×

รายงานชี้ สมาชิกรัฐสภาอาเซียนตกเป็นเป้าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ

26.04.2024
  • LOADING...

รายงานล่าสุดว่าด้วยสมาชิกรัฐสภาที่มีความเสี่ยง (Parliamentarians at Risk) โดยสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ชี้ว่า หลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา สมาชิกและอดีตสมาชิกรัฐสภายังคงตกเป็นเป้าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรูปแบบ

 

เมอร์ซี บาเรนดส์ ประธาน APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ระบุว่า “ความสามารถของสมาชิกรัฐสภาที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนแสดงความคิดเห็นและกระทำการใดๆ ตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นแนวทางสำคัญในการตรวจสอบอำนาจและเสริมสร้างประชาธิปไตย” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนกลุ่มนี้

 

ในปี 2023 สมาชิกรัฐสภาในอาเซียนยังคงเผชิญกับภัยคุกคามทางการเมือง โดยเมียนมาเป็นประเทศที่สมาชิกรัฐสภาถูกคุกคามอย่างเลวร้ายที่สุด สมาชิกรัฐสภาจำนวน 74 คนยังคงถูกควบคุมตัว หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร ซึ่งในจำนวนนี้ 73 คน เป็นสมาชิกรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 จากพรรค NLD ภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี

 

นอกจากเมียนมาแล้ว รัฐบาลในหลายชาติอาเซียนยังคงใช้ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมคุกคามสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ ที่มักจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม บางคนถึงกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

 

ขณะที่ไทยและกัมพูชา เป็นสองประเทศที่จัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญขึ้นในปีที่แล้ว แต่พลเรือนของทั้งสองประเทศกลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของพวกเขาได้อย่างเสรี เพื่อเลือกผู้นำทางการเมืองคนใหม่ที่พวกเขาต้องการได้ ทั้งจากการข่มขู่ทางร่างกาย การใช้อำนาจศาลหรือกลไกของรัฐที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขัดขวางไม่ให้เจตจำนงของประชาชนบรรลุผล

 

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ในการเลือกตั้งกัมพูชาเมื่อปี 2023 การลงคะแนนเสียงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองของฮุน เซน ที่ครองอำนาจนำในการเมืองกัมพูชามานานเกือบ 4 ทศวรรษ โดยพรรคแสงเทียน พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญที่สุดในกัมพูชาถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่ายื่นเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน นอกจากนี้รัฐบาลฮุน เซน ยังได้โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ในประเทศไทย พรรคก้าวไกลถูกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขัดขวางไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล แม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 และครองที่นั่งในสมาชิกมากที่สุดในช่วงเวลานั้น อีกทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลที่ได้รับเสียงสนับสนุนถล่มทลายจากประชาชน ยังถูกขัดขวางไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีความพยายามที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายจัดการกับนักการเมืองหัวก้าวหน้าจากพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับสมาชิกพรรคอนาคตใหม่

 

ส่วนในมาเลเซีย APHR ก็มีความกังวลต่อความพยายามลิดรอนสิทธิของสมาชิกรัฐสภาผ่านกลไกทางศาลและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะพระราชบัญญัติยุยงปลุกปั่น ซึ่งอาจต้องโทษจำคุก 3-7 ปี สำหรับความผิดที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ รวมถึงการกระทำที่มีแนวโน้มยุยงปลุกปั่นต่อรัฐบาลมาเลเซีย 

 

APHR จึงเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพิ่มความพยายามร่วมกันในการปกป้องสมาชิกรัฐสภาชาติอาเซียนที่ตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะ APHR เชื่อว่ารัฐสภามีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงมีความสำคัญสูงสุดที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตอบโต้จากรัฐบาล

 

แฟ้มภาพ: APHR

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X