×

งดแจกถุงพลาสติกแก้ปัญหาจริงไหม หรือมีวิธีที่ดีกว่าในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

09.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS. READ
  • นโยบายงดแจกถุงพลาสติกเป็นเหมือนการ ‘บังคับ’ ให้คนต้องทำตามในสิ่งที่ตนเองไม่ได้คิดอยากจะทำตามเท่าไรนัก คล้ายๆ กันกับความรู้สึกที่เด็กๆ ส่วนใหญ่รู้สึกเวลาที่พ่อแม่สั่งไม่ให้นอนดึก
  • ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกต่อพฤติกรรมของคนในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016 จากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ Rebecca Taylor พบว่า พอรัฐบาลออกนโยบายห้ามไม่ให้คนใช้ถุงพลาสติกปุ๊บ จำนวนของถุงพลาสติกในวงจรก็ลดลงอย่างเยอะมาก แต่ในทางกลับกัน จำนวนของคนที่ใช้ถุงดำหรือถุงขยะที่ทำออกมาขาย ที่เราเรียกกันว่า Trash Bag หรือ Bin Bag ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายกว่า 120%
  • แล้ววิธีไหนเป็นการแก้ปัญหาที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ในความคิดของผม นโยบายที่เป็น Paternalistic หรือที่เราเรียกกันว่านโยบายบังคับใช้ เช่น นโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งประกาศใช้ทั่วประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ อาจจะมีประสิทธิภาพในการลดถุงพลาสติกที่อยู่ใน วงจรของผู้บริโภคตามที่คนออกนโยบายได้ทำการคาดหวังเอาไว้ก็จริง แต่ผมเชื่อว่านโยบายห้ามใช้เหล่านี้จะมีผลกระทบทางด้านลบในแง่มุมอื่นที่เราอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้ 

 

ทำไมน่ะเหรอครับ

 

ทั้งนี้ก็เพราะว่านโยบายห้ามใช้นั้นมันเป็นการ ‘บังคับ’ ให้คนต้องทำตามในสิ่งที่ตนเองไม่ได้คิดอยากจะทำตามเท่าไรนัก คล้ายๆ กันกับความรู้สึกที่เด็กๆ ส่วนใหญ่รู้สึกเวลาที่พ่อแม่สั่งไม่ให้นอนดึก และด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นการ ‘ห้าม’ ไม่ให้เราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง โอกาสที่เราจะหาวิธีอื่นมาทำในสิ่งที่เราอยากจะทำแทน (Substitution) ก็จะเกิดขึ้น 

 

ยกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกต่อพฤติกรรมของคนในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016 จากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ Rebecca Taylor จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่า พอรัฐบาลออกนโยบายห้ามไม่ให้คนใช้ถุงพลาสติกปุ๊บ จำนวนของถุงพลาสติกในวงจรก็ลดลงอย่างเยอะมาก 

 

แต่ในทางกลับกัน จำนวนของคนที่ใช้ถุงดำหรือถุงขยะที่ทำออกมาขาย ที่เราเรียกกันว่า Trash Bag หรือ Bin Bag ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายกว่า 120%

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าประชาชนยังต้องใช้อะไรสักอย่างมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกในการเก็บขยะหรือเก็บอึหมา เป็นต้น ซึ่งถุงขยะเหล่านี้มักจะหนากว่าถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไป แถมยังย่อยสลายยากกว่าอีกด้วย

 

ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ แต่มันยังมีผลการวิจัยที่สะท้อนให้เห็นอีกว่าการใช้ถุงกระดาษที่ผลิตออกมาเพื่อใช้ทดแทนถุงพลาสติกนั้นเป็นวิธีการที่สร้างผลลบต่อโลกมากกว่าการใช้ถุงพลาสติกเสียอีก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าทรัพยากรที่ต้องใช้ในการผลิตถุงกระดาษมันก็คือต้นไม้และน้ำสะอาดดีๆ นี่เอง

 

แล้วงานวิจัยสรุปออกมาว่าอย่างไร

 

ปรากฏว่าวิธีการที่ ‘ดีต่อโลก’ ที่สุดคือการนำถุงพลาสติกกลับมา ‘ใช้แล้วใช้อีก’ นั่นเอง ซึ่งผมก็เชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่คนไทยเราเคยทำเป็นประจำกันอยู่แล้วก่อนจะมีการออกนโยบายงดแจกถุงพลาสติกออกมา

 

แต่ปัญหาที่แท้จริง ที่ดั้งเดิมที่สุด ก็คือก่อนจะมีนโยบายห้ามใช้นั้น ประเทศไทยเรามีจำนวนถุงพลาสติกในวงจรมากจนเกินไป มากจนเกินที่คนเราแต่ละคนจะนำมาพับเก็บและใช้ใหม่ได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่านโยบายการห้ามใช้ถุงพลาสติกไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด (เพราะเหตุผลที่ผมให้ไว้ในเบื้องต้น) 

 

แล้วเรามีทางเลือกอะไรในการแก้ไขวิกฤตพลาสติกล้นประเทศ

 

นโยบายที่ดีที่สุดคือนโยบาย ‘ถ้าคุณจะเอาถุงพลาสติกล่ะก็ คุณจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อถุงในราคา 2 บาท’ (พูดง่ายๆ คือต้องควักเงินเพื่อซื้อถุง ในกรณีที่คุณต้องการนั่นเอง) 

 

ซึ่งในอีกงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Rebecca Taylor เธอพบว่านโยบายที่ให้ตัวเลือกกับคนที่ต้องการถุงพลาสติกจริงๆ นี้มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้มาใช้ถุงพลาสติกที่ตัวเองมีอยู่เยอะขึ้น แถมยังมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนถุงพลาสติกในวงจรได้อย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้นยังเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการนำถุงพลาสติกไปใส่ขยะหรือเก็บอึหมาให้สามารถทำได้โดยการแลกกับการเสียเงินนิดๆ หน่อยๆ อีกด้วย

 

สรุปก็คือ ‘นโยบายถุงพลาสติกราคา 2 บาท’ ช่วยทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่โดนห้ามเพราะถูกบังคับแล้วไปเพิ่มอีกพฤติกรรมหนึ่งที่ไม่โดนห้าม แต่อาจจะเป็นพฤติกรรมแย่กว่าพฤติกรรมที่โดนห้ามเสียอีกนะครับ

 

คงต้องฝากผลงานวิจัยของ Rebecca Taylor ไปถึงคนที่ออกนโยบายนี้ ด้วยความหวังดีครับ (จากคนที่อยู่ในประเทศที่มีถุงพลาสติกขายในราคา 2 บาท แต่แทบจะไม่มีใครซื้อใช้เลย)

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Taylor, R. L. (2019). Bag leakage: The effect of disposable carryout bag regulations on unregulated bags. Journal of Environmental Economics and Management, 93, 254-271. 
  • Taylor, R., & Villas-Boas, S. B. (2015). Bans versus Fees: Disposable Carryout Bag Policies and Bag Usage (No. 330-2016-13807).
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising