×

THE STANDARD WEALTH ชวนย้อนรอยธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เข้าซื้อ-ควบรวมกิจการในปี 2566 ดีลไหนที่เรียกเสียงฮือฮาบ้าง?

02.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • THE STANDARD รวบรวมความเคลื่อนไหวของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เข้าซื้อและควบรวมกิจการ บางดีลนับเป็นที่จับตามองถึงการเปลี่ยนแปลงและทิศทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
  • ไล่มาตั้งแต่ TRUE-DTAC ดีลที่เรียกเสียงฮือฮาจนเกิดเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคในหลากหลายแง่มุม ตามด้วยการเข้าซื้อกิจการ ESSO ประเทศไทยของบางจาก ไม่เว้นแม้แต่ AIS ที่เข้าซื้อ 3BB ฝั่งร้านอาหาร ‘ไมเนอร์’ ซื้อกิจการแบรนด์ Sizzler ลุยขยายสาขาทั่วโลก รวมถึง LINE MAN Wongnai เข้าซื้อกิจการ FoodStory

หากจะกล่าวว่าปี 2566 เป็นช่วงเวลาที่บรรดาธุรกิจทั้งเล็ก-รายใหญ่ต้องรีบสปีดตัวเองเพื่อสร้างการเติบโตก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะการปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าเมื่อบริบททุกอย่างเปลี่ยนไปจะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การเข้าควบรวมและเข้าซื้อกิจการดูเหมือนจะกลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยไปแล้ว

 

THE STANDARD WEALTH พาย้อนรอยและได้รวบรวมความเคลื่อนไหวธุรกิจที่เข้าซื้อและควบรวมกิจการในปี 2566 ที่เรียกเสียงฮือฮาและความสนใจจากผู้คนอย่างมาก

 


 

TRUE-DTAC ดีลที่ถูกจับตามองมากที่สุดหลังควบรวมกิจการ

 

เริ่มจากหนึ่งดีลใหญ่ที่เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอย่างหนัก หลังจาก TRUE และ DTAC ที่จากเดิมนับว่าเป็นคู่แข่งกัน ได้ควบรวมเป็นบริษัทใหม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือนเต็ม โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566

 

กระทั่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา TRUE ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้ควบรวมบริษัทย่อย ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DTAC เข้าสู่บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) แล้ว โดยจดทะเบียนควบบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีผลให้ DTN หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล แต่ยังแยกการทำการตลาดเป็นสองแบรนด์ตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้

 

 

สิ่งที่หลายคนต่างจับตามองหลังจากควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากันแน่ แต่ถ้าหากเป็นไปตามเงื่อนไขการควบรวมกิจการที่ กสทช. กำหนด ซึ่งทั้งสองค่ายจะต้องลดค่าบริการลง 12% ใน 90 วัน แต่บริษัทแจ้งว่าได้ลดค่าบริการทั้งในแง่ของการโทรและอินเทอร์เน็ตลงแล้วถ้าเทียบกับช่วงก่อนการควบรวมธุรกิจ

 

ทั้งนี้ เป้าหมายของการควบรวมกิจการคือการเพิ่มขีดความสามารถเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงการขยาย 5G ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมจะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการผลักดันเทคโนโลยี 5G มาใช้ รวมทั้งวางรากฐานในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

 

พร้อมยังย้ำไปถึงผู้บริโภคที่กังวลเรื่องราคาค่าบริการและคุณภาพการบริการจะมีประสิทธิภาพและเข้าถึงง่าย โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับและดูแลตามกฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐ

 

AIS เข้าซื้อ 3BB เดินหน้าขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ

 

เช่นเดียวกับบริษัท แอดวานซ์ เน็ตเวิร์ค อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เจ้าของแบรนด์ AIS เข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ด้วยเงินลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท จากนั้น AIS มีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการ 3BB

 

ภายหลังที่ กสทช. อนุญาตให้สามารถควบรวมกิจการได้ AIS ก็มีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ต่างจังหวัด และด้วยความที่ AIS เป็นเจ้าตลาดในหัวเมืองใหญ่ ส่วน 3BB มีความเก่งในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งบริษัทก็มั่นใจว่าจะช่วยขยายบริการได้ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน ภายในต้นปี 2567

 

 

ตอนนี้ผู้ใช้งานเน็ตบ้านยังสามารถเลือกใช้บริการได้ทั้งจาก AIS Fibre และ 3BB แน่นอนว่าได้เกิดข้อถกเถียงในกลุ่มผู้บริโภคที่กังวลถึงผลกระทบด้านราคาและคุณภาพบริการที่อาจต้องจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านแพงขึ้น แต่ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS ก็ยืนยันว่าบริษัทจะยังคงราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ต่ำที่สุดไว้ที่ 499 บาทต่อเดือน และผู้ใช้งานสามารถเลือกแพ็กเกจและราคาได้ตามการใช้งาน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการซื้อเข้าซื้อ 3BB จะส่งผลให้ธุรกิจบรอดแบนด์มีผู้เล่นรายใหญ่ลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 ราย ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ลดลงด้วยเช่นกัน

 

ดีลประวัติศาสตร์ บางจากเข้าซื้อกิจการ ESSO

 

อีกหนึ่งดีลประวัติศาสตร์คงหนีไม่พ้นบางจากเข้าซื้อกิจการ ESSO ด้วยมูลค่า 5.55 หมื่นล้านบาท โดยบางจากมั่นใจว่าดีลดังกล่าวจะช่วยหนุนกำลังผลิตน้ำมันขึ้นเบอร์ 1 ของไทย จนแตะ 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน จากนั้นได้ทยอยรีแบรนด์เปลี่ยนปั๊มน้ำมัน ESSO ที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นปั๊มน้ำมันแบรนด์ของบางจากให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

 

จริงๆ แล้วดีลการซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) นั้นถือเป็นการลงทุนที่อยู่ในแผนของบริษัทบางจาก ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนบริษัทได้กำหนดแผนธุรกิจภายใน โดยต้องการจะลงทุนโรงกลั่นเพิ่มเป็นที่ 2 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

 

 

โดยในช่วงที่ผ่านมามีโรงกลั่นเข้ามาเสนอขายจำนวนประมาณ 3 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ESSO ซึ่งสามารถบรรลุข้อตกลงได้เร็วกว่าผู้ขายรายอื่น

 

ที่สำคัญหลังการเข้าซื้อกิจการ ESSO จะเห็นการสร้างประโยชน์ร่วม (Synergy) ทางธุรกิจทันที เพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนโดยรวมลดลงได้ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ มาจากความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหาน้ำมันดิบ การใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้นในการบริหารจัดการ

 

‘ไมเนอร์’ ซื้อกิจการแบรนด์ Sizzler ลุยขยายสาขาทั่วโลก

 

มาดูที่ฝั่งธุรกิจร้านอาหารอย่าง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT หลังจากให้บริษัทย่อย MFG International Holding (Singapore) Pte. Ltd. เข้าซื้อหุ้นบริษัท Singco Trading Pte. Ltd. สัดส่วน 100% ด้วยมูลค่า 546 ล้านบาท

 

หลังจากเข้าซื้อแบรนด์ Sizzler ไมเนอร์จะได้ประโยชน์จากรายได้ค่าลิขสิทธิ์ต่อปีที่มีอยู่ที่ 3.5-4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราวๆ 91-104 ล้านบาท และผลกำไรเต็มจำนวนโดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์จากการดำเนินงานในประเทศไทย

 

 

ก่อนหน้านี้ ดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของไมเนอร์เคยกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่ามีเป้าหมายจะขยายสาขาร้าน Sizzler มากถึง 200-300 สาขาภายใน 5 ปีต่อจากนี้

 

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความเชี่ยวชาญของการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไมเนอร์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีร้านอาหารกว่า 2,500 สาขา ใน 24 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทยเอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, คอฟฟี่เจอนี่ และกาก้า ด้วยความแข็งแกร่งทั้งหมดนี้จะช่วยต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตของของ Sizzler ได้อย่างรวดเร็ว

 

LINE MAN Wongnai ซื้อกิจการ FoodStory

 

เสริมทัพระบบพัฒนาโซลูชันร้านอาหารไม่เว้นแม้แต่ LINE MAN Wongnai ได้เข้าซื้อกิจการ FoodStory สตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบ POS ร้านอาหาร จากเดิมแล้ว LINE MAN Wongnai นั้นมีผลิตภัณฑ์ Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและมีลูกค้าใช้งานแล้วกว่า 50,000 ร้าน

 

 

โดย เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Lifestyle & Solution Services LINE MAN Wongnai มั่นใจว่าการได้ FoodStory ที่มีจุดแข็งในการพัฒนาระบบ POS ร้านอาหาร จะทำให้สามารถพัฒนาโซลูชันสำหรับร้านอาหารให้ครอบคลุมตลาดร้านอาหารในไทยได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่าครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาด POS ในไทยตอนนี้

 

สำหรับ FoodStory เป็นสตาร์ทอัพพัฒนาระบบ POS ที่ให้บริการมากว่า 11 ปี อยู่ภายใต้การบริหารโดยบริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด และได้รับการระดมทุนรอบ Series B จาก Beacon VC บริษัทการเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ JWD Group

 

เวิร์คพอยท์เข้ามาถือหุ้น 49% ด้วยมูลค่า 216 ล้านบาทใน ‘โคตรคูล’

 

อีกหนึ่งในข่าวที่เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ของไทยคือการที่บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้ให้บริษัทย่อยเข้าถือหุ้น 49% ด้วยวงเงินไม่เกิน 216 ล้านบาท ในบริษัท โคตรคูล จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตและออกอากาศรายการผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นหลัก

 

เหตุผลที่ทำให้ผู้คนสนใจเป็นอย่างมากเพราะโคตรคูลคือบริษัทที่ก่อตั้งและถือหุ้น 100% โดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ศิลปินที่มีเอกลักษณ์ติดตัวคือความขี้เล่น ประกอบกับมุกตลก และเสียงร้องเพราะๆ ที่หลายคนชื่นชอบ

 

 

จากศิลปินที่ครั้งหนึ่งเกือบจะหันหลังให้กับวงการ จนมาปั้นบริษัทที่วันนี้มีมูลค่าหลักร้อยล้าน ซึ่งแม้แต่เวิร์คพอยท์ หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการสนใจเข้ามาถือหุ้น ทำไมต้องเป็นเวิร์คพอยท์ และหลังจากนี้ความเป็นโคตรคูลจะเปลี่ยนไปหรือไม่ นี่คือคำถามหลักที่ THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ โอ๊ต ปราโมทย์

 

โอ๊ต ปราโมทย์ เล่าว่า โคตรคูลก่อตั้งมาได้ 6 ปีแล้ว โดยมีช่องหลักใน YouTube อย่าง ‘โคตรคูล’ ที่มีผู้ติดตาม 3.03 ล้าน ทำ 6-7 รายการ และ ‘โคตรคูล LIVE’ มีผู้ติดตาม 2.69 แสนคน ทำอยู่ 4 รายการด้วยกัน

 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้โคตรคูลถูกทาบทามในการลงทุนธุรกิจมาจากการติด 1 ใน 50 สุดยอดองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่จากการสำรวจของ WorkVenture ทำให้มีผู้สนใจอยากเข้ามาร่วมทุนไม่น้อยกว่า 10 ราย

 

“ตอนที่เราเริ่มทำเราไม่มีความฝันเลย โดยเริ่มจากพนักงาน 1-2 คน ทำแบบมวยวัดเลย ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจ มีแต่อยากทำคอนเทนต์ที่เราอยากทำ” โอ๊ตเล่า “จนวันหนึ่งเราเดินเข้าออฟฟิศแล้วพบว่าเราจำชื่อพนักงานบางคนไม่ได้เพราะมีทั้งหมด 50 คนแล้ว เลยมองว่าองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็น Pain Point ที่ต้องรีบแก้”

 

เหตุที่บอกว่าเป็น Pain Point เพราะโอ๊ตยังต้องรับหน้าที่ส่วนใหญ่ในการบริการ ไล่ตั้งแต่การเป็น HR รวมไปถึงเรื่องต่างๆ ขณะที่บัญชียังต้องใช้บริษัทนอกทำ ดังนั้นจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับองค์กร เพื่อทำให้เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแรงและยั่งยืน

 

“ที่เลือกเวิร์คพอยท์เพราะนอกจากได้มีโอกาสทำงานร่วมกันหลายครั้งแล้ว ยังได้ปรึกษากับพี่กร (ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล เวิร์คพอยท์) ในหลายๆ เรื่อง จึงมองว่าเวิร์คพอยท์นี่แหละที่เหมาะจะมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน”

 

ตามเอกสารที่แจ้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ เวิร์คพอยท์ระบุว่า การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจรายการต่างๆ ในช่องทางออนไลน์ และเพิ่มความหลากหลายของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

 

ไม่แปลกที่เวิร์คพอยท์จะมองอย่างนั้น เพราะแม้วันนี้เม็ดเงินโฆษณาหลักๆ จะยังอยู่ที่สื่อทีวีที่คิดเป็นตัวเลขนับหมื่นล้านบาท แต่ในอนาคตถูกมองว่าเม็ดเงินส่วนนี้กำลังจะลดน้อยลงไปเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และการเข้ามาของสื่อดิจิทัล

 

โอ๊ต ปราโมทย์ ย้ำว่า แม้เวิร์คพอยท์จะเข้ามาถือหุ้น แต่ DNA ของโคตรคูลจะยังไม่เปลี่ยนแปลง “เพราะผมยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และทางเวิร์คพอยท์ก็ไม่ได้ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยในเรื่องของการวางแผนธุรกิจในด้านต่างๆ ต่อไป”

 

“พร้อมไหมสำหรับภารกิจแห่งจักรวาล” JKN เข้าซื้อผู้จัดประกวด Miss Universe

 

“พร้อมไหมสำหรับภารกิจแห่งจักรวาล” เป็นวลีที่ผู้คนโดยเฉพาะในแวดวงนางงามมักพูดถึงหลังจากที่ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ได้ใช้เงินราว 500 กว่าล้านบาทในการเข้าซื้อ Miss Universe Organization (MUO) องค์กรนางงามจักรวาลที่ถือเป็นองค์กรระดับโลกที่มีมายาวนานกว่า 71 ปี

 

“บริษัทฯ มีแผนนำแบรนด์ Miss Universe มาช่วยต่อยอดเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวในอนาคตอีกด้วย” จักรพงษ์กล่าวในเวลานั้น

 

 

บล.หยวนต้า เผยบทวิเคราะห์ที่ระบุถึงมุมมองเป็นบวกต่อดีลเข้าซื้อกิจการของ MUO ซึ่งหากดีลสำเร็จจะเกิด Synergy ทางธุรกิจกับบริษัทเดิม โดยเฉพาะธุรกิจขายสินค้า ซึ่งมีแผนนำแบรนด์ Miss Universe มาช่วยต่อยอดเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธุรกิจคอมเมิร์ซ

 

ขณะที่จะมีรายได้จากธุรกิจ MUO อีกหลากหลายช่องทาง เช่น รายได้จากการอนุญาตสิทธิ์ให้แต่ละประเทศจัดประกวดนางงามและให้ประเทศต่างๆ เป็นเจ้าภาพ รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด รายได้จากผู้สนับสนุนหลัก รายได้จากการจำหน่ายหรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าแบรนด์ และรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวด

 

หากดีลทันในปี 2566 JKN จะรับรู้รายได้ 160 ล้านบาท และปี 2567 จะมีรายได้ 800-1,200 ล้านบาท หรือเพิ่มรายได้ราว 40-60% จากเดิมและจากการประเมินว่าหากกำไรจากธุรกิจ MUO เป็นไปตามเป้าจะเพิ่มฐานกำไรกว่าเท่าตัวจากปัจจุบันที่ระดับ 200 ล้านบาท เป็นประมาณ 400-500 ล้านบาทด้วยกัน

 

แม้จะวางแผนไว้สวยหรูสำหรับการได้ Miss Universe เข้ามาเสริมพอร์ต ทว่าปัญหาทางการเงินทำให้หนทางเดินของ JKN ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดจนสุดท้าย 9 พฤศจิกายน ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม)

 

จักรพงษ์กล่าวในการแถลงแผนและแนวทางการฟื้นฟูกิจการว่า ยืนยันว่าที่บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการนั้นเพื่อเป็นการดูแลทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และได้รับเงินคืน รวมถึงเพื่อให้บริษัทสามารถทำงานหาเงินมาชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ได้

 

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าในการดำเนินธุรกิจและลงทุนในธุรกิจคอนเทนต์ที่มีทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) เป็นการลงทุนที่ปกติไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับการลงทุนของบริษัทธุรกิจคอนเทนต์ระดับโลก เช่น วอร์เนอร์บราเธอส์, วอลต์ ดิสนีย์, พาราเมาต์ พิกเจอส์ และยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกับบริษัท

 

“ขอโอกาสและความร่วมมือให้ทุกท่านให้เวลาและความเชื่อมั่นกับพวกเราในการเดินหน้าทำงานเพื่อคืนเงินให้กับพวกท่านอย่างยุติธรรม”

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมาบริษัทมีการลงทุนในธุรกิจคอนเทนต์มูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,950 ล้านบาท ตัดจำหน่ายไปแล้วมูลค่า 6,581.02 ล้านบาท มีมูลค่าคงเหลือ 6,277 ล้านบาท มีกำหนดการใช้งานเป็นระยะเวลา 11 ปี

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตามองคือ JKN จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเมื่อไร

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่หยุดนิ่งของวงการธุรกิจ ปี 2566 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความสามารถในการปรับตัวและการสร้างนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญที่ธุรกิจทุกขนาดต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมหรือการซื้อกิจการ ซึ่งกลายเป็นเทรนด์หลักที่สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนในปีนี้ การเข้าใจและการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับธุรกิจในประเทศไทยในอนาคต พวกเรา THE STANDARD WEALTH จะคอยติดตามและนำเสนอความเคลื่อนไหวเหล่านี้ พร้อมทั้งวิเคราะห์และให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อที่ว่าท่านผู้อ่านจะได้ไม่พลาดทุกแง่มุมสำคัญของโลกธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง

 


THE STANDARD WEALTH NOW AND NEXT 2024

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising