ตลอดปี 2564 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อีกหลายเหตุการณ์ยังคงวนเวียนและต่อเนื่อง หรืออาจลากยาวข้ามไปปีหน้า
ในจำนวนหลายหมื่นภาพถ่ายจากช่างภาพของ THE STANDARD ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดปี 2564 ตามไทม์ไลน์ นี่คือ 101 ภาพที่คัดสรรมาบอกเล่าแก่ผู้อ่าน เพื่อย้อนทวนความทรงจำเป็นบทเรียนรวมถึงมองภาพในอนาคตไปพร้อมๆ กัน
มกราคม
เจ้าหน้าที่เดินอยู่บริเวณลานริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม ซึ่งมีการปรับรูปแบบของการจัดงานฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 โดยงดกิจกรรมเคานต์ดาวน์และคอนเสิร์ตทั้งหมด แต่ยังคงมีการแสดงพลุ และมีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/iconsiam-countdown-exhibits-fireworks-covid-19-era/
หุ่นมาสคอตแมคโดนัลด์สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดที่กลับมาตั้งแต่เดือนสุดท้ายของปี 2563 และข้ามมาถึงปีใหม่ พร้อมๆ กับมาตรการการควบคุมโรคที่กลับมาเข้มข้นกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีมาตรการหลายอย่าง เช่น การห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในช่วงเวลาที่กำหนด การห้ามบริโภคสุราที่ร้าน ปิดสถานบันเทิง สถานบริการ และมีมาตรการที่เข้มข้นในสถานที่ต่างๆ / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/first-work-day-new-year-2021/
แม่ค้าขายอาหารย่านถนนประดิพัทธ์กำลังเก็บร้าน หลังจากกรุงเทพมหานครออกประกาศมาตรการให้ร้านอาหาร ห้ามให้บริการลูกค้านั่งที่ร้านหลังเวลา 21.00 น. โดยให้ซื้อแบบกลับไปรับประทานที่บ้าน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 จากเดิมที่ย่านนี้จะปิดราว 23.00 น. หลายร้านจึงเลือกที่จะปิดร้านในช่วงเวลาที่บังคับใช้มาตรการห้ามนั่งที่ร้านไปพร้อมกันเนื่องจากไม่มีลูกค้ามาซื้อ / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/sellers-decide-to-close-store-at-9pm/
บรรยากาศตลาดคลองเตยขณะปิดทำความสะอาด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 หลังจากที่กรุงเทพมหานครตรวจเชิงรุกเพื่อควบคุมเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ค้าและแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 4 ตลาดในพื้นที่ตลาดคลองเตย ประมาณ 3,000-4,000 คน พบว่าผลการตรวจทางน้ำลาย มีผู้ค้าคนไทย 1 คน มีผลตรวจโควิดเป็นบวก ต้องมีการกักตัว 14 วัน พร้อมทั้งกักตัวคนใกล้ชิดในบ้านเช่า คนในแผงเดียวกัน และแผงใกล้เคียงกว่า 10 คน ผลการตรวจพบผู้ค้าติดเชื้อ 1 คน ทำให้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ตลาดคลองเตยต้องปิดทำความสะอาด / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/klongtoey-market-close-due-to-coronavirus/
กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้กิจกรรม ‘พระคุณที่สาม งดงามแจ่มใส วันครูปีนี้ขอมอบของขวัญคืนครู’ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้องยุติความรุนแรงในสถานศึกษาทุกรูปแบบ โดยมีการนำไม้เรียว ไม้บรรทัดมาวางกองไว้ด้านหน้าป้ายกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งติดป้ายข้อความว่า ‘วันครูปีนี้ หนูขอครูอย่าทำร้ายหนู’ และ ‘เอาไม้เรียวคืนไป เอาความปลอดภัยคืนมา’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/bad-students-group-hosting-teacher-day-at-moe/
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มการ์ดปลดแอก ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำผ้าสีขาวยาว 112 เมตร จำนวน 3 ผืน ให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความสื่อถึงผู้มีอำนาจและรัฐบาล โดยเฉพาะการเรียกร้องให้หยุดใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/police-bring-force-to-mob-due-to-coronavirus-restricted-area/
เว็บไซต์ AirVisual รายงานสถานการณ์ฝุ่นรอบโลกฉบับเรียลไทม์ ช่วงเวลา 08.00 น. ของวันที่ 16 มกราคม 2564 พบว่า ผลการจัดอันดับค่าฝุ่นรอบโลกของประเทศไทย เฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณฝุ่นแบบภาพรวมที่ 219 US AQI ส่วนปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยที่ 168.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลายเป็นประเทศที่มีค่าฝุ่นสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/bangkok-pm2-5-ranked-at-7-place-in-the-world/
เจ้าของร้านอาหารย่านบางรักปลดป้ายร้านออกเพื่อย้ายออกจากอาคารที่เช่า หลังจากที่เตรียมตัวจะเปิดในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ แต่ไม่สามารถที่จะเปิดต่อได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 1 เดือนหลังจากที่จังหวัดสมุทรสาครแถลงพบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรก เป็นหญิงวัย 67 ปี อาชีพเจ้าของแพปลาในตลาดกุ้ง และในเวลาต่อมาก็ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆ และนับเป็นการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทย / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/one-month-after-coronavirus-new-wave-hit-small-businesses/
ผู้บริหารและพนักงานห้างสรรพสินค้าโตคิวยืนส่งลูกค้าและโค้งแสดงความเคารพ ก่อนที่จะกล่าวขอบคุณและคำอำลา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 ถือเป็นวันสุดท้ายที่ ‘ห้างสรรพสินค้าโตคิว’ สาขาศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เปิดดำเนินการเป็นวันสุดท้าย ปิดฉาก 35 ปีของอีกหนึ่งห้างญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งการปิดในครั้งนี้เกิดขึ้นคล้อยหลังเพียง 5 เดือนหลังจาก ‘อิเซตัน’ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ได้ปิดตัวไปเช่นกัน / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา
https://thestandard.co/closed-tokyu-department-store-mbk-branch/
กุมภาพันธ์
ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยถือรูปภาพ ออง ซาน ซูจี ขณะรวมตัวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/anti-coup-rally-front-of-myanmar-embassy/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขณะที่ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา และมีกลุ่ม WeVo นำโดย โตโต้ ปิยรัฐ เข้าร่วม หลังมีการประกาศจากสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาให้ยุติการชุมนุม ขณะที่กลุ่มการ์ด WeVo ได้พยายามตั้งแนวกั้น บางส่วนใช้รั้วแผงเหล็กเป็นแนวกีดขวาง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/police-break-up-anti-coup-rally-front-of-myanmar-embassy/
ผู้เข้าร่วมประมูลกำลังดูโมเดล ลูฟี่ จากการ์ตูน One Piece โมเดล 1:1 ขนาดเท่าตัวจริง ก่อนจะเริ่มประมูล ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในงานการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ไม่เหมาะสมจะเก็บรักษาไว้ ครั้งที่ 1/2564 จากการยึดทรัพย์คดียาเสพติด ประเภทตุ๊กตาโมเดลจำนวน 286 รายการ สำหรับโมเดล ลูฟี่ จากการ์ตูน One Piece โมเดล 1:1 ขนาดเท่าตัวจริง มีผู้ชนะการประมูลได้ไปด้วยราคา 111,000 บาท เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/auction-drug-related-cartoon-models/
ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues นักร้องนักดนตรีที่ออกมาแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับมวลชนคณะราษฎร ได้เข้ามาที่บริเวณอาคารกีฬานิมิบุตร กรมพลศึกษา เพื่อดีดกีตาร์เป็นจังหวะ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตำรวจควบคุมฝูงชนได้มาสแตนด์บายจัดแถวกองร้อยเพื่อดูแลการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ในกิจกรรมรวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/amy-plays-guitar-while-police-gathering/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่บริเวณศาลหลักเมือง ขณะที่กลุ่มราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลหลักเมือง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ‘นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน’ และขอให้ศาลหลักเมืองอยู่ข้างราษฎร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/pro-democracy-protestors-rally-130264-5/
มวลชนกลุ่มราษฎรถือโล่ขณะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณศาลหลักเมือง ขณะที่กลุ่มราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลหลักเมือง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ‘นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน’ และขอให้ศาลหลักเมืองอยู่ข้างราษฎร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/pro-democracy-protestors-rally-130264-5/
สิระ เจนจาคะ พยายามจะเดินไปนั่งฝั่งที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย โดยมี ส.ส. จำนวนหนึ่งเข้าห้ามปราม ก่อนที่สิระจะกลับไปนั่งที่เดิม ระหว่างที่รังสิมันต์อภิปรายช่วงหนึ่งมีการประเด็นที่กล่าวถึงชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทำให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ปารีณา ไกรคุปต์ ลุกขึ้นประท้วง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/rangsiman-rome-situation-analytic/
กลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มราษฎร นำกระดาษที่เขียนว่าเป็น ‘ตั๋วช้าง’ มาโปรยที่หน้าประตูรัฐสภา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และได้ร่วมกันนำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาวที่ร่วมกันเขียนข้อความไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและ ส.ส. มาวางรวมกันที่ถนนทางเข้าประตูรัฐสภา เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/20-feb-rally-announces-next-fight-sprinkle-elephant-tickets/
เด็กหญิงไถสเกตบอร์ดผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่วางกำลังอยู่โดยรอบสนามหลวง ศาลฎีกา และพระบรมมหาราชวัง มีการนำแผงเหล็ก รั้วลวดหนามหีบเพลง และตู้คอนเทนเนอร์ตั้งเป็นแนวกั้นป้องกันภายในสนามหลวง เพื่อเฝ้าระวังหากมีการประกาศเคลื่อนมวลชน หลังกลุ่มราษฎรนัดหมายการชุมนุม โดยมีจุดนัดหมายที่หน้าอาคารรัฐสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/pro-democracy-protestors-rally-200264-2/
ทางการไทยได้รับมอบวัคซีนโควิด Sinovac ล็อตแรก 2 แสนโดส (จากทั้งหมด 2 ล้านโดส) จากบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ด้วยเที่ยวบิน TG 675 ปักกิ่ง-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/sinovac-vaccine-first-lot-arrive-thailand/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มมวลชน REDEM ที่เคลื่อนขบวนไปยังหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ภายใน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตารวมถึงฉีดน้ำหลายครั้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/28-feb-rally-conclusion-photos/
มีนาคม
ชาวเมียนมาในประเทศไทยรวมตัวจัดกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารซึ่งนำโดยกองทัพ ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตหลายรายจากการสลายการชุมนุม ด้วยการร่วมจุดเทียน มีการปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้ชูภาพผู้เสียชีวิต พร้อมร้องเพลงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/myanmar-people-in-thailand-lighting-candles-in-front-of-un
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำสเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดมายังผู้สื่อข่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการปรับ ครม. หลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/prayut-sprayed-alcohol-on-reporters/
ขวดวัคซีน AstraZeneca ที่มีชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกนำมาแสดงให้สื่อมวลชนดู หลัง พล.อ. ประยุทธ์ ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนตามที่ทางทีมแพทย์แนะนำ เนื่องจากการประกาศจากประเทศเดนมาร์กและออสเตรีย รวมถึงประเทศในยุโรป พบผลข้างเคียงที่ทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ จึงมีการประกาศชะลอการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/prayut-vaccine-is-ready-but-postponed/
สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าว สัมผัสอิสรภาพอีกครั้งหลังอยู่ในเรือนจำนาน 1 ปี 2 เดือน ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ และรับการพักโทษด้วยเงื่อนไขกรณีมีเหตุพิเศษ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยต้องติดกำไล EM ไว้ที่ข้อเท้า เป็นระยะเวลา 14 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2564 – 20 พฤษภาคม 2565 และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติตามกำหนดจนกว่าจะพ้นโทษ คือในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 รวม 2 ปี 4 เดือน
/ ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/sorayuth-happy-to-be-back/
เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ลงจากรถควบคุมผู้ต้องขังพร้อมตะโกนว่า “คุกอาจขังตัวเองได้ แต่ไม่อาจขังความจริงได้ ความจริงคือความจริงไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน” ขณะถูกนำตัวมายังศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจหลักฐาน คดีที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎรจำนวนรวม 22 คน เช่น รุ้ง ปนัสยา และ เพนกวิน พริษฐ์ เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีการร่วมชุมนุม 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/detain-people-leader-examine-evidence-section-112-116/
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ลงจากรถควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีเพื่อนมาให้กำลังใจ ก่อนตะโกนว่า “คิดถึง” รุ้งจึงตะโกนกลับไปว่า “กูก็คิดถึง” ขณะที่ถูกนำตัวมายังศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจหลักฐาน คดีที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎรจำนวนรวม 22 คน เช่น รุ้ง ปนัสยา และ เพนกวิน พริษฐ์ เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีการร่วมชุมนุม 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/detain-people-leader-examine-evidence-section-112-116/
ประชาชนต่อแถวเพื่อรอเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดที่บริเวณสวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์ บางแค ขณะที่บัตรคิวที่แจกให้ประชาชนจำนวน 1,000 คิว หมดอย่างรวดเร็ว โดยทางกรุงเทพมหานครได้นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยมาให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อโควิดให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยมีการตรวจเชิงรุกใน 6 ตลาดย่านบางแคและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/bang-kae-coronavirus-check-up/
นักเรียนทำท่าให้กำลังใจเพื่อนในวันสอบวันแรกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี 2564 เพื่อการคัดเลือกผู้สมัครเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่าระบบ TCAS ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/dek64-tcas-first-day/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าการสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM หลังการ์ดและมวลชนบางส่วนเข้ารื้อตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจวางไว้เป็นแนวสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้สถานที่สำคัญรอบท้องสนามหลวง เป็นเหตุให้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการเดินขบวนและไม่มีแกนนำ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/rubber-bullet-tear-gas-water-jet-truck-at-redem-rally/
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แนวร่วมกลุ่มราษฎร เดินทางมารายงานตัวตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งถูกแจ้งข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 116 รวมถึงข้อหาอื่นๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/pasarawale-report-herself-at-germany-embassy/
ฮัน เล (Han Lay) นางงามตัวแทนจากเมียนมาขึ้นกล่าวสปีชบนเวทีการประกวดนางงาม Miss Grand International เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 หลังจากเกิดการรัฐประหารในบ้านเกิดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอกล่าวว่า “วันนี้ ในประเทศเมียนมา ขณะที่ฉันกำลังยืนอยู่บนเวทีแห่งนี้ ยังมีคนที่ต้องล้มตายกว่าหนึ่งร้อยคน ฉันเสียใจต่อผู้คนเหล่านี้ที่ต้องสูญเสียชีวิตไป คนในเมียนมาลงถนนเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ฉันเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ปรารถนาอยากจะเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศเช่นกัน ฉันอยากกล่าวว่า ได้โปรดช่วยเมียนมาด้วย เราต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลกอย่างเร่งด่วนที่สุด / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา
https://thestandard.co/please-help-myanmar-han-lay-miss-grand-myanmar/
มวลชนนอนพร้อมชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงอารยะขัดขืน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ายึดพื้นที่และเตรียมเข้าจับกุม ในการจัดกิจกรรมทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่บริเวณถนนพระราม 5 เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/police-arrested-and-seize-shamai-maruchet-bridge-area/
เมษายน
คนงานกำลังประดับว่าวกระดาษในถนนข้าวสารก่อนเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และอีกหลายจุด รวมทั้งมีบุคคลในวงการต่างๆ ติดเชื้อหลายราย ทำให้การแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครตัดสินใจล็อกโซน สั่งปิดสถานบริการและสถานบันเทิง 3 เขต ได้แก่ วัฒนา คลองเตย และบางแค พร้อมยกเลิกการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2564 ทั้งหมด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/new-covid-19-attacks-songkran-on-khao-san-road
ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โชว์ผลตรวจของตนเองผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้กับทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามภายในโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา โดยกรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/bangkok-preparing-field-hospital-on-new-coronavirus-wave/
พนักงานและผู้ประกอบการถนนข้าวสารที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดต่อแถวเข้ารับการตรวจหาเชื้อจากรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยปีนี้เป็นปีที่สองติดต่อกันที่ถนนข้าวสารเงียบเหงาเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/khao-san-coronavirus-swap-test/
ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก ถูกปรับสภาพให้เป็นโรงพยาบาลสนาม (โรงพยาบาลเอราวัณ 2) เพื่อรองรับสถารการณ์ผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ของกรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ติดโควิดได้ 400 เตียง / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/clearing-hospital-erawan-2/
ภาพของห้องคอลเซ็นเตอร์สายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพของห้องและมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงรูปแบบ สภาพห้องดังกล่าว และตั้งคำถามถึงความพร้อมของการให้บริการ ทำให้หนึ่งในทีมแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลข้อมูลและตอบสนองของสายด่วน 1668 ชี้แจงว่าภาพและข่าวที่สื่อสารออกไป ที่เห็นนั่งทำงานกัน 10 กว่าคนนั้น ทั้งหมดเป็นทีมที่รับข้อมูลมาทอดที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกกรมการแพทย์ ส่วนคอลเซ็นเตอร์ 1668 จะอยู่ที่สถาบันทรวงอก โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ประจำการทั้งหมด 150 คน / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/hotline-1668-department-of-medical-coordination-office/
เช้าวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 วันแรกของสัปดาห์การทำงาน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลัก 2 พันกว่าคนต่อเนื่องมาหลายวัน และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่กรุงเทพมหานครมีมาตรการควบคุมโรคด้วยการสั่งปิดสถานที่ 31 แห่ง และออกประกาศให้สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านหรือเคหสถาน ทำให้บรรยากาศช่วงเช้าในกรุงเทพมหานครเงียบเหงา ไม่คึกคักเร่งรีบเหมือนปกติ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านตามมาตรการ Work from Home / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/quiet-bangkok-work-from-home-measures/
ผู้ประกาศข่าวสวมหน้ากากอนามัยขณะจัดรายการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 หลังจากกรุงเทพมหานครประกาศเรื่องให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก เนื่องจากสตูดิโอถือว่าเป็นสถานที่นอกเคหสถานและสถานที่พำนักตามประกาศดังกล่าว อีกทั้งเป็นสถานที่ที่มีผู้ปฏิบัติงานรวมกันมากกว่า 1 คน มีลักษณะเป็นห้องปิด ซึ่งจะมีผู้เข้ามาใช้งานต่อเนื่อง การทำงานของผู้ประกาศขณะอ่านข่าวหรือจัดรายการจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องสวมหน้ากากตามที่กำหนดในประกาศ / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/tv-show-have-changed-announcer-host-wears-mask/
เจ้าหน้าที่อุ้มเด็กที่มีอาการติดเชื้อโควิดขึ้นรถขนส่งของกองทัพบกเพื่อส่งเข้าสู่ระบบการรักษา หลังจากที่มีการตรวจคัดกรองผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ผู้ที่ติดเชื้อจะถูกส่งตัวมาพักคอยที่วัดสะพาน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตยหลายรายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง เนื่องจากพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันหลายคน และเป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้พักอาศัยอย่างหนาแน่น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/khlong-toei-mass-covid19-testing/
พระสงฆ์วัดสะพานสวมชุดป้องกันขณะปฎิบัติภารกิจ วัดสะพาน เขตพระโขนง ถูกตั้งให้เป็นต้นแบบ ‘ศูนย์พักคอย’ หรือ Community Isolation สำหรับผู้ป่วยโควิดระหว่างรอส่งตัวไปรักษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนคลองเตยมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/khlong-toei-mass-covid19-testing/
เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกัน PPE จัดวางรูปของ น้าค่อม-อาคม ปรีดากุล หรือ ค่อม ชวนชื่น ที่เสียชีวิตจากติดโรคโควิด ก่อนจะประกอบพิธีฌาปนกิจที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ขณะที่ ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ลูกสาวน้าค่อม กล่าวขอบคุณคนไทยทั้งประเทศที่รักและส่งกำลังใจระหว่างน้าค่อมพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/kom-chauncheun-cremation-ceremony-2/
พฤษภาคม
บุคลากรทางการแพทย์ ติดป้ายข้อความ WE ARE WITH YOU ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ที่มาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/healthcare-workers-risk-but-it-is-duty/
คนงานภายในแคมป์ย่านหลักสี่ของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ต่อแถวรับอาหารจากบริษัทเจ้าของแคมป์ที่นำมาแจกจ่าย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 หลังจากมีคำสั่งปิดแคมป์ห้ามเข้าออก พบการระบาดในแคมป์คนงาน โดยหนึ่งในพื้นที่การระบาดสำคัญที่คือแคมป์คนงานหลักสี่ / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/officer-giveaway-food-and-drink-for-laksi-camp-worker/
มิถุนายน
พนักงานเซเว่น-อีเลฟเว่น ติดกระดาษปิดกระจกหน้าร้านสาขาถนนปั้น ถนนสีลม ซึ่งปิดบริการชั่วคราวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ถนนสีลมในช่วงการระบาดของโควิดระลอกสาม เงียบเหงา ตึกแถวที่เคยเป็นร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ปิดสนิทพร้อมขึ้นป้ายปล่อยเช่า แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น บนถนนเส้นนี้ต้องปิดชั่วคราว เพราะไม่มีคนเดิน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/silom-covid-19-situation-2021/
หมอนวดนอนงีบหลับภายในร้าน ขณะที่ร้านถูกสั่งปิดต่อไปอีกอย่างน้อย 14 วัน กิจการประเภทร้านนวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครถูกสั่งปิดอีกครั้ง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกเมษายน ซึ่งนับเป็นการปิดกิจการเป็นครั้งที่ 3 กระทั่ง 31 พฤษภาคม 2564 กรุงเทพมหานครประกาศผ่อนปรนให้กิจการประเภทร้านนวดกลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่แล้วเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้าสู่วันที่ 1 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีคำสั่งให้ชะลอคำสั่งผ่อนปรนของกรุงเทพมหานครไปอีก 14 วัน / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/way-to-death-massage-salons-have-no-choice-to-survive/
นกเกาะอยู่บนเสาไฟเครื่องบินในพื้นที่ อบต.หนองปรือ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 กลายเป็นกระแสและปรากฏการณ์ หลังมีการตั้งคำถามต่อกรณีเสาไฟประติมากรรมกินรีขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ มาก่อนหน้านี้ ทำให้แฟนเพจ ‘ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย’ ได้โพสต์รูปภาพและข้อความระบุว่า เสาไฟเครื่องบินก็มา ต้นละแสน โดยตั้งข้อสังเกตถึงการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมรูปเครื่องบิน ชื่อโครงการ ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองปรือ เลขที่โครงการ 62127044054 งบประมาณ 2,485,000 บาท / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/airport-light-pole-include-in-citizen-tax-or-not/
เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดธงไพรด์ของกลุ่มนักเรียนเลว หลังจากที่มีการนำธงไปพันอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการนัดรวมตัวจัดกิจกรรมแสดงเชิงสัญลักษณ์ แสดงพลังแห่งตัวตน แสดงจุดยืนที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้บุคลากรที่มีความคิดล้าหลังในกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่านักเรียนทุกคนก็คือมนุษย์เหมือนคนอื่น อย่าให้ใครมาทำลายตัวตนของเราลง พร้อมกับจัดม็อบออนไลน์ถ่ายทอดสด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/bad-students-host-online-mob-inside-moe/
กรกฎาคม
เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ซึ่งกองทัพบกร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเข้าสนับสนุนภารกิจระงับเหตุไฟไหม้ ขึ้นบินเพื่อโปรยทิ้งโฟมดับเพลิงบริเวณจุดที่ตั้งโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ โดยเทโฟม 300 ลิตรผสมน้ำ 3,000 ลิตร โปรยโฟมแบบเต็มพื้นที่ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานภาคพื้นดินเข้าฉีดพ่นโฟมดับเพลิงเสริมกำลัง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/helicopter-pour-the-foam/
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสัตว์เรืองรพี อุ้มสุนัขของประชาชนที่นำมาฝากเลี้ยงไว้โดยไม่คิดค่าบริการในช่วงที่ต้องอพยพเคลื่อนย้าย หลังเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/rueangrapee-pet-hospital-opened-free-of-charge-pet-stay/
เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่เก็บร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหญิง อายุ 50 ปี ป่วยโควิด โดยผู้เสียชีวิตรายนี้เดิมมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและมีภาวะอ้วน และรอการจัดสรรเตียงมากว่า 5 วัน จนกระทั่งเสียชีวิตในห้องพักย่านดินแดง ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในห้องพักรวม 6 คนกับญาติและลูก และทั้งหมดติดเชื้อโควิด แต่ได้รับการส่งต่อเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลบุษราคัมแล้ว / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/covid-patient-body-after-waiting-5-days-for-bed/
ประชาชนนั่งต่อคิวในช่วงเวลากลางดึกเพื่อรอบริการตรวจโควิดฟรีที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยผู้ที่ทราบข่าวและต้องการตรวจหาเชื้อได้มาปักหลักต่อคิวอยู่ริมกำแพงวัดจนยาวขึ้นไปถึงสถานีรถไฟฟ้า ตั้งแต่คืนวันที่ 7 กรกฎาคม เพื่อที่จะสามารถรับคิวเข้าตรวจได้วันที่ 8 กรกฎาคม / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/sleep-and-wait-for-covid-test-at-phra-sri-mahathat-temple
ประชาชนที่มารอรับคิวตรวจโควิดที่บริเวณจุดตรวจโควิดเชิงรุก พื้นที่วัดบางขุนเทียนนอก ถนนพระราม 2 ซอย 28 นำขวดน้ำ ขวดเจลแอลกอฮอล์ และสิ่งของอื่นๆ มาวางเพื่อรักษาคิวของตัวเอง ขณะที่เกิดฝนตกหนัก โดยมีประชาชนมารอรับคิวเพื่อตรวจตั้งแต่เวลา 15.00 น. ของวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/water-bottles-alcohol-gel-used-to-queue-for-covids/
บริษัท โลตัส ออกซิเยน จำกัด จัดจำหน่าย เช่า และรับเติมถังออกซิเจน ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กของร้าน เปิดให้อาสาสมัครและกู้ภัยที่ต้องการเติมออกซิเจนแบบถังเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด สามารถเข้ามาเติมออกซิเจนได้ฟรีที่ร้านในช่วงที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อถังออกซิเจนเพิ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลออกประกาศมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เนื่องจากความตื่นตระหนกว่าจะไม่มีเตียงในโรงพยาบาลเพียงพอสำหรับตนเองหากติดเชื้อ จึงต้องมีถังออกซิเจนเอาไว้ติดบ้าน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา
https://thestandard.co/oxygen-tank-shop-in-udom-suk-area/
บรรยากาศค่ำคืนวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 หลังมาตรการเคอร์ฟิวถูกบังคับใช้เป็นวันแรก ตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00-04.00 น. เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัวกับประกาศฉบับดังกล่าว ถนนหลายเส้นในย่านที่ปกติการจราจรหนาแน่นก็ค่อยๆ ลดลง เหลือแต่ความว่างเปล่าและความเงียบของท้องถนน / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/bangkok-curfew-atmosphere/
‘พระพงษ์เพชร สันติกาโร’ กำลังสวมใส่ชุด PPE ซึ่งถูกสวมทับอยู่ภายใต้จีวรสงฆ์เพื่อทำหน้าที่เป็นสัปเหร่อ ช่วยเจ้าหน้าที่แบกโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิดขึ้นฌาปนกิจบนเมรุ วัดชินวรารามวรวิหาร จังหวัดปทุมธานี พระพงษ์เพชรได้ทำหน้าที่สัปเหร่อแบบนี้แทบทุกวันหลังจากเกิดวิกฤตโควิด ขณะที่ในแต่ละวันจะมีศพโควิดเข้ามาวันละ 3-5 ราย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/monk-undertaker-covid-corpse/
ผู้ป่วยโควิดหญิงวัย 59 ปี มีโรคประจำตัว ใส่สายออกซิเจนที่ทางอาสาสมัครกลุ่มเส้นด้ายเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่กำลังรอรถพยาบาลมารับไปส่งที่โรงพยาบาลบุษราคัม ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายระหว่างการประสานงานว่ารถพยาบาลของหน่วยงานไหนจะมารับกันแน่ เพราะไม่มีระบบข้อมูลกลาง หลายครั้งที่แจ้งเคสชนกันทำให้เกิดปัญหาทับซ้อน แต่ที่สุดก็มีรถพยาบาลมารับ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะผู้ป่วยสีแดงและสีส้มที่ยังรอเตียงเป็นจำนวนมาก / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/covid-crisis-patient-beds-are-full/
ผู้ชุมนุมโยนหุ่นจำลองศพใส่กองเพลิง บริเวณแยกนางเลิ้ง หลังจากจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มอื่นอย่างน้อย 15 กลุ่ม นัดหมายชุมมุนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล โดยมีการปะทะกันระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/pro-democracy-protestors-rally-180764-8/
คนไร้บ้านย่านถนนราชดำเนินต่อคิวรับอาหารแจกจากผู้ใจบุญที่มาตั้งโต๊ะแจกจ่ายอยู่เป็นประจำ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ซึ่งถนนราชดำเนินเป็นพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านอยู่มากที่สุด เช่นเดียวกับบริเวณหัวลำโพงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดส่งผลให้คนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 30% จากสถิติการสำรวจคนไร้บ้านเมื่อ พ.ศ. 2562 พบคนไร้บ้านทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 2,719 คน พบมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดคาดว่าจะมีคนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3,535 คน / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/homeless-at-ratchadamnoen-queue-for-food-distribution/
เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เข้าทำคะแนนในรอบชิงชนะเลิศ โตเกียวโอลิมปิก 2020 กีฬาเทควันโด รุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัมหญิง ก่อนจะเป็นฝ่ายเอาชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส จอมเตะชาวสเปนวัย 17 ปี ไป 11-10 คะแนน / ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย
https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-panipak-wongpattanakit-victory/
เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังเตะเอาชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส จอมเตะชาวสเปนวัย 17 ปี ไป 11-10 คะแนน โดยนับเป็นเหรียญทองโอลิมปิกแรกของไทยในกีฬาเทควันโด และ เป็นนักกีฬาไทยคนที่ 10 ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมาครอง / ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย
https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-panipak-wongpattanakit-victory/
อัฐิของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดอย่างน้อย 30 กว่าราย ถูกฝากไว้ที่วัดวัดบางม่วง จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากญาติของผู้เสียชีวิตบางส่วนอาจยังไม่สะดวกมารับได้ทันที ทั้งจากการกักตัว หรือยังอยู่ในขั้นตอนของการรักษาโรคโควิด วัดบางม่วงเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดมาโดยตลอดตั้งแต่สถานการณ์การระบาดเริ่มรุนแรง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/bang-muang-temple-build-corpse-railway/
บรรยากาศที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 มีประชาชนมารอคิวรับการฉีดวัคซีนอย่างหนาแน่น แม้ก่อนหน้านี้จะปรากฏข่าวว่าที่จุดฉีดสถานีกลางบางซื่อจะมีประชาชนมาต่อคิวเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เนื่องจากสามารถเข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าและไม่จำกัดจำนวน สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นอกจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว ยังมีประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/walk-in-vaccination-at-bang-sue-central-station-is-still-crowded/
เจ้าหน้าที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี นำร่างของผู้เสียชีวิตจากโควิดไปเก็บในตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องเช่ามา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หลังจากประสบปัญหาที่เก็บศพไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่แผนกนิติเวชกล่าวกับว่า เมื่อก่อนพวกเขาไม่ได้เจอศพเยอะขนาดนี้ เมื่อก่อนผ่าศพวันละ 3 เคส ไม่เกิน 5 เคส แต่ทุกวันนี้ต้องผ่าศพเกิน 10 เคสทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่ามาจากโควิด ยิ่งถ้าเป็นศพที่ส่งมาจากข้างนอกต้องตีว่าติดเชื้อโควิดไว้ก่อน และทำการตรวจโควิดกับทุกศพ / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/forensic-on-coronavirus-fatal-last-line/
บุคลากรทางการแพทย์กำลังดูแลผู้ป่วยโควิดในห้อง ICU ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่มียอดผู้ติดเชื้อเกินหมื่นรายต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 ขณะที่ระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจไม่สามารถรองรับได้อีกแล้ว เตียง ICU เต็มทุกโรงพยาบาล ส่วนเตียงที่รองรับผู้ป่วยสีเหลืองในโรงพยาบาลก็เต็มหมด นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโควิดอาการระดับสีเหลืองต้องนอนรอในห้องฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาด / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/hospital-crisis-full-icu-room-and-overrun-the-health-system/
สิงหาคม
พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม และพระลูกวัดอีก 2 รูป ถอดชุด PPE หลังจากลงพื้นที่ตรวจโควิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ในพื้นที่ชุมชนละแวกใกล้เคียงวัด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ขณะที่วัดสุทธิวราราม ทำโครงการ ‘พระไม่ทิ้งโยม’ ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกวัน อีกทั้งยังติดตามอาการของผู้ป่วย และนำอาหารรวมทั้งยารักษาโรค มอบให้แก่ผู้ป่วย อีกทั้งวัดได้เปิดอาคาร 4 ชั้นของวัดให้เป็นศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด ขนาด 180 เตียง และมีเตียงสำหรับพระสงฆ์อีก 30 เตียง ก่อนส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ โดยจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/phra-mai-ting-yom
ตู้ขบวนรถไฟบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้ใช้งานแล้วถูกนำมาวางภายในสนามหลวงจากฝั่งหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงฝั่งหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ขณะที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเคลื่อนไปยังพระบรมมหาราชวัง เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกในทันที ให้นำงบสถาบันฯ และกองทัพมาใช้ในการสู้โรคโควิด ให้เปลี่ยนวัคซีนที่อ้างว่าเป็นของเจ้าสัว CP มาใช้วัคซีน mRNA / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-7-aug-2/
กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยทางกลุ่มได้เปลี่ยนจุดนัดหมายจากเดิมที่จะมุ่งหน้าไปยังพระบรมมหาราชวัง เปลี่ยนเป็นมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยนัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งภายในเป็นบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการระดมยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และน้ำผสมแก๊สน้ำตานานเกือบ 2 ชั่วโมง / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/assembly-7-aug-2021-summary/
บุคลากรทางการแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบทกำลังบิดเสื้อที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 เพื่อตรวจโควิดเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) พบว่ามีผู้เข้ารับการตรวจ ATK จำนวน 117,020 คน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจในวันสุดท้าย / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/rural-medicine-club-proactive-test-for-covid-in-bangkok-last-day
ผู้ชุมนุมวิ่งผ่านรถยกของตำรวจที่ถูกเพลิงไหม้บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่นัดหมายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 พร้อมทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทุบและเผาศาลจำลอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ากดดันและสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงย้ายไปชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/assembly-110864-5/
เจ้าหน้าที่นิติเวชกำลังเก็บร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งนอนเสียชีวิตภายในห้องฉุกเฉิน (ER) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เหตุการณ์นี้สะท้อนวิกฤตเตียงในโรงพยาบาลที่ยังคงเต็ม ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักเข้าทำการรักษาได้ จึงต้องนอนรออยู่ภายในห้องฉุกเฉินจนกระทั่งเสียชีวิต ร่างไร้วิญญาณจะถูกห่อสามชั้นตามมาตรฐานการแพทย์ และขนย้ายมาที่ ‘ห้องสุดท้าย’ หรือแผนกนิติเวชในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามยังมีผู้ติดเชื้อโควิดที่เสียชีวิตอีกจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลเข้าระบบไปปรากฏในสถิติของ ศบค. / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/more-thai-people-die-from-covids-and-other-diseases/
ผู้ชุมนุมใช้ไม้เทนนิสตีแก๊สน้ำตาบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าในกิจกรรม ศุกร์ 13 x ไล่ล่าทรราช และร่วมกันเดินขบวนไปยังบ้านพัก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กรมทหารราบที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้สลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากทางด่วนดินแดงอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-130864-9/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจากบนทางด่วนแดง ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าในกิจกรรม ศุกร์ 13 x ไล่ล่าทรราช และร่วมกันเดินขบวนไปยังบ้านพัก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กรมทหารราบที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-130864-9/
กลุ่มผู้ชุมนุมขับรถเคลื่อนขบวนลงสะพานพระปิ่นเกล้า ระหว่างการทำกิจกรรมชุมนุม Car Park #ไล่ประยุทธ์ นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะแกนนำผู้จัดกิจกรรม และเครือข่ายไล่ประยุทธ์ หนึ่งในจุดนัดหมายคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมุ่งหน้าไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า-เซ็นทรัลปิ่นเกล้า-ถนนจรัญสนิทวงศ์ วนกลับมาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/assembly-150864-3/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดงขณะที่กลุ่มมวลชนยิงพลุเข้าใส่ การปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นหลังจากมีกิจกรรม Car Park ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-150864-8/
ตุ๊กตาเป็ดถูกนำมาวางไว้ด้านหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่กำลังเข้ากระชับพื้นที่ด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรม ‘สาดสี-ให้มันเป็นสีชมพู’ ของกลุ่มทะลุฟ้า เพื่อประณามโดยการสาดสีตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐที่สาดกระสุนใส่พี่น้องประชาชนที่ร่วมชุมนุมอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-170864-7/
กลุ่มทะลุฟ้านำหุ่นจำลองห่อด้วยผ้าขาวเป็นตัวแทนของผู้เสียชีวิตจากโควิดขึ้นไปห้อยบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างการชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า #ม็อบ18สิงหา ไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยย้ำจุดยืนหลักในการขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไข และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยเสียงของประชาชนเท่านั้น / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-180864-2
รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำสลายกลุ่มผู้ชุมนุมขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการยิงพลุเข้าใส่ ระหว่างการชุมนุมของ ‘กลุ่มทะลุแก๊ซ’ ที่นัดหมายรวมตัวกันที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มาด้วยรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/din-daeng-assembly-rally-second-day/
ส.ต.ต. ปวีณ์กร คำมาเร็ว ร้องไห้พร้อมพูดว่า “ขอความยุติธรรมให้ผมด้วยครับ” ระหว่างที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัว 5 นายตำรวจ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ไปขออำนาจศาลจังหวัดนครสวรรค์เพื่อฝากขัง กรณี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ และพวก คลุมถุงดำผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดเสียชีวิต ที่สถานีตำรวจภูธร เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/arrested-5-policeman-on-thitisan-case-2/
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ถูกนำตัวมาสอบสวนต่อที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 หลังก่อเหตุใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติด รุมซ้อม เพื่อรีดข้อมูลยาเสพติดจนเสียชีวิต แล้วหลบหนีไป โดยเจ้าหน้าที่สามารถติดตาม และมีการติดต่อขอเข้ามอบตัวที่ สภ.แสนสุข จังหวัดชลบุรี / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/former-police-superintendent-joe-case-3/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาปิดกั้นช่องทางจราจร 3 ช่องทาง บนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก บริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนดินแดง เพื่อเป็นจุดสกัดไม่ให้เคลื่อนผ่านเข้าไปยังบริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 ซึ่งภายในเป็นบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-290864-2/
กันยายน
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กรณีไลฟ์ฝากธรรมะ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/2-monks-to-explain-to-the-religious-committee/
พนักงานสหกรณ์บวรแท็กซี่และราชพฤกษ์แท็กซี่ กำลังรดน้ำผักที่ปลูกอยู่บนหลังคารถแท็กซี่ที่ถูกจอดทิ้งไว้ในพื้นที่ของอู่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในทุกระลอก ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถได้ โดยเฉพาะรถแท็กซี่ที่มีราคาค่างวดค่อนข้างสูง รวมค่าผ่อนตลอดสัญญาแตะล้านบาทเศษ ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางสหกรณ์แท็กซี่แห่งนี้เคยเดินทางไปร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทว่าไม่มีการตอบรับ บางครั้งได้เพียงถุงยังชีพกลับมา ทำให้พนักงานของสหกรณ์ฯ ที่ยังทำงานอยู่ต้องปลูกผักเพื่อประทังชีวิต เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/taxi-cooperative-crisis/
ทีม ‘สายไหมต้องรอด’ จัดพิธีทำบุญส่งดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตจากโควิด ที่วัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 หลังจากวัดเผาศพครบ 200 ศพ พร้อมกับประกาศตามหาญาติของผู้เสียชีวิตอีก 18 รายที่ยังไม่มาติดต่อขอรับอัฐิ เนื่องจากมีบางรายเสียชีวิตทั้งครอบครัว อีกทั้งยังมีอัฐิของผู้เสียชีวิตไม่ทราบชื่ออีกด้วย / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/saimaitongrot-180964/
กลุ่มต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขว้างถุงน้ำปลาร้าใส่ป้ายต้อนรับ บริเวณท่าน้ำนนท์ ระหว่างที่ พล.อ. ประยุทธ์ ตรวจการณ์เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ขบวนรถยนต์ของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเป็นรถเปล่าที่มารอรับได้มาถึงที่หอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ ทำให้กลุ่มมวลชนตะโกนไล่ ก่อนที่ขบวนรถจะขับวนออกไป ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับกลุ่มมวลชนที่เข้าไปชิดกับขบวนรถ พร้อมกับมีการขว้างขวดน้ำและถุงปลาร้าเข้าใส่ขบวนรถจนเกิดเหตุชุลมุน โดย พล.อ. ประยุทธ์ เปลี่ยนจุดขึ้นเรือจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะนั่งเรือมาขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/flood-in-thailand-2564-38/
ประชาชนที่อยู่ในชุมนุมหลังวัดท่ามะนาว ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เดินฝ่ากระแสน้ำเพื่ออพยพ โดยด้านในชุมนุมมีบ้านบางหลังจมอยู่ในระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร และบริเวณทางออกของชุมนุมมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว จนไม่สามารถเดินทางอพยพออกมาได้ด้วยตนเอง ต้องมีทีมอาสากู้ภัยคอยช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/flood-in-thailand-2564-2/
ตุลาคม
นักเรียนปิดหน้าด้วยความกลัวเข็มระหว่างการฉีดวัคซีน Pfizer วันแรกให้กับนักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถนนลาดพร้าว โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/pfizer-injections-to-students-before-school-starts-nov-1/
เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลนำตำรวจเข้าตรึงกำลัง และตรวจค้นรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยในชุมชนแฟลตดินแดง 1 ในซอยที่เคยเป็นจุดรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นที่มาชุมนุม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 หลังเกิดเหตุตำรวจควบคุมฝูงชนถูกยิงด้วยกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม โดย บช.น. ได้ใช้กำลังตำรวจ 2 กองร้อย จากฝ่ายป้องกันและปราบปราม ในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 มารักษาความเรียบร้อยตลอดทั้งคืน / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/police-take-control-of-the-din-daeng-flat/
กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกยืนอยู่ด้านหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกคลุมผ้าสีรุ้งไว้เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ ระหว่างการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘เปลือย’ เพื่อเรียกร้องเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน ยกเลิกมาตรา 112 และ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องออกไป เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-091064/
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนวิ่งผ่านรูปของ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง จากการร่วมกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่กลุ่มมวลชนนัดทำกิจกรรมไว้อาลัยหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ จนเกิดเป็นเหตุชุลมุนขึ้นระหว่างการจุดเทียนและวางดอกไม้ / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/commemorate-youth-warit-somnoi/
พฤศจิกายน
คนงานกำลังทำการรื้อถอนโรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อปรับปรุงพื้นที่ หลังจากมีข่าวออกมาว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ชนะประมูลในการพัฒนาบริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงภาพยนตร์สกาลาถือเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 50 ปี โดยมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่งดงาม / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/the-memorial-of-scala/
ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนเชิงสะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้) เก็บข้าวของออกจากบ้านของตนเอง หลังนำ้จากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำเอ่อท่วมบริเวณชุมชนโดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่บริเวณเขตคันกั้นน้ำ ประชาชนบริเวณนี้ส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่าน้ำมาเร็วและไม่มีการแจ้งเตือนจากทางการ จึงไม่ได้เตรียมตัวยกของหรือวางแนวกระสอบทรายกันน้ำเข้ามาบริเวณพักอาศัยหรือร้านค้า ทำให้ได้รับความเสียหายจากการท่วมครั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/sang-hee-bridge-community-flood/
กลุ่มผู้ชุมนุมยืนถือป้ายบริเวณสี่แยกปทุมวัน จากนั้นกลุ่มมวลชนเดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องคือ ไม่เอาระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พร้อมกันนี้แกนนำอ่านแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้อง โดยแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย และส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือฯ ต่อเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/assembly-141164-10/
โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย ทำการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาก่อนที่จะเข้าชั้นเรียน ในวันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/secondary-schools-in-bangkok-are-back-to-open-on-site-classes-again/
‘แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส’ Miss Universe Thailand 2021 เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีแฟนคลับจำนวนมากมารอต้อนรับ ก่อนที่จะเดินทางไปประชันความงามระดับจักรวาล Miss Universe 2021 ที่ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 / ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
https://thestandard.co/anchilee-scott-kemmis-go-to-israel/
กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้ชื่อว่า ‘เพราะบุคคลนั้นเท่ากัน สมรสจึงต้องเท่าเทียม’ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องไปยังรัฐบาล ว่าสิทธิในการสมรสเป็นของทุกเพศ และต้องมีความเท่าเทียม พร้อมล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ตั้งเป้า 1 ล้านรายชื่อ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/rainbow-parties-for-equality-marriage-281164/
ธันวาคม
ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ มหาไพรวัลย์ อดีตพระลูกวัดวัดสร้อยทอง เปิดใจหลังลาสิกขาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สาเหตุที่ตัดสินใจสึกในครั้งนี้มี 2 เรื่อง คือการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของทางคณะสงฆ์ กรณีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และแม่เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกมะเร็ง และไม่รู้ว่าหลังการผ่าตัดจะเป็นอย่างไร จึงสึกออกมาวันนี้เพื่อให้แม่ได้เห็นและได้รับกำลังใจจากตนเอง / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/paiwan-wannabut-not-losing-faith-in-buddhist/
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง กับบรรยากาศในช่วงใกล้ค่ำของวันที่ 3 ธันวาคม 2564 หัวลำโพงกลายเป็นกระแสข่าวร้อนในช่วงที่ผ่านมา หลังมีหลายภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่นักวิชาการ ภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชน ตลอดจนตัวแทนคนรถไฟ ได้แสดงความห่วงใยและเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกรุงเทพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังเปิดสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการ / ภาพ: ฐานิส สุดโต
https://thestandard.co/hua-lamphong-big-changes-for-railway/
เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายการชุมนุม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาเครือข่ายได้เดินทางมาปักหลักที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพื่อมาทวงสัญญา SEA (Strategic Environmental Assessment) หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ภาคประชาชน จากรัฐบาลในโครงการนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ จังหวัดสงขลา / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/crowd-control-officer-dissolved-chana-group/
ไครียะห์ ระหมันยะ พร้อมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นบริเวณแยกมัฆวานรังสรรค์ไม่ให้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินไปปักหลักค้างหน้าทำเนียบ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อรอฟังมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งย้ำว่ามติของ ครม. ที่ต้องการคือ จะต้องมีการอนุมัติให้ตั้งนักวิชาการมาศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้ยกเลิกมติของ ครม. เกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ / ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
https://thestandard.co/chanarakthin-131264/
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 สื่อมวลชนและประชาชนนำโดย The Reporters, Voice TV, THE STANDARD, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน
กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ‘ตัดเน็ต’ ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ต่อมาศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ก่อนที่จะมีการยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวในเวลาต่อมา / ภาพ : ศวิตา พูลเสถียร