×

100 ภาพข่าวแห่งปี 2566 ผ่านชัตเตอร์ของช่างภาพ THE STANDARD

24.12.2023
  • LOADING...

ตลอดปี 2566 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อีกหลายเหตุการณ์ยังคงวนเวียนและต่อเนื่อง หรืออาจลากยาวข้ามไปปีหน้า

 

ในจำนวนหลายหมื่นภาพถ่ายจากช่างภาพของ THE STANDARD ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดปี 2566 ตามไทม์ไลน์ นี่คือ 100 ภาพที่คัดสรรมาบอกเล่าแก่ผู้อ่าน เพื่อย้อนทวนความทรงจำเป็นบทเรียนรวมถึงมองภาพในอนาคตไปพร้อมๆ กัน

 


 

1.

 

วันที่ 3 มกราคม 2566: ป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อปิดไฟชั่วคราว หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึงการใช้งบประมาณจำนวนถึง 33 ล้านบาทในการเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมองว่าอาจมีมูลค่าสูงเกินกว่าปกติหรือไม่

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/lights-off-bang-sue-grand-station/

 


 

2.

 

วันที่ 4 มกราคม 2566: รูปภาพของ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า วง BLACKPINK ถูกติดประดับอยู่ที่ตัวอาคารสนามศุภชลาศัยและพื้นที่โดยรอบ ภายใต้การดูแลของกรมพลศึกษา ก่อนงานคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK 2023 แสดงระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2566

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/blackpink-in-bangkok/

 


 

3.

 

วันที่ 7 มกราคม 2566: NewJeans เกิร์ลกรุ๊ปจากประเทศเกาหลีใต้ เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเข้าร่วมงาน Golden Disc Awards หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GDA ที่ถูกจัดขึ้นทุกปีเพื่อมอบรางวัลให้กับผลงานและศิลปินในวงการ K-Pop ซึ่งในแต่ละปี GDA ก็จะเปลี่ยนสถานที่ในการประกาศรางวัลไปเรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น, มาเลเซีย หรือจีน และในปีนี้ทางผู้จัดก็ได้ปักหมุดสำคัญ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ประเทศไทย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/newjeans-stray-kids-ive-gda/

 


 

4.

 

วันที่ 9 มกราคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ได้ลงนามสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ พร้อมสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ 

 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเปิดตัวบนเวทีตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกคนคงคุ้นเคยเพราะตนอยู่มาหลายปี คงจำหน้ากันได้ วันนี้อยากบอกว่า ตนลบภาพลักษณ์ของเราไม่ได้ เป็นทหารมาทั้งชีวิต แต่พยายามปรับตัวมาตลอด”

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/prayuth-becomes-a-politician/

 


 

5.

 

วันที่ 12 มกราคม 2566: เครื่องบินขับไล่ Gripen ของกองทัพอากาศ ซ้อมการแสดงการบิน (Air Show) ที่โรงเรียนการบิน กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ก่อนที่จะแสดงจริงในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/air-force-childrens-day-66/

 


 

6.

 

วันที่ 14 มกราคม 2566: วง Paper Planes โชว์เพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ที่เวทีโลมา ในงานวันเด็กของซาฟารีเวิลด์ ซึ่งก่อนหน้านี้วง Paper Planes ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่า “พวกเราตั้งใจอยากจะไปเซอร์ไพรส์เจอน้องๆ สักหนึ่งที่ (ในช่วงว่างที่วงมีจำกัดมาก) เพื่อไปร้องเพลงกับน้องๆ และขอบคุณที่รักเพลงของพวกเรา เราเลยคุยกับทีมงานและวางแผนติดต่อซาฟารีเวิลด์ไปเอง เพราะเราเคยเห็นคลิปน้องๆ ร้องเพลงของพวกเราจากที่นี่เป็นที่แรกๆ”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/paper-planes-children-day/

 


 

7.

 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566: บรรยากาศช่วงเช้าบริเวณสะพานกรุงเทพถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จนมองไม่เห็นยอดตึกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ขณะที่ AirVisual เว็บไซต์สำรวจคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ รายงานว่า ช่วงเวลา 09.00 น. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก เป็นรองเพียงมหานครมุมไบ ประเทศอินเดีย และเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน โดยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 198 US AQI มีสถานะสีแดง อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อทุกคน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/bkk-top-3-worst-air-pm25/

 


 

8.

 

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566: การแสดงศิลปะไหว้ครูมวยไทยของกำลังพลกองทัพบกจำนวน 3,660 นาย ร่วมแสดงและถ่ายทอดความภาคภูมิใจในศิลปะของชาติเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ และบันทึกสถิติโลก (Guinness World Records) ภายในงานเฟสติวัลมวยไทย ประจำปี 2566 (Amazing Muay Thai Festival 2023) จัดโดยกองทัพบก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกระทรวงวัฒนธรรม ที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/guinness-muay-thai-festival-2023/

 


 

9.

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566: คู่รักหญิงจุมพิตกันระหว่างการจดแจ้งชีวิตคู่แก่คู่รัก LGBTQIA+ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิการแสดงออกของคู่รักทุกเพศ ทุกสถานะ โดยสถิติผู้มาจดแจ้งในแต่ละปีจะถูกบันทึกเป็นข้อมูลสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป 

 

กิจกรรมนี้จัดโดยสำนักงานเขตดุสิตร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเนื่องในวันวาเลนไทน์ ภายใต้ชื่องาน ‘ปดิวรัดา…ด้วยรักภักดีนิรันดร์’

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/lgbtqia-celebrate-valentine/

 


 

10.

 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566: ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวมตัวกันแสดงจุดยืนคัดค้านการย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยจากที่ตั้งเดิม พร้อมยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หลังเกิดกรณีข้อพิพาทปัญหาที่ดินและมีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ในคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ทางวิทยาเขตอุเทนถวายย้ายออกจากที่ตั้งเดิม

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/objection-relocation-rmutto-uthen/

 


 

11.

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566: ภาพขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับฟ้าวางซ้อนด้านหลังกับเกตุดอกบัวตูมขององค์พระพุทธธรรมกายเทพมงคล พระพุทธรูปสำริด ปางสมาธิ ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/before-sunset-photographer-awaited-moment/

 


 

12.

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566: ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ฟอกสบู่ล้างหน้าระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม โดยกล่าวถึงกรณีที่พบการทุจริตในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยชูวิทย์ระบุว่า มีการรับเงินทอนจำนวน 3 หมื่นล้านบาท มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน แต่เนื่องจากในวันนี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ติดภารกิจราชการต่างจังหวัด จึงได้มอบหมายให้ สุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. มารับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแทน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/chuwit-head-mot-orange-line-train/

 


 

13.

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566: ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อทำกิจกรรม ‘นอนปักหลักอดอาหารหน้าศาลฎีกา’ ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน บริเวณที่จัดกิจกรรมมีการตั้งเต็นท์สำหรับพักค้างคืนชั่วคราว โดยภายในมีเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่พร้อมที่นอนเตรียมเอาไว้ พร้อมแผงรั้วเหล็กล้อมบริเวณเต็นท์ ส่วนด้านหน้าเต็นท์มีกระดานเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ระบุหัวข้อว่า ‘คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่ศาลต้องคืนชีวิต-คืนสิทธิ์ประกันตัวให้ประชาชน’

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/tawan-bam-supreme-court-starving-protest/

 


 

14.

 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566: ภาพถ่ายนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่แสดงถึง ‘ความเสรี’ ที่ส่งผ่านกฎระเบียบทรงผม การแสดงออกตามเพศวิถีที่พวกเขาต้องการภายใต้สถานภาพนักเรียนมัธยม

 

วรพงษ์ เถาว์ชาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กล่าวว่า กฎระเบียบเรื่องการเสรีทรงผมเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่วันที่โรงเรียนประกาศใช้กฎนี้ก็เริ่มผ่อนปรนเรื่อยมา นักเรียนไว้ทรงผมหลากหลายกันมาตั้งแต่นั้น แต่กว่าที่โรงเรียนจะตัดสินใจเรื่องนี้ล้วนมีขั้นตอน มีการหารือ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจตามกระแสสังคม 

 

“การให้เสรีทรงผมกับนักเรียนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราเน้นเรื่องผู้เรียนเป็นสำคัญ เราพยายามเข้าใจถึงจิตใจของนักเรียน เราอยากหาวิธีที่จะทำให้นักเรียนมีความสุขในขณะที่เขาอยู่ในสถานะนักเรียนภายใต้การดูแลของเรา” วรพงษ์กล่าว

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/mtt-school-freedom-hairstyle/

 


 

15.

 

วันที่ 4 มีนาคม 2566: เป็นวันแรกที่กรุงเทพมหานครเปิดให้สวนรถไฟเป็น Pet Park อย่างเป็นทางการ โดยสวนรถไฟมีขนาดพื้นที่ 2 ไร่ มีทางเข้าโดยเฉพาะ ไม่กระทบกับเลนจักรยาน 

 

Pet Park ไม่ได้จำกัดแค่สุนัข สามารถนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งขยายจาก Dog Park เดิม และเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. อีกด้วย

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pet-park-at-rot-fai-park/

 


 

16.

 

วันที่ 8 มีนาคม 2566: เครื่องบิน F-35 จอดอยู่บนดาดฟ้าของเรือ USS Makin Island (LHD-8) ซึ่งจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเรือ USS Makin Island (LHD-8) ที่เข้ามาเทียบท่าในครั้งนี้มีส่วนร่วมสำคัญในการปล่อยยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกของการฝึกคอบราโกลด์ 2023 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม โดยมีทหารจาก 30 ประเทศเข้าร่วมกว่า 7,394 นาย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/uss-makin-island-atmosphere/

 


 

17.

 

วันที่ 15 มีนาคม 2566: วันที่สองของเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมพร้อมที่จะบุกเข้าห้องพักของพันตำรวจโทอายุ 51 ปี สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเกิดอาการคลุ้มคลั่งยิงปืนหลายนัดภายในบ้านพักในซอยจีระมะกร เขตสายไหม กรุงเทพฯ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/compilation-of-police-crazy/

 


 

18.

 

วันที่ 21 มีนาคม 2566: ประชาชนต่อแถวขณะที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทำกิจกรรมคัดค้านนโยบายกัญชาเสรีและรณรงค์ไม่ให้เลือกพรรคที่สนับสนุนนโยบายนี้ โดยนำสติกเกอร์ที่เป็นรูปชูวิทย์เขียนว่า ‘Hey No Corruption’ เข็มกลัด และเสื้อ มาแจกให้กับประชาชนที่บริเวณปากซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม โดยชูวิทย์ ได้พูดใส่โทรโข่งระบุว่า ไม่ต้องการนโยบายกัญชาเสรี หากชาวสีลมเห็นด้วยกับตนก็ให้มาเอาของแจก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/chuwit-visit-silom-opposes-cannabis/

 


 

19.

 

วันที่ 25 มีนาคม 2566: กลุ่มนักเต้นสวิงกำลังเต้นอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งกิจกรรมนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้เปิดพื้นที่ให้มีการเต้นรำท่ามกลางบรรยากาศคลาสสิก สำหรับงานเต้นสวิงครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมนำร่องในกรุงเทพมหานครภายใต้โครงการ ‘UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร’ ใน 3 ธีมหลัก ได้แก่ Hidden Temple ท่องวัดลับ, Living Old Building ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ และ Greeting Benjakitti เที่ยวสวนป่ากลางเมือง

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/hua-lamphong-swing-dance-club/

 


 

20.

 

วันที่ 30 มีนาคม 2566: สืบเนื่องจากเหตุไฟไหม้ป่าเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และลุกลามต่อเนื่องผ่านเขาแก้วและเขาแหลม ทำให้ไฟป่าลามถึงช่วงกลางของเขาตะแบกเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร 

 

สำหรับเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานนี้เกิดจากฟ้าผ่าลงบนเขาชะพลูทางด้านทิศตะวันออก จากนั้นไฟลามไปทิศตะวันตกจนถึงเขาแหลมและต่อเนื่องกันเรื่อยมา

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/nakhon-nayok-bushfire/

 


 

21.

 

วันที่ 30 มีนาคม 2566: เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดับไฟไหม้ป่าเขาตะแบก ซึ่งเป็นเขาที่อยู่ต่อจากเขาแหลม สืบเนื่องจากเหตุไฟไหม้ป่าเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และลุกลามต่อเนื่องผ่านเขาแก้วและเขาแหลม

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/nakhon-nayok-forest-fire-300366/

 


 

22.

 

วันที่ 30 มีนาคม 2566: พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ​ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็น สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค, วิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และ สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. จำนวน 492 คนทั่วประเทศ ที่บางกอกอารีนา หนองจอก 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pprp-launch-492-mps/

 


 

23.

 

วันที่ 3 เมษายน 2566: บรรยากาศกองเชียร์ของพรรคการเมืองต่างๆ ในวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นวันแรก โดยใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 เป็นสถานที่รับสมัคร บรรยากาศการรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคต่างนำทัพเหล่าผู้สมัครมาสมัครด้วยตัวเอง เช่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/atmosphere-candidates-registration/

 


 

24.

 

วันที่ 5 เมษายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน กล่าวปราศรัยถึงรายละเอียดโครงการ Digital Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท ระหว่างงานเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย 3 คนอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ ที่ธันเดอร์โดมสเตเดียม เมืองทองธานี 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/sretta-paetongtarn-chaikasem/

 


 

25.

 

วันที่ 13 เมษายน 2566: กลุ่มวัยรุ่นกำลังบิดเครื่องมอเตอร์ไซค์ด้วยเสียงที่แผดดัง ระหว่างการเล่นสาดน้ำเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่วงเวียนน้ำพุ อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/songkran-mahachai-130466/

 


 

26.

 

วันที่ 14 เมษายน 2566: นักท่องเที่ยวต่างชาติสนุกสนานกับการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์วันที่สองบริเวณถนนสีลม สำหรับย่านสีลมถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการเล่นน้ำสงกรานต์ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ จากทั่วโลกซึ่งรู้จักสีลมเป็นอย่างดี

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/silom-songkran/

 


 

27.

 

วันที่ 15 เมษายน 2566: นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงจ้างรถบรรทุกน้ำของเอกชนในราคา 10,000 บาท เพื่อนำมาเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาร่วมสนุกกันเป็นจำนวนมาก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/songkran-central-world-150466/

 


 

28.

 

วันที่ 20 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยแกนนำพรรค ร่วมเตะตะกร้อกับประชาชนที่มาออกกำลังกาย โดยโชว์ลีลาการเตะและโหม่งลูกตะกร้อ ที่สวนลุมพินี 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/prayuth-campaign-lumpini-park/

 


 

29.

 

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566: ตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับใช้ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับวันที่ 7 พฤษภาคม เช่น บัตรลงคะแนน สายรัดกล่องเก็บบัตรลงคะแนน ฯลฯ ถูกเทปปิดผนึกไว้ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับ ภายในห้องจัดเก็บของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โดยมีกล้องวงจรปิดคอยจับภาพเพื่อรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและบันทึกภาพได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณทางเข้า-ออกด้วย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pre-election-check/

 


 

30.

 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2566: พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ‘นนทบุรีตรงไป ก้าวไกลตรงมา’ ที่ตลาดนกฮูก นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ ได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, วรรณวิภา ไม้สน, วาโย อัศวรุ่งเรือง, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, สุเทพ อู่อ้น และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โดยเวทีปราศรัยนี้เป็นอีกครั้งที่มีประชาชนเข้าร่วมอย่างล้นหลามเต็มพื้นที่ สะท้อน ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’ ที่พรรคก้าวไกลและพิธาได้รับความนิยมพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/nonthaburi-move-forward-party/

 


 

31.

 

วันที่ 7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตยกมือไหว้พร้อมกล่าว สาธุ ขอให้ได้สมใจหวัง ก่อนที่จะหย่อนบัตรเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งเซ็นทรัล พระราม 2

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/central-rama-2-advance-election/

 


 

32.

 

วันที่ 7 พฤษภาคม 2566: เจ้าหน้าที่ใช้เข่งเพื่อใส่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเลือกตั้งล่วงหน้าหลังจากปิดรับลงคะแนนเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งรอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมียอดลงทะเบียนประชาชนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน่วยเลือกตั้งสยามพารากอนจำนวนทั้งสิ้น 40,801 คน เดินทางมาใช้สิทธิ 38,590 คน คิดเป็น 94.58%

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/advance-election-070566-2/

 


 

33.

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566: แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว หลังเกิดเหตุความวุ่นวายภายในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ จากการที่กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองรวมตัวเพื่อทวงถามต่อผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ กรณีพนักงานสอบสวนมีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนวัย 15 ปี ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/tawan-appointment-100566/

 


 

34.

 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแต่งกายสร้างสีสันในวันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายภายใต้แคมเปญ ‘คำตอบสุดท้าย กาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ โดยผู้สนับสนุนจำนวนมากต้องรับชมผ่านจอ LCD ที่ติดตั้งเอาไว้ด้านนอกอาคาร เนื่องจากภายในอาคารกีฬาเวสน์ 1 มีผู้เข้าร่วมด้านในเต็มการรองรับของอาคาร ไม่สามารถรองรับประชาชนเพิ่มได้อีก

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-ended-the-speech-of-the-mfp/

 


 

35.

 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566: ผู้ป่วยไอซียูวัย 72 ปี เดินทางจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธมาใช้สิทธิที่เต็นท์ภายในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยดุสิต เขตดุสิต ภายใต้การดูแลของญาติ แพทย์ และกรรมการประจำหน่วย ที่อำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด ก่อนจะให้เจ้าตัวกาบัตรเลือกตั้งและหย่อนบัตรด้วยตนเอง เจ้าตัวเปิดเผยว่า แม้ร่างกายจะเจ็บป่วย แต่ต้องการทำหน้าที่คนไทยที่ดีโดยการออกมาเลือกตั้ง ไม่อยากเสียสิทธิ ซึ่งตนเองได้แจ้งความจำนงกับแพทย์ผู้รักษาไว้ว่าอยากเลือกตั้ง จึงขออนุญาตมา

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/election-day-2566-3/

 


 

36.

 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสท่าให้ช่างภาพ THE STANDARD ถ่ายภาพ ก่อนการแถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. เป็นอันดับ 1 จึงขอประกาศว่า พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

 

โดยพิธากล่าวว่า ตนพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน และพร้อมฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื่อว่าความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีขึ้น พร้อมเคารพ ให้เกียรติ และต่อยอดจากการต่อสู้ของทุกฝ่ายที่ผ่านมา เพื่อประชาธิปไตย และพร้อมคืนศรัทธาให้ระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา คืนความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพให้กับการเมืองไทยและผู้แทนราษฎรทุกคน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-ready-to-form-government/

 


 

37.

 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลยืนฟัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคก้าวไกล ขอบคุณประชาชนบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายหลังการทราบผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลสามารถคว้าชัยชนะ ครองเสียงประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 และแถลงประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่คาดว่ามีทั้งหมด 6 พรรคการเมืองเข้าร่วม

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร


อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-move-forward-party-caravan/

 


 

38.

 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566: การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 310 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย โดยนัดหมายพูดคุยกันในเวลา 16.00 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.45 น. หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นจึงลงมาจับมือโชว์สื่อมวลชน จากนั้นกลับขึ้นไปเพื่อร่วมรับประทานอาหารอีกครั้ง โดยมีบรรยากาศชื่นมื่นเช่นเดียวกับตอนพูดคุยจัดตั้งรัฐบาล

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/6-parties-dinner-17052566-2/

 


 

39.

 

วันที่ 21 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เดินทางขอบคุณประชาชนบริเวณหน้าห้างแพชชั่น จังหวัดระยอง พร้อมปราศรัยสั้นๆ ว่า “ผมบอกคุณแล้วว่าเราทำได้ เราชนะแล้วยกจังหวัด” จากนั้นแนะนำตัวกับประชาชนว่า “ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ คนต่อไป ขอขอบคุณชาวระยองจากใจจริง และขอบอกกับทุกคนว่า ถึงแม้การเลือกตั้งจะจบไป แต่การเดินทางของพวกเราเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และขอใช้ความไว้วางใจทุกคะแนนในการทำให้ระยองการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคตไปด้วยกัน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-move-forward-rayong-21052566/

 


 

40.

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566: พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมกันแถลงร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่โรงแรมคอนราด โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้แถลงถึงรายละเอียดบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีรายละเอียด 23 ข้อ และ 5 แนวทางการปฏิบัติ จากนั้นได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถามทุกข้อสงสัย ทั้งจุดยืนเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นโยบายกัญชาเสรี, ท่าทีการโหวตนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา และการทำรัฐประหาร

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/move-forward-gov-standpoints/

 


 

41.

 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566: กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) รวมตัวบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อยื่น​หนังสือ​ร้องขอให้หยุดแทรกแซง​กิจการภายในประเทศ​ไทย​ บั่นทอน​ 3 สถาบันหลักของชาติ​

 

อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่ม ศปปส. กล่าวถึงการยื่นหนังสือครั้งนี้ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซูซาน ไวลด์ ยื่นข้อเรียกร้องกับทางสภา 10 ข้อ โดยมี 2 ข้อที่แทรกแซง​กิจการภายในประเทศ​ไทย การมาเรียกร้องวันนี้ ศปปส. จะไม่ยอมให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือประเทศหนึ่งประเทศใด มาทำลายอธิปไตยหรือมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องของสถาบัน​

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/us-embassy-protest-24052566/

 


 

42.

 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566: “เน้นย้ำนะครับ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรา (พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล) จะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อเป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้ครับ” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่พรรคประชาชาติ 

 

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วยว่า จากนี้จะไม่มีดีลตั้งรัฐบาลลับ จะมีเพียงการดีลรักในการตั้งรัฐบาลเท่านั้น

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/coalition-parties-formed-7-working-groups/

 


 

43.

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2566: ผู้เข้าร่วมงาน Bangkok Pride 2023 เดินขบวนพาเหรดพร้อมกับธงสีรุ้งที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีความยาว 144.8 เมตร ขบวนเริ่มตั้งแต่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ การจัดงานปีนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘BEYOND…GENDER’ ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีวาระขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ครอบคลุมความหลากหลายใน 4 มิติสำคัญ คือ การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition), สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality), สิทธิของ Sex Workers (Sex Workers Rights) และสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health)

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-pride-parade-2023-3/

 


 

44.

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2023 ที่จัดตั้งแต่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงบรรดาคนการเมืองที่ออกมาแสดงจุดยืนจำนวนมาก

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/paetongtarn-pita-bangkok-pride-month/

 


 

45.

 

วันที่ 19 มิถุนายน 2566: หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนวัย 15 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เดินทางมาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยยังคงสวมชุดไพรเวตเพื่อไปเรียนหนังสือ หลังจากต้องปีนรั้วและหน้าต่างเข้าไปเรียนภายในโรงเรียนมา 3 วันแล้ว เนื่องจากทางโรงเรียนปิดประตูรั้วไม่ให้หยกเข้าเรียน ขณะที่ก่อนเข้าโรงเรียนหยกได้อ่านคำแถลงที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่า อยากจะชี้แจงการมอบตัวที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยืนยันว่าเสร็จสมบูรณ์ เพราะว่าสิทธิของนักเรียนต้องมาก่อน ส่วนตัวได้จ่ายค่าเทอมและเข้าเรียนเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว โดยในเดือนหน้าจะมีการสอบ แต่ทางโรงเรียนให้ออก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/yok-continues-to-confirm-her-right-to-school/

 


 

46.

 

วันที่ 23 มิถุนายน 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบโรงเรียนราชวินิตมัธยม หลังเกิดเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดในระหว่างการซ้อมเผชิญเหตุภายในโรงเรียน ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน สำหรับถังดับเพลิงในที่เกิดเหตุ เบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้รับรายงานว่า ตามมาตรฐานระเบียบการดูแลรักษาจะมีการตรวจทุกๆ 5 ปี ซึ่งการตรวจจะเป็นการฉีดแรงดันน้ำเข้าไปเพื่อตรวจสอบ แต่สำหรับชุดถังดับเพลิงที่นำมาสาธิตนั้นจะต้องไปตรวจสอบประวัติว่าได้มาตรฐานก่อนนำมาสาธิตหรือไม่

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/officer-finding-fire-extinguisher-exploded-cause/

 


 

47.

 

วันที่ 26 มิถุนายน 2566: เจ้าหน้าที่ตัดสายสื่อสารบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ถนนเจริญกรุง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยการไฟฟ้านครหลวง, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ร่วมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตรจากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร ส่วนสายสื่อสารก็จะถูกจัดระเบียบตามลงไปด้วย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-accelerate-organizationcommunication-lines/

 


 

48.

 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และคณะ เดินทางมาที่พรรคก้าวไกล ระหว่างที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลกำลังประชุมหารือกัน เพื่อยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลงวันชาติ เมื่อกลุ่ม ศปปส. เดินทางมาถึง ได้เกิดวิวาทะขึ้นกับกองเชียร์ที่มาปักหลักอยู่ที่พรรคก้าวไกล โดยกองเชียร์ได้ส่งเสียงและไล่ให้กลุ่ม ศปปส. ออกจากพื้นที่

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/anon-mfp-pita-rangsiman-national-day/

 


 

49.

 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยเข้าสวมกอดกันหลังจบเกมการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชันส์ลีก ‘VNL 2023’ สัปดาห์ที่ 3 (กลุ่มที่ 6) นัดที่ 4 ที่สนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ทีมชาติไทย (อันดับ 15 ของโลก) พ่ายให้กับบราซิล (อันดับ 3 ของโลก) 0-3 เซ็ต แม้จะไม่สามารถคว้าชัยชนะมาฝากแฟนๆ ได้แม้แต่แมตช์เดียว แต่พวกเธอได้ต่อสู้กับทีมชั้นนำของโลกอย่างสุดกำลังและความสามารถ ซึ่งแฟนๆ ได้ปรบมือและส่งเสียงเชียร์ดังกึกก้องสนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ให้พวกเธอกลับไป

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/vnl-2023-week-3/

 


 

50.

 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง หลังจากที่เดินทางมาด้วยเครื่องบิน Ilyushin IL-76 จากสนามบินที่ประเทศศรีลังกามาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ในภารกิจเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับสู่มาตุภูมิ โดยพลายศักดิ์สุรินทร์ได้ไปทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่ปี 2544

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/plaisak-surin-arrived-in-thailand/

 


 

51.

 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับ ภายหลังจากทรงเปิดประชุมรัฐสภาที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกของสัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/king-and-queen-waving-to-people/

 


 

52.

 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566: ป้ายไวนิลระบุข้อความว่า ‘หมดศรัทธาพรรคเพื่อไทย’ ติดอยู่ด้านหน้าร้าน ‘คุณเล็ก’ ขายเสื้อผ้าพื้นเมือง บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าบุรีสแควร์ ถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของร้านเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กล่าวว่า ต้องการระบายความอัดอั้นตันใจต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กระทั่งหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น รู้สึกดีใจที่พรรคก้าวไกลจะได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว แต่พรรคเพื่อไทยกลับเป็นผู้กวนน้ำให้ขุ่น ทำให้ไม่ราบรื่น โดยเฉพาะเรื่องการต่อรองหรือการตั้งเงื่อนไขในเรื่องตำแหน่งประธานรัฐสภา

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pheu-thai-fc-lose-faith-in-party/

 


 

53.

 

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566: สภาพของรถยนต์ที่ถูกโครงสะพานหล่นทับ หลังเกิดเหตุสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาบริเวณถนนหลวงแพ่ง เมื่อวันที่10 กรกฎาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 12 ราย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/on-nut-lat-krabang-bridge/

 


 

54.

 

วันที่ ​​12 กรกฎาคม 2566: ทีมวิ่งผลัด 4×100 เมตรชายไทย ที่ประกอบไปด้วย ไฟเตอร์-ณฐวรรธ เอี่ยมอุดม (ไม้ 1), ต้า-สรอรรถ ดาบบัง (ไม้ 2), เฉาก๊วย-ชยุตม์ คงประสิทธิ์ (ไม้ 3) และ บิว-ภูริพล บุญสอน (ไม้ 4) วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 1 ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่สนามศุภชลาศัย คว้าเหรียญทองพร้อมทุบสถิติกรีฑาชิงแชมป์เอเชียและประเทศไทย

 

ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/asian-athletics-championships-2023-thailand-relay-race-champion/

 


 

55.

 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา รับความเคารพจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย หรือ EOD เข้าตรวจความปลอดภัยของห้องประชุมรัฐสภา ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สส. และ สว. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าพรรคเพื่อไทย และ 8 พรรคร่วม จะเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาโหวตเห็นชอบ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-7/

 


 

56.

 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: ชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดอุทัยธานี ขึ้นอภิปรายก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก ถึงแถลงการณ์จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่าไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแสดงจุดยืนเรื่องมาตรา 112 ด้วย ชาดากล่าวอีกว่า พิธาอ้างว่าต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตนเองและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ และเป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทยที่ขอไม่เชื่อ เนื่องจากพฤติกรรมมีความชัดเจนมาโดยตลอด พร้อมตั้งข้อคำถามไปถึง 7 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/

 


 

57.

 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล แสดงอาการออกทางหน้าตาระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแข่ง

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/

 


 

58.

 

วันที่ 15 กรกฎาคม 2566: เอกาเทรินา โวโรนินา แสดงความดีใจหลังคว้าเหรียญทองสัตตกรีฑา ด้วยคะแนนรวม 6,098 แต้ม ในการแข่งขันสัตตกรีฑา รายการแข่งขันกรีฑาชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 25 (25th Asian Athletics Championships 2023) ที่สนามศุภชลาศัย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/ekaterina-voronina-gold-medalist/

 


 

59.

 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566: สว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ รับดอกไม้จากมวลชนที่มาให้กำลังใจด้านหน้าอาคารรัฐสภา นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สว. เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ ก่อนที่ในวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 สำหรับกลุ่มที่มาให้กำลังใจ เช่น กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน, ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน และกองทัพธรรม

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/people-give-senate-flowers-to-vote-no-for-pita/

 


 

60.

 

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา พร้อมชูกำปั้น ท่ามกลาง สส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และมีมติตามเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2 เสียง) มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-27/

 


 

61.

 

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566: กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยเครือข่าย นัดมวลชนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้ชื่อว่า ‘19 กรกฎา วันฌาปนกิจ สว.’ ผู้ชุมนุมได้ทำการวางดอกไม้จันทน์และเผาโลงศพเชิงสัญลักษณ์ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. หลังถูกร้องกรณีถือหุ้น ITV ด้วยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-24/

 


 

62.

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2566: อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หัวเราะร่าระหว่างการนั่งพูดคุยกันอย่างสนุกสนานกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe โดยร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย โดยอนุทินกล่าวชมว่ารสชาติอร่อยดี ให้คะแนน 11 เต็ม 10

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/anutin-chocolate-mint-drink/

 


 

63.

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2566: พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะนั่งอยู่ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe เพื่อร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย หลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทย ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตและหาทางออกของประเทศร่วมกัน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/ruam-thai-sang-chart-discusses-with-pheu-thai-3/

 


 

64.

 

วันที่ 23 กรกฎาคม 2566: กลุ่มทะลุวัง นำโดย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, หยก เยาวชนอายุ 15 ปี และ สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ สาดแป้งเป็นสัญลักษณ์ภายในที่ทำการพรรคเพื่อไทย คัดค้านไม่ให้จับมือกับระบอบเผด็จการ ย้ำเตือนอย่าผิดคำพูดประชาชน ระหว่างการหารือกันของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ พร้อมประกาศว่าถ้ามีการยืนยันว่าจับมือกันตั้งรัฐบาลก็จะกลับมาทันที ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนจุดยืนได้เร็วขนาดนี้

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/thaluwang-invaded-pheu-thai-office-3/

 


 

65.

 

วันที่ 28 กรกฎาคม 2566: ประชาชนใส่เสื้อสีเหลืองเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2566 และมีพระชนมายุครบ 71 พรรษา มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และพร้อมใจกันถวายบังคม 3 ครั้ง ช่วงหนึ่งได้ร่วมกันตะโกนแสดงพลัง “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี”

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/yellow-shirts-await-king-queen/

 


 

66.

 

วันที่ 29 กรกฎาคม 2566: กลุ่มมวลชนนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัดกิจกรรม #พร้อม2 ด้วยการเดินเท้าจากอโศกสู่ราชประสงค์ เพื่อทำการแปรอักษรเป็นตัว ‘ห’ สื่อถึง ‘การเห็นหัวประชาชน’ พร้อมอ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งมีใจความว่า “ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นหัวประชาชน อย่าเห็นแก่ตัว”

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/prom-2-asoke-to-ratchaprasong/

 


 

67.

 

วันที่ 2 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถ่ายรูปกำแพงที่ทำการพรรคเพื่อไทยที่เลอะจากการสาดสีของกลุ่มทะลุวัง ในกิจกรรม ‘CAR MOB แห่มาลัยวิวาห์ ยื่นรายชื่อประชาชน คล้องใจ 8 พรรคการเมือง’ จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป้าหมายหลักคือการส่งรายชื่อที่ได้รวบรวมจากประชาชนส่งไปยัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณให้ร่วมรับรู้ว่าประชาชนทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ 8 พรรคร่วมที่ลงนาม MOU ร่วมกัน และอยากจะฝากถึง 8 พรรคร่วมให้เข้มแข็งเข้าไว้ อย่าให้เงื่อนไขของวุฒิสมาชิกมาเป็นประเด็นทำให้พรรคร่วมต้องแตกหัก และมุ่งหวังให้ทั้ง 8 พรรคจับมือกันสามัคคีต่อไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระในอีก 10 เดือนข้างหน้า

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/masses-parade-to-pheu-thai-party/

 


 

68.

 

วันที่ 10 สิงหาคม 2566: ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์ เดินทางมาที่วัดยานนาวา เพื่อทำบุญถวายน้ำดื่มและข้าวสารแก่พระภิกษุ ทำบุญปล่อยปลาจำนวน 1,000 ตัว และเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยท่านอ้นเดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม หลังพำนักอยู่ในต่างประเทศมาตลอดกว่า 27 ปี

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/vacharaesorn-wat-yannawa/

 


 

69.

 

วันที่ 13 สิงหาคม 2566: ผู้ชุมนุมใช้ถาดติดกาวดักหนูปาใส่ป้ายที่ทำการพรรคภูมิใจไทย โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรมชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ ‘เราจะไปไล่หนูท่อ หมอเก๊ พ่อค้ากัญชาเถื่อน แล้วไปดัดสันหลังเพื่อนรว๊ากส์ ที่หักเหลี่ยมกันหน้าด้านๆ’ มีจุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขับไล่ และส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจไปยังกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/carmob-bhumjaithai-13082566/

 


 

70.

 

วันที่ 13 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทำการฉีกเสื้อแดง นปช. ในกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ มวลชนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย อาทิ ปาแก้วที่ระลึกให้แตก, ฉีกเสื้อสีแดงสมัย นปช. ปี 2553, ฉีกปฏิทินปี 2563 ซึ่งมีภาพใบหน้าของอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ทักษิณ ชินวัตร และกล่าวว่าคนเสื้อแดงมันเจ็บใจ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวปราศรัยช่วงหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยได้ทำการปลูกต้นไม้แห่งประชาธิปไตยในพวกเรา ในต้นกล้าอย่างพวกเรา อีกทั้งพี่น้อง ลุงป้า น้าอา ที่เป็นคนเสื้อแดง นปช. ก็ได้ร่วมปลูกฝังต้นกล้าอย่างพวกตนขึ้นมา แต่พอวันนี้พวกเราโตขึ้น พวกคุณก็คิดหักหลังและถอนต้นกล้าอย่างเรา

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/red-shirt-people-head-phue-thai/

 


 

71.

 

วันที่ 14 สิงหาคม 2566: ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์ และ ท่านอ่อง-นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ เดินทางมาที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางกลับนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ทั้งสองคนเดินทางมาที่ประเทศไทยได้ระยะหนึ่ง และได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมายในรอบ 27 ปี โดยออกเดินทางจากประเทศไทยในเวลา 02.50 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม ท่านอ้นเปิดใจกับสื่อมวลชนก่อนเดินทางกลับว่า ขอบคุณมากเลยที่มาส่งพวกเรา ต้องขอโทษที่เดินทางมาดึก ทุกคนที่มารออาจจะง่วง สัปดาห์นี้ค่อนข้างยุ่งเหยิง เราก็มาแค่ไม่กี่วัน ส่วนตัวมา 7-8 วัน น้องได้มา 3-4 วัน เป็นสัปดาห์ที่ผ่านไปค่อนข้างเร็ว มีหลายอย่างที่เราอยากจะทำ อยากจะดู ที่เมืองไทย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ใจเราต้องการอยากจะเติมให้เต็ม แต่เวลาก็น้อยเกินไป

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/vacharaesorn-and-chakriwat-heading-back-nyc/

 


 

72.

 

วันที่ 16 สิงหาคม 2566: ประชาชนกำลังสัมผัสที่ปลายปีกเพื่อขอพรกับรูปปั้นครูกายแก้วที่ตั้งบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว การตั้งรูปปั้นครูกายแก้วทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/people-ask-for-blessings-from-kru-kai-kaew/

 


 

73.

 

วันที่ 21 สิงหาคม 2566: แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว ร้องไห้ด้วยความปลื้มใจระหว่างที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงร้องเพลงอวยพรวันเกิดในวันที่แพทองธารมีอายุครบ 37 ปี รวมทั้งมวลชนร่วมแสดงความยินดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศด้วย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/red-shirts-happy-birthday-paethongthan/

 


 

74.

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566: ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินส่วนตัว หลังใช้ชีวิตในต่างประเทศถึง 17 ปี นับแต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการกลับประเทศไทยตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อผ่านขั้นตอนในการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ทักษิณได้เดินทางมาที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล โดยมี พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และ แพทองธาร ชินวัตร เดินออกมาพร้อมกันด้วย จากนั้นทักษิณได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินี ก่อนจะเดินเข้ามาทักทายกับบรรดาแกนนำและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ที่มาให้การต้อนรับ

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pictures-of-thaksin-stepping-on-the-thailand/

 


 

75.

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566: สส. พรรคเพื่อไทยร่วมกันถ่ายภาพหลังจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ร่วมกันโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จากจำนวนสมาชิกผู้ลงมติทั้งสิ้น 747 คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 498 คน และสมาชิกวุฒิสภา 249 คน โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้ ‘เศรษฐา’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-22082023-18/

 


 

76.

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี พบมวลชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยเศรษฐากล่าวว่า วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ผมอยากขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมรัฐบาล สส. และ สว. ทุกท่านที่ร่วมในการโหวตในวันนี้ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-thavisin-thanks-the-people/

 


 

77.

 

วันที่ 24 สิงหาคม 2566: เศรษฐา​ ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้าหารือ พล.อ. ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายก​รัฐมนตรีคนที่ 29 ที่ทำเนียบรัฐบาล ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเยี่ยมชมภายในตึกไทยคู่ฟ้าและตึกภักดีบดินทร์ โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้สีม่วงเหลืองแสดงความยินดีที่เศรษฐาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของไทย พร้อมนำชมและเดินมาส่งเศรษฐาขึ้นรถยนต์

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-talks-prayut-24082566/

 


 

78.

 

วันที่ 2 กันยายน 2566: ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สมาชิกกลุ่มแคร์ จัดกิจกรรม Letter to Freedom จดหมายสู่อิสรภาพ ‘Freedom to Be, Freedom to Act’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง หลังเคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ประกาศว่า “ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ผมจะยอมให้เอาขี้ปาหัว” สำหรับกิจกรรมนี้จะเปิดให้มีเวลาในการปาอุจจาระ 11 นาที และทีมงานจะเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ โดยใช้สถานที่ Mirror Art (มูลนิธิกระจกเงา)

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/letter-to-freedom-duang-duangrit/

 


 

79.

 

วันที่ 11 กันยายน 2566: ที่รัฐสภา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงห้องประชุมรัฐสภา พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและทดสอบไมโครโฟน เพื่อแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุม 2 วัน คือวันที่ 11-12 กันยายน ทั้งนี้ ถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาคือสาระสำคัญในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/parliament-policy-110966-5/

 


 

80.

 

วันที่ 26 กันยายน 2566: เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย อยู่ในสภาวะตกใจและไม่พอใจกับคะแนนของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเทควันโด เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ในยกที่ 3 เมื่อ กั๊วจิง นักกีฬาจากจีน ได้คะแนนพุ่งไปถึง 23-0 แต้ม ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาที จนต้องหยุดการแข่งขัน ก่อนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะยอมรับว่าเกิดข้อผิดพลาด และทำการปรับคะแนนกลับลงมาเหลือให้นักกีฬาจีนนำ 6-0 แต้ม ก่อนที่เทนนิสจะบุกเข้าใส่ และเป็นฝ่ายชนะไปได้ 12-9 คะแนน เอาชนะไปได้ 2-1 ยก คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์สมัยที่ 2 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งสุดท้ายของเธอ ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน

 

ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/asian-games-2023-25092023-12/

 


 

81.

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี แพ​ทองธาร​ ชินวัตร​ รองประธาน เดินคู่ลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมายังตึกสันติไมตรี โดยนายกรัฐมนตรีสวมสูทลายผ้าขาวม้าสีสันสดใส ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทย​ พร้อมเปิดเผยว่าตนชอบสีสดใสอยู่แล้ว ขณะที่แพทองธารได้นำผ้าขาวม้ามาผูกที่เอว เช่นเดียวกับคณะทำงานและรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ พร้อมระบุว่าตื่นเต้น เพราะไม่ได้เข้าทำเนียบมาเป็น 17 ปีแล้ว

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-paethongtarn-03102023/

 


 

82.

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2566: รถมูลนิธิกู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ หลังเกิดเหตุยิงภายในศูนย์การค้าพารากอน โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ จากการตรวจสอบพบประวัติรักษาจิตเวชอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องสอบปากคำขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ทั้งนี้ ได้นำตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อสอบปากคำพร้อมสหวิชาชีพ เช่นเดียวกับรายละเอียดที่เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุยังไม่ขอเปิดเผย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/torsak-summarizes-shooting-incident-in-paragon/

 


 

83.

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักแห่งหนึ่งในเขตทุ่งครุ เพื่อสืบหาความเชื่อมโยงกับคดีเยาวชนอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน หลังมีรายงานว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นสถานที่ผลิตและดัดแปลงอาวุธปืนบีบีกันและแบลงค์กัน พร้อมจับกุม วีระยุทธ์ อายุ 41 ปี และตรวจยึดอุปกรณ์สำหรับผลิตอาวุธปืนรวม 48 รายการ ตำรวจสืบสวนนครบาล 8 ได้ขยายผลการจับกุมผู้ขายอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์มานานกว่า 2 เดือน จนพบว่าสถานที่นี้เป็นที่ผลิตปืนแบลงค์กันและลำกล้อง รวมถึงแมกกาซีนบรรจุกระสุน ผลการตรวจค้นพบชุดกันเสียง อุปกรณ์การไลฟ์ และกล่องทดสอบการยิงปืน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/police-raid-production-site-bb-gun-blank-gun/

 


 

84.

 

วันที่ 11 ตุลาคม 2566: ภาพบรรยากาศท้องฟ้าเปิดโล่งในช่วงยามเย็นบริเวณเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งบนท้องฟ้าจะเห็นก้อนเมฆที่ลอยผสมผสานกับสีของพื้นฟ้าที่เป็นโทนพาสเทล

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/looking-at-the-clouds-on-a-clear-day/

 


 

85.

 

วันที่ 12 ตุลาคม 2566: แม่เข้ากอดลูกชายที่เป็นหนึ่งในแรงงานไทยกลุ่มแรกซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล หลังจากเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ที่เดินทางกลับมาในวันนี้รวมทั้งสิ้น 41 คน เป็น 15 คนที่ลงทะเบียนกับรัฐบาล และ 26 คนที่จ่ายเงินค่าตั๋วเดินทางกลับเอง

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/thai-workers-returned-to-thailand/

 


 

86.

 

วันที่ 15 ตุลาคม 2566: ครอบครัวสวมกอดแรงงานไทยรายหนึ่งหลังจากเดินทางถึงโรงแรม SC Park ซึ่งมีแรงงานจำนวน 90 ชีวิต ออกเดินทางจากอิสราเอลเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในวันที่ 14 ตุลาคม โดยเปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ เพื่อโดยสารต่อจากนครดูไบมาลงยังสนามบินอู่ตะเภา

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/israel-thai-workers-batch-3-arrive/

 


 

87.

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2566: กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์รวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล อาคารโอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 เพื่อแสดงพลังหยุดการเหยียดเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา และได้ประณามสิ่งที่อิสราเอลก่อขึ้นต่อชาวปาเลสไตน์ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มเสียงปาเลสไตน์ได้ยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในสงครามเป็นเวลา 1 นาที โดยกลุ่ม PSC Thailand ขอประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังขอประณามการโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล โดยอ้างว่าโจมตีฮามาส ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่การโจมตีด้วยอาวุธหนักและทางอากาศจะไม่ก่อเหตุอันทำให้พลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากทั้งเด็กและคนชราต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/pro-palestinian-21102566/

 


 

88.

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2566: ผู้ที่มาพักผ่อนหย่อนใจแต่งกายเป็นตัวละครจากเรื่อง One Piece ภายในสวนเบญจกิติ โดยกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการปั่นจักรยานน้ำและพายเรือคายัคฟรี รอบละ 1 ชั่วโมง โดยจะเปิดให้ปั่นจักรยานน้ำและพายเรือคายัคได้ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ส่วนสวนเบญจกิตินั้นเปิดตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น.

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/forget-the-old-benchakitti-park/

 


 

89.

 

วันที่ 24 ตุลาคม 2566: สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และสมาคมชาวยิวแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงความสามัคคีของชาวอิสราเอลในประเทศไทย ณ โรงแรม Rembrandt โดยมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวไทย พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและเอกอัครราชทูตจากหลายประเทศไปร่วมงาน ภายในงานมีการฉายภาพของชาวอิสราเอลหลายคนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป พร้อมทั้งแสดงข้อความเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันทั้งหมดในทันที

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/israelis-in-thailand-24102023/

 


 

90.

 

วันที่ 29 ตุลาคม 2566: เฌอปราง อารีย์กุล ในงาน Depart’Cher Cherprang BNK48’s Graduation Concert หรือคอนเสิร์ตจบการศึกษาของเฌอปราง ที่จัดขึ้น ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี โดยมีแฟนคลับร่วมเก็บเกี่ยวความทรงจำไปพร้อมกับเธอในฐานะสมาชิกวง BNK48 เป็นครั้งสุดท้ายกันอย่างเนืองแน่น ก่อนที่เธอจะออกเดินทางสู่เส้นทางใหม่ในบทบาทชิไฮนิน (ผู้จัดการวง) เต็มตัว

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/departcher-cherprang-bnk48s-graduation-concert-moments/

 


 

91.

 

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566: นักศึกษาศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยืนยันจะไม่ย้ายออก ย้ำไม่ได้ขัดแย้งกับจุฬาฯ เพราะเป็นพี่น้องรั้วเดียวกัน แต่อยากหารือเพื่อหาทางออก ขณะที่ ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า อุเทนถวายควรเป็นสถาบันก่อสร้างหลักของประเทศไทย เป็นมรดก เป็นสิ่งที่ใครก็ซื้อเวลา 90 กว่าปีไปไม่ได้

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/uthenthawai-gathered/

 


 

92.

 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566: เกิดเหตุรถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งบรรทุกดินเหนียวสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตกลงไปในหลุมจากพื้นถนนบริเวณด้านหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 ที่เกิดทรุดตัวลงกะทันหัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พร้อม วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตพระโขนง เพื่อตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น ชัชชาติเปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า ผิวจราจรที่มีการทรุดตัวเป็นด้านบนของบ่อที่เป็นโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเวลากลางวันจะปิด และจะเปิดเพื่อทำงานในเวลา 22.00-05.00 น. โดยฝาปิดจะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อวางปิดเป็นพื้นถนน ซึ่งจะเป็นคนละรูปแบบกับที่เกิดเหตุที่มักกะสัน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/road-covering-collapses-under-truc/

 


 

93.

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566: นักเรียนโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์วางดอกไม้ไว้อาลัยแก่การสูญเสียและระลึกถึง ‘ครูเจี๊ยบ’ จากเหตุคนร้ายก่อเหตุไล่ยิงกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แต่ปรากฏว่ากระสุนพลาดไปโดนครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ที่เดินไปกดเงินหน้าตู้ธนาคารบนถนนสุนทรโกษา เขตคลองเตย เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 1 คน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/shc-parent-student-mourn-flower-to-sirada-sinprasert/

 


 

94.

 

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566: กราฟฟิตี้รูปหน้า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปรากฏคำว่า Soft Power อยู่บนหน้าผาก ที่บริเวณผนังกำแพงของร้านศรีสุกิจ ซอยช้างเผือก 6 ทางเข้าวัดกู่เต้า ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่สร้างผลงานนี้คือศิลปินแนวสตรีทอาร์ตที่ใช้ชื่อว่า Lucky Leg ใช้เทคนิคการพ่นเป็นสีเนกาทีฟ หากต้องการชมภาพอีกมิติต้องใช้โปรแกรมตกแต่งภาพปรับให้เป็นสีเหมือนจริง

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/graffiti-paetongtarn-chiang-mai/

 


 

95.

 

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566: แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 Miss Universe 2023 ตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 72 ที่กรุงซานซัลวาดอร์ สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ นั่งรถ Rolls-Royce เปิดประทุนที่ใช้ในการแห่เฉลิมฉลองตำแหน่งจากท้องฟ้าจำลองไปยังอุทยานเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท โดยมีแฟนนางงามจำนวนมากมายืนรอและส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/anntonia-porsild-26112023-4/

 


 

96.

 

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566: การลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ที่กรุงเทพมหานครจัดให้ประชาชนในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ โดยความพิเศษของกระทงที่ลอยบนผืนผ้าใบโปรเจกเตอร์ในคลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข คือทุกคนสามารถระบายสีให้กับกระทงดิจิทัลของตัวเองบนรูปกระทงที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ เขียนคำขอพร แล้วสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ ลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่างได้ทันที กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของกรุงเทพมหานครที่อยากออกแบบแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของไทยถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใหม่ที่ดีต่อโลก ด้วยการลดขยะในแม่น้ำลำคลองของเทศกาลนี้

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/loy-krathong-digital/

 


 

97.

 

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566: เจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 บริเวณใต้สะพานพระปกเกล้า โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทงดังนี้ สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะและพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต, สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ, สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-collect-krathong-garbage/

 


 

98.

 

วันที่ 1 ธันวาคม 2566: เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเก็บซากกระทงที่ติดค้างอยู่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการเมืองสะอาด คนในชาติมีสุข เพื่อคืนน้ำใสให้แม่น้ำปิง โดยขยะมูลฝอยและซากกระทงที่เกิดขึ้นในช่วงประเพณียี่เป็ง 2566 ในแม่น้ำปิง พบว่ามีกระทงน้ำหนักประมาณ 33 ตัน คิดเป็นจำนวนกระทงกว่า 52,000 ใบ เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวน 30 ตัน แต่วัสดุที่ใช้ทำกระทงส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติมากถึงร้อยละ 95 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการเก็บกระทงแล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/collecting-krathongs-from-yi-peng-fest/

 


 

99.

 

วันที่ 1 ธันวาคม 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจอรินทราช 26 ประจำการเฝ้าระวังเหตุทะเลาะวิวาทของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และบุคคลที่ไม่หวังดี ในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ 4KINGS2 ที่บริเวณ​สกายวอล์กปทุมวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บกน.6) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ยืนรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเช่นกัน

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/police-4-kings-2-pathumwan-skywalk/

 


 

100.

 

วันที่ 5 ธันวาคม 2566: รถจักรยานยนต์นับร้อยคันที่มีผู้ขับขี่หลากหลายวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นวัยรุ่นทั้งชายและหญิง ได้รวมตัวกันบริเวณถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรอบๆ ถนนราชดำเนิน เพื่อมาดูไฟประดับบริเวณดังกล่าว ทำให้การจราจรติดขัดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ได้เข้าระงับเหตุ โดยขอความร่วมมือให้แยกย้ายกลับบ้าน และจับกุมรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนและไม่พกเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของตัวรถ หรือไม่ติดกระจกมองข้างได้อย่างน้อย 4 คัน โดยในวันที่ 5 ธันวาคมของปีที่ผ่านมา มีการนัดหมายในลักษณะนี้ และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ตำรวจจึงได้วางกำลังป้องกันเหตุตั้งแต่ช่วงค่ำ

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อ่านข่าว: https://thestandard.co/motorcycle-gathering-at-ratchadamnoen/

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising