×

คุยกับ ผอ.มาณิช ผู้ดูแล ‘LIRT (เลิศ)’ เพจสภากับความปัง ที่ทันทุกกระแสสังคม

25.03.2024
  • LOADING...
ผอ. มาณิช เฟซบุ๊ก Lirt (เลิศ)

ในอดีต การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางราชการเป็นเรื่องไม่ง่าย มีความยุ่งยากถึงขนาดต้องมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาแล้ว แต่ในปัจจุบันการสื่อสารจากหน่วยงานราชการไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น 

 

ไม่เพียงเปิดข้อมูลให้ประชาชนสืบค้นได้ทางเว็บไซต์ แต่มีการสื่อสาร ‘แบบใหม่แบบสับ’ นำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมานำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกเป็นภาพน่ารักพร้อมข้อความสั้นๆ เผยแพร่ผ่านแฟนเพจ Facebook เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมขยายความต่อจากต้นฉบับได้ ขณะเดียวกันก็มีความโดดเด่นด้านการจับประเด็นตามกระแส จนหลายโพสต์กลายเป็นไวรัล

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ มาณิช อินทฉิม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการวัย 59 ปี ผู้ดูแลเนื้อหาและการทำงานของทีมแอดมินแฟนเพจ ‘LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร’ หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา โดยก่อนหน้านี้เว็บไซต์ LIRT ของรัฐสภา สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาในปี 2563 จึงมีแฟนเพจในสมัยที่ ผอ.มาณิช อินทฉิม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิชาการนั่นเอง 

 

 

ความหมายของชื่อแฟนเพจ LIRT (เลิศ)

 

ผอ.มาณิช เล่าให้ฟังว่า แฟนเพจเลิศ หรือภาษาอังกฤษคือ LIRT ย่อมาจาก Legislative Institutional Repository of Thailand คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ 

 

‘LIRT’ เป็นอักษรย่อภาษาอังกฤษที่เมื่อเรียงกันแล้วพ้องเสียงกับคำว่า ‘เลิศ’ ในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายดีและง่ายต่อการจดจำ เป็นความลงตัวโดยบังเอิญ

 

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘เริ่ด’ ที่คนรุ่นใหม่มักจะใช้ในโซเชียลมีเดียด้วยหรือไม่ 

 

ผอ.มาณิช กล่าวว่า น่าจะเป็นคำภาษาโบราณมากกว่า เพราะคำว่าเลิศในความรู้สึกคนไทยคือดีที่สุด บังเอิญเป็นคำที่สามารถสื่อสารได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ LIRT ชื่อนี้มีการสร้างมานาน ก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งตรงนี้ ส่วนแฟนเพจเพิ่งเปิดเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น และเป็นปีที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสำนักวิชาการแล้ว

 

 

เพจ LIRT ‘แบบใหม่แบบสับ’ กับการสวนกระแสระบบราชการ

 

ผอ.มาณิช: ผมคิดแค่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสื่อสารกับสังคมภายนอกให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนภายนอกรับรู้ว่าข้อมูลหลายเรื่องอยู่ที่เรา ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เราจึงพยายามนำเสนอ บางครั้งก็อาจจะไม่ได้เหมือนความเป็นระบบราชการแบบเดิม แต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลอย่างนี้ในระดับเดียวกันสำหรับประเทศอื่นเขาก็เปิดเผย 

 

ส่วนของเราก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ปกปิดเป็นความลับ เพราะหากเป็นความลับเราจะไปเข้าถึงเพื่อนำมาเปิดเผยไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราแค่สะกิดว่าเรามีข้อมูลเรื่องนี้นะ ถ้าใครสนใจก็ไปอ่านรายละเอียดดูได้ 

 

ตั้งใจโพสต์ให้สั้น เข้าใจง่าย

 

ผอ.มาณิช: ผมมองว่าสื่อปัจจุบันถ้ารายละเอียดยาว คนก็ไม่อยากอ่านอยู่แล้ว จึงมีการกล่าวกันว่า คนไทยอ่าน 7-8 บรรทัด บางคนบางวันไม่ได้อ่านเลยก็มี แต่คนที่อ่านเยอะๆ ก็มี ดังนั้นการนำเสนอแบบสั้น กระชับ จากเรื่องราวที่คนในสังคมกำลังสนใจ เราเสนอแค่บางส่วน เพื่อเป็นช่องทางให้คนสามารถไปดูรายละเอียดเพิ่มในเว็บไซต์ ในลิงก์ต้นฉบับ ที่สามารถอ่านทำความเข้าใจได้ มีนักวิชาการหรือผู้เขียนเขียนไว้แล้วหากสนใจรายละเอียดเรื่องนั้นๆ 

 

 

ทีมแอดมินตามกระแส ได้ฉีกออกไปจากเพจราชการ

 

ผอ.มาณิช: เกิดจากแอดมินค่อนข้างมีหลายมิติในตัวเอง มีทั้งความโบราณ อ่านหนังสือเยอะ มีหลากหลาย จึงผสมออกมาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่เสียทีเดียว แต่ว่ามีมุมมองหลายมิติต่อสังคม มีคนหลายเจเนอเรชัน อายุ 30-40 ปีขึ้นไป ในความเห็นผมไม่ถึงขนาดเป็นคนสมัยใหม่ แต่ว่าเขาคิดอะไรที่แตกต่างจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะแต่เดิม LIRT จะมีเฉพาะการสืบค้น ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สืบค้นเท่าไร หากมีการถามมาก็ตอบไป 

 

แต่เมื่อ Facebook ได้รับความนิยมมากขึ้น เราก็เห็นว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ควรสื่อสารให้ผู้มาสืบค้นมากยิ่งขึ้น จึงทำแฟนเพจ Facebook เพื่อสื่อสารกับผู้สนใจข้อมูลด้วย 

 

ทีมแอดมินมีจำนวนไม่เยอะ เขาไม่อยากเปิดเผยตัว เขาเป็นข้าราชการ ส่วนคนนอกไม่มีสิทธิ์เป็นแอดมินเพจอยู่แล้ว คนนอกทำได้เพียงแสดงความคิดเห็น 

 

ผมเองอายุ 59 ปี ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เป็นคนใกล้เกษียณแล้ว ปีหน้าก็เกษียณแล้ว แต่ผมก็ติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แล้วปัญหาอย่างหนึ่งที่พบเจอในความรู้สึกของตัวเองคือ คนอ่านหนังสือน้อย ทีนี้จะทำอย่างไรให้คนอ่านมากขึ้น เพราะการที่อ่านน้อยเท่ากับมีข้อมูลน้อย การตัดสินใจดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับคนในสังคม หรือการตัดสินใจทางการเมือง และอื่นๆ ก็มีข้อมูลที่จำกัด เป็นข้อจำกัด

 

ฉะนั้นการตัดสินใจเชิงคุณภาพของคนที่มีข้อมูลน้อยก็จะด้อยกว่าคนที่มีข้อมูลมากกว่า เหมือนภาษิตสมัยใหม่ ใครเข้าถึงข้อมูลมากกว่าย่อมมีอำนาจมากกว่า ผมก็เลยคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นจาก 7 บรรทัด เป็น 8 บรรทัด ก็ถือว่ากำไรแล้ว ผมคิดแบบนี้นะ ผมมองว่าการอ่านเป็นเรื่องจำเป็น 

 

แต่ปัญหาก็คือว่า คนชอบอ่านสั้นๆ เราก็เลยย่อให้สั้น แต่การที่ใครจะได้ความรู้มากยิ่งขึ้นก็จะต้องเข้าไปดูตัวเอกสารในเว็บไซต์ จึงจะเกิดความรู้และความเข้าใจ มีพลังในตัวเองมากขึ้น มีเกราะกำบังหรือความเข้มแข็งในองค์ความรู้ที่จะอยู่ในสังคม 

 

 

ในโซเชียลมีเดียมีคำว่า ‘แบบใหม่แบบสับ’ ถ้า ผอ.มาณิช จะให้นิยามเพจ LIRT จะใช้คำว่าอะไร

 

ผอ.มาณิช: ผมมี 2 คำ คือ จับฉ่ายกับสัพเพเหระ 

 

จับฉ่ายเพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในนั้น หรือเรียกแบบโบราณว่าสัพเพเหระ เพราะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้มากมาย ไม่จำกัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นเพจของราชการที่เน้นให้ความรู้ ให้ข้อเท็จจริง ที่เชื่อถือได้ 

 

เอาข้อมูลที่มีอยู่จริงไปนำเสนอแบบสั้น กระชับ แต่บางเรื่องก็มีความซับซ้อน เช่น กติกาการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องอ่านหลายครั้ง แล้วมีประเด็นต้องเสียค่าสมัครคนละ 2,500 บาท มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนสามารถใช้เงินกี่ร้อยล้านไปจัดทีมกันมาได้ เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดมากและยากมาก รายละเอียดยากเกินไป

 

สิ่งที่ปรากฏขึ้นในบ้านเรา การเขียนไว้สวยหรูไม่ค่อยเกิดขึ้นจริงหลายเรื่อง เช่น คำว่าบูรณาการ ยังไม่ทำให้เกิดขึ้นจริง มีเยอะมากในระบบราชการ เขียนให้ดูงดงาม สวยหรู ให้ดูว่าพัฒนาแล้ว แต่พัฒนาไปทางไหน ผมว่าบางอย่างแย่ลงด้วยซ้ำ เพราะขาดการเอาใจใส่ของคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 

 

 

ฟีดแบ็กหลังจากสวนกระแสระบบราชการ

 

ผอ.มาณิช: ยังไม่เคยถูกร้องเรียน แต่ก็มีถูกทักท้วงบ้าง บางทีพรรคพวกกันหรือคนในองค์กรบอกว่ามีสื่อเอาไปออกทีวีเผยแพร่ต่อ เขาเคยสะกิดว่าแรงไปหรือเปล่า ฟีดแบ็กไม่ได้เป็นผลบวกเสมอไป ต้องยอมรับว่าสังคมมีหลายมิติ ไม่ได้มีแค่ 2 ฝ่าย คือ เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย แต่มีมิติอื่นๆ ด้วย 

 

ดังนั้นความเห็นที่แตกต่างมีอยู่แล้วในสังคม แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็เห็นต่างกัน ยิ่งสังคมมีขนาดใหญ่แล้วคนมีหลายเจเนอเรชัน มีความคิดความเห็นที่ย่อมแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เรานำเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง

 

ส่วนหนึ่งสังคมย่อมมองว่าเราเอียงไปทางไหนหรือเปล่า ผมเชื่อว่ามีคนมองแบบนั้นนะ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องมุมหนึ่งของสังคม เราไม่ใช่องค์กรที่จะต้องไปบอกว่าใครผิด ใครถูก เพียงบอกข้อมูลมุมมองหนึ่งของสังคม 

 

ถ้าใครรู้สึกว่าไม่น่าสนใจก็มองผ่านไปได้ แต่ส่วนหนึ่งคนที่สนใจก็มาดูเจาะลึกลงไปได้ว่ามีอะไร เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้สนใจข่าวสารบ้านเมือง 

 

ไม่ได้บีบบังคับว่าจะต้องมาดูเรา แต่การที่จะดูว่าสิ่งที่นำเสนอเป็นอะไร ก็ต้องวางใจเป็นกลาง เพราะว่าในมิติความขัดแย้งในบ้านเราที่เกิดขึ้น เพราะรับรู้ เสพข้อมูล เชื่อข้อมูลบางส่วน จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ถ้าเรามองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม กระทบกับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจก็สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข 

 

สำหรับการอธิบายกลับเมื่อได้รับการทักท้วง สามารถอธิบายได้ง่าย เพราะเรื่องที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริง ขณะที่ในโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ มีเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง ตัวเลือกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงมีความหลากหลายมากมาย 

 

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมาย แล้วยังแปลกใจว่าที่มีการหลอกลวงกันในสังคม หลายเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เชื่อกันไปมากมาย ทั้งเฟกนิวส์ หรือการสื่อสารระหว่างบุคคลแล้วหลอกลวงกันเกิดความเสียหายหลายหมื่นล้าน ทั้งที่เรื่องไม่น่าเชื่อแต่ก็เชื่อกัน 

 

 

หลักการที่ไม่หวั่นไหว

 

ผอ.มาณิช: ผมมองว่าเรานำเสนอข้อเท็จจริง ความจริง ยกตัวอย่างบางเรื่องปรากฏอยู่ในสื่อ เป็นข่าวที่คนดูทั้งประเทศ หรือก่อนหน้านี้มีข่าวพระสงฆ์ มีปัญหาเรื่องต่างๆ เป็นที่สนใจของสังคม เราก็พยายามสื่อสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร หลากหลายเรื่องที่เรานำเสนอ เป็นคำศัพท์บ้าง เป็นความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา หรือความรู้อื่นๆ ที่อยู่ในคลังข้อมูลของเราบ้าง

 

ผมว่ามีข้อดีกว่าการนิ่งเฉยไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม แต่เราเน้นเรื่องที่มีข้อมูลอยู่ในคลัง แล้วเราแนะนำได้ว่าดูตรงนั้นตรงนี้ เราอ้างอิงว่าอยู่ในเอกสารเล่มนั้นเล่มนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารของเราได้มากยิ่งขึ้น 

 

เรามีห้องสมุด และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คนก็เข้าถึงผ่านโลกออนไลน์ได้ เรามีรายการหนังสือต่างๆ ไม่น้อยกว่า 3 แสนรายการในคลัง LIRT ซึ่งมีทั้งตัวเล่มและไฟล์ดิจิทัล 

 

เรามีกลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ย้ายจากรัฐสภา ถนนอู่ทองใน มารัฐสภาปัจจุบัน จึงยังไม่มีงบประมาณในการออกแบบ นำเสนอ และจัดแสดงวัตถุต่างๆ เต็มรูปแบบ แต่ในอนาคตจะมีพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีใหม่ด้วย 

 

 

เพจ LIRT มีเนื้อหาครอบคลุมทุกกระทรวง

 

ผอ.มาณิช: มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานราชการจะต้องเสนอรายงานประจำปีต่อรัฐสภา จึงจัดส่งมาเป็นเล่มว่าแต่ละปีเขาทำอะไรบ้าง เราจะต้องเก็บบันทึกรวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ ในอนาคตรูปเล่มอาจจะน้อยลง แต่เป็นดิจิทัลไฟล์มาแทน เพื่อให้สามารถเข้าถึงการสืบค้นได้ แม้กระทั่ง พ.ร.บ.งบประมาณ หรืออะไรทั้งหลายทั้งปวง กฎหมายต่างๆ รวมถึงการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญ เราก็มีรายละเอียดของบันทึกการประชุมให้อ่านว่ามาตรานั้นมาตรานี้ได้มีการเสนอความเห็นกันว่าอย่างไร ทำให้คนที่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญทราบว่าร่างกันมาอย่างไร ก็จะได้ทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

 

สภามีข้อมูลเยอะ เพราะกฎหมายกำหนดให้แต่ละกระทรวงรายงานต่อสภาประจำปี รวมถึงองค์กรอิสระและองค์การมหาชน 

 

เหตุที่มีข้อมูลเยอะ เพราะรวบรวมจากราชกิจจานุเบกษาด้วย หลายเรื่องไม่ว่ากฎระเบียบต่างๆ ที่อยู่ในราชกิจจานุเบกษาเราก็รวบรวมด้วย และหลายเรื่องเขาต้องรายงานสภา เขาต้องส่งเอกสารมาอยู่แล้ว เราก็เก็บ เพราะถ้ามีการสืบค้นย้อนหลังจะได้ยืนยันว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร

 

ในฐานะสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ของทางราชการที่ส่งมาเก็บ เพื่อมีการสืบค้น การอ้างอิง และตัดสินใจ โดยเฉพาะเรามีรายงานการประชุมและหนังสือต่างๆ เมื่อโลกเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลในการเก็บรวบรวมสืบค้น เราก็ทำข้อมูลไว้

 

ขณะที่มีข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย การมาดูในเพจ LIRT อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพียงแต่บางเรื่องเรามองความเคลื่อนไหวของสังคมแล้วเห็นว่ามีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ก็นำเสนอเพื่อให้ไปอ่านในรายละเอียด

 

 

ข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ผอ.มาณิช: มีแน่ๆ คือรายงานการประชุม ในสภามีการพูดอะไรสามารถสืบค้นได้ ใน LIRT นี้มีข้อมูลอยู่แล้ว ส่วนในพิพิธภัณฑ์กับหอจดหมายเหตุก็สามารถเข้าถึงได้ แต่ต้องระบุเรื่อง ระบุชื่อ ส่วนใน LIRT มีรายงานการประชุมแน่นอน มีช่องทางให้สืบค้น อยู่ในเอกสารไหน หน้าไหน อยู่ในเว็บไซต์ 

 

LIRT คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ มีมานานตั้งแต่ก่อนผมมาเป็น ผอ. พอผมถูกย้ายมาที่นี่ก็ดีสำหรับผม ทำให้ผมได้อ่านหนังสือวันละหลายร้อยหน้า งานที่เข้ามามีงานเอกสารประกอบการพิจารณาที่จะเข้าสภา งานวิจัยต่างๆ ที่มีการเสนอ หรือข้อมูลต่างๆ ผมต้องอ่านหนังสือเยอะ ซึ่งการอยู่ตรงนี้ก็เข้าทางผม ผมอ่านหนังสือและติดตามข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คิดว่ามาอยู่ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับผม 

 

ส่วนแฟนเพจเพิ่งเกิดสมัยผม เพราะต้องการให้สื่อสารกับประชาชนได้ง่าย รวดเร็ว จากเดิมยังไม่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวในสังคม แต่ปัจจุบันมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวของสังคม ทำให้คนเข้าถึงได้ น่าจะเป็นล้านแล้ว แต่แง่มุมความเห็นของคนก็คงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ย่อมจะมีความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ 

 

รัฐสภาก็เก็บข้อมูลตามยุคสมัย จากเอกสาร พอมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาก็จัดระบบใส่เว็บไซต์ด้วย ล่าสุดมีแฟนเพจ เราทำภาพอินโฟกราฟิกให้คนเห็น นำเสนอผ่าน Facebook ทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น เข้าใจมากยิ่งขึ้น ผมต้องการสื่อสารกับสังคมให้มีความรู้มากขึ้น

 

 

จากข้อมูลทางราชการเข้าถึงยาก มาเป็นเพจที่เปิดข้อมูลแล้วเป็นที่ฮือฮา

 

ผอ.มาณิช: ผมมองว่าโดยธรรมชาติของการบริหารราชการมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว เรื่องไหนลับก็ต้องประทับตราลับ เป็นความลับ หลายเรื่องที่เป็นของราชการไม่ใช่ความลับ แต่มีการตีความว่าถ้าเป็นของราชการแล้วเป็นความลับทั้งหมด ซึ่งมันไม่ใช่ 

 

แม้กระทั่งมีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการมาแล้ว บางคนก็ยังพยายามที่จะปกปิด ทั้งที่กฎหมายนี้มีเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ส่วนการปกปิดเป็นข้อยกเว้น 

 

แต่ถ้าผมมองภาพรวมผมมองว่า ระบบราชการก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คือพยายามปกปิด จะขอข้อมูลก็ต้องเข้ากระบวนการ ใช้เวลายาวนาน โดยไม่สามารถเข้ากับยุคสมัยที่มีอะไรก็เปิดเผย ถ่ายทอด รับรู้ความเปลี่ยนแปลง ในโลกมีเหตุการณ์อะไร บาดเจ็บล้มตาย รัฐประหาร ยิงกัน เกิดอะไรขึ้นเรารู้หมด แต่สำหรับประเทศไทยการเปิดเผยข้อมูลยังมีปัญหาอยู่ แม้จะมีกฎหมายเรื่องข้อมูล แต่ก็พยายามกำหนดกรอบมาปิดกั้นประชาชนด้วย 

 

ถ้าจะตรวจสอบกันจริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเปิดเผย เช่น สัญญาจัดซื้อจัดจ้างบางเรื่องยังมีการปกปิดอยู่ หรือกรณีบางคนที่เป็นข่าวไปแล้วไม่ใช่ความลับ มีชื่อปฏิบัติงานอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตัวหายใจอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ซึ่งความเป็นราชการ ถ้าไม่โปร่งใสก็ไม่สามารถเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

 

ถ้าไม่โปร่งใสในเรื่องข้อมูลพื้นฐาน ก็จะส่งผลกระทบต่อเรื่องต่างๆ

 

ผมมีข้อห่วงใยคือ ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลและรับรู้ข้อมูลเรื่องต่างๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจทำอะไรก็ตาม หลายคนผิดพลาดไปเพราะว่าข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วโดยธรรมชาติของการมีข้อมูลน้อย ก็ทำให้เชื่อคนง่าย เป็นเรื่องทำให้ลำบาก 

 

ฉะนั้นเรามีข้อมูลเป็นข้อเปรียบเทียบ สิ่งที่เรานำเสนอเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งการที่คนจะตัดสินใจอะไรต้องมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย จึงแนะนำว่าต้องหาข้อมูลส่วนอื่นๆ ประกอบ เรานำเสนอเพียงแง่มุมหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ถ้าคุณจะเข้าใจก็ต้องดูละเอียดมากยิ่งขึ้น

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

FYI
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising