แบรนด์เจ้าตลาดเริ่มเหนื่อย! หลังรายเล็ก-แม่ค้าออนไลน์เริ่มรุกคืบแย่งมาร์เก็ตแชร์ เร่งงัดกลยุทธ์จัดโปรโมชันสินค้าซื้อ 1 แถม 1 ช่วยดึงลูกค้า ก่อนเดินหน้าเทงบโฆษณาใส่ช่องทางออนไลน์ พร้อมดึง KOLs / อินฟลูเอ็นเซอร์ ช่วยโปรโมตสินค้า เจาะเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมาย
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 1 รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้คนยังมีกำลังซื้อจำกัด ทำให้แบรนด์สินค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่แข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการงัดกลยุทธ์จัดโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ที่ยังช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อได้อยู่ พร้อมดึง KOLs ช่วยโปรโมตสินค้า
สิ่งที่น่าสนใจคือ จะเห็นได้ว่า Mass Brands อย่างแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นเจ้าตลาดเริ่มถูก Local Brands และ Niche Brands ที่ค่อยๆ เติบโตผ่านช่องทางออนไลน์เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยประเมินว่าปีนี้อีคอมเมิร์ซไทยจะโตแตะ 1 ล้านล้านบาทถ้าเทียบจากปี 2566 ที่มีมูลค่า 9 แสนล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากเม็ดเงินในตลาดอีคอมเมิร์ซที่มหาศาล ทุกๆ แบรนด์ก็ต้องปรับตัว ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าความได้เปรียบก็ยังอยู่ที่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีความคล่องตัวและมีเครื่องมือการทำการตลาดรอบด้าน แต่วันนี้ไม่ได้แตกต่างมากเหมือนในอดีต การซื้อ-ขายในยุคสังคมดิจิทัล โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม TikTok ผู้เล่นทุกรายแทบจะมีต้นทุนความได้เปรียบ-เสียเปรียบไม่ต่างกันเลย เพราะอยู่บนช่องทางเดียวกัน เห็นได้จากกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนข้อเท็จจริงนี้คือ
- Personal & Beauty Care
- Food, Café & Restaurants
- Leisure
แต่ที่แน่ๆ คือค่ายใหญ่บางแบรนด์พยายามปรับตัว กระบวนกลยุทธ์ใหม่ๆ มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว รวมถึงการทำ Personalized Marketing การตลาดเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญเครื่องมือหลักของการตลาดคือการใช้ KOLs และอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มแบรนด์มาช่วยโปรโมตสินค้า แต่ในแง่ของแบรนด์สินค้าคาดว่าปีนี้จะยังคงใช้งบการตลาดเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์เท่าเดิม
ภวัตกล่าวต่อไปว่า จากปัจจัยข้างต้นทำให้เม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดในไตรมาสแรกของปีแตะ 20,368 ล้านบาท หรือ +7.4% และเมื่อการแข่งขันสูงขึ้น MI GROUP จึงคาดการณ์ความคึกคักของตลาดตลอดทั้งปี 2024 ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 87,617 ล้านบาท หรือ +3.3% เมื่อเทียบกับปี 2023 โดยเติบโตจากการแข่งขันของแบรนด์บนสื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้าน OOH (Out of Home Media) เป็นหลัก
เมื่อเจาะลงมาถึงเม็ดเงินสื่อดิจิทัลคาดการณ์ว่าจะโตต่อเนื่อง +8% ในปี 2024 โดยข้อมูลจาก DAAT ระบุว่า การเติบโตจะมาจากความนิยมและความร้อนแรงของ KOLs และอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่นักการตลาดและผู้ประกอบการนิยมใช้งานมากขึ้น พร้อมยังคาดการณ์ว่าจำนวน KOLs และอินฟลูเอ็นเซอร์ จะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 2 ล้านคน
โดยการเพิ่มขึ้นจะมาในช่องทาง Affiliate Programs ที่เข้ามาสนับสนุนให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียสามารถหารายได้เสริมกันมากขึ้น ประกอบกับจำนวน Social Platform ที่มีมากขึ้น และจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Y, Z และ Alpha อยากแสดงตัวตนบนโลกโซเชียลมากขึ้นและผันตัวเองเป็น KOLs และอินฟลูเอ็นเซอร์ มือสมัครเล่นในที่สุด
ทั้งนี้ แบรนด์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ Micro และ Nano Influencers ที่มีผู้ติดตามระหว่าง 10,000-1 ล้านคน ซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นการมีส่วนร่วมให้รับรู้แบรนด์ได้ค่อนข้างดี
ภวัตยังฉายภาพไปถึงสินค้าจีนที่เข้ามาเพิ่มความท้าทายให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์ จะเห็นว่าสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าจากความได้เปรียบของต้นทุนการผลิต ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ต้องพัฒนาในหลายด้าน เช่น การเพิ่มคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์และการตลาดให้มีประสิทธิภาพ
แต่อีกด้านหนึ่งการปรับตัวก็จะสร้างโอกาสเข้าไปทำตลาดในจีน ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่าไทยเกือบ 20 เท่าตัว ทำให้มีช่องว่างตลาดอีกมากที่จะนำสินค้าเกษตร เครื่องสำอาง และแฟชั่น เข้าไปทำตลาด เพียงแต่ต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคจีนและต้องปรับคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานการนำเข้าของจีน