×

Introvert กับ Extrovert บุคลิกภาพที่ต่างกันส่งผลกับการทำงานและใช้ชีวิตอย่างไร

08.05.2019
  • LOADING...

เมื่อพูดถึงคำว่า อินโทรเวิร์ต (Introvert) บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงสังสรรค์ ทำตัวแปลกแยกจากคนหมู่มาก หรือมักเศร้าหม่นอยู่ตลอดเวลา ไปจนถึงต่อต้านสังคม (Antisocial)

 

ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด เพราะหลายอย่างที่การเป็นอินโทรเวิร์ตกลับให้ข้อดี และทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่าง Productive หากรู้จักพัฒนาตนเองได้ถูกต้อง

 

รวิศ หาญอุตสาหะ คุยกับ ครูเปิ้ล-สุดารัตน์ ศิริวรางกูร ผู้ก่อตั้ง Mind Center Thailand และผู้บริหารสถาบันพัฒนาศักยภาพ Ideo Empowerment ในรายการ Super Productive

 


 

คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตจะมีลักษณะอย่างไร

คนเราจะเป็นอินโทรเวิร์ตหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ตอนกำเนิด หลายคนบอกว่า เด็กเปรียบเหมือนผ้าขาว แต่ไม่มีใครเป็นสีขาวในแบบเดียวกันทั้งหมด บางคนอาจเป็นเฉดหนึ่ง ในขณะที่อีกคนเป็นอีกเฉด

 

ถามว่านิยามที่แท้จริงของคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตคืออะไร อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คนกลุ่มนี้คือคนที่สามารถรับสิ่งเร้าได้ดี จนบางทีถึงขั้นดีเกินไป ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยหรือต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ เมื่อเจอแสง สี เสียง หรือผู้คนจำนวนมาก

 

ถึงขั้นมีงานวิจัยที่ทดลองกับเด็กทารกจำนวนหลายชีวิต โดยสมมติเหตุการณ์ให้พวกเขาต้องเจอเสียงดังและภาวะรบกวนต่างๆ ผลที่ได้คือ มีเด็กกลุ่มหนึ่งตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสิ่งเหล่านั้น ทั้งร้องไห้ ถีบเท้า และแสดงออกอีกหลายรูปแบบ กลับกัน เด็กอีกกลุ่มกลับมีท่าทีนิ่งเฉย ไม่รู้สึกอะไร ทำให้พอจะสรุปผลได้ว่า เด็กกลุ่มแรกมีโอกาสเติบโตมาเป็นคนอินโทรเวิร์ตมากกว่า ชอบความสงบและสันโดษ ในขณะที่เด็กกลุ่มที่สองอาจเป็นพวกเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) หรือกลุ่มคนที่ชอบเจอผู้คน พร้อมสังสรรค์ และไม่ได้รับสิ่งเร้ารวดเร็วเท่ากลุ่มแรก

มีหลายคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตแล้วประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บิล เกตส์ รวมถึงยังมีงานวิจัยเล่าว่า 80% ของเด็กที่ไม่ค่อยพูดในชั้นเรียน ผลการเรียนดีกว่าเด็กที่พูดเจื้อยแจ้วอีกด้วย

คุณเป็นคนอินโทรเวิร์ตหรือไม่  

โมเดลเช็กลิสต์ที่มักใช้กันบ่อยๆ เรียกว่า ‘STAR’ ประกอบไปด้วย 4 มิติดังนี้

 

S-Social

ลองเช็กดูว่าคุณเป็นคนที่ชอบชาร์จพลังด้วยการเข้าสังคมหรือไม่ การพักผ่อนของคุณคือการออกไปปาร์ตี้พบปะผู้คนหรือเปล่า ถ้าใช่ คุณอาจไม่อยู่ในกลุ่มอินโทรเวิร์ต เพราะพวกเขามักชอบความสงบและสันโดษมากกว่าการออกไปเจอสังคม

 

T-Thinking

ลักษณะวิธีคิดของคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตจะมีความซับซ้อนและลุ่มลึก เปรียบเหมือนเครื่องกรองน้ำที่ผ่านหลายขั้นตอน เจอทั้งนุ่น ทราย ถ่านหิน กรวดหยาบ กรวดละเอียด ถึงจะกลั่นมาเป็นคำพูดหรือการแสดงออกอะไรบางอย่าง กลับกัน คนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตอาจเหมือนผ้าขาวบาง คิดได้อย่างไรก็พูดเลย ไม่ได้กลั่นกรองมากนัก

 

A-Anxious

คนอินโทรเวิร์ตมักมีความระแวดระวังต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตมากเป็นพิเศษ และจะวางแผนอย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบ ก่อนลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้าคิดมากเกินไปก็อาจทำให้วิตกกังวลง่าย จึงควรบาลานซ์ให้ดี เพื่อทำให้ไม่ส่งผลเสียกับตัวเอง

 

R-Restrain

เนื่องจากคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตต้องใช้พลังในการแสดงออกแต่ละครั้ง ทำให้พวกเขามีลิมิตการแสดงออกทางความคิดและความรู้สึกของตัวเองในแบบที่พอดี ไม่ผลีผลามตอบโต้ในทันทีหากเกิดอะไรขึ้น แต่จะค่อยๆ คิดวิเคราะห์จนเข้าใจ ข้อดีคือพวกเขาอาจเกิดข้อผิดพลาดน้อยกว่าคนที่แสดงออกทันที แต่ข้อเสียคือบางครั้งอาจดูเหมือนคนที่ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น หรือดูไม่ให้ความร่วมมือนั่นเอง

 

คนอินโทรเวิร์ตทำงานพบปะกับผู้คนให้ Productive ได้ไหม

อินโทรเวิร์ตไม่ได้แปลว่าขี้อายหรือเกลียดสังคม ดังนั้น หากต้องทำงานเกี่ยวกับการพบปะผู้คน เช่น การพรีเซนต์งานต่อหน้าคนจำนวนมาก คนกลุ่มนี้อาจทำได้ดีด้วยซ้ำ เพราะเขาคิดมาเป็นอย่างดี โครงสร้างสคริปต์ละเอียด วางแผนตั้งแต่ต้นจนจบ อาจยากหน่อยในเรื่องของการเปล่งเสียงพูด เพราะต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูง แต่หากได้ฝึกฝนทักษะจนชำนาญ ก็อาจทำให้พวกเขาเก่งกาจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

กลับกัน บางคนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็อาจไม่ชอบพรีเซนต์งาน หากเขารู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดี เพราะคนกลุ่มนี้สามารถพูดไปได้เรื่อยๆ ไม่มีจังหวะหยุด ทำให้ขาดเมจิกโมเมนต์ จนทำให้คนดูรู้สึกเหนื่อย แถมพอไม่ได้การตอบรับตามที่คาดหวัง คนไม่สนุก ไม่ตลก ไม่ชอบใจกับสิ่งที่เขากำลังแสดงออก ก็อาจรู้สึกเสียความมั่นใจไปทันที

 

ผู้นำควรบริหารจัดการคนในทีมที่มีทั้ง ‘อินโทรเวิร์ต’ และ ‘เอ็กซ์โทรเวิร์ต’ อย่างไร

คนเป็นหัวหน้าต้องไม่คาดหวังให้ใครมาเป็นเหมือนตัวเอง ไม่ควรคิดว่าคนที่เอาใจเรา นิสัยเหมือนเรา เท่ากับคนดี เพราะมันอาจทำให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานพังทลายได้ หลายครั้งการมีคนประเภทเดียวกันอยู่รวมกลุ่มจำนวนมาก ทำให้ไม่มีใครช่วยอุดรอยรั่วที่อาจมองไม่เห็น เพราะทุกคนเร็วเหมือนกัน ทำผิดเรื่องคล้ายกัน ดังนั้น ยอมรับในความแตกต่าง และเปิดรับข้อดีของคนที่ไม่เหมือนกัน อาจทำให้ที่ทำงานสมบูรณ์แบบมากขึ้น

 

เทคนิคบริหารความสัมพันธ์กับคนที่แตกต่างกับตัวเอง

‘การฟัง’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการบริหารความสัมพันธ์ คุณควรฟังทั้งเสียงในหัวของตัวเองและฟังคู่สนทนาตรงข้ามอย่างลึกซึ้ง มากกว่าแค่ข้อความที่เขาสื่อสารออกมา

 

เมื่อไรที่คุณไม่เห็นด้วย คุณแค่ฟังเสียงในหัว และยอมรับว่าตัวเองไม่เห็นด้วย แล้วค่อยๆ คิด วิเคราะห์เหตุผลออกมาว่า ทำไมถึงไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องให้เวลาอีกฝ่ายในการพูดอธิบาย เพื่อให้เข้าใจกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 



Credits

 

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

The Guest สุดารัตน์ ศิริวรางกูร


Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising