×

สงครามแย่งชิงตำแหน่ง ‘เจ้าตลาด’ AI ในปี 2024 จะดำเนินต่อไปอย่างไร ท่ามกลางการห้ำหั่นอันดุเดือดของบิ๊กเทคตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา

01.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การเปิดตัวของ ChatGPT ต่อสาธารณชนในปลายปี 2022 สร้างให้เกิดการตื่นตัวกับบริษัทบิ๊กเทคหลายแห่งที่ต้องวิ่งเต้นและเร่งเครื่องเพื่อดันให้ตัวเองเข้ามีบทบาทอยู่ในสังเวียน AI ด้วยเช่นกัน
  • ต้นปี 2023 Microsoft ได้ลงทุนใน OpenAI มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำนวัตกรรมของ ChatGPT เข้ามาผนวกกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
  • Satya Nadella ใจชื้นถึงขั้นออกมาพูดว่า “ผมอยากให้โลกรู้ว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นนั้นทำให้ผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดถึงกับต้องวิ่งเต้น” จากความสำเร็จที่ Copilot เป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในบรรดาเครื่องมือเสิร์ชเอนจินที่ถูก Google ครองตลาดมานาน
  • Gemini สร้างมาตรฐานใหม่โชว์เหนือ หลังจากที่ทำคะแนนสูงกว่ามนุษย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบ MMLU (Massive Multitask Language Understanding) 
  • ‘ความไม่มั่นคงในโครงสร้างของบริษัท’ คือบทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้าน OpenAI ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถสร้างผลกระทบเชิงลบในการทำงานและยังเป็นช่องว่างให้คู่แข่งก้าวล้ำไปข้างหน้าได้เร็วกว่าอีกด้วย

หากจะพูดถึงเทคโนโลยีแห่งปี 2023 คงไม่มีธีมไหนที่ร้อนแรงและเป็นที่ถูกพูดถึงมากไปกว่า AI อีกแล้ว เพราะตลอดช่วงเวลา 300 กว่าวันที่ผ่านมา ประเด็นในโลกของปัญญาประดิษฐ์เต็มไปด้วยพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอัตราที่ทำเอาหลายคนปรับตัวกันแทบไม่ทัน

 

เมื่อครั้งที่ ChatGPT ได้เปิดตัวต่อสาธารณชนในปลายปี 2022 ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างให้เกิดผลกระทบมากมายหลายด้าน ตั้งแต่การที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง AI ได้โดยแพลตฟอร์มมียอดผู้ใช้งานพุ่งแตะ 100 ล้านบัญชีในเวลาเพียง 2 เดือน สร้างให้เกิดการตื่นตัวของหน่วยงานกำกับดูแลจากภาครัฐ และแน่นอนว่าทำเอาบริษัทบิ๊กเทคหลายแห่งต้องวิ่งเต้นและจำเป็นต้องเร่งเครื่องเพื่อดันให้ตัวเองเข้ามีบทบาทอยู่ในสังเวียนนี้ด้วยเช่นกัน

 

ในปี 2023 เหล่าบิ๊กเทคทำอะไรไปบ้างเพื่อตอบโต้กับการมาของ ChatGPT และสงครามการแย่งชิงตำแหน่ง ‘เจ้าตลาด’ จะตกไปอยู่ในมือใคร หรือแนวความคิดการครองตลาดมันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และปี 2024 จะเป็นปีทอง AI ของใคร?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

สังเวียนของ 2 บิ๊กเทคฝั่งตะวันตกกับการแย่งชิงตลาด AI 

 

ช่วงต้นปี 2023 Microsoft ได้ลงทุนใน OpenAI มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำนวัตกรรมของ ChatGPT เข้ามาผนวกกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองโดยหนึ่งในนั้นคือ ‘Bing Chat’ หรือที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น ‘Copilot’ เรียบร้อยแล้ว

 

 

Copilot เป็นโปรแกรมค้นหาข้อมูลจากค่าย Microsoft ที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับมันได้ โดยประสบการณ์การใช้งานจะคล้ายกับ ChatGPT แต่พิเศษกว่า เนื่องจาก Copilot เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆ จึงมีความสดใหม่และอัปเดตกว่าเจ้าตัว ChatGPT ที่อาจยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

 

การขยับของครั้งนี้ของ Microsoft ทำให้ Copilot (Bing เดิม) เสิร์ชเอนจินอันดับ 2 ขยับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3% ตามรายงานสถิติที่เก็บโดย Statcounter ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้ยังถือเป็นสัดส่วนที่แทบจะเรียกได้ว่าถูกอันดับหนึ่งทิ้งห่างแบบ ‘ไม่ติดฝุ่น’ 

 

โดย Google ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 91% แต่ประเด็นนั้นไม่ใช่อยู่ที่ความห่าง หากแต่เป็นการที่ Copilot ถูกพูดถึงมากขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมตอนเป็น Bing ที่น้อยคนจะเอ่ยถึง สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนความสำเร็จก้าวแรกถึงขนาดที่ Satya Nadella ออกมาพูดในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ว่า “ผมอยากให้โลกรู้ว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นนั้นทำให้ผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดถึงกับต้องวิ่งเต้น”

 

ไม่นานหลังจาก Microsoft ประกาศจับมือกับ OpenAI บริษัทอย่าง Google จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปล่อยแชตบอตของตัวเองชื่อว่า ‘Bard’ เพื่อรักษาบัลลังก์เบอร์ 1 ของตัวเองให้คงอยู่ต่อไป แต่ในตอนแรก Bard กลับต้องเจอกับปัญหาความผิดพลาดในการให้ข้อมูลในระหว่างวิดีโอสาธิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของ Alphabet บริษัทแม่ Google หายวับไปจากตลาดกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลานั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป Google เริ่มหาจุดยืนของตัวเองเจอและสามารถตั้งตัวได้ โดยเดือนกันยายนบริษัทได้ประกาศว่า Bard ได้รองรับการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันต่างๆ ของ Google เช่น Google Maps, Google Flights หรือ YouTube ผ่านรูปแบบการใช้แบบ Extensions แล้วซึ่งจะขยายขอบเขตความสามารถการใช้งานได้ครอบคลุมมากขึ้น

 

 

จนในที่สุดปลายเดือนธันวาคม Google ได้ประกาศเปิดตัว Gemini ปัญญาประดิษฐ์ตัวล่าสุดที่ทางบริษัททดสอบและเคลมว่ามีศักยภาพเหนือกว่าทั้งในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เมื่อเทียบกับโมเดล GPT-4 ของค่าย OpenAI ที่ถูกใช้ใน ChatGPT และผลิตภัณฑ์ของ Microsoft

 

นอกจากนี้ Gemini ยังเป็นโมเดลแรกที่แสดงความสามารถได้เหนือกว่ามนุษย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบ MMLU (Massive Multitask Language Understanding) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไว้ใช้วัดความรู้และศักยภาพของโมเดล AI

 

ก่อนที่ Gemini จะเปิดตัว ดูเหมือนกับว่า Microsoft จะเป็นผู้นำในฝั่งของบริษัทบิ๊กเทคจากการเป็นพาร์ตเนอร์กับสตาร์ทอัพอย่าง OpenAI ที่ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้ แต่ Gemini กลายเป็นการตอบโต้ของ Google ที่น่าจะทำให้การแลกหมัดของ 2 บริษัทบิ๊กเทคเข้มข้นขึ้นไปอีก

 

“หากเรามองว่า Google เป็นบริษัทที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการทำกำไร มีหรือที่พวกเขาจะปล่อยให้ Bing แย่งส่วนแบ่งตลาดไปได้ เพราะฉะนั้นช่วงเวลา ‘พักผ่อนอย่างสบายใจ’ ของ Google สิ้นสุดลงตั้งแต่ Copilot ถูกปล่อยออกไปสู่สาธารณะแล้ว” Geoffrey Hinton ผู้ถูกขนานนามว่า ‘เจ้าพ่อ’ แห่ง AI และอดีตพนักงาน Google กล่าว

 

OpenAI, Meta และเจ้าอื่นๆ อยู่ตรงไหนของการแย่งชิงตลาดครั้งนี้?

 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เขย่าวงการ AI คือการถูกขับไล่ของ Sam Altman ออกจาก OpenAI ก่อนที่บริษัทจำต้องคืนตำแหน่งให้เขาจากความกดดันของพนักงานที่ขู่จะลาออกหาก Sam ไม่กลับมาทำงานที่บริษัท แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แต่บทเรียนสำคัญที่บริษัทในวงการต้องจดจำคือ ‘ความไม่มั่นคงในโครงสร้างของบริษัท’ สามารถนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่างๆ อีกทั้งยังเป็นช่องว่างให้คู่แข่งมีโอกาสในการก้าวล้ำไปข้างหน้าได้เร็วกว่าอีกด้วย

 

แผนเดิมที่ OpenAI ต้องการจะเปิดตัว GPT Store แพลตฟอร์มศูนย์รวมแชตบอตที่ใครก็ตามสามารถเผยแพร่ผลงานแชตบอตของตนให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ในปลายปีนี้ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นปีหน้าแทน ช้ากว่ากำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ตอนแรกเนื่องด้วยสาเหตุความอลหม่านภายในองค์กร

 

อย่างไรก็ตาม การหวนคืนของ Sam กลับสู่ OpenAI ดูจะทำให้ความวุ่นวายคลี่คลายลงและบริษัทก็สามารถเดินหน้าพัฒนา AI ต่อไปได้ ทั้งนี้การมาของ GPT Store ก็ทำให้นักวิเคราะห์บางคนมองว่า OpenAI อาจกำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกันด้วยกลยุทธ์ที่ Meta และ Apple ใช้ในการสร้างให้ตนกลายเป็นบริษัทบิ๊กเทค ที่ไม่เพียงแต่จะอยู่ในร่มเงาของ Microsoft แต่จะเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ด้าน AI ที่ขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์และระบบนิเวศของตัวเอง

 

สำหรับในฝั่งของบริษัทที่ AI อาจจะถูกพูดถึงน้อยหน่อยเมื่อเทียบกับ 3 บริษัทที่ถูกกล่าวถึงไปข้างต้น Meta ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่คลุกคลีกับ AI มานาน แต่ทว่ากลยุทธ์ของพวกเขาต่างจากบิ๊กเทคอื่นๆ ในแง่ที่ว่า ‘Llama 2’ โมเดล AI ของตนอยู่ในรูปแบบ Open Source ที่เปิดกว้างให้ใครต่างก็สามารถเข้าถึงและนำไปปรับแต่งได้ 

 

การใช้กลยุทธ์เช่นนี้ก็ทำให้ Meta ได้ใจกลุ่มคนที่กังวลเกี่ยวกับการควบรวมตลาดของปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงไว้ในผู้เล่นจำนวนเพียงหยิบมือ แต่ในขณะเดียวกันคนบางกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์ AI ว่าง่ายต่อการเปิดทางให้ผู้ที่มีเจตนาไม่ดีนำไปใช้หลอกลวงผู้คน เช่น การปลอมแปลงตัวตนผ่านเสียง หรือสร้างไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ 

 

ส่วนด้านของ Amazon ที่ค่อนข้างจะตามหลังผู้เล่นรายอื่นๆ ก็ได้คลอด AI ของตัวเองออกมาได้ในที่สุดชื่อว่า ‘Q’ แชตบอตที่เน้นสำหรับการใช้งานด้านธุรกิจมาแข่งกับ Copilot, ChatGPT Enterprise และ Duet AI ของ Google โดย Q ต้องการที่จะวางตัวเองเป็นโซลูชันเฉพาะสำหรับองค์กรที่เน้นความปลอดภัย 

 

ทว่าสำนักข่าว Platformer ได้รับรายงานหลังเปิดตัวได้ประมาณเกือบ 1 สัปดาห์จากพนักงานของ Amazon ว่าตัวปัญญาประดิษฐ์ Q ได้มีการทำข้อมูลรั่วไหลที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมากับองค์กรได้ แต่โฆษกตัวแทนออกมาแถลงปฏิเสธคำกล่าวหาของพนักงานกลุ่มนั้นว่า “เราไม่พบความผิดปกติหรือข้อมูลรั่วไหลแต่อย่างใด และเราจะเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของเราต่อไป”

 

การช่วงชิงตลาดยังไม่จบและมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นในปี 2024

 

รายงานจาก McKinsey ปีนี้เผยว่า Generative AI มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 2.6-4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่แปลกที่บริษัทต่างๆ ต่างพยายามแย่งชิงและอยากจะได้ส่วนแบ่งของ ‘เค้ก’ ก้อนนี้ให้ได้มากที่สุด

 

ในระหว่างที่เราเปลี่ยนผ่านจากปี 2023 ไปสู่ 2024 การแข่งขันด้าน AI ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรง น่าตื่นเต้น และเข้มข้นขึ้นไปอีก นำมาด้วยตัวเปลี่ยนเกมอย่าง Gemini ที่สร้างมาตรฐานใหม่ในวงการ AI ทำให้บริษัทอื่นๆ ต้องเร่งตามให้ทัน

 

เราคงได้เห็นการโต้กลับของ Microsoft ที่จะต้องยืนหยัดและเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมของตนเพื่อรักษาอำนาจในการแข่งขันเอาไว้ รวมถึง Amazon ด้วย

 

ในด้านของ OpenAI สิ่งที่น่าจับตาในปีหน้าคงหนีไม่พ้น GPT Store ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน และจะมาทำให้ OpenAI กลายเป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ได้จริงหรือไม่?

 

การช่วงชิงตลาด AI ดูแล้วเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานและยังห่างไกลจากคำว่า ‘สิ้นสุด’ หรือมีผู้ชนะอย่างชัดเจน ซึ่งปี 2024 คงเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าสนใจว่าวงการ AI มีเซอร์ไพรส์อะไรรอทุกคนอยู่

 

ภาพ: Jakub Porzycki / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising