×

‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ

25.01.2021
  • LOADING...
‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ

HIGHLIGHTS

  • ส่วนใหญ่คนที่พูดถึงสถานะของตัวเองบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ศ. เป็น ดร. เป็นเศรษฐี หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ คนพวกนี้มักจะเป็น ศ. ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เป็น ดร. ที่ไม่ได้จบมาจากสถาบันดีๆ มาก เป็นเศรษฐีแต่เป็นเศรษฐีย่อยๆ
  • งานวิจัยของ Rozin et al. พบว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกมั่นคง หรือ Secure ในสถานะของตัวเราเอง เราจะไม่ค่อยพูดถึงมันให้คนอื่นฟังสักเท่าไร 
  • เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกว่าสถานะของตัวเองมันไม่มั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความมีสถานะของเขามันช่าง Borderline หรือก้ำกึ่งเสียเหลือเกิน โอกาสที่เขาจะตอกย้ำสถานะของเขาให้คนอื่นๆ รู้ก็จะมีมากกว่าคนที่มีความรู้สึกมั่นคงในสถานะของตัวเอง 

เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสได้ไปงานประชุมวิชาการที่ประเทศไทย ตอนนั้นผมพึ่งจบปริญญาเอกใหม่ๆ ในงานนั้นผมได้เจอผู้คนคนหลากหลาย แล้วก็มีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเจอแบบผ่านๆ ผมจำได้ว่าท่านอาจารย์ท่านนี้ (ผมไม่ขอออกนามนะครับ) ได้กำชับกับเพื่อนรุ่นน้องของผมที่ช่วยจัดงานประชุมว่า อย่าลืมคำว่า ‘ศาสตราจารย์’ บนป้ายชื่อของเขา และเวลาประกาศชื่อของเขาให้ อย่าลืมใช้คำนำหน้าว่าศาสตราจารย์ด้วยนะ

 

ตัวผมในตอนนั้นคิดว่าเขาคงจะภูมิใจในสถานะของการเป็นศาสตราจารย์ของเขามาก ถึงขนาดต้องกำชับให้คนจัดงานอย่าลืมถึงสถานะของเขา แต่ผมก็จำได้ว่ามีศาสตราจารย์หลายๆ คนที่ผมเจอ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ต่างประเทศ และแทบจะไม่เคยนำสถานะของเขามาเอ่ยถึงให้ใครฟังเลย

 

อันนี้เป็นข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมมีเกี่ยวกับการตอกย้ำถึงสถานะของตนเองในอดีต แต่พอเวลาผ่านไปผมก็มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่ผมไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน นั่นก็คือ ส่วนใหญ่คนที่พูดถึงสถานะของตัวเองบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ศ. เป็น ดร. เป็นเศรษฐี หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ คนพวกนี้มักจะเป็น ศ. ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เป็น ดร. ที่ไม่ได้จบมาจากสถาบันดีๆ มาก เป็นเศรษฐีแต่เป็นเศรษฐีย่อยๆ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ที่เป็นจริงๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นมาก ส่วนคนที่เก่งจริงๆ รวยจริงๆ พวกเขาส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยพูดถึงสถานะที่แท้จริงของพวกเขาให้คนอื่นรู้เลย

 

ถามว่าทำไม… 

 

จากงานวิจัยของ Paul Rozin นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและเพื่อนๆ ทำให้ผมมีคำตอบให้กับคำถามนี้

 

Rozin et al. พบว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกมั่นคง หรือ Secure ในสถานะของตัวเราเอง เราจะไม่ค่อยพูดถึงมันให้คนอื่นฟังสักเท่าไร (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถึงเขาไม่ต้องพูด คนอื่นๆ ก็รู้ว่าเขามีสถานะที่ดี เพราะมันชัดเจนเหลือเกิน) 

 

แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกว่าสถานะของตัวเองมันไม่มั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความมีสถานะของเขามันช่าง Borderline หรือก้ำกึ่งเสียเหลือเกิน (ยกตัวอย่างเช่น คนที่จบ ดร. จากมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงก็ยังเป็น ดร. ในนิยามของการจบปริญญาเอกเหมือนๆ กับคนที่จบ ดร. จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) โอกาสที่เขาจะตอกย้ำสถานะของเขาให้คนอื่นๆ รู้ก็จะมีมากกว่าคนที่มีความรู้สึกมั่นคงในสถานะของตัวเอง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า การตอกย้ำสถานะที่อาจจะมีจริงแต่มีน้อยของเขา สามารถช่วยทำให้เขาได้กำไรจากสถานะที่มีน้อยของเขามากกว่าถ้าเขาไม่พูดถึงมันเลย

 

ยกตัวอย่างนะครับ Rozin et al. พบว่า คนที่จบมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (U Penn) ซึ่งเป็นมหาลัยที่จัดอยู่ใน Ivy League เหมือนกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่สู้ฮาร์วาร์ดไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง มักจะใช้คำว่า Ivy League ในการเรียกมหาวิทยาลัยที่เขาจบมากกว่าคนที่จบจากฮาร์วาร์ด แถมยังพบอีกว่าสนามบินอินเตอร์ขนาดเล็กๆ เช่น สนามบินดอนเมือง มักจะใช้คำว่า ‘International Airport’ ในการโฆษณาตัวเองมากกว่าสนามบินขนาดใหญ่ๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น ผมขอให้คุณลองสังเกตด้วยตัวคุณเองดูนะครับ ว่าคนที่ชอบพูดถึงสถานะของตัวเองให้คนอื่นๆ ฟัง จริงๆ แล้วเขากำลังมีพฤติกรรมที่ตรงกับงานวิจัยชิ้นนี้หรือไม่ ส่วนคนที่แทบไม่เคยพูดถึงสถานะที่แท้จริงตัวเองเลย คนๆ นั้นอาจจะเป็นคนที่เก่งจริงๆ รวยจริงๆ หรือดีจริงๆ จนเขาไม่รู้สึกว่าจะต้องเอาสถานะของเขาไปป่าวประกาศให้ใครฟังก็ได้นะครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Rozin, P., Scott, S. E., Zickgraf, H. F., Ahn, F., & Jiang, H. (2014). Asymmetrical social Mach bands: Exaggeration of social identities on the more esteemed side of group borders. Psychological science, 25(10), 1955-1959.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising