×

คุยกับ ‘หมอตุลย์’ อีกฟากของเสื้อหลากสี เมื่อทักษิณป่วยอยู่ชั้น 14

22.01.2024
  • LOADING...
หมอตุลย์

จากกรณี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวนอกเรือนจำว่าเป็นไปตามขั้นตอน และระบุว่า คุณสมบัติของทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ 

 

ขณะที่เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย พิชิต ไชยมงคล และ นัสเซอร์ ยีหมะ พร้อมด้วย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มเสื้อหลากสี นัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการรักษาอาการของทักษิณ หากพบว่าไม่ได้ป่วยหนัก ให้นำตัวไปควบคุมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

 

THE STANDARD สนทนากับ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกครั้งในวันที่กลับมาเคลื่อนไหวประเด็นเกี่ยวกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยอย่างสูงเสมอมา

 

หมอตุลย์

 

ไม่เชื่อ ทักษิณป่วยหนัก 

 

นพ.ตุลย์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ตนเองเคลื่อนไหวในนาม ‘กลุ่มเสื้อหลากสี พลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน’ โดยมองว่าการที่ทักษิณถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นไปตามแผนที่มีการสมคบกันของกลุ่มคนที่ต้องการจะเอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ โดยคนกลุ่มนี้ต้องการจะบอกว่าทักษิณมีอาการหนัก เพื่อนำเหตุผลเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยมาย้ายทักษิณออกจากคุกไปโรงพยาบาลตำรวจ เชื่อว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการที่เตรียมการมาแล้วเป็นสิบปี โดยเริ่มมาก่อนปี 2566

 

“ผมไม่เชื่อว่าทักษิณป่วยหนักจริง ทุกอย่างต้องตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า เหตุผลทางการแพทย์ใช้ได้ แต่ต้องไม่เป็นเท็จ อย่าช่วยเหลือกันถ้าเกณฑ์ไม่ถึงหรือไม่เข้าเกณฑ์ ถ้าทักษิณอยู่ในแดนพิเศษของเรือนจำ เช่น เมื่อก่อน นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ เคยเป็นแพทย์พิเศษระหว่างรับโทษอยู่ในเรือนจำ อยู่บนชั้นที่เป็นห้องพิเศษ ถ้าทักษิณอยู่ตรงนั้นเรายอมรับได้นะ เขาต้องถูกจองจำ แม้เป็นการจองจำลักษณะพิเศษพอสมควร ยังพอรับได้มากกว่าการได้ออกมานอกเรือนจำแล้วลั้นลาแบบนี้ จนเดี๋ยวนี้ยังมีการลือกันว่าทักษิณไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ เพราะไม่มีใครตรวจสอบได้ อย่าลืมว่าคำสั่งพระราชทานอภัยลดโทษไม่ได้หมายความว่าให้ออกนอกคุกแล้ว แต่ต้องอยู่ในคุกให้หลาบจำ” นพ.ตุลย์ กล่าว 

 

ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบย้อนหลัง

 

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเป็นคือ รักษาทักษิณให้อาการไม่หนักแล้วรีบนำกลับไปควบคุมตัวในเรือนจำ นอกจากนั้นคนที่เกี่ยวข้องกับการนำทักษิณออกนอกเรือนจำต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยหากตรวจสอบพบว่ามีความผิด ทั้งทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และแพทยสภา 

 

ต้องรักษากระบวนการยุติธรรมไว้ ไม่ควรปล่อยไป ในอดีตเคยมีตัวอย่างมาแล้ว คนที่ช่วยทักษิณ ถ้ามีการตรวจสอบเอาผิดขึ้นมาว่าผิด คนช่วยก็เข้าคุกแทน คนเหล่านั้นใครเคยคิดบ้างไหมว่าตัวเองจะติดคุก อย่างเช่น บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คิดไหมว่าจะต้องติดคุก ถึงจะรู้ว่าเสี่ยง แต่อาจคิดว่าจะรอด ทุกคนเป็นหมาก เป็นเบี้ย ให้เขาเดิน สุดท้ายรับใช้แล้วเป็นอย่างไร 

 

ส่วนคุณหมอที่ร่วมมือ ถ้าถูกตรวจสอบแล้วผิดก็ต้องติดคุก เมื่อกฎหมายวางไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด แต่คนคิดว่าตัวเองจะรอด รู้ทั้งรู้ว่าผิดยังทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์ ผิดมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย หากเป็นคนไข้อาการหนักแล้วส่งมาชั้น 14 ห้องพิเศษได้อย่างไร หมอคนไหนตรวจก่อน เพราะตามปกติถ้าเป็นนักโทษ การส่งเข้ามาต้องมาห้องฉุกเฉินหรือไปที่ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ซึ่งโรงพยาบาลมีระบบอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าทุกคนเงียบกริบ เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบ 

 

“มีพวกผมมาตรวจสอบและแฉ โรงพยาบาลก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าส่งตรงไปชั้น 14 เลย การอ่านฟิล์มที่ว่าอาการหนักก็เป็นคนนอกราชการมาอ่าน มีการเตรียมการ เตรียมคน เตรียมคำตอบไว้หมดแล้ว 

 

สำหรับหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบย้อนหลังด้วย โดยเฉพาะตัวรัฐมนตรี หนีไม่พ้นหรอก แม้จะบอกว่าเป็นเรื่องกรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ ตอนนี้มีคนร้องทั้ง ป.ป.ช. แพทยสภา และกรรมาธิการ เดี๋ยวมีกระบวนการรื้อฟื้นเพื่อรักษากระบวนการที่ถูกต้องเอาไว้ 

 

“อย่าลืมนะครับ เดี๋ยวผมก็ตาย เดี๋ยวทักษิณก็ตาย ถ้าทักษิณออกจากคุกแต่มีคนอื่นเข้าคุกแทน ก็จะไม่มีใครกล้าทำอีก อย่างน้อยรักษาระบบเอาไว้ แม้เราตายแน่ๆ แต่ระบบยังอยู่” นพ.ตุลย์ กล่าว

 

โรงพยาบาลตำรวจมีที่คุมตัวนักโทษ ไม่ใช่ชั้น 14 

 

นพ.ตุลย์ กล่าวถึงการคุมตัวนักโทษที่เจ็บป่วยไปรักษาตัวนอกเรือนจำว่า เมื่อส่งไปรักษานอกเรือนจำแล้ว กรมราชทัณฑ์หรือเรือนจำต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่า ผู้ป่วยยังอยู่ในสถานรักษาพยาบาลตามที่กำหนดหรือไม่ คืออย่างไรก็ต้องอยู่ในสถานภาพของการถูกจองจำ ไม่ใช่ไปที่ไหนก็ได้ แต่นี่ปรากฏว่ากรมราชทัณฑ์มีการเพิกเฉย ละเลย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและคลุมเครือ ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นเรื่องผิด ต่อให้อยู่ที่โรงพยาบาลแต่อยู่ห้องพิเศษก็ผิดอีก เพราะปกติการควบคุมตัวจะไม่ได้ควบคุมตัวในห้องพิเศษ 

 

การแยกควบคุมตัวมีไว้สำหรับคนที่เป็นโรคจิตร้ายแรงจะไปฆ่าคนอื่น หรือเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่จะทำให้คนอื่นอันตรายถ้าติดโรค กฎหมายเขียนเลยว่าการควบคุมตัวห้ามแยกจากผู้ป่วยอื่น ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจมีชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ตรงข้ามห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่จัดไว้สำหรับนักโทษจากเรือนจำที่มารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ใช่ชั้น 14 ที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ และแพทย์เจ้าของไข้ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจทุกวัน ก็อาจจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็ได้ ถ้ากรณีทักษิณตรวจสอบได้จริง ผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจอาจรับผิดชอบไม่ไหว

 

“สมมติผมมีคนไข้ในความรับผิดชอบที่ผมต้องตรวจ แต่ไม่เคยอยู่ให้ผมตรวจสักวัน อยู่นอกโรงพยาบาลตำรวจ แล้วอยู่มาวันหนึ่งบอกว่าไม่เคยตรวจคนไข้คนนี้ ไม่เคยรายงาน ทั้งที่เป็นเจ้าของไข้ แบบนี้แพทย์เจ้าของไข้ก็จะมีความผิดไปด้วย ไม่ใช่มีแค่ผู้บริหารโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ต้องมีแพทย์เจ้าของไข้ ถ้าตรวจสอบได้ว่าทักษิณไม่อยู่โรงพยาบาลตำรวจก็จะโดนทั่วกันหมด คนที่ต้องรับผิดชอบคือผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงแพทย์เจ้าของไข้ที่ให้ความร่วมมือ โดยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่เกษียณแล้วหรือใกล้เกษียณ หรืออดีตแพทย์ประจำแต่ไม่ใช่แพทย์ประจำ” นพ.ตุลย์ ระบุ

 

อย่าปล่อยให้เป็น Multiple Standard ยิ่งกว่า Double Standard 

 

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามหลักการกฎกระทรวงที่จะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาภายนอกเขามีไว้เพื่อรักษาชีวิต ไม่ใช่กลายเป็นช่องทางให้นักโทษไม่ถูกคุมขัง กฎกระทรวงเขียนไว้ชัดเจน ต้องมีความจำเป็น ต้องรักษาในโรงพยาบาล ไม่ใช่ออกไปอยู่ที่บ้าน และถ้าไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล ต้องรีบรักษาและนำกลับเรือนจำ จึงมีการกำหนดว่าต้องมีการตรวจสอบและติดตามเป็นเวลา 30 วัน, 60 วัน, 90 วัน และ 120 วัน ต้องรายงานตามลำดับชั้น

 

ส่วนการพักโทษมีข้อสังเกตคือ ทักษิณเป็นนักโทษเกรดไหน ทักษิณยังไม่เคยมีการปฏิบัติว่าเป็นนักโทษชั้นดี จะพักโทษต้องเป็นนักโทษเกรดดีเยี่ยม ส่วนเรื่องอายุและสุขภาพที่มีคนพยายามอธิบาย ก็สามารถอธิบายไปได้หมด ขณะที่นักโทษสูงอายุและป่วยก็มีเป็นทั่วประเทศ ถ้าเช่นนั้นใครเหมือนทักษิณก็ควรจะได้เหมือนกันหมด 

 

อย่าปล่อยให้เป็น Multiple Standard ยิ่งกว่า Double Standard คือลืมตาข้างหนึ่งมองทักษิณ แต่มีนักโทษที่เจ็บป่วยอีกจำนวนมาก ป่วยมากกว่าทักษิณอีก ถ้าจะปล่อยก็ปล่อยให้หมด 

 

ชุมนุมอีกครั้ง 2 กุมภาพันธ์ 67 

 

นพ.ตุลย์ กล่าวถึงการที่ คปท. นัดชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า ตนเองจะไปเข้าร่วมในการชุมนุมครั้งต่อไปด้วย โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับคดีอื่นที่ศาลตัดสินว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

“คปท. มาขอข้อมูลจากผมเรื่องการแพทย์ เรื่องโรงพยาบาล ซึ่งเราจะรู้รายละเอียดมากกว่าคนทั่วไป แต่ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีแพทย์เอาข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ไปบอกคนอื่น เรื่องนี้เป็นกรณีถ้าแพทย์เจ้าของไข้ให้ความเห็นอันเป็นเท็จเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่น ก็ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 269 งานนี้เกี่ยวกับหมอแน่ๆ แต่พอเรื่องเกี่ยวกับนักการเมืองใหญ่ แพทยสภาก็ไม่อยากแตะ ทั้งที่ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ 

 

“ตามปกติถ้ามีประเด็นผิดจริยธรรม ผิดมาตรฐานวิชาชีพ แล้วฟ้องร้อง ต้องมีการสอบสวน เพื่อรักษามาตรฐานจริยธรรม ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

“ตัวคุณทักษิณคนเดียวลงมือเองไม่ได้ ต้องมีคนคอยสมคบคิด คอยรับใช้ ซึ่งกรณีนี้ต้องใช้แพทย์เป็นส่วนใหญ่ ใช้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ รวมถึงกระทรวงยุติธรรม ซึ่งรัฐมนตรีอยู่ในพรรครัฐบาล นี่กลายเป็นว่าทั้ง ผบ.เรือนจำ, อธิบดี, ปลัดกระทรวง และรัฐมนตรี เป็นคนของทักษิณหมดเลย รัฐมนตรีต้องพิจารณาด้วยว่า ทำไมทักษิณรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้ง 150 วัน ป่วยหนักมากขนาดนั้นเชียวหรือ” นพ.ตุลย์ กล่าว

 

นพ.ตุลย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมีข้อข้องใจโดยสรุปคือ กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจอาจทำผิดกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวนักโทษรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และแพทย์ที่รักษาพยาบาลไม่รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผิดมาตรฐานจริยธรรม และอาจผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ให้ความเห็นอันเป็นเท็จ เนื่องจากการส่งตัวนักโทษรักษาตัวนอกเรือนจำต้องมีอาการหนักหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ขณะที่ช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 อาการยังแข็งแรงดีอยู่เลย และนี่รักษามา 5 เดือนแล้วยังไม่หายอีกหรือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X