×

เปิดมุมมองผู้บริหารธุรกิจรายใหญ่ ปี 2024 กังวลเศรษฐกิจ-คนไม่มีกำลังซื้อ จับตาเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วยกระตุ้นครึ่งปีหลัง

04.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • เสียงสะท้อนจากธุรกิจรายใหญ่ ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แฟชั่น เครื่องสำอาง และร้านอาหาร เริ่มต้นปี 2024 กังวลปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังไม่มีทีท่าดีขึ้น แถมการแข่งขันโดยเฉพาะการอัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมรุนแรงขึ้น
  • ชี้ชัดนโยบายภาครัฐ อัตราดอกเบี้ย ค่าครองชีพสูง ทำคนขาดความเชื่อมั่น-ระมัดระวังการใช้จ่าย พร้อมตั้งหน้าตั้งตารอเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่เว้นแม้แต่ผลพวงสงครามต่างประเทศที่ลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต้องประเมินสถานการณ์ต้นทุน พร้อมปรับงบการตลาดทุกไตรมาส

เปิดศักราชใหม่ปี 2024 บรรดาธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัว แน่นอนว่าทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเงินดิจิทัลที่คาดการณ์ว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายมากขึ้น 

 

จับตานโยบายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ 

 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กำลังซื้อลดลงอยู่แล้ว แต่ต้องรอดูความเคลื่อนไหวของรัฐบาลว่าจะมีการอัดงบประมาณเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในรูปแบบไหน โดยเฉพาะนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสามารถช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้มากหรือน้อย รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในแง่ของธุรกิจเราต้องวางแผนรับมือพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์

 

อีกปัจจัยที่น่ากังวลคือปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามอิสราเอล-ฮามาส ความยืดเยื้อของรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ในส่วนของโรงงานมาม่า เราได้ซื้อแป้งสาลีและน้ำมันเพียงพอที่จะใช้ไปจนถึงกลางปีแล้ว

 

ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังต้องรอดูสถานการณ์ต้นทุนอีกครั้ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมูลค่า 20,000 ล้านบาท ปี 2024 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ถือว่ากลับมาเติบโตในภาวะปกติ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีความผันผวน ทั้งเรื่องการปรับราคาและมีน้ำท่วม ขณะที่ยอดขายก็จะเติบโตเช่นกัน และจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว 

 

ดังนั้นจะได้เห็นสินค้าออกมาจัดโปรโมชันและแคมเปญใหม่ๆ ก็จะเป็นจังหวะที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ส่วน ‘มาม่า’ในช่วงต้นปี เตรียมเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 รสชาติ เพื่อกระตุ้นและสร้างสีสันในตลาด 

 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’

 

หันโฟกัสตลาดแมส รับมือกำลังซื้อซบเซา

 

เช่นเดียวกับ วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ต่อไปว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว หลักๆ น่าจะมาจากรัฐบาลยังไม่มีงบเข้ามาในระบบ ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมายังพอมีเม็ดเงินจากรัฐบาลเข้าช่วยหนุนการจับจ่าย

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้คนที่เสพสื่อจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ทุกคนก็จะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี แล้วก็มาระมัดระวังการใช้เงิน โดยเฉพาะคนรากหญ้าในต่างจังหวัด เมื่อก่อนจะรอเงินจากรัฐบาล พอไม่ได้ก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และที่เห็นได้ชัดคือหลายคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะออกมาในรูปแบบไหนก็ต้องรอดูฝั่งรัฐบาล

 

วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP

 

สำหรับศรีนานาพรมีการปรับแผนธุรกิจค่อนข้างมาก ก่อนหน้านี้เน้นจับกลุ่มแมสพรีเมียม แต่เมื่อเราเห็นทิศทางกำลังซื้อแล้ว ในปี 2024 จะเริ่มมาโฟกัสเพิ่มไลน์สินค้าทั้งแบรนด์เจเล่ บิวตี้, เบนโตะ และโลตัส ขาไก่ ไปในตลาดแมสมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงที่มีอยู่รอบด้าน 

 

การแข่งขันดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะการอัดโปรโมชันลดแลกแจกแถม

 

เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

ด้าน เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประเมินถึงภาพตลาดค้าปลีกในไทย มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อ อย่างมาตรการ Easy e-Receipt ที่รัฐบาลสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ

 

ถึงกระนั้นการแข่งขันจะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดแคมเปญ โปรโมชันลดแลกแจกแถม โดยแม็คกรุ๊ปในปี 2024 เตรียมเสนอคอลเล็กชันใหม่ๆ ทั้งกางเกงยีนส์และสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่ธุรกิจต้องจับตาดูคือเรื่องทุนที่สูงขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการท้าทายความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีก

 

ขณะเดียวกัน รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด แสดงความเห็นเรื่องนี้กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าความงามเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ต้องยอมรับว่าการแข่งขันค่อนข้างสูงและรุนแรง ทั้งจากแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งศรีจันทร์เรามองทั้งโอกาสและความเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการทำแบรนด์ดิ้งมีความสำคัญมาก

 

รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด

 

ไม่เว้นแม้แต่การบริหารจัดการต้นทุน ตั้งแต่โควิดเราเริ่มเห็นว่าต้นทุนสินค้ามันมีความเปราะบางมาก ซึ่งทำให้การบริหารจัดการต้นทุนยากขึ้น เนื่องจากสินค้าหลายอย่างไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้ เพราะฉะนั้นจะทำให้กำไรลดลง

 

และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง ESG ที่ผ่านมาอยู่ในโหมดการขอความร่วมมือ แต่ตอนนี้จะมีกฎหมายเข้ามาเป็นแรงส่งให้ทุกธุรกิจต้องปรับโมเดลให้สอดคล้องกับ ESG ซึ่งจะกลายเป็น Agenda ใหญ่ที่สุด 

 

ร้านอาหารเร่งโกยยอดขายในไตรมาส 1 ให้ได้มากที่สุด 

 

เช่นเดียวกับ นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า ภาพรวมของปี 2024 ธุรกิจและนักการตลาดจะต้องมีความระมัดระวัง ทั้งการตั้งงบประมาณ และในส่วนของการดูแลบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงเรื่องการสร้างผลกำไร ทั้งหมดต้องบาลานซ์ยอดขายและยอดค่าใช้จ่ายให้ดี 

 

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

อีกทั้งในไตรมาส 1 ของทุกๆ ปี เป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว และเป็นโอกาสให้แบรนด์ร้านอาหารที่เน้นจับลูกค้าต่างชาติพยายามสร้างยอดขายให้ได้มากที่สุด 

 

ส่วนในครึ่งปีหลังจะต้องมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนเดอะ คอฟฟี่ คลับ เราตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งยอดขายในบางสาขาไม่เท่ากัน แต่เมื่อเฉลี่ยกันแล้วก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตสูงๆ เหมือนแต่ก่อน 

 

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อในประเทศจะค่อนข้างทรงและซึม ทั้งปัจจัยหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะประเทศจีนหรือสหรัฐอเมริกา และสงครามต่างๆ ที่จะกระทบการส่งออกของไทย 

 

สะท้อนให้เห็นว่าหลายคนจะแบกภาระเพิ่มขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ในช่วงที่ลูกค้ากำลังซื้อลดลงก็ต้องปรับตัวเพื่อสร้างความแตกต่างหรือจุดจดจำให้กับผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ามากขึ้น 

 

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

 

มอง 2 ปัจจัยที่อาจพลิกเกมการทำตลาด 

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากการประเมินกับคู่ค้าและนักการตลาด ผู้ประกอบการ ต้องยอมรับว่าปี 2024 ไม่ได้เป็นปีที่สดใส มีความต่อเนื่องจากปัจจัยลบที่ทับถมมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังซื้อที่หดตัวลง เพราะค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนสูง ไม่สามารถมีเงินทุนมาจับจ่ายใช้สอย

 

หากย้อนไปในไตรมาส 3-4 บรรยากาศการจับจ่ายดูเงียบกว่าที่ควรจะเป็น ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้จะยังคงอยู่ แต่ปัจจัยบวกที่อาจส่งผลได้ดีและอาจจะพลิกเกมเราได้ในปีนี้มี 2 เรื่องหลักๆ

 

  1. เรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถ้าผ่านมาใช้ในช่วงกลางปี จะเป็นตัวแปรให้ความคึกคักของเศรษฐกิจกลับมาได้ และนักการตลาดอาจจะเปลี่ยนเกมวางงบทำการตลาดเพื่อรองรับความคึกคัก ในเชิงผู้ประกอบการเรามองว่าปัจจัยนี้ยังพอลุ้นได้ 

 

  1. การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการท่องเที่ยว โดยภาพรวมจะดีขึ้น

 

ทั้งนี้ นัยการซื้อขายของค้าปลีกจะมีการเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นแบรนด์ดังทำการตลาดหนักหน่วงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising