×

ไทยเบฟได้อะไรจากการซื้อ KFC 11,300 ล้านบาท

10.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กลุ่มไทยเบฟ ได้ประกาศซื้อสาขาล็อตสุดท้ายของ KFC ในประเทศไทยจำนวนกว่า 240 แห่งหรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจำนวนสาขาทั้งหมดจากบริษัท Yum Restaurants International (ประเทศไทย) โดยมีมูลค่าสูงกว่า 11,300 ล้านบาท
  • สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดังให้ความเห็นว่า การเข้าซื้อสาขา KFC จะทำให้ไทยเบฟได้ความรู้ด้านการบริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ดีมากจาก KFC และยังเป็นช่องทางการต่อยอดพัฒนาไปยังสินค้าตัวอื่นๆ ในเครือ ซึ่งจะช่วยให้ทำเงินได้มากขึ้น
  • ชัชวนันท์ สันธิเดช นักลงทุนและเจ้าของเพจ Club VI มองว่าดีลในครั้งนี้เปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ทางธุรกิจชิ้นสำคัญของเจ้าสัวเจริญ

     ถือเป็นดีลใหญ่ที่สะเทือนวงการธุรกิจไทยแห่งปี เมื่อบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ซึ่งจัดตั้งโดยบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด และเป็นบริษัทย่อยภายใต้ กลุ่มไทยเบฟ ประกาศซื้อสาขาล็อตสุดท้ายของเคเอฟซี (KFC) ในไทย จากบริษัท Yum Restaurants International (ประเทศไทย) คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 11,300 ล้านบาท

     บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงการซื้อร้านสาขาของเคเอฟซี จาก ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ที่เหลืออยู่ทั้งหมดประมาณ 240 สาขา รวมทั้งสาขาที่มีแผนจะเปิดในอนาคต ซึ่งหากดีลนี้สำเร็จเมื่อไร เท่ากับว่าไทยเบฟจะสามารถขยายตลาดของธุรกิจอาหารไปสู่ธุรกิจบริการอาหารเร่งด่วนในทันที รวมทั้งจับกระแสเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคนี้ได้ทันมากขึ้น

     อย่างไรก็ดี เคเอฟซีมีสาขาในไทยประมาณ 600 สาขา โดยสาขาที่เหลือประมาณ 224 แห่งและ 128  แห่งเป็นของกลุ่ม CRG ในเครือเซ็นทรัลและบริษัทเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) ตามลำดับ

     นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การเข้าซื้อร้านสาขาเคเอฟซี นอกจากจะทำให้ไทยเบฟขยายพอร์ตธุรกิจอาหารให้เติบโตขึ้นแล้ว เครือข่ายร้านค้าสาขาของเคเอฟซีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น สามารถเข้าใจเทรนด์ ความต้องการ และขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

     “และด้วยความชำนาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจบริการอาหารแบบเร่งด่วน เราจะสามารถผลักดันและเร่งขยายสาขาของเคเอฟซีประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ เรามองว่าโอกาสในการร่วมงานกับกลุ่มบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาพนักงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย”

ผมว่าเขาน่าจะได้ความรู้ด้านการบริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ดีมากจากเคเอฟซี รวมถึงความรู้เรื่องธุรกิจอาหาร เพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจของคุณเจริญจะเป็นรูปแบบอาหารที่มาจากเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่

 

ไทยเบฟทุ่มซื้อแฟรนไชส์ดัง หวังขยายตลาดธุรกิจอาหาร ใครได้ประโยชน์?

     หลายคนคงเกิดข้อสงสัยไม่น้อยว่าการเข้าซื้อสาขาเคเอฟซี ประเทศไทย จำนวนกว่า 240 แห่งในครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับไทยเบฟ รวมถึงสยายปีกอาณาจักรธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ-กองเอก เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยเบฟได้อย่างไร ดีลนี้จะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนสำหรับมหาเศรษฐีระดับแสนล้านที่ถือครองธุรกิจชั้นนำของไทยเป็นจำนวนมาก

     THE STANDARD ได้ติดต่อไปยัง สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของนามปาก ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เพื่อสอบถามความคิดเห็นและร่วมวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว โดยสรกลให้ความเห็นว่า ดีลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อบริษัทไทยเบฟแน่นอน และถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ทำกำไร แต่ก็สามารถเป็นใบเบิกทางสู่สินค้าอื่นๆ ในเครือของไทยเบฟได้

     “ผมว่าเขาน่าจะได้ความรู้ด้านการบริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ดีมากจากเคเอฟซี รวมถึงความรู้เรื่องธุรกิจอาหาร เพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจของคุณเจริญจะเป็นรูปแบบอาหารที่มาจากเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ (เครื่องดื่มต่างๆ) ไม่เหมือนกับซีพีที่เป็นเหมือนกับเจ้าพ่อวงการนี้อยู่แล้ว การซื้อเคเอฟซีจึงเปรียบเสมือนการได้เรียนรู้ know how การทำธุรกิจของแบรนด์ ไทยเบฟเองก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปยังสินค้าตัวอื่นๆ ซึ่งวันหนึ่งเราอาจจะเห็นร้านอาหารในเครือของเขาเพิ่มเติม

     “นอกจากนี้ก็เป็นช่องทางที่จะเอาสินค้าของพวกเขาจำพวกเครื่องดื่มแทรกเข้าไปในร้านได้ด้วย ซึ่งจะช่วยทำเงินได้มากขึ้น เพราะการเป็นร้านอาหารไม่ได้หมายความว่าเป็นแค่ช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นช่องทางที่ทำให้คน (ผู้บริโภค) ได้ทดลองผลิตภัณฑ์อีกด้วย สมมติว่าคุณซื้อแล้วได้แถมเครื่องดื่มอะไรสักตัว มันก็คือการทดลองผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด ผมจึงมองว่าเคเอฟซีเป็นช่องทางที่ใหญ่มากๆ สำหรับไทยเบฟ” สรกลกล่าว

     นั่นอาจหมายความว่า ในอนาคตเราจะได้เห็นเคเอฟซีหลายๆ สาขานำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมของเสริมสุขอย่างเอส หรือเครื่องดื่มชาในเครือโออิชิเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เช่นนั้นแล้วโอกาสที่เราจะได้เห็นเคเอฟซียุคใหม่ภายใต้การบริหารของไทยเบฟนำผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ช้างเข้ามาวางจำหน่ายในร้านมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

     สรกลกล่าวว่า “ถ้ามีการเปิดช่องทางก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ผมมองว่าพวกเขา (เคเอฟซีและไทยเบฟ) จะเสียกลุ่มครอบครัวไป ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเขาวางจุดยืนแบบนี้หรือเปล่า”

     ด้าน ชัชวนันท์ สันธิเดช นักลงทุนและเจ้าของเพจ Club VI ให้สัมภาษณ์กับเราว่า ดีลในครั้งนี้เปรียบเสมือนหนึ่งในจิ๊กซอว์ทางธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ และสิ่งที่ไทยเบฟจะได้รับก็คือความภักดีของตัวผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ ซึ่งมีค่ามากกว่ากำไรทางธุรกิจ

     “ผมมองว่าดีลนี้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ทางธุรกิจโดยรวมของบริษัทไทยเบฟมาก การซื้อสาขาของเคเอฟซีเป็นการสร้างความฮือฮา และเสริมภาพรวมทางธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น ผมเปรียบเทียบกับกรณีที่บริษัท Ant Financial ในเครือ Alibaba ไปซื้อหุ้นเคเอฟซี ประเทศจีน ประมาณ 20% แต่กลับได้พาดหัวข่าวว่า ‘แจ็ค หม่า ซื้อเคเอฟซีที่เคยปฏิเสธไม่รับเขาเข้าทำงาน’ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงบริษัทที่ซื้อเป็นแค่บริษัทในเครือ Alibaba เท่านั้น” ชัชวนันท์กล่าว

 

 

วิเคราะห์แผนกลยุทธ์ของ KFC กับจุดเด่นของการสร้างแบรนด์อาหารเร่งด่วน (QSR: Quick Service Restaurants)

     จากแถลงการณ์ข้างต้นของไทยเบฟ น่าคิดต่อว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่จึงสนใจแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารเร่งด่วนของเคเอฟซี หรือไทยเบฟมองเห็นโอกาสอะไรที่สามารถต่อยอดธุรกิจในเครือให้ก้าวไปไกลกว่านี้ได้

     อันที่จริงปฏิเสธไม่ได้ว่า เคเอฟซีเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานด้านบริการระดับโลกเป็นทุนเดิม ขณะเดียวกัน การทำตลาดในไทยก็นับว่ามีความโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่น

     หากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน เคเอฟซีถือเป็นแบรนด์ผู้นำในตลาดร้านบริการอาหารแบบเร่งด่วนในประเทศไทย จากการเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี และยังมีการขยายตัวมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ที่มีเพียง 550 สาขา  ปี 2559 ที่เพิ่มเป็น 585 สาขากระทั่งสามารถขยายสาขาได้มากถึงประมาณ 600 แห่งในปีนี้

     หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์เคเอฟซีได้รับความนิยมในประเทศไทยจนเติบโตได้มากเช่นนี้ มาจากไลน์สินค้าที่ถูกประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมนูอาหารจำพวกไก่และปลาแซ่บ, ไก่และปลาซี้ด, ไก่วิงซ์แซ่บ และข้าวหน้าต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบภาชนะบรรจุให้พกพาง่ายขึ้นในลักษณะของถ้วยกระดาษเพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน

     ที่สำคัญยังปรับภาพลักษณ์ของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดให้มีกลิ่นอายความเป็นร้านอาหารในรูปแบบครอบครัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากชื่อเมนูและการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ออกมา นอกจากนี้ก็ยังพัฒนาไลน์เมนูขนมทานเล่น ของหวานและเครื่องดื่มออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

     และถึงแม้คู่แข่งโดยตรงอย่างแมคโดนัลด์ (McDonald’s) จะมีสาขาให้บริการแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) มากถึง 76 แห่ง แต่ในช่วงระยะหลังๆ เคเอฟซีก็ให้ความสำคัญกับการขยายสาขาแบบไดร์ฟทรูมากขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูล ณ ปัจจุบันระบุว่า พวกเขาสามารถขยายสาขาให้บริการในรูปแบบดังกล่าวได้กว่า 38 แห่งทั่วประเทศไทยแล้ว

     หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงประมาณปี 2015 เคเอฟซีเริ่มนำร่องปรับรูปโฉมร้านให้มีความทันสมัยขึ้นจากการให้บริการสัญญาณ Wi-Fi ฟรี, มีบริการเครื่องดื่มแบบรีฟิลพร้อมห้องน้ำภายในตัวร้าน ทั้งยังนำระบบการรับออร์เดอร์มาตรฐานระดับโลกอย่าง SOP (Speed Up Ordering Process) เข้ามาใช้ ซึ่งให้ความเร็วในการบริการรับออร์เดอร์ลูกค้าได้มากถึง 83 คนต่อชั่วโมง จากเดิม 41 คนต่อชั่วโมง

     ยังไม่รวมถึงแผนการสื่อสารการตลาดทางโซเชียลมีเดีย เช่น เพจบนเฟซบุ๊ก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจนโด่งดังไปทั่วโลกออนไลน์

     ก่อนหน้านี้ เคเอฟซี ประเทศไทย ภายใต้การบริหารของ ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เคยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2023 นี้ พวกเขาจะต้องขยายสาขาเคเอฟซีให้ได้มากถึง 800 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันสาขาในครอบครองของไทยเบฟคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจำนวนสาขาเคเอฟซีในประเทศไทยทั้งหมด แน่นอนว่าโจทย์ใหญ่ของไทยเบฟหลังจากนี้คือการรับไม้ผลัดต่อจากยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรให้มีความแข็งแรงและเร่งขยายสาขาให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตเราคงจะได้เห็นความสนุกของการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างไทยเบฟและเคเอฟซีแน่นอน

 

 

     อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายธุรกิจที่อยู่ภายใต้อาณาจักรของไทยเบฟ ซึ่งทำรายได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริการทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ และธุรกิจร้านอาหารเคเอฟซี จึงเป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่จะเข้ามาเติมเต็มภาพรวมของธุรกิจไทยเบฟให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเกินตัว

     “ยอดขายของไทยเบฟสูงมากเลยนะ ถ้าผมไม่จำไม่ผิด ตัวเลขเป็นหลักแสนล้าน ธุรกิจเหล้ากับเบียร์มันใหญ่มาก และตัวนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเขาเท่านั้นเอง เขามีทั้งเบอร์ลี่ ยุคเกอร์, เครือโออิชิ, เสริมสุข และไทยเบฟ แค่ 4 ตัวนี้ก็มหึมาแล้ว เขาซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า” สรกลปิดท้าย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2560 ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่แม้ว่าจะมีรายได้จากการขายสินค้า 46,829 ล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน สืบเนื่องจากการขายและการบริโภคในกลุ่มธุรกิจสุราและเบียร์ที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีกำไรสุทธิถึง 7,743 ล้านบาท

 

*หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดนับจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2560

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising