เข้าคลาสเสริม เติมคลังศัพท์ด้านการจิบไวน์กันเสียหน่อย เผื่อคราวหน้าคนรอบตัวจะต้องร้อง ‘ว้าว’ ถึงภูมิความรู้ด้านไวน์ของคุณ ก่อนไปจิบไวน์ที่งานสังคมครั้งหน้า หรือประชุมกับเจ้านายและลูกค้า ลองอ่านพจนานุกรมไวน์จิ๋วที่เรารวมมาให้กันสักเดี๋ยว รับรองจำไม่ยาก แถมยังนำไปใช้ได้จริงอีกด้วยนะ
เลงธ์ (Length)
คุณอาจหิวนึกถึง ‘เล้ง’ ของเม้งเล้งแซ่บ แต่เปล่า เราไม่ได้กำลังชวนกินต้มแซ่บกระดูกหมู ดังนั้นอย่าเพิ่งน้ำลายสอไปก่อน คำนี้แปลง่ายๆ คือ ‘ความยาว’ อันหมายถึงรสชาติที่ตราตรึงอยู่ในปากหลังจากกลืนลงคอไปแล้วต่างหาก คำนี้อาจคล้ายๆ หรือเกี่ยวโยงกับคำว่า อาฟเตอร์เทสต์ (Aftertaste) หรือ ฟินิช (Finish) แต่ว่าง่ายๆ คือระยะเวลาของรสชาติที่รู้สึกได้ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของไวน์ได้อีกด้วย
มาชัวร์ (Mature)
“ทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่หน่อยสิ!” นี่คือประโยคที่ฝรั่งมังค่ามักพูดกันเมื่อนึกถึงคำว่า ‘มาชัวร์’ ที่แปลว่าเป็นผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ในโลกของไวน์นี้ก็ความหมายไม่ดิ้นต่างกันมาก อันหมายถึงไวน์ที่บ่มเอาไว้ได้ที่จนถึงจุดที่คุณสมบัติที่ควรมีในไวน์ที่ดีเริ่มลงตัวทั้งหมด ทั้งความเป็นแทนนิน ความเป็นผลไม้ และอะซิดิตี้ หรือความเป็นกรดที่ออกรสเปรี้ยว ทั้งยังแฝงไว้ด้วยกลิ่นและรสชาติต่างๆ ที่เสริมความอร่อยให้ไวน์นั้นๆ และที่สำคัญคือพร้อมนำมาดื่มแล้วนั่นเอง
มีเดียมบอดี้ (Medium Bodied)
คำนี้คุณสามารถใช้หยอดลงในบทสนทนาได้เมื่อรู้สึกว่าไวน์ที่จิบเข้าไปขาดความเข้มข้น และคุณลักษณะของไวน์แบบฟูลบอดี้หมายถึงไวน์นั้นอาจมีแอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 12.5-13.5% หมายถึงไม่สูงปรี๊ด ดื่มได้เรื่อยๆ สำหรับคนคอไม่อ่อนนัก ประเภทของไวน์ที่ว่า เช่น โรเซ (Rose), ซาวิญง บลอง (Sauvignon Blanc), เมอร์โลต์ (Merlot), เฟรนช์ เบอร์กันดี (French Burgundy) หรือปิโนต์ กริจิโอ (Pinot Grigio) ส่วนความเป็นบอดี้นั้นคืออะไรสามารถอ่านได้ที่นี่ (และอนุญาตให้เล่นมุกเพลง Nobody ได้เฉพาะตอนอยู่ในหมู่เพื่อนสนิทเท่านั้น)
มิเนอรัลลี (Minerally)
นี่คือคำสรรพคุณที่บ่งบอกถึงกลิ่นของไวน์ที่ให้ความรู้สึกเปียกนิดๆ บ้างก็ว่าให้นึกถึงรสชาติของคอนกรีตเปียกๆ (ถ้าไม่มีเวลาลองไปเลียคอนกรีต ไม่ต้องห่วงไป เพราะเราลองให้แล้วล่ะ) เอาเป็นว่าถ้าให้ง่ายที่สุด เราแนะให้หลับตาแล้วนึกภาพคุณกำลังยืนรับลมอยู่ไม่ห่างจากน้ำตกไนแองการาอันน่าอัศจรรย์ คุณได้รับความรู้สึกสดชื่นทั้งความชื้นจากน้ำแร่ ความเป็นหินผา หินงอก หินย้อย (แถมพืชมอสส์ให้ด้วย) ไปเต็มๆ ทีนี้ลองนึกถึงสิ่งนั้นที่กำลังหลั่งไหลอยู่ในปากดูสิ… นั่นแหละคือ ‘มิเนอรัลลี’ ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการที่องุ่นเติบโตในดินที่มีแร่ธาตุหรืออยู่บริเวณที่มีก้อนหิน โดยดึงคุณสมบัติความเป็นหินแบบธรรมชาติเข้าไปอยู่ในตัวองุ่นด้วย อันเกิดเป็นคุณสมบัติเอกลักษณ์ของไวน์ชนิดนั้นๆ ที่น่าถวิลหาของนักดื่มไวน์นั่นเอง
โนส (Nose)
นิโคลัส เมเยอร์ ผู้รู้เรื่องไวน์ขาวออสเตรเลีย เคยบอกกับเราว่าในการชิมไวน์นั้น สิ่งที่สำคัญมากคือการดมไวน์ (Nose) โดยวิธีนี้ทำได้โดยการแกว่งแก้วไวน์ (Swirl) ให้น้ำไวน์วนอยู่ในแก้วเพื่อเปิดให้อากาศเข้าไปเผยให้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของไวน์นั้นๆ ออกมาชัดยิ่งขึ้น โดยการ ‘โนส’ ไวน์นั้นทำเพื่อให้เผยกลิ่นอโรมาของไวน์ออกมา จะว่าไปวิธีนี้ไม่ต่างกับการดมน้ำหอมของมืออาชีพเลย ดังนั้นเราสามารถบอกเพื่อนข้างๆ ว่า “ลอง ‘โนส’ ไวน์ดูหรือยังครับ/คะ ไวน์นี้มีกลิ่นที่สดชื่นดีนะ” ก็ไม่ผิดแต่ประการใด ไม่เชื่อลองดูสิ
นัตตี้ (Nutty)
คำเสียงน่ารักนี้อาจไม่ได้มีความหมายน่ารักแบบนั้น เพราะใช้อธิบายถึงไวน์ที่ผ่านการทำปฏิกิริยาเคมีเมื่อสัมผัสกับอากาศ (Oxidised) มาแล้ว ซึ่งมักเสียรสที่ควรจะเป็นไป นอกจากนั้นแล้วคำนี้ยังสามารถหมายถึงไวน์ที่มีความเป็นกลิ่นถั่ว อันมักเป็นกลิ่นจำเพาะของไวน์ขาวที่ทำจากองุ่นสายพันธุ์ชาร์ดอนเนย์ (Chardonnay) ได้อีกด้วย
โอ๊กกี้ (Oaky)
คำนี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่ามีความเกี่ยวข้องกับไม้โอ๊ก สิ่งนี้ในโลกของคนทำไวน์รู้กันดีว่าไม่ได้มาจากตัวขององุ่น แต่มาจากถังไม้ที่นำมาบ่มไวน์นั่นเอง อ๊ะๆ ฟังแล้วคล้ายกับวิสกี้หรือเบอร์เบินเลยใช่ไหม จะว่าไปก็ไม่ผิดนัก และนี่เป็นสิ่งที่กูรูทำไวน์ต่างก็แข่งขันกันเสริมรสชาติให้ไวน์มีความซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งไวน์ขาวที่บ่มในถังไม้โอ๊กจะดูดซับรสเนยนิดๆ มะพร้าวหน่อยๆ และที่สำคัญคือวานิลลาอันหอมหวนนั่นเอง ส่วนไวน์แดงจะได้รับความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ วานิลลา และบางครั้งยังได้กลิ่นผักชีลาว (Dill) อีกด้วย! นอกจากนั้นที่ควรรู้คือมีหลายประเทศที่ผลิตไวน์ในถังไม้โอ๊กจากฝรั่งเศสและอเมริกา สร้างความหอมและคาแรกเตอร์พิเศษยิ่งขึ้นให้กับตัวไวน์
ออร์แกนิก (Organic)
ใช้เรียกไวน์ที่ทำจากองุ่นที่โตโดยไม่ผ่านสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีใดๆ ไวน์ออร์แกนิกนั้นถูกพูดถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะในกรรมวิธีผลิตไวน์นั้นใส่สารสังเคราะห์อย่างยีสต์เข้าไปในปริมาณน้อยที่สุดเพื่อให้ได้รสชาติที่เกิดจากกรรมวิธีธรรมชาติล้วนๆ มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันสามารถหาชิมได้ง่ายขึ้นแล้ว เราแนะให้ลองถามพนักงานที่ร้านขายไวน์ใกล้บ้านดูได้
ออกซิเดชัน (Oxidation)
‘ออกซิเดชัน’ คำที่เกร่ินเอาไว้บ้างด้านบนของ ‘นัตตี้’ คำนี้ใช้เมื่อคุณต้องการอธิบายถึงไวน์ที่ผ่านการสัมผัสอากาศจนเกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้ไวน์นั้นไม่ ‘สด’ เช่นที่ควร เช่น ไวน์ที่มักเปิดเอาไว้แล้วดื่มไม่หมดจนทิ้งไว้นานนั่นเอง สังเกตได้จากสีที่เป็นสีน้ำตาลหรือสีหม่น ตุ่นกระทั่งมีรสปะแล่มๆ คล้ายเชอร์รี ดูว่าไวน์ของคุณเสียแล้วหรือยังได้ที่นี่
พลองค์ (Plonk)
แถมคำศัพท์ให้เผื่อได้แฮงเอาต์กับชนชาติอังกฤษหรือออสเตรเลีย ‘พลองค์’ ศัพท์คำนี้เป็นคำสแลงอังกฤษ สื่อถึงไวน์ที่ราคาย่อมเยาหรือไวน์ที่คุณภาพไม่ได้พรีเมียมซึ่งมักนิยมดื่มในเด็กวัยรุ่นในมหาวิทยาลัย หรือคนทำงานสิ้นเดือนที่อยากย้อมใจไปพลางก็ได้ไม่ว่ากัน แนะให้พูดทั้งประโยคว่า Do you reckon we should drink a couple of bottles of plonk, mate? แปลได้ว่า นายว่าเราควรจะซัดไวน์ถูกๆ กันสักขวดสองขวดไหมเพื่อน หรือ I wouldn’t mind a bottle of plonk. ฉันไม่ว่าอะไรถ้าจะซดไวน์ (ราคาสบายกระเป๋า) สักขวดนะ
นี่คือคลังศัพท์เคล้าไวน์เบื้องต้นที่แสนง่ายและควรรู้ เหมาะสำหรับมือใหม่หัดจิบ เตรียมจดต่อได้กันได้ในตอนหน้า และหากอยากดูเป็นมือโปรเรื่องไวน์กว่านี้ กลับไปอ่านคู่มือจิบไวน์ 101 ให้ดูเหมือนมือโปรได้ที่นี่เลย
อ่านเรื่องคู่มือมือใหม่หัดจิบ 10 คำศัพท์น่ารู้เสริมรสการจิบไวน์ให้อร่อยขึ้น ตอนที่ 1 ที่นี่ และสนุกกันต่อตอนที่ 2 ได้ที่นี่
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง:
- www.winemag.com/glossary
- wineandabout.com/th/basics/wine-buzz-words-part-i
- www.vinology.com/wine-terms
- www.thewinecellarinsider.com/wine-topics/wine-educational-questions/abc-of-wine-glossary-of-wine-terms
- winefolly.com/tutorial/40-wine-descriptions
- www.urbandictionary.com/define.php?term=plonk&utm_source=search-action
- ผู้บรรลุนิติภาวะควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหากบริโภคแอลกอฮอล์
- หมายเหตุ: สุราเป็นเหตุก่อมะเร็ง เซ็กซ์เสื่อม ก่อให้พิการและเสียชีวิต เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม และสามารถทำร้ายครอบครัวและทำลายสังคมได้