×

การทำ IF เสี่ยงตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91% จริงหรือไม่

20.03.2024
  • LOADING...
ทำ IF

“การจำกัดเวลากิน 8 ชั่วโมงมีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91%” เพื่อนๆ ทำ IF กันอยู่หรือเปล่า เมื่อคืน (รวมถึงเช้านี้) หลายคนน่าจะได้อ่านพาดหัวข่าวงานวิจัยชิ้นหนึ่งขณะกำลังทำ IF อยู่ ผมเองก็เช่นกัน

 

ความคิดแวบแรกคือออกฟาสต์ตอนนี้ทันไหม? เรากำลังมาถูกทางหรือไม่ และจะวางแผนมื้อถัดไปอย่างไร แต่ช้าก่อน… เวลาได้ยินข่าวงานวิจัยใหม่อย่าเพิ่งรีบเชื่อ! เพราะต้องเข้าไปอ่านงานวิจัยกันก่อน

 

งานวิจัยที่ว่ามีชื่อเต็มว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างการจำกัดเวลาบริโภคอาหาร 8 ชั่วโมงกับอัตราตายจากทุกสาเหตุและอัตราตายเฉพาะโรค’ (Association of 8-Hour Time-Restricted Eating with All-Cause and Cause-Specific Mortality) ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง ซึ่งนักวิจัยเผยแพร่ผลการศึกษาในงานประชุมวิชาการของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA) ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2567

 

AHA นำงานวิจัยนี้มาเผยแพร่ต่อผ่านเว็บไซต์ โดยบรรณาธิการระบุหมายเหตุว่า “เป็นผลการศึกษาเบื้องต้น จนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีกระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ”

 

นักวิจัยค้นพบอะไรบ้าง?

 

ผลการวิจัยมีประเด็นสำคัญตามที่ AHA สรุปทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

  1. การจำกัดเวลากินน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91%
  2. ความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น (จากการกิน 8 ชั่วโมง) ยังพบในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมะเร็ง
  3. ในผู้ป่วยโรคหัวใจ การกิน 8-10 ชั่วโมงยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 66%
  4. การจำกัดเวลากินไม่ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ
  5. การกินมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะตายจากมะเร็งที่ลดลงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

 

แสดงว่าการทำ IF ที่เข้มข้นกว่าสูตร 16/8 (ช่วงกินน้อยกว่า 8 ชั่วโมง) มีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ทั้งในคนทั่วไปและผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมะเร็ง โดยคำว่า ‘เพิ่มขึ้น’ เป็นการเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่จำกัดเวลากิน (ช่วงกินอาหาร 12-16 ชั่วโมง)

 

เมื่อเข้าไปอ่านตารางผลการศึกษาการตายจากโรคหัวใจในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่าการกินน้อยกว่า 8 ชั่วโมงมีความเสี่ยง (Hazard Ratio: HR) เท่ากับ 1.91 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.20-3.03) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-Value = 0.006) ซึ่งตรงกับที่พาดหัวข่าวว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 91%

 

ส่วนการกิน 8-10 ชั่วโมงมี HR เท่ากับ 1.25 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.92-1.71) ไม่ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าในคนทั่วไปการทำ IF สูตร 16/8 (ช่วงกิน 8-10 ชั่วโมง) ไม่มีความเสี่ยงที่จะตายจากโรคหัวใจ

 

นักวิจัยศึกษาอย่างไร?

 

แต่การจะนำผลการวิจัยนี้ไปใช้จะต้องประเมินความน่าเชื่อถือก่อน ซึ่งต้องอ่านถึง ‘วิธีการวิจัย’ และถ้ารูปแบบการวิจัยน่าเชื่อถือจะต้องพิจารณาว่า ‘กลุ่มตัวอย่าง’ ในงานวิจัยนั้นๆ ตรงกับเราหรือไม่ด้วย

 

AHA สรุปวิธีการวิจัยนี้ไว้ 4 ประเด็น ดังนี้

  1. การวิจัยนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 20,000 คน อายุเฉลี่ย 49 ปี
  2. กลุ่มตัวอย่างได้รับการติดตาม ค่ามัธยฐานเวลา 8 ปี และนานที่สุด 17 ปี
  3. ข้อมูลได้จากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการระดับชาติ (NHANES) กลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ระหว่างปี 2546-2561 และตอบแบบสอบถามการบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (24-Hour Dietary Recall) จำนวน 2 ครั้ง ภายในปีแรกของการเข้าร่วมโครงการ
  4. กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและหญิงอย่างละครึ่ง เชื้อชาติแบ่งเป็นชาวผิวขาวที่ไม่ได้มีเชื้อสายละติน (Non-Hispanic White) 73.3% เชื้อสายละติน 11% ชาวผิวดำไม่ได้มีเชื้อสายละติน (Non-Hispanic Black) 8% และอื่นๆ 6.9%

 

แสดงว่างานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสังเกต (Observational Study) คือผู้วิจัยเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างแล้วติดตามว่ากลุ่มตัวอย่างตายจากโรคหัวใจ มะเร็ง หรือสาเหตุอื่นหรือไม่ แต่ยังมีน้ำหนัก ‘น้อยกว่า’ การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Study) คือผู้วิจัยจะต้องแบ่งกลุ่มตัวอย่างทดลองทำ IF และไม่ทำ IF เปรียบเทียบกัน เหมือนกับการทดลองวัคซีนโควิด-19 เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

จุดแข็งของงานวิจัยนี้คือจำนวนกลุ่มตัวอย่างหลักหมื่นคน แต่มีจุดอ่อนที่สำคัญคือข้อมูลการกินเป็นแบบสอบถามแบบให้ตอบด้วยตนเองย้อนหลัง ซึ่งอาจมีความผิดพลาดจากความจำของผู้ให้ข้อมูล และความสม่ำเสมอของการกินในรูปแบบนั้นๆ เพราะเป็นการตอบแบบสอบถามเพียง 2 ครั้ง

 

ดังนั้นจึงยังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่าการทำ IF เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจหรือไม่

 

เราควรทำ IF ต่อหรือไม่

 

ผลการวิจัยนี้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการวิจัยในอนาคต เช่น การวิจัยในประชากรเอเชียว่าผลการศึกษาสอดคล้องกันหรือไม่ การวิจัยกลไกทางชีวภาพว่าการจำกัดเวลากินเชื่อมโยงกับการตายจากโรคหัวใจอย่างไร และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำ IF ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เป็นรายกรณีก่อนเปลี่ยนแนวทางการรักษา

 

นอกจากนี้คงต้องรอให้บทความวิจัยนี้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ก่อน แล้วเราค่อยมาคุยกันอีกรอบครับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising