×

สภาเสียงข้างมากโหวตผ่าน ‘งบกลาง’ หลังถกเดือด ‘ศิริกัญญา’ เสนอตัด 3 หมื่นล้าน เรืองไกรบอกนายกฯ ขอพันล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
20.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (20 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2  เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว 

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ขอสงวนความเห็น โดยอภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณงบรวมในมาตรา 4 จำนวน 30,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เพราะงบประมาณปี 2567 เบิกจ่ายล่าช้า และมีการอนุมัติงบไปพลางก่อนแล้วโดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือที่สภาสามารถพิจารณาได้จริงโดยที่ไม่ต้องไปโอนเปลี่ยนแปลงคืน ไม่ต้องถูกสำนักงบประมาณทักท้วงในห้องประชุม มีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 1.68 ล้านล้านบาท 

 

ดังนั้น ถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ออกใน 2 ไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นปัญหาจากที่สภา เนื่องจากสำนักงบประมาณได้มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนแล้ว แต่ที่เบิกจ่ายล่าช้าเป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะงบใช้ไปพลางสำหรับงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 15 มีนาคม เบิกได้แค่ 79% แต่ที่กังวลคือรายจ่ายลงทุน มีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ซึ่งปกติเราอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปีประมาณ 600,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเบิกจ่ายไปได้เพียง 55% ใน 6 เดือน ดังนั้นตนคิดว่าถ้ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ก็สมควรถูกตัดงบลง

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า การประมาณการรายได้อาจผิดพลาด รัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น การไม่เก็บภาษีการขายหุ้น, การลดหย่อนกองทุน ESG, การลดการนำส่งรายได้ของ กฟผ., การลดภาษีสรรพสามิต รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้กับประชาชน และยังมีรายได้ที่อาจจะจัดเก็บน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ ดังนั้นคำนวณแล้วมีความเสี่ยงที่จะประมาณการรายได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท และจัดเก็บงบประมาณได้จริงไม่ถึง 2.78 ล้านล้านบาทตามที่ประมาณการไว้

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมาคือ หากรายได้พลาดเป้า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการชนเพดานเงินกู้ซึ่งอยู่ที่ 790,656 ล้านบาท อีกเพียง 97,656 ล้านบาทจะชนเพดาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แน่นอนว่าใครของบก่อนได้ก่อน จึงเห็นว่าควรต้องมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ด้วยการปรับลดงบประมาณลง 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือมีปัญหา

ขณะที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ สงวนความเห็น อภิปรายขอปรับลดงบกลาง 1,400 ล้านบาทว่า ในคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการหารือกันอยู่นั้น มีรองประธานคณะกรรมาธิการฯ บอกว่าของบให้รัฐสภาไทย ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะมีส่วนได้เสีย 

 

เรืองไกรกล่าวต่อว่า ในการพิจารณาปรับเพิ่ม 1,000 ล้านบาท วันนั้นมีการพูดคุยกันกลางห้องประชุม จับกลุ่มพูดคุยว่าจะเอาตรงไหนไปไหน มีการบอกว่าจะเอาไปประกันสังคม 500 ล้านบาท ส่วน 1,000 ล้านบาทบอกว่าท่านนายกฯ ขอมา ผมฟังแล้วผมก็ตกใจ ถ้าบอกขอมา อย่างนี้วันนี้ผมต้องขอเสนอตัดออก เพราะให้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าให้ผ่านไปในมาตรา 144 ก็ต้องถูกร้องแน่ การที่มาพูดแล้วในห้องคณะกรรมาธิการฯ แม้ว่าจะไม่ได้ออกเสียง แต่ก็มีคณะกรรมาธิการฯ ที่เป็นคณะรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย…ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติคำวินิจฉัยไว้ว่า ถ้ามีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นก็ต้องไม่อยู่ในห้อง เฉกเช่นเดียวกันกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ท่านก็ทำเป็นตัวอย่าง ตนเองยังติดใจเรื่องนี้และเสนอให้ท่านตัด 1,000 ล้านบาทออกไป 

 

เพราะอย่างไรงบกลางก็ยังมีกว่า 90,000 ล้าน อย่าไปเสี่ยงกับเงินเล็กน้อย และมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะอย่างไรเสียผมเป็นคณะกรรมาธิการฯ แม้เสียงข้างน้อย ผมก็ใช้สิทธิที่จะต้องยื่น ป.ป.ช. แน่นอน ถ้าตัวเลขนี้ไม่ตัดออก

 

ส่วน ชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนพรรคไทยสร้างไทย​ ขอสงวนความเห็น โดยอภิปรายว่า ปีนี้มีการตั้งงบประมาณในส่วนของงบกลางเอาไว้ 665,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยหวัด ค่ารักษาพยาบาลราชการหรือลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำควรแยกส่วนต่างหาก ไม่ควรนำมารวมไว้ในงบกลางให้เข้าใจไขว้เขวว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งที่เป็นเงินที่ต้องจ่ายเป็นประจำตามกฎหมายนั้นๆ ส่วนเงินที่ต้องสำรองจ่ายหากฉุกเฉินหรือจำเป็นที่จะใช้ได้ในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยปีนี้ตั้งไว้สูงถึง 98,500 ล้านบาท แต่กลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้ตรวจสอบ 

 

นอกจากนี้ ในช่วงการพิจารณาปรับลดของ กมธ. นั้น รัฐบาลได้แปรเพิ่มจากงบที่ปรับลดจากหน่วยราชการต่างๆ มาไว้ในงบกลางอีกจำนวน 1,000 ล้านบาท รวมเป็นงบกลางที่ตั้งไว้ใช้จ่ายเพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเป็น 99,500 ล้านบาท อีกเพียง 500 ล้านจะถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ 

 

ชวลิตกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในงบประมาณจำนวนนี้น่าจะมีบางส่วนมาจากการปรับลดโครงการซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือที่ตั้งงบประมาณปี 2567 ไว้กว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกตัดออกทั้งหมด และงบที่ถูกตัดทั้งหมดย่อมถูกนำมาอยู่ในงบกลาง ฉะนั้นการใช้จ่ายงบกลางของรัฐบาลนี้ก็ควรที่จะต้องใช้จ่ายให้ตรงกับวัตถุประสงค์คือ เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่เปิดช่องไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันใดๆ หากโครงการที่รัฐบาลอนุมัติไม่เหมาะสม ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วนจริงๆ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือเพื่อมาปกป้องอธิปไตย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับถูกปรับออกไป ย้ำว่าการใช้จ่ายงบกลางต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะถูกจับตาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกองทัพเรือ 

 

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอตัดงบในมาตรานี้ลง 10% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือรายจ่ายจำเป็น มีเรื่องของโครงการที่เรียกว่าเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือรัฐบาลปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะเอาเด็กเป็นตัวประกันในการใช้จ่ายงบกลาง 

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูประเทศไทย มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบทั้งหมด 4 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแบบงบประจำถ้วนหน้าไปเลย แต่ใช้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบจำกัดจำนวน และมีการใช้จ่ายงบกลาง และตั้งแต่ปี 2566 ก็มีแต่มาขอใช้งบกลางตลอด จนงบกลางเป็นงบประจำไปแล้ว รวมถึงมีการอ้างเรื่องความยากจน ความจำเป็น และเรื่องสัญชาติ

 

ขณะที่ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า งบกลางในหมวดสำรองจ่ายในปี 2567 ที่เรากำลังพิจารณากันมีการเบิกจ่ายต่ำ เนื่องจากในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบกลางที่เป็นเงินสำรองจ่ายนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาถึงความพร้อม ความสามารถตามระเบียบความจำเป็น แผนงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามที่สำนักงบประมาณควรจะต้องพิจารณา ส่วนใหญ่งบกลางจะจัดสรรในช่วงกลางปีงบประมาณ แต่ในเรื่องของการเบิกจ่ายมีความล่าช้า ส่วนใหญ่ก็สืบเนื่องมาจากเรื่องของภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีความคาดหมายไว้ล่วงหน้า การของบประมาณจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้

 

มนพรกล่าวต่อว่า ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณในรอบ 1 ปีงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และคิดว่าประชาชนคนไทยคงไม่อยากเจ็บป่วย ทำให้การตั้งงบประมาณเป็นไปตามสมมติฐานที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ

 

“ทั้งนี้ งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเราจะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงขอยืนยันว่าดิฉันเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯ ในมาตรานี้” มนพรกล่าว

 

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ 279 เสียง ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก โดยมีเสียงไม่เห็นด้วย 160 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising