×

Sustainable Business ชนะใจผู้บริโภคโลกใหม่ด้วยวิธีคิดธุรกิจแบบยั่งยืน

29.10.2021
  • LOADING...

ธุรกิจที่สามารถชนะใจผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ต้องไม่มุ่งแต่แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนระยะยาว

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดสุดท้ายของซีซันนี้ คุยกับ นัททินี แซ่โฮ ผู้ก่อตั้ง Thrive Venture Builder สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมทุกมิติ

 

ลองมาฟังกันว่าธุรกิจ SMEs ที่อยากเริ่มต้นบริหารจัดการโดยมีเรื่อง Sustainability เข้ามาเกี่ยวข้องควรทำอย่างไร คุณต้องควรดูแลซัพพลายเชนแบบไหน และผลดีระยะยาวของการลงทุนเรื่องนี้คืออะไร 

 


 

ความหมายที่แท้จริงของ Sustainability

ถ้าแปลแบบตรงตัว Sustainability คือ ‘ความยั่งยืน’ แต่จริงๆ แล้วทั่วโลกเขามีมุมมองต่อคำว่า Sustainability ในทางที่ต่างกันไป นั่นก็คือเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่แค่กับตัวธุรกิจ แต่กับโลกของเราด้วย

 

เมื่อพูดถึงเรื่องของ Sustainability คนมักจะอ้างอิงถึง ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)’ ของสหประชาชาติ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด 17 ประการ คอนเซปต์ของมันก็คล้ายๆ กับ Do More Good คือทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อโลกให้มากขึ้น อีกคำหนึ่งที่ต้องรู้จักก็คือ ESG (Environmental, Social and Governance) หรือกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการมาสำรวจดูว่าสิ่งที่แต่ละธุรกิจหรือแต่ละองค์กรกำลังทำอยู่จะสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยรอบได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโลกในระยะยาว 

 

หรือถ้าพูดในมุมของ SMEs ก็ยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ Sustainability เช่นกันนั่นคือ Triple Bottom Line การที่เราทำธุรกิจนั้นไม่ใช่ว่าจะดูแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูทั้ง People, Profit และ Planet คือกำไรต้องมี โลกของเรายังสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ และคนในองค์กรก็ต้องแฮปปี้ด้วยเหมือนกัน

 

เหตุผลที่กระแส Sustainability กำลังกระเพื่อมแรงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะนี้

จริงๆ แล้วบนเวทีโลกเขาคุยเรื่องนี้กันมานานตั้งแต่ประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ ณ ตอนนั้นมันยังเป็นแค่การทำนาย เช่น ดูเหมือนว่าจะมีก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเข้ามาทำร้ายโลกของเราอยู่นะ แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ามันไม่ได้อาจจะ แต่มันใช่แล้ว เพราะโลกก็ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

หรือถ้าจะพูดให้ใกล้ตัวมากขึ้น รู้หรือไม่ว่าพลาสติกครึ่งหนึ่งของโลกถูกสร้างขึ้นมาภายใน 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง สำหรับบางคนอาจจะคิดว่าพลาสติกมันไม่ได้เป็นอะไรที่แย่ขนาดนั้นหรือเปล่า แต่ลองมองว่าเมื่อพลาสติกเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำ ปลามันกินพลาสติกเข้าไป แล้วมนุษย์ก็กินปลาอีกที ที่สุดแล้วการที่คนเป็นมะเร็งกันเยอะหรือมีอาการป่วยกันง่ายขึ้น ก็อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมดีพอจนมันวนกลับมาทำให้เราป่วยหรือเปล่า

 

เมื่อเรื่องพวกนี้มันเริ่มมีข้อมูลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือออกมายืนยันมากขึ้นว่าการที่เราไม่ดูแลความยั่งยืนของโลก ผลสุดท้ายมันจะวนกลับมามีผลกระทบกับตัวของเราเอง คนก็เลยเริ่มตระหนักมากขึ้น บวกกับการที่สมัยนี้เรามีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น กระจายข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น จึงเริ่มมีความตระหนักรู้ในส่วนนี้กันมากขึ้น 

 

ในการที่เราทำธุรกิจ ไม่ใช่ว่าจะดูแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูทั้ง People, Profit และ Planet คือกำไรต้องมี โลกของเรายังสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ และคนในองค์กรก็ต้องแฮปปี้ด้วย

 

ยุคที่แค่หมุนเงินในแต่ละเดือนก็เหนื่อยแทบแย่ แล้ว SMEs จะวางแผนเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนในระยะยาวอย่างไรดี 

พอลองคิดถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อความยั่งยืน มันดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ เลย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราสามารถนำเรื่องความยั่งยืนมารวมกับการทำงานได้ ในหลายๆ เคสมันสามารถที่จะช่วยลดต้นทุนของเราได้นะคะ 

 

ที่เด่นชัดที่สุดคือ ธุรกิจร้านอาหาร คนที่ซื้อผักผลไม้มาใช้ทุกวันๆ จะรู้ว่าผักออร์แกนิกมีราคาสูงกว่าผักตามท้องตลาดทั่วไปที่อาจมีสารเคมีเจือปน แต่หลายคนคาดไม่ถึงว่าผักผลไม้ที่มีสารเคมีนั้นมีโอกาสที่จะเน่าเสียไวกว่าแบบออร์แกนิกด้วยซ้ำ

เราเคยเห็นหลายโรงแรมที่เขาเปลี่ยนจากการใช้ผักผลไม้ทั่วไปตามท้องตลาดมาเป็นผักออร์แกนิก ซึ่งสุดท้ายแล้วพบว่าของเหลือทิ้งจากการทำครัวน้อยลง เพราะเขาเก็บผักได้นานขึ้น ส่วนเน่าเสียที่ต้องตัดทิ้งก็น้อยลง เพราะฉะนั้นจริงๆ มันสามารถทำส่วนที่เป็นกำไรและความยั่งยืนไปพร้อมกันได้ แต่อาจต้องมาดูว่าธุรกิจของเราควรจะทำออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง

 

ตรงนี้เหมือนเป็นการวางแผนสำหรับอนาคตก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ คนยุคใหม่จะหันมาบริโภคของที่ดีต่อร่างกายมากขึ้น เพราะเขายังมีเวลาอยู่บนโลกนี้อีก 30-40 ปี เขาจึงยอมจ่ายมากขึ้นสำหรับสิ่งที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง แล้วทำไมเราถึงไม่เริ่ม ณ ตอนนี้เลยล่ะ ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นเทรนด์ตรงนี้ แล้วเริ่มเอา Sustainability เข้ามาบูรณาการในการทำงาน มันก็สามารถทำให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน

 

จุดที่สำคัญที่สุดในการทำให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนจริงๆ 

การที่เราบอกว่าอยากจะทำเรื่อง Sustainability โดยที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจ แน่นอนว่ามันจะลำบากเสมอ ฉะนั้นอย่างแรกที่อยากให้หลายๆ องค์กรทำคือ ให้ไปลอง Google คีย์เวิร์ด 3 คำ ได้แก่ SDG, ESG และ Triple Bottom Line เพื่อให้เข้าใจบริบทโดยรวมก่อน 

 

พอเราเข้าใจความหมายของมันแล้ว สิ่งต่อมาคือการย้อนมามองที่องค์กรของเราก่อนว่า ณ ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร เรากำลังซื้อของจากใคร เรากำลังขายของให้ใคร พนักงานของเราโอเคแล้วหรือเปล่า การที่เราผลิตสิ่งของตรงนี้ ผลกระทบที่มันอาจจะมีกับสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้นมันจะวนกลับมาที่เรื่องของ Triple Bottom Line นั่นก็คือ People, Profit และ Planet พูดง่ายๆ คือเหมือนดูซัพพลายเชนว่าเรากำลังรับอะไรจากใครมา โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการผลิต อาจจะดูว่าคนที่จำหน่ายสินค้าให้เราเขาสนใจเรื่อง Sustainability หรือเปล่า แล้วของที่เขาผลิตนั้นมีการคำนึงถึงสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับโลกไหม 

 

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การคุยกับคนในองค์กรให้มากขึ้น เพื่อที่จะเช็กว่าในขณะที่ทำงานอยู่กับเรา สิ่งตอบแทนที่เขาได้รับมันทำให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ไหม เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนของเรามีความสุขที่สุดได้บ้าง หลายๆ องค์กรอาจมองว่าถ้าฉันเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานก็จะกลายเป็นว่ารายได้ขององค์กรลดลง แต่เราอาจจะต้องมองไกลไปถึงผลดีในระยะยาวมากกว่า ถ้าเกิดเขาสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น สังคมโดยรวมมันก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน

 

คนยุคใหม่จะเริ่มหันมาบริโภคของที่ดีต่อร่างกายมากขึ้น เพราะเขายังมีเวลาอยู่บนโลกนี้อีก 30-40 ปี เขาจึงยอมจ่ายมากขึ้นสำหรับสิ่งที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง แล้วทำไมเราถึงไม่เริ่ม ณ ตอนนี้เลยล่ะ

 

เช็กลิสต์การเลือกคู่ค้าและการบริหารซัพพลายเชน เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรยั่งยืน 

ความยากของบ้านเราคือ หลายๆ คนยังไม่เข้าใจภาพใหญ่ของ Sustainability อยู่ดีๆ เราจะไปถามคู่ค้าว่า รู้ไหมว่าคุณปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะขนาดไหน เขาก็อาจจะงงเหมือนกันว่าฉันจะต้องทำอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นพอประเมินตัวเองแล้วว่ามันมีสิ่งที่องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนได้ เราก็อาจจะเอาคอนเซปต์นี้ไปคุยกับคู่ค้าว่า นอกเหนือจากในส่วนกำไร เรื่องคนในองค์กรของคุณมันมีอะไรที่จะทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือเปล่า 

 

หรือสำหรับธุรกิจที่ต้องซื้อของมาหลายๆ ทอด อีกทางหนึ่งที่เราจะทำได้คือ การซื้อที่ต้นน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งคือจะทำให้เขามีรายได้มากขึ้น และเรายังเข้าใจซัพพลายเชนในวงจรธุรกิจของตัวเองเพิ่มเติมได้ด้วย

 

องค์กรจำเป็นต้องลงทุนเพื่อความยั่งยืนจริงหรือ?

เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุน มีสิ่งหนึ่งที่สามารถทำกับองค์กรของเราได้คือ SIA (Social Impact Assessment) หรือ SROI (Social Return on Investment) ซึ่งถ้าเราเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในแล้วอยากจะลงทุนเพิ่ม อาจจะลองให้คนมาประเมินสิ่งที่เรากำลังทำภายในองค์กร ถ้าหากนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มกับเรา ตัว SROI มันจะบอกนักลงทุนว่า ถ้าเกิดคุณลงเงินมา 1 เหรียญ ผลลัพธ์ทางสังคมที่จะได้กลับมามันจะเป็นเท่าไร 

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่เป็น SMEs คือ หลังๆ นักลงทุนทั่วโลกเขาจะสนใจกับองค์กรที่ทำด้าน Sustainability ค่อนข้างเยอะ มีบางกองทุนที่ลงทุนแค่กับองค์กรที่เห็นพ้องกับคอนเซปต์ของ ESG และเขามองว่าภายในอีกไม่กี่ปีเงินก้อนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20% ของเงินทุนทั้งหมดของโลก ซึ่งถ้าเราไม่เห็นพ้องกับ ESG โอกาสที่เราจะได้เงินทุนก้อนนี้ก็จะน้อยลง จึงอยากให้องค์กรเห็นว่าถ้าเราเริ่มทำ เริ่มเห็นผลลัพธ์แล้ว และอยากที่จะโตต่อ การที่เราทำ Impact Assessment แบบนี้ก็สามารถนำไปต่อยอดกับนักลงทุนได้

 

เทคโนโลยีและ Sustainability สามารถนำมาใช้ได้ในมิติใดได้บ้าง

เทคโนโลยีเป็นเหมือนคันเร่งสำหรับทุกอย่าง ถ้าถามว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาบูรณาการเพื่อให้สเกลใหญ่ขึ้นได้ไหม อันนี้สามารถทำได้ ไม่มีปัญหาอะไรแน่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ก่อนที่เราจะเริ่มนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเพื่อปรับขนาดองค์กร เราเข้าใจปัญหาที่แท้จริงในการพยายามแก้ปัญหาเรื่อง Sustainability แล้วหรือยัง 

 

พอพูดถึง Sustainability ปัญหามันเยอะมากเลย แต่เราอยากจะจับที่ส่วนไหน แล้วเราพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ใคร เพราะถ้าเข้าใจในส่วนนี้ เราอาจจะยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาจับก็ได้ ลองแก้ปัญหาแบบแมนวลก่อน แล้วค่อยมาดูอีกทีว่าจะเอาเทคโนโลยีมาบูรณาการอย่างไรเพื่อให้มันโตได้มากขึ้น

 

ก่อนที่จะเริ่มนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเพื่อปรับขนาดองค์กร เราเข้าใจปัญหาที่แท้จริงในการพยายามทำเรื่อง Sustainability แล้วหรือยัง

 

เคสตัวอย่างของ SMEs ที่ทำเรื่อง Sustainability อย่างจริงจังและเห็นผล

ในประเทศไทยจะมีเคสหนึ่งที่ค่อนข้างประทับใจเป็นพิเศษ และหลายๆ คนก็อาจจะเคยใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาตอนเด็กๆ คือ บริษัท PlanToys ที่เขาทำของเล่นไม้ ซึ่งไม้ที่เอามาทำของเล่นนี้ โดยปกติมันจะถูกนำไปทำเป็นฟืนที่สุดท้ายต้องถูกนำไปเผา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยมลพิษบนโลกของเรา

 

ซึ่งการนำไม้ฟืนมาทำเป็นของเล่น ในทางหนึ่งมันเป็นการลดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งถ้าเกิดเขาไม่ได้เอาไม้มาใช้ มันก็จะกลายไปเป็นภาระของคนอื่นต่อไป และนอกจากทำของเล่นชิ้นหลักแล้ว เขายังนำเอาเศษไม้ที่เหลือมาอัดเพิ่ม แล้วทำเป็นของเล่นอีกเวอร์ชันหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์อีกตลาดหนึ่งได้อีกด้วย

 

อีกบริษัทหนึ่งที่ตอนนี้ก็มาแรงพอสมควรคือ Moreloop เขาเป็นบริษัทที่นำผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาชุบชีวิตใหม่ ซึ่งถ้าเราซื้อเสื้อจากแบรนด์นี้ เขาจะมีแท็กมาให้ด้วยว่าเสื้อตัวนี้ช่วยลดคาร์บอนไปเท่าไร คนซื้อก็จะเริ่มรู้ว่าจริงๆ ฉันสามารถที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการซื้อเสื้อผ้าจากเธอนะ 

 

หรือถ้าเกิดในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เราก็จะเห็นคนเริ่มนำพลังงานทางเลือกมาติดในโรงงานของเขา ซึ่งในมุมหนึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการลดต้นทุน แต่จริงๆ เขาก็สามารถที่จะช่วยโลกได้เช่นเดียวกัน ด้วยการเลือกใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตหลายๆ อย่าง ซึ่งอันนี้ก็ช่วยเรื่องความยั่งยืนได้เช่นกัน

 

Carbon Credit กับโอกาสในอนาคตของ SMEs ไทย 

อธิบายให้เห็นภาพสักนิดก่อนว่า Carbon Credit คือการที่เรารู้ว่าในการปรับเปลี่ยนการทำงานนั้น เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้แค่ไหน ปกติมันจะคิดเป็นกิโลกรัม โดย 1,000 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ตัน และ 1 ตัน จะเท่ากับ 1 Carbon Credit

 

ซึ่งในปีที่จะถึงนี้ ถ้าหาก SMEs เจ้าไหนส่งออกสินค้าไปยุโรป ที่นั่นจะเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า Green Taxes คือทุกๆ อย่างส่งไปยังสหภาพยุโรปจะมีการคิดเงินเพิ่ม ถ้าสินค้าที่เราส่งไปมีการปล่อยคาร์บอนเยอะ เขาจะคิดราคาเพิ่มต่อ 1 ตันที่ 40 ยูโร ฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อเราส่งของไปสหภาพยุโรปก็จะโดนภาษีน้อยลง

 

หรือถ้าเกิดธุรกิจของคุณไม่ได้ส่งออกไปที่นั่น ก็ยังสามารถซื้อขาย Carbon Credit ให้กับองค์กรที่เขาส่งออกของไปสหภาพยุโรปได้ เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า Carbon Offset คือองค์กรนั้นๆ อาจจะมีกระบวนการผลิตที่ไม่ค่อยยั่งยืนสักเท่าไร เขาก็จะหันมาหาองค์กรที่ยั่งยืนมากกว่า แล้วขอซื้อเครดิตจากเราไป สิ่งนี้ก็จะเป็นโอกาสหนึ่งของ SMEs เหมือนกัน เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็พูดกันค่อนข้างเยอะว่า Carbon credit is the new gold. 

 

ความยั่งยืนมันไม่ใช่แค่ช่วงเวลานี้ แต่มันคือตอนนี้ไปจนถึงอนาคต

 

ขอบเขตของความยั่งยืน จริงๆ แล้วครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง

ความยั่งยืนคือทุกอย่างที่จะทำให้โลกเราในอนาคตสามารถไปต่อได้ ซึ่งตัวที่ชัดเจนมากที่สุดในส่วนนี้ก็คือ SDG โดยจุดมุ่งหมายของมันมีทั้งหมด 17 หัวข้อด้วยกัน และไม่ใช่ว่าทุกข้อต้องเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จริงๆ แล้วมีหลายเรื่องที่สามารถเกี่ยวข้องกับทุกองค์กรได้ นั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องของคุณภาพการศึกษา พนักงานของเรามีทักษะมากพอที่จะทำงานจนกระทั่งเขาเติบโตไปตามสายงานในองค์กรได้หรือเปล่า 

 

ฉะนั้นถ้ามองว่าธุรกิจของตัวเองไม่ได้ไปแตะด้านสิ่งแวดล้อมจ๋าๆ เราอาจจะสามารถปรับเปลี่ยนเรื่องการศึกษาในองค์กรได้ไหม หรือจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็ได้ เพราะในต่างประเทศเขาจะพูดเรื่องนี้กันเยอะมาก คือโดยปกติผู้หญิงกับผู้ชายในองค์กรทำงานเหมือนกัน แต่ในที่สุดทำไมเงินเดือนไม่เท่ากัน เราอาจจะแค่ย้อนกลับมาประเมินองค์กรของเราก็ได้นะว่าน้องผู้หญิงกับน้องผู้ชายคนนี้ จริงๆ งานเหมือนกันไหม แล้วเงินเดือนเท่ากันหรือเปล่า ถ้าไม่เท่ากัน ทำไมเราถึงไม่ให้เขาเท่ากันล่ะ

 

หรือการดูแลคนในองค์กรตัวเองก็ด้วย อย่างประเทศไทยอนุญาตให้มีการลาคลอด แต่หลังคลอดกลับไม่ได้มีเวลาให้คุณแม่อยู่กับลูกได้ ตรงนี้อาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร คำตอบคือความยั่งยืนมันไม่ใช่แค่ช่วงเวลานี้ แต่มันคือตอนนี้ไปจนถึงอนาคต อาจจะฟังดูเหมือนสื่อยุคเก่าไปหน่อย แต่ครอบครัวมันคือพื้นฐานของชีวิตและสังคม การที่เด็กๆ ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาควรจะได้รับจากครอบครัว มันอาจจะกลายเป็นผลกระทบระยะยาวในเชิงสังคมวงกว้างก็เป็นไปได้

 

ในภาพใหญ่ของ Sustainability อาจจะไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ถึงแม้มันจะไปแตะเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ แต่ก็ไปแตะเรื่องคนเยอะเช่นเดียวกัน เพราะในที่สุดถ้าคนไม่ได้มีความรู้มากพอ เขาก็จะไปทำร้ายสิ่งแวดล้อมกันเพิ่มอยู่ดี ฉะนั้นเราก็ต้องดูกันทุกส่วนว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยดูแลโลกไปด้วยกัน

 

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากธุรกิจทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง 

ผลบวกในระยะยาวคือ ความฟุ่มเฟือยของเราจะเริ่มเบาลง เพราะคนก็จะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า การที่ฉันใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลาอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีต่อโลก สิ่งสำคัญคือ ภาพใหญ่ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตมันจะเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจของเราในทุกๆ วัน ว่าเราจะยอมเสียสละความสบายหรือความง่ายบางอย่างเพื่ออนาคตของลูกหลานหรือเปล่า 

 

แต่เรื่องแบบนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมันเป็นการที่เราต้องค่อยๆ เปลี่ยน Be a little bit better everyday ขอแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่นิดเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นว่าอยู่ดีๆ จะลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มองค์กรขนาดใหญ่ในครั้งเดียว เพราะการทำอย่างนั้นมันจะเหนื่อย และเราจะท้อใจอย่างรวดเร็ว 

 

อีกอย่างหนึ่งในยุคนี้คือ โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก แต่ว่าเราจะใช้มันในรูปแบบไหน เราจะใช้มันเพื่อกระจายข้อมูล ใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนรอบข้าง หรือเราใช้มันไปวันๆ แค่นั้นเอง 

 

ถ้าเป็นไปได้ แม้ว่าตัวคุณอาจจะยังรู้สึกว่าฉันยังไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งนี้ ก็เลยไม่อยากหรือไม่กล้าที่จะออกไปพูดกับคนอื่นว่ามันควรจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเห็นอะไรในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับความยั่งยืนที่น่าสนใจ เราก็แค่ช่วยแชร์ เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือใช้ของที่เป็นผลิตภัณฑ์ยั่งยืน แค่นี้ก็เป็นการจุดประกายให้คนอื่นได้มากขึ้นแล้ว

 

Be a little bit better everyday ขอแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่นิดเดียวก็ได้ อนาคตที่ดีเกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจของเราในทุกๆ วัน ว่าจะยอมเสียสละความสะดวกสบายเพื่ออนาคตของลูกหลานหรือเปล่า 

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Art Director กริน วสุรัฐกร

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising