×

แพสชัน ปรับตัว ไม่หยุดนิ่ง และอีกหลายสิ่งที่ เคน นครินทร์ เรียนรู้จาก The Secret Sauce

26.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01.02 จุดร่วมคือแพสชัน  

09.56 การค้นพบตัวเองของ เคน นครินทร์

16.50 การทำมาร์เก็ตติ้งที่ประทับใจ

21.00 มองปัญหาไม่ใช่ปัญหา

24.10 ห้ามหยุดนิ่ง ปรับตัว ลองผิดลองถูก

34.50 การเป็นลูกน้องและหัวหน้า

ในโอกาสช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้ โปรดิวเซอร์ของรายการ The Secret Sauce นึกสนุกด้วยการชวน คุณเคน นครินทร์ โฮสต์ประจำรายการและบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD มาพูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้จากการทำรายการมาตลอด 17 Episode รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อคิดและประโยชน์ให้กับคุณผู้ฟังสำหรับการทำงานและการทำธุรกิจ

 

จุดร่วมสำคัญในการสร้างแบรนด์ของแขกรับเชิญรายการ The Secret Sauce

แขกรับเชิญทุกคนมีแพสชันในสิ่งที่เขาทำ อาจไม่ใช่สิ่งที่รัก แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วสนุกกับมัน อย่างคุณ โจ้ ธนา (Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์) ถึงแม้เขาจะไม่ได้มีแพสชันกับการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่เขามีแพสชันในการสร้างอะไรบางอย่าง อยากทำโปรเจกต์ใหม่ อยากลองท้าทายตัวเองดูว่าจะทำอะไรเพื่อองค์กรและสังคมได้บ้าง หรือบางคนที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำอย่างคุณ Vin Buddy ช่างภาพเวดดิ้งแถวหน้าของเมืองไทย เขารู้ตัวว่าชอบเก็บโมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิตของคน นั่นคือการแต่งงาน เขาก็ถ่ายมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีชื่อเสียง หรืออย่างคู่รักที่สร้างแบรนด์ Diamond Grains เป็นหนุ่มสาวที่มีแพสชันในการทำธุรกิจ เขาอาจไม่ใช่คนที่มีแพสชันว่าตัวเองรักสุขภาพ แต่เขามีแพสชันว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เมื่อมีโอกาสสร้างมัน เขาจึงรักโปรดักต์ตัวเองเหมือนลูก  

 

“ถ้าคุณอยากรู้ว่าแพสชันของตัวเองคืออะไร อาจเริ่มจากหาสิ่งที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกดีกับมันก็พอ ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าเราทำสิ่งนั้นแล้วไม่ได้เงินเลยยังจะทำอยู่ไหม”

 

อย่างตัวผมเองเป็นคนชอบเล่าเรื่อง ชอบเขียนหนังสือ ชอบที่จะได้ทำสื่อดีๆ คอนเทนต์ดีๆ ที่เราเชื่อว่ามันมีประโยชน์ สิ่งนี้แม้ว่าจะไม่ได้เงิน เราก็ยังมีความสุข มีคนเคยบอกว่าการมีแพสชันไม่ได้ทำให้เรารักในสิ่งที่ทำมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ว่าคุณจะเกลียดหรือเบื่อสิ่งที่ทำมากแค่ไหน คุณจะไม่มีวันล้มเลิกจากมัน ถ้าคุณมีแพสชันที่ใหญ่กว่าตัวคุณคอยยึดไว้อยู่ ยังไงคุณก็จะอยู่กับมันได้อีกนาน

 

วิธีค้นหาแพสชันของตัวเอง
ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับคุณบุ๋ม บุณย์ญานุช ผู้บริหาร Bar B Q Plaza เขาบอกว่า ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองมีแพสชันกับอะไรให้เริ่มจากลิสต์สิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ชอบคุยกับคนอื่น ชอบลงพื้นที่ ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว หรือแม้กระทั่งแค่ชอบใส่เสื้อยืด เราอาจหาสิ่งที่อยากทำเจอจากสิ่งเหล่านั้น หรือเราอาจมีทักษะบางอย่างที่เราเก่งกว่าคนอื่น เช่น เป็นคนตรงต่อเวลามาก เป็นคนที่ทุกคนชอบปรึกษา เราอาจเจอสิ่งที่ทำแล้วถนัดและมีความสุข


นอกจากนี้ลองมองหาสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น และทำแล้วมีประโยชน์กับคนอื่น ตัวผมเองนึกถึงเรื่องนี้ตอนที่มีโอกาสได้มาทำงานสื่อ เรารู้ว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากกับสังคม มากกว่าแค่การเขียนให้ดี มีคนกดไลก์กดแชร์มากมาย เราอยากสร้างประโยชน์กลับไปให้ประเทศชาติด้วย

 

ประทับใจการทำมาร์เก็ตติ้งของแบรนด์ไหน

หลายคนทำมาร์เก็ตติ้งโดยออกมาจากธรรมชาติของตัวเอง เขาย้อนกลับไปดูว่าจุดเด่นของแบรนด์คืออะไร หลายครั้งเป็นความจริงใจที่ตัวเจ้าของแบรนด์เองก็ยังไม่รู้ อย่าง BOYY เป็นแบรนด์กระเป๋าที่ไม่มีแผนกมาร์เก็ตติ้ง แต่สิ่งที่เขาทำคือการสร้างภาพลักษณ์ ให้ลูกค้าเชื่อในแบรนด์เสมอว่าเป็นแบรนด์ระดับโลก เขาจะไม่เอากระเป๋าไปวางขายชั้นเดียวกับแบรนด์ระดับธรรมดาเด็ดขาด และต้องเลือกวางขายในร้านมัลติแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดเท่านั้น หรืออย่างของสปา divana เขาสร้างเซอร์วิสในระดับสุดยอดให้เกิดการพูดปากต่อปาก ไม่ใช่ใส่ใจแค่ลูกค้า แต่รวมไปถึงคนขับรถ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

 

การมองปัญหาไม่ใช่ปัญหา

แขกรับเชิญทุกคนไม่เคยมีใครมองปัญหาว่าเป็นปัญหา เป็นวิธีคิดที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจหรืออยากเติบโตในสายงานตัวเอง ผมอยากให้มองว่าปัญหาคือส่วนหนึ่งของงาน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ ผมมักพูดเสมอว่าปัญหาไม่ใช่กำแพง มันคือสะพานนำไปสู่ความสำเร็จ แขกรับเชิญทุกคนเจอปัญหาจนเป็นเหมือนเพื่อนของมัน ถ้าพูดในแง่ของการออกแบบ ปัญหาทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เมื่อไรที่มีปัญหา คนมักสร้างสิ่งใหม่ที่มาแก้ไขและตอบโจทย์ความต้องการได้เสมอ

 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือวิธีการแก้ปัญหา สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับคน อย่างตัวผมเองจะเริ่มจัดการจากปัญหาใหญ่ที่สุด เร่งด่วนที่สุด ถ้าแก้อันนี้ไม่ได้ตายแน่ และอันอื่นค่อยๆ คลายต่อทีละปม บางปัญหาอาจไม่ต้องใช้เราแก้ แต่ให้มองหาคนที่เหมาะสม บางปัญหาเราอาจหามุมอื่นมามองและสร้างเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจได้

 

อีกสิ่งที่สำคัญของคนทำธุรกิจในปัจจุบันคือห้ามหยุดนิ่ง ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และต้องรู้จักปรับตัวให้เก่ง เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ เหมือนอย่างที่ คุณโจ้ ธนาเล่าว่า ถ้าธนาคารไม่ปรับตัว วันหนึ่งจะสูญพันธุ์ หรืออย่าง คุณชลากรณ์ Workpoint เป็นทีวีที่ปรับตัวเร็วที่สุด ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่โทรทัศน์องค์การเฉพาะกิจได้ดีลกีฬาใหญ่ขนาดนี้ เป็นคอนเทนต์ที่คนไทยดูเยอะ และเขาทดลองผ่านหลายแพลตฟอร์มเลย ทั้งทางไลน์ ทำบนยูทูบ ไลฟ์สด 24 ชั่วโมง

 

คำแนะนำสำหรับคนที่เป็นลูกน้องหรือพนักงาน

 

สิ่งที่หัวหน้าต้องการจากลูกน้องคือ ​
1. มีทัศนคติที่ดี อย่าง คุณปลา เจ้าของแบรนด์ iberry เขาเลือกคนจากทัศนคติก่อนเลย มันสำคัญว่าคนคนนั้นจะอยู่ในองค์กรได้หรือเปล่า เขามีทัศนคติที่เป็นบวกกับสิ่งที่ทำไหม ชอบมันจริงๆ ไหม สามารถทำงานหนักได้หรือเปล่า

 

2. เป็นคนขยัน ขยันเรียนรู้ ขยันในขอบเขตงานตัวเอง เด็กสมัยนี้อาจต้องการความสุขในการทำงาน โดยลืมไปว่าสิ่งที่เขาให้องค์กรมันอาจน้อยกว่าสิ่งที่องค์กรกำลังให้กลับไปเสียอีก อย่าคิดว่าตัวเองจะรักหรือไม่รักองค์กร แต่อยากให้คิดว่าองค์กรจะให้คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง ที่นี่จะทำให้คุณเก่งขึ้นยังไง

 

3. การให้คำสัญญาและทำได้จริง เช่น เรามอบหมายงานให้ลูกน้องส่งวันจันทร์ แต่วันศุกร์เขาก็สามารถส่งมาได้แล้ว สร้างความประทับใจให้หัวหน้า ดังนั้นถ้าคุณทำงานได้ดี รับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เวลาได้รับงานสามารถทำได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณจะทำให้หัวหน้าไว้ใจที่สุด นี่คือคนแบบที่หัวหน้ารัก และถ้ามีตำแหน่งงานว่าง หัวหน้าจะโปรโมตคนแบบนี้แหละ

 

หัวหน้าแบบไหนที่คิดว่าดีและตัวคุณเคนเองก็กำลังพยายามเป็นอยู่

ผมเป็นหัวหน้ามือใหม่ครับ อยู่ในช่วงเรียนรู้ แต่จากที่ได้คุยมาและพอจะแบ่งปันได้ ผมคิดว่าหัวหน้าเป็นเหมือนพ่อแม่นะ ถ้าคิดว่าหัวหน้าคือผู้นำครอบครัว วิธีการบริหารลูกน้องก็จะเปลี่ยนไป

สิ่งที่สำคัญที่หัวหน้าควรมีสำหรับผมคือ


1. Vision พื้นฐานหัวหน้าต้องมีวิสัยทัศน์ให้คนตาม ถ้าคุณเป็น Boss ทำหน้าที่แบบหัวหน้า คุณก็เป็นได้แค่ตำแหน่ง แต่ถ้าคุณเปลี่ยนเป็นคำว่า Leader เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ตั้งใจหาความรู้ มองไปข้างหน้าว่าองค์กรจะเติบโตอย่างไร สร้างความมั่นใจให้ลูกน้อง

 

2. Delegate คนที่เป็นผู้นำควรจะมอบหมายงานได้ดี เรามีงานอยู่เยอะมาก ต้องดูทุกอย่าง แต่สิ่งที่จะแบ่งเบาภาระได้คือการแจกจ่ายงานให้ลูกน้องได้อย่างตรงจุด อย่างที่เขาบอกกันว่า Put the right man on the right job สิ่งนี้สำคัญมาก

 

3. รับผิดก่อนรับชอบ ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ตามเราต้องเป็นคนรับหน้าก่อนเสมอ เพราะถ้าเวลาคนชม คนก็มักจะชมเราก่อน ดังนั้นเวลาเกิดอะไรผิดพลาด เราก็ต้องซัพพอร์ตด้วยเหมือนกัน อย่าให้เขาผิดคนเดียว

 

4. รับฟัง มีความเห็นอกเห็นใจ รับฟังปัญหาลูกน้องเสมอ คอยดูว่าตอนนี้เขาเหนื่อยไปไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

 

ตั้งแต่ทำรายการ The Secret Sauce เราให้พื้นที่แบรนด์ต่างๆ ฝากผลงานมากมาย คราวนี้อยากให้คุณเคนฝาก THE STANDARD อย่างปีหน้าเราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง

ในแง่ของการทำคอนเทนต์ เราอยากเป็นสำนักข่าวที่ทำเนื้อหาที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจผู้คน เป็นมิชชันที่มีมาตั้งแต่ต้นจนตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ แต่แผนในปีหน้าที่จะทำคือ THE STANDARD DAILY รายการเฟซบุ๊กไลฟ์ของ คุณต๊ะ พิภู เป็นรายการวิเคราะห์ข่าวคนเมืองที่มีสาระไม่ดราม่า นำเสนอให้เข้าใจง่าย เริ่มต้นวันที่ 15 มกราคม 2561 ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์

 

อย่างที่สองคือเราจะมีแพลตฟอร์มในการติดต่อสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เรามีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ทูเดย์ และแมกกาซีน แต่ในปีหน้าเราจะมีอีเมล เป็น Newsletter และ LINE Official Account นำเสนอข้อมูลข่าวสารส่งให้คุณถึงมือเลย

 

สุดท้ายเป็นความตั้งใจของตัวผมเอง ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เราทำคอนเทนต์แบบออนไลน์และแมกกาซีน เป็นการสื่อสารทางเดียวมาโดยตลอด แต่ผมเชื่อว่าโลกดิจิทัลจะไปขนาดไหน ยังไงเรายังต้องเจอหน้ากัน ผมอยากเจอหน้าคนอ่านบ้าง อยากจัดอีเวนต์ให้ได้มาเจอกัน เป็นงานแบบ THE STANDARD คือมีสาระแต่ไม่เครียดจนเกินไป อย่างไรฝากติดตามกันด้วยครับ

 


 

Credits
Show Creator
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising