×

เปิดโปงสารพันเหตุผลของคนขี้โกง โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

18.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • งานวิจัยของ แดน อารีลีย์ เผยว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าการโกงระดับชาติคือ การโกงเล็กๆ น้อยๆ ของคนจำนวนมาก ซึ่งมักจะโกงทีละนิดทีละหน่อย เพราะได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดมากมาย ซึ่งพอรวมๆ แล้วการโกงนิดหน่อยของคนจำนวนมากจะสร้างผลเสียมากกว่าการโกงมหาศาลของคนไม่กี่คน
  • งานวิจัยของอารีลีย์ยังพบว่า คนที่มีจินตนาการสูงมักจะโกงมากกว่าทั่วไป เพราะจะมีความสามารถมากกว่าคนธรรมดาในการหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมการโกงของตนเอง
  • ถ้าคนเรามีความเหนื่อยล้าจากการห้ามใจตัวเองไม่ให้โกงมาเป็นเวลานาน ความเหนื่อยล้าที่สะสมมานี่แหละที่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดอาการ ‘ช่างเเม่ง’ เเละเพิ่มโอกาสที่คนจะมีพฤติกรรมการโกงขึ้น

เป็นที่รู้ๆ กันอยู่นะครับว่าปัญหาคอร์รัปชันนั้นเป็นปัญหาที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเรามานานเเล้ว เเละปัญหาคอร์รัปชันก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเเก้ไขก็เเก้ไม่ได้เสียที

 

มาวันนี้ผมก็เลยอยากจะนำผลงานวิจัยหลายๆ ชิ้นของ แดน อารีลีย์ ที่เคยทำเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกงของเพื่อนร่วมงานเขามาเขียนเป็นบทสรุปให้คุณผู้อ่านที่อาจจะไม่เคยอ่านงานของเขาได้มาอ่านกัน

 

1. คนเราส่วนใหญ่ต่างก็เคยโกงกันทั้งนั้น
อารีลีย์เคยกล่าวเอาไว้ว่า คนที่โกงกินชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาลนั้นมีจำนวนที่ไม่เยอะนักในสังคม เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่เห็นว่าปัญหาการโกงกินระดับชาติเป็นปัญหาที่ใหญ่โตสำหรับประเทศสักเท่าไร

 

แต่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็คือ การโกงนิดๆ หน่อยๆ ของคนจำนวนมากในประเทศต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการโกงภาษีรายได้ การโกหกในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพของงานที่ทำ อย่างเช่น การ ‘Cut Corners’ นิดๆ หน่อยๆ ในงานรับเหมา หรือไม่ก็การรับสินบนร้อยบาท สองร้อยบาท เป็นต้น ซึ่งเมื่อเรานำผลการโกงนิดๆ หน่อยๆ ของคนส่วนใหญ่มารวมกัน ผลเสีย หรือ cost ของการโกงพวกนี้จะเยอะกว่าการโกงอย่างมหาศาลของคนบางคนในสังคมเราอย่างมาก

 

เเล้วทำไมคนเราส่วนใหญ่ถึงโกง เเม้ว่าจะเป็นการโกงเพียงเเค่นิดเดียวก็ตาม

 

สาเหตุสำคัญที่คนเราส่วนใหญ่โกงเเต่โกงเพียงเเค่นิดเดียว เป็นเพราะว่า 1. ต้องการที่จะได้รับผลประโยชน์จากการโกง เเต่ 2. ยังอยากมองกระจกเเล้วเห็นตัวเองยังเป็นคนดีอยู่ เเละด้วยเหตุผลที่เราไม่ได้โกงเยอะมาก อย่างการให้เงินจราจรสองร้อยบาท เพื่อที่จะไม่ถูกยึดใบขับขี่บ้าง หรือการขโมยปากกาจากบริษัทกลับมาให้ลูกที่บ้านบ้าง เราสามารถให้เหตุผล หรือ rationalize การกระทำของเราว่า สิ่งที่เราทำนี้มันไม่ได้เเย่มาก มันยังโอเค

 

ซึ่งก็ทำให้เราได้ทั้ง 1. ผลประโยชน์ เเละ 2. ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนไม่ดีไปได้พร้อมๆ กัน

 

อารีลีย์จึงให้ข้อสรุปเอาไว้ว่า ความสามารถของคนเราในการหาเหตุผล เพื่อมาอธิบายพฤติกรรมการโกงนี้นี่เเหละ เป็นตัวดีที่ทำให้คนยังมีพฤติกรรมโกงกันอยู่

 

เเล้วมันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การหาเหตุผลของคน เพื่อมาอธิบายพฤติกรรมการโกงให้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนยิ่งโกงกันมากขึ้น

 

2. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of Interest) เพิ่มโอกาสการโกงของคน
ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นอะไรที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมของเรานะครับ ยกตัวอย่างเช่น หมอฟันมีหน้าที่รักษาฟัน เเต่ถ้าคนทุกคนไม่มีปัญหาเรื่องฟันเลย หมอฟันก็อยู่ไม่ได้ หรือนักวิจัยที่รับทำงานวิจัยจากบริษัท ถ้านักวิจัยทำงานวิจัยออกมาเเล้วมีผลที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่บริษัทผู้ว่าจ้างอยากได้ยิน นักวิจัยก็อาจจะไม่ถูกบริษัทนี้จ้างทำวิจัยอีก เป็นต้น

 

ด้วยเหตุผลนี้นี่เองทำให้เวลาที่คนเราอยู่ในเหตุการณ์ที่มี Conflicts of Interest มีเเรงจูงใจสูงขึ้นที่จะโกง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ซื่อตรงอย่างที่ควรจะเป็น อย่างเช่น การที่หมอฟันหลายๆ คนให้ลูกอมกับเด็กหลังจากตรวจเสร็จเเล้ว หรือการที่นักวิจัยผลิตผลงานวิจัยที่บริษัทที่จ้างเขามาต้องการที่จะเห็นเท่านั้น เป็นต้น

 

3. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพิ่มโอกาสการโกงของคน
ในงานวิจัยของอารีลีย์พบว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนที่มีจินตนาการสูง มักจะโกงในการทดลองของเขามากกว่าคนธรรมดาอื่นๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีความสามารถมากกว่าคนธรรมดา ในการหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมการโกงของตนเอง

 

4. การกระทำผิดเเค่ครั้งเดียว (One Immoral Act) เพิ่มโอกาสการโกงของคน
‘Once a cheater, always a cheater’ หรือเเปลเป็นไทยก็คือ ‘คนที่นอกใจเพียงเเค่ครั้งเดียว ไว้ใจไม่ได้ไปตลอดกาล’ เป็นคำคมที่คนในประเทศเเถบตะวันตกจะได้ยินกันบ่อย เเละยังเป็นคำคมที่ได้ถูกพิสูจน์โดยอารีลีย์ด้วยอีกว่าเป็นความจริง เขาพบว่าการโกงเพียงเเค่ครั้งเดียวทำให้การหาเหตุผลมาอธิบายการโกงต่อๆ ไปในอนาคตนั้นง่ายขึ้น

 

5. ความเหนื่อยล้า (Being Depleted) เพิ่มโอกาสการโกงของคน

สมมติว่า เราห้ามใจตัวเองไม่ทานของหวานมาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ เพื่อที่เราจะได้ลดน้ำหนักเเละได้หุ่นอย่างที่เราต้องการ จนมาวันหนึ่งเราบอกกับตัวเองว่า โอเค อดทนมานานเเล้ว วันนี้ให้รางวัลกับตัวเองสักหน่อย วันนั้นเเหละที่จะเป็นวันที่ ‘เขื่อน’ ของหวานเเตก พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นวันที่เราหมดความอดทน และกินของหวานในปริมาณที่เยอะจนเกินไป

 

พฤติกรรมการโกงก็คล้ายๆ กัน ถ้าคนเรามีความเหนื่อยล้าจากการห้ามใจตัวเองไม่ให้โกงมาเป็นเวลานาน ความเหนื่อยล้าที่สะสมมานี่แหละที่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดอาการ ‘ช่างเเม่ง’ (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า The What-The-Hell Effect) เเละเพิ่มโอกาสที่คนจะมีพฤติกรรมการโกงขึ้น

 

6. การที่มีคนอื่นๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากการโกง (Others Benefit From Our Dishonesty) เพิ่มโอกาสการโกงของคน

การที่มีคนอื่นๆ ที่อาจจะได้รับผลประโยชน์จากการโกงของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง คนในคณะ หรือสังคมเดียวกันกับเรา สามารถทำให้เราหาเหตุผลมาอธิบายการโกงของเราได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะได้ยินนักการเมืองออกมาพูดเพื่ออธิบายพฤติกรรมการโกงของตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า “ถ้าผมไม่ทำอย่างนั้น คนอื่นๆ ก็จะเดือดร้อน” หรือ “ถ้าผมไม่โกง หลายๆ ครอบครัวก็จะไม่มีกิน” หรือ “ถึงผมจะโกง เเต่มันก็เป็นการโกงอย่างบริสุทธิ์ใจ” เป็นต้น

 

7. การเห็นพฤติกรรมการโกงของคนอื่น (Watching Others Behave Dishonestly) เพิ่มโอกาสการโกงของคน

อารีลีย์พบในการทดลองของเขาว่า การที่คนเราเห็นพฤติกรรมการโกงของคนอื่น สามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เขาโกงเสียเอง ในเวลาที่เขามีโอกาสที่จะโกง เเละยิ่งถ้าคนเราเห็นทั้งพฤติกรรมการโกงด้วย เเละเห็นการหาเหตุผลต่างๆ นานามาอธิบายการโกงของคนอื่นเขา (อย่างเช่น “มันไม่ใช่ของผม มันเป็นของเพื่อนผม”) โอกาสที่พวกเขาจะมีพฤติกรรมการโกงด้วย เเละมีความสามารถในการหาเหตุผลต่างๆ นานามาอธิบายพฤติกรรมการโกงของเขาก็จะสูงขึ้นไปตามๆ กัน

 

8. การอยู่ในวัฒนธรรมที่มีตัวอย่างของพฤติกรรมการโกงสูง (Culture That Gives Examples of Dishonesty) เพิ่มโอกาสการโกงของคน

การอยู่ในมาตรฐานสังคมที่มีคนโกงนิดโกงหน่อยเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นการโกงเพื่อให้หลุดจากใบสั่ง หรือการจอดรถในที่ที่ไม่ควรจะจอด หรือการให้เงินแป๊ะเจี๊ยะกับโรงเรียน เพื่อที่จะให้ลูกที่สอบเข้าไม่ได้ได้เข้าไปเรียน ทำให้คนเราสามารถใช้เหตุผลที่ว่า “คนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” มาเป็นเหตุผลในการอธิบายพฤติกรรมการโกงของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้การโกงนั้นง่ายขึ้นตามๆ กันไปด้วย

 

เเละอะไรบ้างที่ไม่มีผลกระทบต่อโอกาสการโกงของคนเลย

 

9. จำนวนเงินที่อาจจะได้มาจากการโกง (Amount of Money to be Gained) เเละโอกาสในการถูกจับ (Probability of Getting Caught) ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการโกงของคน

เรามักจะคิดกันว่า ยิ่งจำนวนเงินที่ได้มาจากการโกงเยอะเท่าไร โอกาสที่คนตัดสินใจโกงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เเละยิ่งโอกาสในการที่คนโกงถูกจับสูงขึ้นเท่าไร โอกาสที่คนตัดสินใจโกงก็จะลดลงเท่านั้น

 

แต่อารีลีย์พบว่า ทั้งสองปัจจัยนี้เเทบไม่มีผลกระทบอะไรกับพฤติกรรมการโกงของคนเลย

 

เพราะในความเป็นจริงเเล้ว โอกาสที่คนจะตัดสินใจโกงกลับสูงกว่า ในเคสที่จำนวนเงินที่อาจจะได้มาจากการโกงน้อยด้วยซ้ำไป (ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าสำหรับคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการโกงเยอะๆ ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ไม่เหมือนกับการโกงนิดเดียว)

 

ส่วนเวลาที่คนกำลังคิดว่าจะโกงดีหรือเปล่านั้น ส่วนใหญ่เเล้วพวกเขาไม่เคยคำนึงถึงโอกาสในการที่จะถูกจับได้เลย ซึ่งก็สามารถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมโอกาสในการที่คนโกงจะถูกจับ ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการโกงของคน

 

เเล้วอะไรเป็นปัจจัยที่สามารถช่วยลดให้คนไม่โกงได้บ้าง

 

10. การสัญญาสาบาน (Pledge) การเซ็นชื่อของตัวเอง (Signature) การเตือนสติในเรื่องของศีลธรรม (Moral Reminders) เเละการควบคุมดูเเลอย่างใกล้ชิด (Supervision) ช่วยลดโอกาสโกงของคน

พูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนที่คนจะมีโอกาสในการโกงได้ ไม่ว่าจะเป็นการโกงในห้องสอบ การโกงภาษีเงิน หรือโกงเงินบริษัท การที่เราสร้างอุปสรรคต่อการโกงให้คนที่มีโอกาสที่จะโกง ไม่ว่าให้เซ็นชื่อตัวเองเพื่อรับรองว่าข้อมูลที่เขากำลังจะให้ในต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่เเท้จริง หรือการให้คนสัญญาเเละสาบานว่าจะทำทุกอย่างอย่างบริสุทธิ์ใจ ก่อนที่จะมีการโหวตว่ากฎหมายนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นต้น สามารถช่วยทำให้คนคนนั้นหาเหตุผลเพื่อมาอธิบายพฤติกรรมการโกงได้ยากขึ้น เพียงเพราะว่าจุดโฟกัสของเขาไปอยู่ที่ศีลธรรมของการไม่โกงไปเรียบร้อยเเล้ว

 

เเต่งานของอารีลีย์ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ทำกับกลุ่มคนจากทวีปตะวันตกนะครับ เรายังไม่รู้เเน่ชัดว่าคำอธิบายพฤติกรรมการโกงของเขาสามารถใช้ได้กับคนไทยจริงหรือเปล่า เเละถ้าใช้ได้ มันมีประสิทธิภาพสักเเค่ไหน (ยกตัวอย่างงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่พบว่า คนที่อยู่ใกล้วัดมักโกงมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ หรือคนที่สามารถท่องศีลห้าได้คล่องมักโกงมากกว่าคนที่ท่องไม่ได้ – ซึ่งถ้าให้ผมอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้ ผมก็คงจะอธิบายว่า เพราะคนพวกนี้สามารถ rationalize ตัวเองได้ง่ายกว่าว่า “เขาเป็นคนดี เป็นคนธรรมะธรรมโม” พวกเขาจึงโกงได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผิดอะไร… พูดง่ายๆ ก็คือ “the มือถือสาก ปากถือศีล effect” นั่นเอง)

 

เพราะฉะนั้นเรายังต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกงของคนไทยกันอีกเยอะ ก่อนที่จะสามารถสรุปได้อย่าง แดน อารีลีย์

 

อ่านเพิ่มเติม:

  • Ariely, D. 2012. The (honest) truth about dishonesty: How we lie to everyone–especially ourselves (Vol. 336). New York, NY: HarperCollins.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising