รูปแบบบริการของเราก็จะมีตั้งแต่เรื่องของบริการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ซึ่งเป็นคำที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยในแง่ของการปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอล แต่จริงๆ แล้วไส้ในของมันมีมากกว่านั้นครับ Doctor A to Z มีการบริหารจัดการยา (Drug Management System) ที่เชื่อมโยงกับการจ่ายยา บางทีก็ลิงก์กับการเคลมประกันได้เลย และยังมีบริการจัดส่งเวชภัณฑ์ด้วย

 

นอกเหนือจากนั้นเรายังมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้พาร์ตเนอร์ต่างๆ ด้วย โดย Doctor A to Z จะมีระบบที่เรียกว่า Clinic Management System ซึ่งเป็นห้องพยาบาลสำหรับองค์กร บริการนี้เกิดมาจากการที่กฎหมายองค์กรกำหนดไว้ว่า ถ้าบริษัทของคุณมีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน ก็จะต้องมีห้องพยาบาล ในส่วนที่เราเข้าไปดูแลคือการทำห้องพยาบาลออนไลน์ให้กับองค์กรด้วยครับ

 

สุดท้ายคือเรื่องของระบบส่งต่อ (Referral System) ที่เรามีการพัฒนาต่อยอดมาจาก Medical Tourism ซึ่งเป็นการนำผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาทำการรักษาในบ้านเรา 

 

สำหรับแพลตฟอร์ม Doctor A to Z ตอนนี้เรามีแพทย์เฉพาะทาง 22 สาขา จำนวนแพทย์รวมแล้วกว่า 1,100 ท่าน โดย ณ ปัจจุบันเรามียอดดาวน์โหลดมากกว่า 80,000 ครั้ง ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแพทย์แต่ละครั้ง เรากำหนดราคาไว้ที่ 250-350 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะนะครับ เพราะถ้าเราเดินเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เมื่อบวกค่าเดินทางและค่าเสียเวลาต่างๆ แล้ว ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างเข้าถึงได้ครับ

 

จุดเริ่มต้นของไอเดียในการก่อตั้งแพลตฟอร์ม Doctor A to Z 

 

โดยปกติเวลาจะเริ่มต้นทำธุรกิจใดๆ ก็ต้องนำด้วย Pain Point ก่อนใช่ไหมครับ ตัวผมเองที่เป็นอาจารย์แพทย์ด้านการผ่าตัดหลอดเลือดที่ได้รับเคสส่งหาแพทย์เฉพาะทางบ่อยๆ เราก็จะเห็นการดำเนินงานว่าระหว่างทางมันมีปัญหาอะไร กว่าคนไข้จะมาถึงมันมีตรงไหนที่ทำให้เกิดการล่าช้า มีการส่งต่อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้อาจทำให้ไม่สามารถทำการรักษาได้เต็มที่ 

 

นอกจากนี้ส่วนงานของผมก็มีการรักษาผู้ป่วยต่างชาติด้วย เราก็จะเห็นว่ากระบวนการเข้ารับการรักษาของคนต่างชาติเขาก็มี Pain Point อีกแบบหนึ่ง คือเวลาที่จะเข้ามารักษาในบ้านเรา บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อใคร จะพบแพทย์อย่างไร หรือแพทย์ท่านไหนที่มีความชำนาญเฉพาะทาง Doctor A to Z จึงทำการรวบรวมแพทย์เฉพาะทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เหมือนมีหมอประจำครอบครัวที่สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ธุรกิจทางการแพทย์ แต่เดิมเราอาจจะชินกับการรักษา แต่ไม่ชินกับการพัฒนาเทคโนโลยี แล้วการพัฒนาเทคโนโลยีเอง ไม่ใช่ว่าเราพัฒนาได้แล้วจะสำเร็จเลย มันต้องมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผลักดันให้เราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนต่างๆ ให้กับระบบนิเวศของเฮลท์แคร์ครับ

 

ในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ใช่ว่าเราพัฒนาได้แล้วจะสำเร็จเลย มันต้องมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

โอกาสทางธุรกิจของ Telemedicine ในช่วงหลังโควิด

 

จริงๆ เทคโนโลยีมันเข้ามาดิสรัปต์ก่อนหน้านี้แล้ว แต่พอมีโควิด ภาพตรงนี้ก็ชัดเจนขึ้นมากๆ ผมขอยกตัวอย่างข้อมูลของ McKinsey & Company ที่บอกว่าตั้งแต่ช่วงเมษายน ปี 2020 ธุรกิจ TeleMedicine มีการเติบโตประมาณ 38 เท่า ส่วนในบ้านเราเองก็มาพีกมากๆ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่คนไข้ไม่สามารถเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ตรวจโควิดก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องรักษาที่บ้านโดยใช้ Telemedicine ช่วงโควิดใหม่ๆ หมอเองก็ไม่อยากเจอคนไข้ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ทำให้แพทย์เริ่มเปิดใจมากขึ้น เรียกว่าโควิดมาช่วยให้ช่องว่างตรงนี้กระชับแล้วก็สั้นขึ้นครับ

 

ณ ตอนนี้ผมว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ใช่กิมมิกนะครับ แต่มันอาจจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตที่ทุกคนจำเป็นต้องมี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ยิ่งเมื่อเทคโนโลยี Virtual กำลังจะเข้ามา ธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ก็ต้องมีการเตรียมตัวที่จะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะถ้าเกิดไม่ทำตอนนี้ เราก็อาจจะตกขบวนทางธุรกิจได้

 

เป้าหมายหลักของ Doctor A to Z 

สำหรับ Doctor A to Z เราตั้งต้นจากแพลตฟอร์มรวบรวมแพทย์เฉพาะทางที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะสามารถเข้าถึงระบบนิเวศของเฮลท์แคร์ แต่การที่เราจะไปเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ทางการแพทย์ก็ต้องใช้เวลา ซึ่ง Doctor A to Z ใช้เวลาถึง 3 ปีในการทำสิ่งเหล่านี้

 

เรื่องที่สองคือเราพัฒนาเทคโนโลยีโดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ถึงแม้บ้านเรายังไม่ประกาศใช้ระบบ Data Privacy หรือ PDPA แต่ในอนาคตเรื่องพวกนี้มาแน่นอน เราก็ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาตั้งแต่แรกเลย เพราะฉะนั้นเวลาดีไซน์การทำงานของแอปพลิเคชัน เราจะพิจารณาเรื่องของความปลอดภัยทั้งทางด้านเทคโนโลยีและทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยตามกฎหมายของยา เรื่องกฎของแพทยสภา หรือกฎหมายของสถานประกอบการ

 

ส่วนในด้านของสังคม ผมคิดว่าตอนนี้เฮลท์แคร์นับว่าเป็นปัจจัยสี่อย่างหนึ่งเลยนะครับ อย่าง Doctor A to Z เองก็มีการทำ CSR ให้กับสังคมตลอด ทั้งการบริจาคเครื่องมือแพทย์, โครงการวัคซีนใจ ที่เป็นการให้คำปรึกษาทางด้านจิตแพทย์ โครงการช่วยด้วย ที่เป็นการร่วมมือกับ 30 บริษัทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ Home Isolation อยู่ที่บ้านในช่วงโควิด และหลังจากพัฒนาระบบ Telemedicine ครั้งแรกและทดลองใช้มาระดับหนึ่งแล้ว เราก็ร่วมมือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในการที่จะดูแลคนไทยทั่วโลก ซึ่งนั่นแปลว่าแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีของเราได้รับการพิสูจน์แล้วในระดับโลก

 

จริงๆ แล้วผมมองการไปสู่ระดับโลกเป็นภาพใหญ่มาตั้งแต่แรก ณ วันนี้ที่บ้านเราเปิดประเทศแล้ว เราก็จะเห็นว่าลูกค้าต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ของประเทศ เราเองก็อยากเป็นฟันเฟืองตรงนั้นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ หลังโควิดเราจะเห็นว่าทุกธุรกิจมีเรื่องของสุขภาพหรือการท่องเที่ยวแบบปลอดภัย เพราะฉะนั้นความเป็นเฮลท์แคร์มันจะเข้าไปอยู่ในทุกๆ อุตสาหกรรมของการทำธุรกิจ 

 

ณ ตอนนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ใช่แค่กิมมิก แต่มันอาจจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตที่ทุกคนจำเป็นต้องมี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

 

วิธีคิดในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ไม่ได้แค่คิดถึงแต่กำไรสูงสุด แต่คิดให้เป็น Win-Win Situation ทั้งระบบนิเวศ

ถ้าพูดถึงในแง่ของความยั่งยืน หากอยากให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จในระยะยาว เราต้องทำให้ทุกคนต้องได้รับประโยชน์เหมือนกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างเฟสแรกที่เราตั้งต้นธุรกิจ ทางโรงพยาบาลเองก็กลัวว่าเราจะไปดิสรัปต์ธุรกิจของเขา ฉะนั้นเขาก็จะมีกำแพงอยู่ประมาณหนึ่ง แต่พอเราเริ่มทำเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาล ทางฝั่งนักลงทุนก็กลัวว่าจะไปแข่งกับแอปฯ ประเภทเดียวกันที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด สุดท้ายเราก็ต้องทำให้เกิด Win-Win Situation คือพัฒนาเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลและในส่วนของลูกค้าด้วย เรื่องของมาร์เก็ตติ้งต่างๆ มันก็จะง่ายขึ้น แล้วก็ยังเป็นการรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย 

 

บทเรียนสำคัญในการทำธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

 

จะบอกว่าเป็นอีกโลกหนึ่งของผมก็ว่าได้ เพราะตัวผมเองมาจากการเป็นอาจารย์แพทย์ที่หันมาทำธุรกิจ SMEs แล้วก็มาทำสตาร์ทอัพ ผมว่าความยากก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราโตมาจนถึงทุกวันนี้คือการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ต เช่น เวลาที่ต้องขึ้นเวทีไปพิตช์งาน ถ้าเราลองคิดว่ามันคือการแข่งขัน หรือตั้งเป้าไปเลยว่าจะต้องชนะเลิศ เมื่อเราทำได้ บางทีมันก็เป็นเหมือนตัวที่ช่วยผลักดันความสำเร็จของเราด้วย 

 

อีกอย่างหนึ่งคือการได้เรียนรู้ผู้คน เพราะว่าการทำสตาร์ทอัพมันต้องเจออะไรหลากหลาย ซึ่งผมว่าสิ่งหนึ่งที่ดีของสตาร์ทอัพคือเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ดีก็รื้อทิ้ง มันคือการเปลี่ยนเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด ในเวลาและสถานการณ์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป แล้วผลลัพธ์มันก็จะดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ 

 

เป้าหมายการเติบโตในระยะยาวของ Doctor A to Z 

 

ตลอดระยะเวลาการเดินทางของ Doctor A to Z เราพยายามพัฒนาให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ดีขึ้น เรามีธีมคือ Save People’s Lives เพราะแค่การได้เซฟชีวิตคนคนหนึ่ง แค่นี้ก็คุ้มแล้วในมุมของเรา แต่ในมุมของธุรกิจ เราอยากเป็นแพลตฟอร์มของคนไทยที่สามารถช่วยชีวิตและเป็นตัวแทนของคนไทยในการที่จะ Go Global ต่อไปในอนาคต เราวางตัวเองเป็น Next Generation ของ Digital Healthcare หมายถึงว่าเราจะพัฒนาเทคโนโลยีล่วงหน้าที่รองรับการเติบโตในอนาคตได้

 

เปลี่ยนเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดในเวลาและสถานการณ์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป แล้วผลลัพธ์มันก็จะดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ 

 

อนาคตของวงการ Healthcare Technology ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ในมุมของความยั่งยืน

 

ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน มันจะมีการปรับเปลี่ยน มีการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง ในวันนี้ถ้าเรามีเฉพาะเทคโนโลยีไปให้ แล้วไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต มันก็คงจะไม่มีการต่อยอดความสำเร็จของเทคโนโลยีนั้นๆ 

 

อีกอย่างคือเรื่องของสังคมผู้สูงอายุที่จะมีประชากรกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเองก็ต้องเตรียมพร้อมตรงนี้ ผมว่าเทคโนโลยีของ Healthcare ก็จะมาช่วยในส่วนนี้ด้วย รวมถึงการทำธุรกิจ Wellness ที่บ้านเรามีการเติบโตในส่วนนี้เช่นกัน ผมคิดว่าวงการ Healthcare Technology ก็จะมีจุดยืนแบบเดียวกันในการที่จะเสริมความแข็งแกร่งของการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งมีระบบสาธารณสุขเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ เพื่อที่ภาพของ Medical Hub ในประเทศไทยจะได้มีความชัดเจนมากขึ้น

 


 

Credits

 

Host อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์, นัทธมน หัวใจ

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Art Director กริน วสุรัฐกร

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising