ยุคนี้ไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘อาหารสุขภาพ’ หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า ‘อาหารคลีน’ และคำว่า ‘กินคลีน’ ก็กลายมาเป็นกริยาคำใหม่ที่บ่งบอกถึงการทานอาหารที่ปราศจากการปรุงแต่งมากนัก ดีต่อสุขภาพ และอาจมีการคำนวณปริมาณแคลอรีพ่วงเข้ามาด้วย แน่นอนว่าการกินแนวนี้เป็นที่โปรดปรานของหมู่มวลผู้รักสุขภาพ และชื่อของวัตถุดิบที่คุ้นหูกันอยู่บ่อยๆ อย่าง อกไก่ ควินัว หรือผักออร์แกนิกต่างๆ เองก็ดี ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบของสิ่ง ‘คลีนๆ’ ที่เขากินกัน
แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแนวคิดเรื่อง ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ เหล่านี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นมาเมื่อปีกลายเสียเมื่อไร เพราะแนวคิดที่ว่านั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่น และตลอดระยะเวลาที่มนุษย์เริ่มกินอาหารอย่างใส่ใจสุขภาพ เราต่างเคยผ่านไอเดียของการกินที่หลากหลายมาอยู่ตลอด ตั้งแต่ตั้งกฎเคี้ยวอาหารให้ละเอียดแล้วบ้วนทิ้ง ซดซุปกะหล่ำปลี หรือแม้แต่กินพยาธิตัวตืดเข้าไป – ให้มันได้อย่างนี้สิมนุษย์!
Photo: Med in Action
อาหารเพื่อสุขภาพคือการปรับสมดุล
ในยุคแรกๆ ที่มีไอเดียการกินอาหารเพื่อสุขภาพ นักคิดชาวกรีกเชื่อว่าการจะมีสุขภาพที่ดีนั้น ร่างกายจะต้องปรับสมดุล 4 สิ่งในร่างกาย อันได้แก่ เลือด น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง และเสมหะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งไอเดียหลักๆ ของการกินอาหารเพื่อสุขภาพในยุคกรีกโบราณนั้นหมายถึงการกินอาหารเพื่อให้ร่างกาย ทั้งทางกายภาพและจิตใจนั้นสมดุลกัน โดยมีเรื่องของสุนทรียศาสตร์เข้ามามีบทบาทด้วย และสิ่งที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทานอาหารเพื่อสุขภาพในยุคกรีกจะเน้นไปทางสมุนไพรเสียมาก จึงได้ทั้งรสชาติและกลิ่นอันมีเอกลักษณ์เฉพาะ
ทฤษฎีหนึ่งที่ชาวโรมันและชาวกรีกเชื่อเสมอนั่นคือ การกินอยู่ที่ดีของพวกเขาไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเพียงอย่างเดียว หากคุณจะมีสุขภาพที่ดี อาหารที่กินก็ต้องดี และสังคมรอบข้างก็ต้องดีด้วย และหากเมื่อคุณเจ็บป่วย สิ่งแรกที่ชาวกรีกและโรมันจะแนะนำ คืออาหารที่สามารถเข้าไปช่วยทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น ก่อนจะบอกให้คุณไปพักผ่อนและออกกำลังกาย ส่วนวิธีการลดน้ำหนักของคนในยุคนั้น มักจะแนะนำให้ไปยกน้ำหนัก งดการมีเซ็กซ์ และให้แก้ผ้าเปลือยเปล่าเดินเป็นกิจวัตร
จากหนังสือ The Philosopher’s Kitchen ของ ฟรองซีน เซแกน (Francine Segan) นักประวัติศาสตร์อาหารกล่าวไว้ว่า ชาวกรีกนำสมุนไพรหลายชนิดมาให้นักรบทานเพื่อความแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีการจำกัดประเภทของอาหารสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย และอาจนับได้ว่านี่เป็นต้นกำเนิดของไอเดียการลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ ‘Atkins Diet’ สูตรอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนักซึ่งเน้นโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบันทึกที่ชื่อ ‘The Deipnosophists’ ที่ปรากฏในช่วงคริสต์ศักราช 200 บันทึกที่ว่าด้วยการควบคุมอาหารของนักวิ่งโอลิมปิกด้วยการงดแป้ง และกินเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเป็นงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพเป็นครั้งแรกๆ ของโลกมากมาย ตั้งแต่การให้ทาสหรือนักโทษกิน ‘กระเทียม’ ในยุคอียิปต์โบราณ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง พร้อมที่จะทำงานหรือใช้แรงงานได้อย่างเต็มที่ ถึงขั้นพบเศษกระเทียมในหลุมฝังศพตุตันคาเมนอีกด้วย และไม่ใช่แค่ในโลกอียิปต์โบราณ เพราะในโลกตะวันออก กระเทียมยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารของชาวจีนมาช้านาน สรรพคุณคือช่วยปรับสมดุลร่างกาย รักษาโรคหวัด ระบบทางเดินหายใจ และการย่อยอาหาร
กลัวอ้วน ก็กินพยาธิเข้าไปสิ!
คนเราเอาจริงเอาจังกับการลดน้ำหนัก พยายามสรรหาของกินเพื่อช่วยลดน้ำหนักและเพื่อให้มีสุขภาพดีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ในกรณีนี้แปลกออกไป หากย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เราเคยมีวิธีการลดน้ำหนักด้วยการกินพยาธิตัวตืด เพื่อให้พยาธิเติบโตและดูดซับอาหารในร่างกาย ทำให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักได้ตามต้องการ โดยที่พวกเขาเหล่านี้ต้องกลืนเนื้อพยาธิตัวตืดที่มาในรูปแบบของเม็ดยา และปล่อยให้มันอาศัยอยู่ในลำไส้และดูดซับอาหาร ส่งผลให้น้ำหนักอาจจะลดลง แต่ก็มาพร้อมอาการท้องร่วงและอาเจียน แต่เมื่อได้น้ำหนักที่ต้องการแล้ว พวกเขาก็ต้องรับยาถ่ายพยาธิเข้าไป ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องท้องและทวารหนักได้ นับเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมามากมาย เช่น ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคลมชัก และโรคสมองเสื่อม – ฉันยอมอ้วนต่อไปก็ได้!
เคี้ยวให้แหลก แล้วคายทิ้ง
ถ้าเราบอกคุณว่าให้คุณเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเป็นจำนวน 100 ที (นับให้ครบด้วยนะ) แล้วคายทิ้งออกมา จะช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้ คุณจะลองทำดูไหม? คำตอบคือ จะเอาอะไรไปอิ่มล่ะ? และเจ้าของไอเดียประหลาดโลกนี้คือชาวอเมริกันชื่อ โฮเรซ เฟลตเชอร์ (Horace Fletcher) ที่เขานำเสนอทฤษฎีในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุด แล้วคายกากแหลกๆ ออกมา เพราะเขาเชื่อว่าร่างกายจะได้รับสารอาหารดีที่สุดขณะเคี้ยวไปแล้ว อาทิ ถ้าคุณจะกินหอมแดงสักลูก คุณก็แค่เคี้ยวมันไปเลยประมาณ 700 ที! แต่จริงๆ ไอเดียนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าขันแต่อย่างใด เพราะวิธีดังกล่าวก็คล้ายๆ กับการกินอาหารปั่นหรือน้ำผลไม้สกัดจากเครื่องแยกกากในปัจจุบัน แทบไม่ต่างกันเลยสักนิด เพียงแต่เราไม่ต้องเมื่อยฟันคั้นเอาเองในปากก็เท่านั้นเอง
ผลไม้ล้วนเพื่อสุขภาพ
แน่นอนว่าผลไม้ต้องเข้ามามีบทบาทในเมนูอาหารเพื่อสุขภาพกันบ้าง เพราะผลไม้นั้นล้วนเต็มไปด้วยวิตามิน และกากใยที่จะช่วยในการขับถ่าย และด้วยเหตุผลนี้เอง โลกของเราจึงเคยหยิบยกเอา ‘เกรปฟรุต’ และ ‘สับปะรด’ ขึ้นมาเป็นตัวตั้งต้นในการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง เมื่อย้อนกลับไปสำรวจในช่วงปี 1930 เกรปฟรุตถูกหยิบยกขึ้นมากินหรือดื่มก่อนช่วงมื้ออาหาร เพราะกลุ่มคนที่ใช้วิธีดังกล่าวนี้เชื่อกันว่า ในเกรปฟรุตมีเอนไซม์พิเศษที่จะช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น แถมยังเผาผลาญไขมันได้อีกด้วย ทั้งยังมีปริมาณแคลอรีที่น้อยมาก มีเพียงรสเปรี้ยว ไฟเบอร์ และวิตามิน ส่วนผลไม้อีกชนิดอย่าง ‘สับปะรด’ ก็อยู่ในฐานะเดียวกับเกรปฟรุตเช่นกัน ซึ่งเริ่มมาฮิตกินกันก่อนมื้ออาหารในช่วงยุค 80s
กะหล่ำปลีครองเมือง
มนุษย์เราช่างค่อยๆ สรรหาวิธีการทำอาหารสำหรับการลดน้ำหนัก หรือเพื่อดูแลรักษาสุขภาพกันมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมาถึงช่วงปีคริสต์ศักราช 1950 โลกได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ซุปกะหล่ำปลี’ ตามการบันทึกของ American Dietetic Association ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องย้อนกลับไปอีกสักนิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทหารอเมริกันกำลังสู้รบอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ณ เวลานั้นทหารไม่มีทั้งพืชผักธัญญาหารอื่นเพื่อประทังชีวิต พวกเขาจึงเลือกทำเมนูที่ชื่อ ‘Doughboy Cabbage Soup’ ที่ช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินซี ที่ส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และร่างกายขาดสารอาหาร
หลังจากนั้น ‘ซุปกะหล่ำปลี’ ก็กลายมาเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่บรรดาผู้ที่รักสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับสงครามโลกที่เรากล่าวไปเมื่อครู่เลยสักนิด แต่ก็เป็นไอเดียที่แพร่หลายมาจากสูตรอาหารลดน้ำหนักของเหล่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน Trans World Airlines (TWA) ในช่วงยุค 80s และด้วยหน้าที่การงานที่ต้องเข้มงวดกับเรื่องน้ำหนักอยู่เสมอ ซุปกะหล่ำปลีจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพราะช่วยให้อิ่มท้องและไม่ก่อไขมัน ฮอตไปถึงวงการนางแบบ และศิลปินตัวแม่ในเวลานั้นอย่าง ดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) ที่เลิฟการซดซุปกะหล่ำปลีมาก! แต่ก็ใช่ว่ามันจะเวิร์กตลอดรอดฝั่ง เพราะท้ายที่สุด ร่างกายเองก็ยังต้องการสิ่งที่เป็นโปรตีนเพื่อเข้าไปเสริมสร้างร่างกาย ฉะนั้นการทานซุปกะหล่ำปลีเองก็ส่งผลให้น้ำหนักลดเพียงแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่แน่นอนว่าคุณต้องเคยได้ชิมรสชาติของมันกันมาบ้างล่ะ
ปัจจุบันของ ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’
แน่นอนว่าคุณต้องได้ยินเรื่องของ คีโตเจนิก การกินที่เน้นอาหารไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือเพียงน้อยนิด เพื่อปรับให้ร่างกายสร้างสารที่เปลี่ยนระบบต่างๆ ในร่างกาย ให้กลายมาเป็นเครื่องจักรที่เผาผลาญไขมันได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นธรรมชาติ ผลที่ได้คือน้ำหนักลดลงฮวบฮาบเพราะไขมันหายไปนั่นเอง หรือการอดอาหารเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า Intermittent Fasting ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เราพบว่าไอเดียของการกินอาหารเพื่อสุขภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คุณไม่จำเป็นต้องจับจ้องแค่เพียงอาหารบางประเภทเท่านั้น และไม่ต้องทนฝืนกินแต่อาหารไม่ปรุงแต่ง รสชาติจืดๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นเป็นความน่าสนใจที่เข้ามาสอดรับกลุ่มคนที่อาจไม่ปลาบปลื้มอาหารคลีนๆ เท่าไรนัก แต่ก็ยังอยากดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองด้วยเช่นกัน
ไม่รู้ว่าจากนี้ไป มนุษย์เราจะยังสรรหาวิธีการกินอาหารรูปแบบไหนมาทำให้สุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักให้ได้ดั่งใจได้อีก? แต่รับรองว่าไม่จบลงแค่นี้แน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- home.bt.com/lifestyle/health/diet/from-cabbage-soup-to-lots-of-pineapple-a-look-back-at-the-weirdest-fad-diets-in-history-11364240825858
- www.precisionnutrition.com/rr-grapefruit-diet
- www.thv11.com/article/news/health/age-old-grapefruit-diet-healthy-or-hazardous/455825972
- www.pittmandavis.com/blog/the-history-of-grapefruit-weight-loss/
- www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-history-of-health-food-part-1-antiquity-69835382/
- theculturetrip.com/north-america/usa/articles/the-ultimate-history-of-healthy-eating/
- www.bbc.com/news/magazine-20695743
- www.encyclopedia.com/science/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/grapefruit-diet
- ในช่วงปีคริสต์ศักราช 1928 เกิดแคมเปญให้ลดการกินของหวานเพื่อการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเผละ และเชิญชวนให้คุณไปสูบบุหรี่แทน! ซึ่งการตลาดในแคมเปญที่ชื่อ ‘Reach for a Lucky cigarette, instead of a sweet’ นี้เกิดจากบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ชื่อดังอย่าง Lucky Strike มุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง และขายภาพการดูแลรูปร่างให้ ‘สเลนเดอร์’ อยู่เสมอของผู้หญิง โดยบอกให้พวกเธองดของหวาน และเลือกบุหรี่แทนสิ ในการปล่อยแคมเปญนี้เกิดเป็นข้อถกเถียงว่าด้วยการสื่อสารผิดพลาดของแบรนด์ ว่าทำไมถึงเลือกที่จะให้สูบบุหรี่แทนการกินของหวานซึ่งมีโทษไม่แพ้กัน