×

ไวน์ นารี และบทเพลง วลีนิยามวิถีของผู้ชายจากยุคโรมัน

04.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ‘Wine, women and songs’ หรือแปลกันโต้งๆ ว่า ‘ไวน์ ผู้หญิง และบทเพลง’ คือการนิยามไลฟ์สไตล์ของเพศชายที่พวกเขามักจะรื่นรมย์กับไวน์ มีผู้หญิงรายล้อม และได้ยินเสียงบทเพลงขับกล่อมไปพลาง มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยโรมัน
  • ประเทศไทยเองก็มีการนำเข้าวลีดังกล่าวเข้ามาแปลและใช้กัน แต่ในสำนวนไทยนั้นจะแปลแตกต่างกันไป ได้ความว่า ‘สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร’ อันหมายถึง 4 อบายมุขที่ทำให้ชีวิตพินาศ

“อันชายใดที่ไม่หลงใหลในไวน์ นารี และบทเพลง พวกเขาคือคนผู้โง่เขลาไปชั่วกาล”

 

นี่คือวลีจากปีคริสต์ศักราช 1837 อันเป็นถ้อยความที่ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลมาจากข้อความภาษาเยอรมันอีกทอด ซึ่งหากได้ยินใครพูดประโยคดังกล่าวในตอนนี้ หลายๆ คนคงเบือนหน้าหนี เพราะว่าทั้งดูเชยและหลงยุคเสียเหลือเกิน ไหนจะทั้งการเหมารวมเรื่องเพศ หรือการแสดงออกถึงแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ และการมองเห็นผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณรู้หรือไม่ว่าวลี ‘Wine, woman and songs’ นั้นซ่อนตัวอยู่ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมาช้านานตั้งแต่ยุคโรมัน และวลีดังกล่าวก็ยังคงเป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์ผู้ชายทั่วโลกอยู่เสมอเช่นกัน

 

Photo: AKG/ALBUM National Geographic

 

วลี ‘Wine, women and songs’ หรือแปลกันโต้งๆ ว่า ‘ไวน์ ผู้หญิง และบทเพลง’ คือการนิยามไลฟ์สไตล์ของเพศชายที่พวกเขามักจะรื่นรมย์กับไวน์ มีผู้หญิงรายล้อม และได้ยินบทเพลงขับกล่อมไปพลาง ซึ่งหากค้นหาจุดเริ่มต้นของวลีดังกล่าวคงต้องย้อนกลับไปในสมัยโรมัน ในสังคมที่ใครต่างก็รู้ว่ายึดถือการปกครองแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ส่วนผู้หญิงก็เป็นเพียงไม้ประดับที่สรรสร้างความสวยงามให้กับโลกของพวกเขา กิจกรรมหนึ่งที่ชายหนุ่มมักจะทำกันเพื่อสรรหาความอภิรมย์ให้แก่ชีวิตก็คือการนัดหมู่มวลเพื่อนฝูงมารับประทานมื้อค่ำและดื่มไวน์ด้วยกัน (เหมือนนัดเพื่อนมาดื่มที่บ้านนั่นแหละ) พวกเขาจะนั่งดื่มกันจนดึกดื่นหลังจากเสร็จสิ้นมื้อค่ำ ซึ่งกิจกรรมที่เหล่าชายผู้ฉลาดปราดเปรื่องกระทำร่วมกันนั้นมีตั้งแต่นั่งพูดคุยเรื่องปริศนา หรืออาจจะเล่นวาดภาพล้อเลียนซึ่งกันและกัน และในช่วงหนึ่งของกิจกรรมคือการ ‘ร้องเพลง’ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เจ้าบ้านและแขกจะต้องร่วมบรรเลงเสียงร้อง โดยจะเป็นบทเพลงขนาดสั้นๆ ที่เล่าเกี่ยวกับมิตรภาพของเพื่อนฝูง บ้างก็อาจจะเป็นเพลงที่สรรเสริญรสชาติล้ำเลิศของไวน์ โดยจะร่ำร้องไปพร้อมกับสาวๆ ที่จะมาเล่นพิณหรือขลุ่ยในสภาพกึ่งเปลือยให้ฟังเพื่อให้ชายหนุ่มพึงใจในเรือนร่างพวกเธอไปขณะปาร์ตี้อีกด้วย

 

 

ส่วนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 เอง ความหมายของวลีดังกล่าวก็แทบจะไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไรนัก เพราะการที่ผู้ชายออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จิบไวน์ และเกี้ยวพาราสีหญิงสาวเองก็เป็นกิจกรรมยอดฮิตที่นอกจากจะแสดงถึงลักษณะของสังคมที่ชายเป็นใหญ่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงฐานะ รสนิยม และไลฟ์สไตล์ของพวกเขาอีกด้วย

 

ลักษณะไลฟ์สไตล์แบบที่มีเครื่องดื่มไวน์แสนเก๋ มีผู้หญิงแสนสวย และบทเพลงรื่นหูนี้ถูกทำให้แพร่หลายโดยสื่อในวัฒนธรรมหลักต่างๆ อาทิ วง Bee Gees เองก็เคยนำวลีดังกล่าวไปแต่งเป็นเพลง Wine and Woman โดยมีเนื้อเพลงในช่วงต้นอันแสนเจ็บปวดว่า ‘Wine and women and song will only make me sad’ หรือ ‘มีเพียงไวน์ ผู้หญิง และบทเพลงเท่านั้นที่ทำให้ฉันเศร้าได้’

 

หรือแม้กระทั่งการนำวลีดังกล่าวไปดัดแปลงเป็นรูปแบบ ‘คำ 3 พยางค์’ จนเกิดสิ่งใหม่ เช่น ในปี 2012 บทเพลง Rest of My Life ของ Ludacris เองก็มีการดัดแปลงวลีดังกล่าวลงไปในเนื้อเพลงจนกลายเป็นคำใหม่อย่าง ‘Women, weed and alcohol’ หรืออย่างเพลง Sex & Drugs & Rock & Roll ของเอียน ดูรี ศิลปินร็อกแอนด์โรลเชื้อสายอังกฤษเองก็นำวลีดังกล่าวมาดัดแปลงจนกลายเพลงที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ของผู้ชายที่ต่างยุคกันออกไป

 

หน้าปกอัลบั้ม Wine, Women and Song ของศิลปิน เบน โคลเดอร์ ออกวางขายในปี 1967

 

ในบริบทไทยๆ เราก็มีการนำเข้าวลีดังกล่าวเข้ามาแปลและใช้กัน ซึ่งก็ยังคงคอนเซปต์ความหมายคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ‘Wine, women and songs’ คือสิ่งที่ผู้ชายส่วนมากชอบ เป็นสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจแก่ผู้ชาย แต่ในสำนวนไทยนั้นจะแปลแตกต่างกันไป ได้ความว่า ‘สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร’ ซึ่งแทนที่จะกล่าวถึงบริบทของไลฟ์สไตล์ผู้ชาย แต่ผู้แปลชาวไทยกลับมองว่า 4 คำดังกล่าวเป็นอบายมุขหรือสิ่งที่ไม่ดี พร้อมทั้งยังตัดส่วนของคำว่า ‘songs’ ออกไปด้วย ซึ่งคำทั้งสี่ ได้แก่ เหล้า ผู้หญิง (ซึ่งมักเจาะจงถึงผู้หญิงไม่ดี) พาชี (ม้าแข่ง) และกีฬาบัตร (การพนันจำพวกไพ่) อันเป็นต้นเหตุแห่งความพินาศวายวอดของผู้ชาย เพราะฉะนั้นหากชายใดชื่นชอบครบทั้ง 4 อย่างนี้ก็จะถูกเรียกว่าเป็นนักเลงเต็มตัว

 

คำนิยามดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ มิตรสภา เมื่อพุทธศักราช 2450 ที่ฟังดูแล้วดูเหมือนว่าบ้านเราจะนำเข้าวลีดังกล่าวมาแบบไม่ถูกทั้งหมด เพราะไลฟ์สไตล์ดังว่าถูกทำให้เป็นภาพลบเมื่อเข้ามาในประเทศไทย อาจจะเป็นเพราะด้วยเงื่อนไขของสังคม ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเครื่องดื่มแอลกฮอลล์และการรื่นเริงนารีจะกลายเป็นสิ่งผิดศีลตามบริบทของศาสนาพุทธ แถมยังแสดงออกถึงภาวะสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เมื่อพวกเขายังผลักผู้หญิงให้เป็นรองเสมอ แถมในความหมายแบบไทยๆ พวกเขายังนิยามผู้หญิงว่าเป็นอบายมุขของผู้ชายอีกนี่สิ!

 

Photo: Giphy

 

ในวันที่เส้นแบ่งและเงื่อนไขต่างๆ ของเพศกำลังค่อยๆ เลือนรางหายไป บางทีวลีดังกล่าวอาจเปลี่ยนเป็น ‘Wine, Men and Song’ และหากจะถูกเอื้อนเอ่ยจากปากผู้หญิงก็ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ คุณว่าจริงไหม?

 

ว่าแล้วหาไวน์รสชาติเลิศๆ ดื่มสักขวดแล้วมาดวลกันสักหน่อยดีกว่าไหมหนุ่มๆ

 

อ่านเรื่องผู้ชายห่วยๆ และไวน์ในหนังเรื่อง Sideways ส่งผลกระทบสู่เศรษฐกิจและไร่องุ่นได้อย่างไรได้ที่นี่

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising