×

66 ภาพข่าวการเมืองแห่งปี 2566 ผ่านชัตเตอร์ช่างภาพ THE STANDARD

18.12.2023
  • LOADING...
ภาพข่าวการเมืองแห่งปี 2566

ตลอดปี 2566 การเมืองไทยยังคงร้อนแรง เริ่มต้นปีด้วยการเข้าสู่โหมดหาเสียง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการกาบัตรในเดือนพฤษภาคม เป็นศึกเลือกตั้งที่สร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมือง เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่คว้าชัยอันดับ 1 ได้สำเร็จ หลังสู้กันอย่างดุเดือดกับพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองในรอบ 2 ทศวรรษ ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้คว้าชัยเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง

 

ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงของประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่หน้าใหม่ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปิดฉากคู่ขัดแย้งเดิม เปิดหน้าคู่ต่อสู้หรือพันธมิตรใหม่

 

ปี 2566 ประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำประเทศครั้งแรกในรอบ 9 ปี จาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากพลเรือนชื่อ เศรษฐา ทวีสิน และเป็นการปิดฉากการสืบต่ออำนาจของ คสช. ด้วย

 

และนี่คือ 66 ภาพข่าวการเมืองที่ช่างภาพ THE STANDARD คัดสรรมาให้ผู้อ่านได้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญตลอดปี

 

ภาพที่: 1

 

 

 

3 เมษายน 2566: คู่พ่อลูก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนร่วมกัน สำหรับการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เป็นวันแรก โดยใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 เป็นสถานที่รับสมัคร สำหรับบรรยากาศการรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก 

 

 

ภาพที่: 2

 



3 เมษายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ Digital Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท สำหรับประชาชนชาวไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้บริโภคในชีวิตประจำวันภายใน 6 เดือน โดยสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่มีรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่อาศัย ในงานเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย 3 คนอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ 

 

 

ภาพที่: 3

 

 

7 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พร้อมด้วยผู้สมัคร สส. กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ในงานเปิดตัวผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ที่บริเวณลานอัฒจันทร์กลางแจ้ง สวนเบญจกิติ พร้อมชี้แจงนโยบายด้านต่างๆ ของพรรค พล.อ.  ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวระหว่างปราศรัยตอนหนึ่งว่า “ถ้าอยากให้พรรครวมไทยสร้างชาติทำต่อ สิ่งที่ผมและทีมงานทำแล้ว ทำอยู่ ไม่สูญเปล่า ต้องเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22 เป็นรัฐบาล เลือกผมเป็นนายกรัฐมนตรี”

 

 

ภาพที่: 4

 

 

20 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชวนพีระพันธุ์และแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมเตะตะกร้อกับประชาชนที่มาออกกำลังกาย โดยโชว์ลีลาการเตะและโหม่งลูกตะกร้อ ใช้เวลาราว 10 นาที ก่อนจะลงไปนั่งเรือเป็ดเหลืองปั่นในสระน้ำภายในสวนลุมพินี ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มาออกกำลังกายบริเวณสวนลุมพินี และขอคะแนนเสียงให้กับ ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

 

ภาพที่: 5

 

 

23 เมษายน 2566: ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นครราชสีมา ช่วยพยุง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการขึ้นปราศรัยที่ลานตลาดเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา พล.อ. ประวิตรกล่าวด้วยว่า ตนพูดไม่เก่ง แต่ทำงานประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้ นำพาคนเก่งมาร่วมมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ผู้สมัคร สส. จังหวัดนครราชสีมาของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนอยู่ตรงนี้จะรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง ตนขอประกาศว่าพวกเราทำได้ พร้อมแล้วที่จะรับใช้ประชาชน ขอฝากชาวอีสานทุกคนด้วย 

 

 

ภาพที่: 6

 

 

23 เมษายน 2566: พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ พรรคก้าวไกล รัฐบาลก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ที่บริเวณลานหน้าสามย่านมิตรทาวน์ กทม. มีแกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัย ปิดท้ายเวทีด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ได้กล่าวย้ำถึงการสร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ และพรรคก้าวไกลจะยอมโดดเดี่ยวจากนักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ 

 

ขณะที่พิธากล่าวถึงกระแสพรรคที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอให้วางใจในพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลคือความเปลี่ยนแปลงที่ไว้ใจได้ ตรงไปตรงมา พร้อมยืนยันว่า ‘มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง’ โดยในช่วงปิดท้ายเวที มีการให้มวลชนที่มาฟังปราศรัยเปิดแฟลชเพื่อถ่ายรูปร่วมกันอีกด้วย

 

 

ภาพที่: 7

 

 

3 พฤษภาคม 2566: ตู้ล็อกเกอร์มีการล็อกกุญแจและปิดเทปผนึกไว้ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับภายในห้องที่จัดเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้งหมดมีกล้องวงจรปิดคอยจับภาพ ที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เตรียมมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไปล่วงหน้า เพื่อรักษาความปลอดภัย โดยระบบเป็นแบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและบันทึกภาพได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณทางเข้า-ออก  

 

 

ภาพที่: 8

 

 

3 พฤษภาคม 2566: ครอบครัวชินวัตร นำโดย คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ พร้อมด้วย พินทองทา ชินวัตร พา ‘พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์’ ลูกของแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ซึ่งนับเป็นหลานคนที่ 7 ของทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน มาพบพี่น้องสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า 

 

แพทองธารเปิดเผยว่า การคลอดเป็นไปด้วยความปลอดภัยและแข็งแรงทุกประการ สำหรับชื่อ ธาษิณ-พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ แพทองธารระบุว่า เป็นชื่อที่ตั้งเอง จึงเป็นความหมายที่นิยามด้วยตนเอง โดย ‘จ์’ มาจาก ‘พจมาน’ หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นยาย และ ‘ธาษิณ’ มาจาก ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นตา

 

 

ภาพที่: 9

 

 

5 พฤษภาคม 2566: ที่ลานพาร์คพารากอน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ลงพื้นที่รณรงค์ต่อต้านกัญชาเสรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยจัดกิจกรรม ‘เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อไทย’ โดยมาดักรอพบ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เพื่อถามจุดยืนกัญชาเสรี 

 

ชูวิทย์กล่าวว่า เศรษฐาเป็นคนดี ค้าขายเจริญรุ่งเรือง จึงอยากถามเศรษฐาว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายอย่างไรต่อกัญชาเสรี จะปล่อยให้กัญชามามอมเมาเยาวชนหรือไม่ 

 

ด้านเศรษฐาตอบทันทีว่า ไม่เอานโยบายกัญชาเสรี เอาแค่นโยบายกัญชาทางการแพทย์ และกัญชาจะอยู่ในการควบคุมของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ชัดเจน “เมื่อคุณเศรษฐาไม่สนับสนุนกัญชา ผมขอสนับสนุนพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ต้องเป็นแลนด์สไลด์ ขออวยพรให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย” ชูวิทย์กล่าว

 

 

ภาพที่: 10

 

 

5 พฤษภาคม 2566: จินนี่-ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ บุตรสาว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ต. ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย และทีมโฆษกพรรค ลงพื้นที่หาเสียงย่านสยามสแควร์ โดยวันนี้มีการจัดเตรียมป้าย ‘กาพรรคแม่ยาย’ และ ‘เข้าคูหา กาแม่ยาย’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคไทยสร้างไทย เนื่องจากจินนี่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ และเดินสายหาเสียงช่วยคุณหญิงสุดารัตน์ หรือแม่หน่อย มาโดยตลอด

 

 

ภาพที่: 11

 

 

7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ยกมือไหว้อธิษฐานก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบ โดยเมื่อถึงช่วงเวลาเปิดหีบเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งเซ็นทรัล พระราม 2 ในเวลา 08.00 น. มีผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมารอเป็นจำนวนมาก สำหรับหน่วยเลือกตั้งแห่งนี้มีผู้ลงทะเบียนของใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 23,112 คน แต่ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการรับมือและจัดระเบียบให้เป็นไปตามขั้นตอน 

 

 

ภาพที่: 12

 

 

7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ใส่เสื้อยืดลายบิกินี ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยมีประชาชนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทยอยเดินทางมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า 

 

ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่สถานที่จัดให้ลงคะแนนอยู่ภายในอาคารและมีขนาดใหญ่ จึงยังไม่พบปัญหาความแออัดของผู้ที่เดินทางมาหรือสภาพอากาศร้อน เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งอยู่ในร่ม ภาพรวมยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในจุดนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่ 25,383 คน

 

 

ภาพที่: 13

 

 

7 พฤษภาคม 2566: ช่างภาพข่าว THE STANDARD ที่ลงพื้นที่ติดตามมาตั้งแต่ช่วงเช้าเปิดหีบเลือกตั้ง รายงานว่าภายหลังการจัดเก็บอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้มีการตรวจสอบถุงผ้าที่บรรจุบัตรลงคะแนนโดยละเอียดก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งทุกใบจะต้องมีรหัสประจำถุงและสายรัดประจำถุงที่ตรงกัน และแต่ละถุงจะมีบัตรลงคะแนนไม่เกิน 1,000 ชุด ที่หน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งปิดรับลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด พร้อมเก็บอุปกรณ์และคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการต่อ

 

 

ภาพที่: 14

 

 

12 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมแกนนำของพรรค กล่าวปราศรัยพร้อมย้ำจุดยืนก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ ในเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งที่บริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในช่วงท้าย พล.อ. ประวิตร ที่เดินขบวนโบกธงเปิดตัวเข้ามายังเวทีปราศรัย พร้อมกล่าวว่า วันนี้จะเป็นเวทีปราศรัยสุดท้าย ทุกนโยบายที่เราหาเสียงไว้ ขอสัญญาว่าเราจะทำให้สำเร็จ บางช่วงของการปราศรัย พล.อ. ประวิตรได้สอบถามประชาชนที่ร่วมรับฟังการปราศรัย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีเสียงปรบมือและส่งเสียงให้กำลังใจตลอด ในช่วงท้าย พล.อ. ประวิตรถ่ายรูปร่วมกับบรรดาผู้สมัคร สส. และแกนนำพรรค พร้อมเซลฟีกับประชาชนที่เข้าร่วมปราศรัยด้วย

 

 

ภาพที่: 15

 

 

12 พฤษภาคม 2566: เวทีปราศรัยใหญ่เวทีสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ภายใต้ธีม ‘เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที’ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

 

แพทองธาร ชินวัตร ย้ำว่า ไม่ว่าใครได้เป็นนายกฯ แคนดิเดตอีก 2 คนจะช่วยสนับสนุนตลอด จนนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้สำเร็จทุกนโยบาย

 

ในช่วงท้าย เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า ผมขอให้ทุกคนลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ทั้ง สส. เขต และพรรคเบอร์ 29 ให้แลนด์สไลด์ทั้งประเทศ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ ให้พวกเราไปรับใช้ประชาชน ไปทำความหวังของทุกคน เปลี่ยนประเทศให้ได้จริง และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลาน” 

 

 

ภาพที่: 16

 

 

12 พฤษภาคม 2566: การปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคก้าวไกล ภายใต้แคมเปญ ‘คำตอบสุดท้าย กาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ ประชาชนและกลุ่มผู้สนับสนุนเข้าร่วมฟังการปราศรัยเต็มอาคารกีฬาเวสน์ 1 ทำให้ต้องปิดประตูตั้งแต่ก่อนเริ่มปราศรัย และให้ผู้ที่เดินทางมาหลังเวลา 18.00 น. ไปนั่งฟังการปราศรัยที่สนามฟุตบอลด้านข้างอาคารกีฬาเวสน์ 1

 

สำหรับงานวันนี้ ปิดท้ายเวทีปราศรัยด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ปราศรัยระบุว่า พร้อมเป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศ ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 วันเท่านั้น ขอให้คำตอบสุดท้ายกาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน และร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของไทยให้ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถฝากความหวังและความฝันได้ 

 

 

 

ภาพที่: 17

 

 

12 พฤษภาคม 2566: นี่คือสีหน้าของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะปราศรัยใหญ่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใจความสำคัญของการปราศรัยคือ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศย้ำว่าจะไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนประเทศไทยแบบพลิกฟ้าคว่ำดิน ทำลายรากเหง้า ทำลายคุณค่าอันดีงามของสังคมไทยของเรา และตลอดระยะเวลาที่ปราศรัย พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีดวงตาแดงก่ำ และสะอื้นหลั่งน้ำตาเป็นบางช่วง อีกทั้งแกนนำที่ร่วมฟังการปราศรัยหลายคนก็มีน้ำตา

 

 

ภาพที่: 18

 

 

14 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่เต็นท์บริเวณที่จอดรถธนาคารออมสินภาค 2 ปากซอยสุขุมวิท 39 หน่วยเลือกตั้งที่ 10 แขวงคลองตันเหนือ เขตเลือกตั้งที่ 4 (วัฒนา) กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ทำเต็มที่กับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และคาดหวังกับผลลัพธ์ที่ออกมาวันนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิดถึงเกี่ยวกับพรรคเท่าไร ตนอยากให้ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มาก

 

 

ภาพที่: 19

 

 

14 พฤษภาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลงมาจากที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อเดินทางกลับ หลังเข้ามาติดตามผลการนับคะแนนการเลือกตั้งที่ทำการพรรคตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ พยายามเดินออกจากที่ทำการพรรคท่ามกลางการรุมล้อมของช่างภาพและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีสื่อมวลชนพยายามตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรค กรณีที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคอันดับ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ และคำถามว่า พรรคก้าวไกลได้คะแนนขนาดนี้ จะนำไปสู่การปฏิวัติหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว โดยพยายามแหวกวงล้อมไปขึ้นรถเดินทางกลับทันที

 

 

ภาพที่: 20

 

 

14 พฤษภาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อถามถึงกรณีความเป็นไปได้ หากพรรคก้าวไกลได้คะแนนอันดับ 1 ยินดีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ทั้งคู่ยืนยันยึดหลักประชาธิปไตย และให้สิทธิของผู้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด ย้ำว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 จะต้องเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ และยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกล ที่ศูนย์รายงานข่าวการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชั้น 7

 

 

ภาพที่: 21

 

 

14 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เดินทางลงมาชั้น 1 ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล สำนักงานใหญ่ เพื่อพบปะพูดคุยกับประชาชน ภายหลังแถลงข่าวการติดตามการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการมาตลอด 5 ชั่วโมง เมื่อพิธาพบกองเชียร์ที่มาให้กำลังใจ กองเชียร์ตะโกนส่งเสียงเรียกพิธาว่า “นายกฯ นายกฯ” พิธากล่าวว่า ที่ประชาชนเรียกนายกฯ ส่วนตัวรู้สึกอยากจะเข้าไปทำงานให้เร็วที่สุดตามที่ก้าวไกลได้สัญญากับประชาชนไว้ ตำแหน่งเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่การนับคะแนนยังไม่จบสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย 

 

 

ภาพที่: 22

 



15 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. เป็นอันดับ 1 ว่าเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพี่น้องประชาชนได้แสดงเจตจำนงผ่านคูหาเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จึงขอประกาศว่าพรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น้อมรับฉันทมติของพี่น้องประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล

 

 

ภาพที่: 23

 

 

15 พฤษภาคม 2566: พรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันโหวตพิธาเป็นนายกฯ หลังเป็นพรรคแกนนำอันดับ 1 ยืนยันไม่มีแนวคิดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวผลการเลือกตั้ง และการเตรียมความพร้อมหลังการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย 

 

“เมื่อพรรคก้าวไกลได้อันดับ 1 เราแสดงความยินดีด้วย แล้วเราก็เชียร์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประเทศชาติที่จะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องของการเมือง ทุกคนต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันค่ะ” แพทองธารกล่าว 

 

ด้านเศรษฐากล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ควรเฉลิมฉลองให้กับเสียงของประชาชนที่เชื่อในประชาธิปไตย และยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง พวกเราพรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

 

 

ภาพที่: 24

 

 

15 พฤษภาคม 2566: เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกับสมาชิกพรรคก้าวไกล ขึ้นรถแห่คาราวาน ขอบคุณประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน โดยเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสนามหลวง พิธาขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ขอบคุณคะแนนเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลเป็นว่าที่ สส. ทั้ง 32 เขต พร้อมทั้งแจกลายเซ็นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ภาพที่: 25

 

 

17 พฤษภาคม 2566: แกนนำทั้ง 6 พรรคจับมือโชว์สื่อมวลชน หลังการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 309 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย โดยนัดหมายกันในเวลา 16.00 น. นำโดยพรรคก้าวไกล การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง เวลาประมาณ 17.50 น. แกนนำจาก 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม เดินลงมาด้านล่างของร้านอาหารซึ่งสื่อมวลชนรอทำข่าวอยู่ 

 

 

ภาพที่: 26

 

 

17 พฤษภาคม 2566: แกนนำ 6 พรรคการเมืองกินข้าวร่วมกันโดยมีบรรยากาศชื่นมื่น ก่อนทยอยออกมาจากร้านเพื่อเดินทางกลับหลังพูดคุยจัดตั้งรัฐบาล ก่อนแถลงทางการพรุ่งนี้ การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 310 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย 

 

 

ภาพที่: 27

 

 

18 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งจากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ มีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน 

 

 

ภาพที่: 28

 

 

22 พฤษภาคม 2566: พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นัดพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับบันทึกความเข้าใจร่วมกันนี้ ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคร่วม ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร 

 

 

ภาพที่: 29

 

 

29 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดคุยกันบนเวทีระหว่างร่วมกิจกรรมแคมเปญ The Road to Bangkok Pride 2023 ที่สกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเย็นวันนี้ โดยในกิจกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคมต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก 

 

 

ภาพที่: 30

 

 

30 พฤษภาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ไม่ตอบคำถาม แต่หันมาทำท่าตั้งการ์ดแบบมวยไทยเลิศฤทธิ์ใส่ผู้สื่อข่าว เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ตอบถึง 2 ครั้ง หลังผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองและผลฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ กับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ประเทศอังกฤษหรือไม่ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล 

 

 

ภาพที่: 31

 

 

30 พฤษภาคม 2566: ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวภายหลังจากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ทำมือประกบกันเป็นรูปหัวใจ สยบข่าวลือดีลการตั้งรัฐบาลลับ ยืนยันว่าจากนี้พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนดีลลับให้กลายเป็นดีลรักทั้งหมด ที่พรรคประชาชาติ ที่ประชุมมีมติร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกพรรคการเมือง คือพรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่

 

 

ภาพที่: 32

 

 

4 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ และ แพทองธาร ชินวัตร ร่วมงาน ‘บางกอกนฤมิตไพรด์’ โบกมือทักทายและให้กำลังใจร่วมผู้เดินขบวน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล ‘Bangkok Pride 2023’ ขบวนพาเหรดอย่างยิ่งใหญ่และมีความสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ มุ่งหวังให้มีความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกด้าน ทั้งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ อย่างเท่าเทียม

 

 

ภาพที่: 33

 

 

6 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ลงมาซื้อเครื่องดื่มช็อกโกแลตมินต์ เมนูยอดฮิตตามคำแนะนำของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งซื้อเมนูกาแฟส้ม ซึ่งเป็นเมนูโปรดที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe ของพรรคเพื่อไทย ภายหลังจากการประชุมของทั้ง 8 พรรคร่วมเสร็จสิ้น

 

 

ภาพที่: 34

 

 

27 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ สส. พรรคก้าวไกล 150 คน เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยสวมเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’ พิธาระบุว่า การเลือกมารายงานตัววันนี้ก็เพราะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

 

 

ภาพที่: 35

 

 

8 กรกฎาคม 2566: ป้ายไวนิลพื้นขาวตัวอักษรสีแดง ระบุข้อความว่า ‘หมดศรัทธาพรรคเพื่อไทย’ ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน ‘คุณเล็ก’ ขายเสื้อผ้าพื้นเมือง บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าบุรีสแควร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และเป็นที่สนใจของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ด้าน พลวัต มงคล กล่าวว่า “การแสดงออกครั้งนี้เพื่อต้องการสื่อสารและเป็นเสียงสะท้อนไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ทราบว่ามีวิกฤตศรัทธาของผู้สนับสนุนพรรค” 

 

 

ภาพที่: 36

 

 

9 กรกฎาคม 2566: พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรม ‘ขอบคุณประชาชน ฟังเสียงทุกคนก่อนโหวตนายกฯ’ โดยมี สส. พรรคก้าวไกล มาร่วมงานอย่างคึกคัก พิธาขึ้นปิดท้ายเวที กล่าวว่า “ครั้งนี้คือโอกาสประวัติศาสตร์ที่สมาชิกทั้ง 750 คนในรัฐสภาจะคืนความปกติให้การเมืองไทย ให้ประเทศไทยเดินหน้า ให้เราเท่าเทียมกันและเท่าทันโลก” ขณะที่บรรยากาศช่วงที่พิธาปราศรัยที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน้าจอโดยรอบศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ขึ้นสีส้มทุกจอ 

 

 

ภาพที่: 37

 

 

12 กรกฎาคม 2566: วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา, พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ขึ้นนั่งบัลลังก์ครั้งแรก เพื่อเป็นประธานในการประชุม สส. ชุดที่ 26 นัดแรก ซึ่งก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา 

 

 

ภาพที่: 38

 

 

13 กรกฎาคม 2566: รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล แสดงอาการออกทางหน้าตาระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

 

ทั้งนี้มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแข่ง

 

 

ภาพที่: 39

 

 

13 กรกฎาคม 2566: ชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก ถึงแถลงการณ์จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่า ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแสดงจุดยืนเรื่องมาตรา 112 ด้วย 

 

ชาดากล่าวอีกว่า พิธาอ้างว่าต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตนเองและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ และเป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทยที่ขอไม่เชื่อ เนื่องจากพฤติกรรมมีความชัดเจนมาโดยตลอด พร้อมตั้งข้อคำถามไปถึง 7 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

 

ภาพที่: 40

 



13 กรกฎาคม 2566: การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเริ่มเข้าสู่กระบวนการโหวตให้ความเห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า พิธาได้รับคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ จึงถือว่ามติที่ประชุมไม่เห็นชอบในการแต่งตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 (1) 

 

 

ภาพที่: 41

 

 

16 กรกฎาคม 2566: อานนท์ นำภา ปราศรัยกล่าวถึงกรณี 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่จะเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ พร้อมระบุด้วยว่า ให้ทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจับมือกันให้แน่น ใครแตกแถวก่อนคือเผด็จการ ในกิจกรรมคาร์ม็อบ Respect My Vote ซึ่งนัดหมายที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เข้าร่วม เพื่อส่งสารเรียกร้องถึงผู้นำเหล่าทัพที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้ไปลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง

 

 

ภาพที่: 42

 

 

18 กรกฎาคม 2566: สว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ รับดอกไม้จากมวลชนที่มาให้กำลังใจด้านหน้าอาคารรัฐสภา นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สว. เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ ก่อนที่ในวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 สำหรับกลุ่มที่มาให้กำลังใจ เช่น กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน และกองทัพธรรม 

 

 

ภาพที่: 43

 

 


19 กรกฎาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา พร้อมชูกำปั้นท่ามกลาง สส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และมีมติตามเสียงข้างมาก (7:2) มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

 

ภาพที่: 44

 

 

19 กรกฎาคม 2566: ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อคำสั่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. หลังถูกร้องกรณีถือหุ้น ITV ด้วยมติเสียงข้างมาก 7:2 บริเวณประตูรั้วรัฐสภา อีกทั้งมวลชนบางส่วนยังได้เขย่าประตูรั้วรัฐสภาจนโอนเอนไปมา ท่ามกลางการห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมบางส่วน ขณะที่ด้านในรั้วของรัฐสภาเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าตรึงกำลังควบคุมสถานการณ์

 

 

ภาพที่: 45

 

 

22 กรกฎาคม 2566: อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชนแก้วรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย และนั่งพูดคุยกันกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรค ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe โดยอนุทินกล่าวชมว่ารสชาติอร่อยดี ให้คะแนน 11 เต็ม 10

 

 

ภาพที่: 46

 

 

22 กรกฎาคม 2566: พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะนั่งอยู่ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe เพื่อร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย หลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทยในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตและหาทางออกของประเทศร่วมกัน

 

 

ภาพที่: 47

 

 

23 กรกฎาคม 2566: บรรยากาศที่พรรคเพื่อไทย ระหว่างการหารือกันของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐอยู่นั้น กลุ่มทะลุวัง นำโดย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, หยก เยาวชนอายุ 15 ปี และ สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์

 

ได้เดินทางมาชูป้ายกระดาษคัดค้านการหารือการร่วมมือกันของพรรคเพื่อไทย โดยสั่งช็อกมินต์มาชิมและระบุว่า ช็อกมินต์จะไม่เหมือนเดิมหากร่วมจับมือพลังประชารัฐ ก่อนสาดแป้งเป็นสัญลักษณ์ พร้อมประกาศว่าถ้ามีการยืนยันว่าจับมือกันตั้งรัฐบาล ก็จะกลับมาทันที ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนจุดยืนได้เร็วขนาดนี้ ซึ่งแป้งได้กระจายไปยังสื่อมวลชนรวมถึง สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเดินทางกลับพร้อมคณะ ซึ่งไม่ได้ปะทะกับกลุ่มทะลุวังแต่อย่างใด

 

 

ภาพที่: 48

 



29 กรกฎาคม 2566: กลุ่มมวลชนนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัดกิจกรรม #พร้อม2 ด้วยการเดินเท้าจากอโศกสู่ราชประสงค์ เพื่อแปรอักษรเป็นตัว ‘ห’ สื่อถึง ‘การเห็นหัวประชาชน’ พร้อมอ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งมีใจความว่า ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นหัวประชาชน อย่าเห็นแก่ตัว

 

 

ภาพที่: 49

 



2 สิงหาคม 2566: กลุ่มทะลุวัง เผาหุ่นฟางสาดสี แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หน้าพรรคเพื่อไทย ในกิจกรรม ‘CAR MOB แห่มาลัยวิวาห์ ยื่นรายชื่อประชาชน คล้องใจ 8 พรรคการเมือง’ จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป้าหมายหลักคือการส่งรายชื่อที่ได้รวบรวมจากประชาชนไปยัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณให้ร่วมรับรู้ว่าประชาชนทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ 8 พรรคร่วมที่ลงนาม MOU ร่วมกัน 

 

 

ภาพที่: 50

 

 

3 สิงหาคม 2566: ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงข่าวโดยนำข้อมูลเอกสารหลักฐาน อ้าง เศรษฐา ทวีสิน เลี่ยงภาษีโอนที่ดิน ทำรัฐสูญเงินกว่า 500 ล้านบาท ที่โรงแรมเดอะเดวิส สุขุมวิท 24 ในประเด็นการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ‘มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์หรือไม่’ และจะนำข้อมูลเอกสารหลักฐานที่แถลงวันนี้ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประธานรัฐสภา และกรมสรรพากร เพื่อให้นำข้อมูลนี้ไปประกอบในการพิจารณาโหวต เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

ภาพที่: 51

 

 

4 สิงหาคม 2566: สส. พรรคก้าวไกล ทำท่าทางแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ 22 ขอเลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันนี้ออกไปก่อน จากนั้นปิดการประชุมทันที ในการประชุมร่วมรัฐสภาวาระเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เพื่อรอให้องค์ประชุมครบ จึงสามารถเปิดประชุมได้ ทั้งนี้ รังสิมันต์ โรม สมาชิกพรรคสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนให้ทบทวนมติรัฐสภากรณีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซ้ำได้หรือไม่ โดยที่ประชุมได้อภิปรายจากทาง สส. และ สว. อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

 

 

ภาพที่: 52

 



7 สิงหาคม 2566: พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล หลังแถลงจบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ยกมือไหว้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

 

ในช่วงแถลง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทยต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทยที่รับคำเชิญในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตรัฐธรรมนูญที่เป็นเดดล็อก และเงื่อนไขให้พวกเรามีความยุ่งยากมากในการจัดตั้งรัฐบาล

 

 

ภาพที่: 53

 


13 สิงหาคม 2566: ผู้ชุมนุมใช้ถาดติดกาวดักหนูปาใส่ป้ายที่ทำการพรรคภูมิใจไทย โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรมชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ ‘เราจะไปไล่หนูท่อ หมอเก๊ พ่อค้ากัญชาเถื่อน แล้วไปดัดสันหลังเพื่อนรว๊ากส์ ที่หักเหลี่ยมกันหน้าด้านๆ’ มีจุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขับไล่ และส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจไปยังกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย 

 

 

ภาพที่: 54

 

 

13 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกรีดเสื้อแดง นปช. ซึ่งมีภาพใบหน้าของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ มวลชนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย เช่น ปาแก้วที่ระลึกให้แตก ฉีกเสื้อสีแดงสมัย นปช. ปี 2553 ฉีกปฏิทินปี 2563 และกล่าวว่าคนเสื้อแดงมันเจ็บใจ 

 

 

ภาพที่: 55

 

 

21 สิงหาคม 2566: นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล และมีมติร่วมกันเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา

 

 

ภาพที่: 56 

 

 

21 สิงหาคม 2566: แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว ร้องไห้ด้วยความปลื้มใจระหว่างที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงร้องเพลงอวยพรวันเกิดในวันที่แพทองธารมีอายุครบ 37 ปี รวมทั้งมวลชนร่วมแสดงความยินดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศด้วย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย 

 

 

ภาพที่: 57

 

 

22 สิงหาคม 2566: ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินส่วนตัว หลังใช้ชีวิตในต่างประเทศถึง 17 ปี นับแต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการกลับประเทศไทยตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อผ่านขั้นตอนในการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ทักษิณได้เดินทางมาที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล โดยมี พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร เดินออกมาพร้อมกันด้วย จากนั้นทักษิณได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ก่อนจะเดินเข้ามาทักทายกับบรรดาแกนนำและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ที่มาให้การต้อนรับ

 

 

ภาพที่: 58

 

 

22 สิงหาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ผมอยากขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมรัฐบาล สส. และ สว. ทุกท่านที่ร่วมโหวตในวันนี้ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน ภายหลังแถลงเสร็จสิ้นได้เดินทางไปพบมวลชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย โดยมวลชนต่างตะโกนว่า “นายกฯ เศรษฐา” อย่างต่อเนื่อง ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย 

 

 

ภาพที่: 59

 

 

22 สิงหาคม 2566: ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าวันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากวันนี้ มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะทำอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักการและเหตุผลเป็นตัวตั้ง ตนคิดว่าสิ่งที่จะล้มรัฐบาลชุดนี้ได้ คือศรัทธาของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ แม้เราเป็นฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะบริหารประเทศให้ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือเป้าหมายของเรา 

 

 

ภาพที่: 60

 

 

24 สิงหาคม 2566: ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง เศรษฐา​ ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยกมือไหว้ พล.อ. ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายก​รัฐมนตรีคนที่ 29 ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล หลังการพูดคุยเข้าหารือ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เยี่ยมชมภายในตึกไทยคู่ฟ้าและตึกภักดีบดินทร์ โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้สีม่วงเหลืองแสดงความยินดีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของไทย พร้อมนำชมและเดินมาส่งเศรษฐาขึ้นรถยนต์ ซึ่งเศรษฐาได้โบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนจะเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลไปในทันที

 

 

ภาพที่: 61

 

 

30 สิงหาคม 2566: นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แถลงข่าวลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายตามที่เคยบอกไว้ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค หากดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วจะประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่าจะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ในเวทีดีเบตที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยและกรรมการบริหารพรรคมีมติจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จับมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตนเองจะขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยประกาศไว้ ณ บัดนี้

 

 

ภาพที่: 62

 


31 สิงหาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ โบกมือส่งสัญลักษณ์ I Love You ให้กับสื่อมวลชน ก่อนขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า และช่วงที่ขึ้นไปยังห้องทำงานยังหยุดแล้วโบกมือลาสื่อมวลชนอีกครั้ง ก่อนขึ้นไปสักการะพระพรหมเจ้าที่บนตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นข้าราชการและลูกจ้างภายในทำเนียบรัฐบาลนำดอกไม้เข้าอำลานายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้โอวาทและถ่ายรูปร่วมกัน พร้อมเดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้าไปทักทายแฟนคลับที่มารอในโอกาสอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันสุดท้าย  

 

 

ภาพที่: 63

 

 

2 กันยายน 2566: ชายสวมเสื้อแดงรายหนึ่งเข้าไปโผกอด ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สมาชิกกลุ่มแคร์ โดยพยายามห้ามปรามให้ดวงฤทธิ์หยุดกิจกรรมดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้นำตัวออกจากพื้นที่ ในกิจกรรม Letter to Freedom จดหมายสู่อิสรภาพ ‘Freedom to Be, Freedom to Act’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง หลังเคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ประกาศว่า “ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ผมจะยอมให้เอาขี้ปาหัว”

 

 

ภาพที่: 64

 

 

5 กันยายน 2566: ก้าวแรกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เดินตามทางเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้ามาที่ตึกสันติไมตรี ด้วยการสวมชุดปกติขาว เพื่อเข้าไปถ่ายภาพประจำตัวติดบัตรคณะรัฐมนตรี โดยได้ทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี 

 

 

ภาพที่: 65

 

 

5 กันยายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พร้อมแถลงภายหลังนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่า “ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน และทุกท่านในที่นี้ มาวันนี้ มาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจ ปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง”

 

 

ภาพที่: 66

 

 

11 กันยายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงห้องประชุมรัฐสภา พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และทดสอบไมโครโฟน เพื่อแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุม 2 วัน คือวันที่ 11-12 กันยายน ทั้งนี้ถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา สาระสำคัญในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ตามกรอบความเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising