×

EXCLUSIVE: เครื่องบิน NASA มาทำอะไรในไทย? ไขข้อสงสัยกับทีมวิจัยบนเครื่องบิน DC-8

27.03.2024
  • LOADING...

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม เครื่องบิน Douglas DC-8 ที่ถูกขนานนามเป็น ‘ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า’ ของ NASA ได้ขึ้นบินสำรวจเหนือพื้นที่ต่างๆ ในน่านฟ้าไทย เช่นกันกับการทำ Missed Approach โฉบลงต่ำเหนือรันเวย์สนามบิน ก่อนเดินเครื่องไต่ระดับความสูงกลับขึ้นไปอีกครั้ง

 

เนื่องจากเครื่องบิน DC-8 ลำนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ รอบลำตัวเครื่องบิน ทำให้เกิดความกังวลและความสงสัยจากประชาชนบางส่วนถึงวัตถุประสงค์ และภารกิจที่แท้จริงขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ระหว่างทำการบินในประเทศไทย

 

THE STANDARD ได้เป็นตัวแทนสื่อมวลชนที่ผ่านการอนุมัติโดย NASA ให้ร่วมเดินทางขึ้นบินไปกับเครื่องบิน DC-8 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นับเป็นเที่ยวบินที่ 3 ของโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบในบรรยากาศ และตรวจวัดปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศในประเทศไทย

 

“เที่ยวบินวันนี้ใช้เวลารวมประมาณ 8 ชั่วโมง เราจะบินตามแผนเหมือนกับสองวันแรก และถ้าสภาพอากาศเป็นใจ วันนี้จะได้บินเหนือโรงไฟฟ้าที่ลำปาง (แม่เมาะ)” คือบางส่วนของข้อมูลการบินระหว่างการบรีฟโดยเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง DC-8 ที่ทั้งนักบิน ช่างเครื่อง วิศวกร นักวิจัย รวมถึงผู้ร่วมภารกิจทุกคนต้องเข้ารับฟังในช่วงเช้าของวันเดินทาง ก่อนตามด้วยขั้นตอนการเช็กชื่อผู้ร่วมเดินทางอีกครั้ง

 

ในระหว่างเดินทางไปขึ้นเครื่อง ดร.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านเคมีบรรยากาศจากศูนย์วิจัยแลงลีย์ของ NASA ผู้เป็นหัวหน้าทีมภารกิจ ASIA-AQ ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า “ภารกิจของเราเป็นการศึกษาคุณภาพอากาศในทวีปเอเชีย ร่วมกับประเทศพันธมิตรต่างๆ ซึ่งอยู่ในขอบเขตที่ดาวเทียม GEMS สามารถบันทึกข้อมูลจากอวกาศได้ และมีโครงสร้างระบบตรวจวัดในสถานีภาคพื้นที่มีความพร้อม

 

“สิ่งสำคัญที่เราอยากเห็นในภารกิจนี้คือ การได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศนั้นๆ อย่างในไทย เราได้มีความร่วมมือกับ GISTDA เช่นเดียวกับ NARIT กรมควบคุมมลพิษ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถใช้ข้อมูลจากการขึ้นบินทำภารกิจ ASIA-AQ ไปเป็นรากฐานการแก้ปัญหาด้านคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนได้”

 

หลังจากแยกย้ายกับ ดร.ครอว์ฟอร์ด ที่ไม่ได้ร่วมขึ้นบินไปกับเที่ยวบินนี้ด้วย (แต่ก็ยังประจำการอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาจนพวกเรากลับมาถึง) NASA ได้เปิดโอกาสให้ THE STANDARD เข้าร่วมสังเกตการณ์ระหว่างที่นักบินนำเครื่องบิน DC-8 เทกออฟจากรันเวย์ที่อู่ตะเภา ไปจนถึงการลดระดับลงทำ Missed Approach เหนือรันเวย์ 21R ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นครั้งแรก

 

เมื่อพ้นจากช่วงเทกออฟ รวมถึงช่วงเวลาที่เครื่องต้องไต่ระดับขึ้น-ลง เพื่อเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศจากระดับความสูงที่ต่างกันแล้ว ทีมวิศวกรประจำด้านหน้าและด้านหลังของเครื่องจะเดินตรวจความปลอดภัยอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ทุกคนสามารถเดินไปมารอบเครื่องได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องใส่หูฟังตัดเสียงอยู่ตลอดเวลา

 

เลสเตอร์ มากี หนึ่งในวิศวกรประจำเครื่อง DC-8 ให้ข้อมูลระหว่างที่ผู้เขียนกำลังกลับออกจากห้องนักบินว่า “เหตุผลที่เครื่องต้องลดระดับลงต่ำเหนือรันเวย์สนามบิน เพราะเครื่องบินไม่สามารถลดระดับต่ำกว่า 1,000 ฟุตนอกเขตสนามบินได้ และการไม่นำล้อลงไปสัมผัสรันเวย์ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ควันจากการที่ล้อสัมผัสพื้นไปปนเปื้อนกับอุปกรณ์ตรวจวัดบนเครื่องบิน”

 

บนเครื่องบิน DC-8 มีอุปกรณ์ตรวจวัด 26 ชิ้น ที่ติดตั้งไว้บริเวณภายนอกเครื่องบิน เพื่อนำอนุภาคและก๊าซจากอากาศภายนอกเข้ามาศึกษากับอุปกรณ์ที่อยู่ในเครื่อง โดย ดร.ริชาร์ด มัวร์ นักวิจัยด้านละอองลอยและอากาศจากศูนย์วิจัยแลงลีย์ของ NASA หัวหน้าทีมของอุปกรณ์ LARGE หรือ Langley Aerosol Research Group Experiment ชี้ให้เราเห็นทางเดินท่ออากาศทิ้งจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไล่ไปตามด้านข้างของลำตัวเครื่องบิน ก่อนนำไปปล่อยทิ้งทางตอนท้ายของเครื่อง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับอุปกรณ์ทดลองอื่น

 

“เรามีการบินขึ้น-ลงที่ระดับความสูงต่างกัน เพื่อดูว่าเราสามารถเห็นความหนาแน่นของมลภาวะที่ความสูงเท่าใด เช่นกันกับตรวจดูขนาดของอนุภาคเหล่านี้ เพื่อหาว่าแหล่งกำเนิดมลภาวะมาจากไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะแสดงผลออกไปยังจอที่ติดตั้งอยู่ทุกแถวของเครื่องบิน เพื่อให้นักวิจัยแต่ละทีมสามารถร่วมดูข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตามเวลาจริง”

 

ดร.มัวร์ ยังชี้ให้เราดูการทดลอง SAGA หรือ Soluble Acidic Gases and Aerosols ของ ดร.แจ็ก ดิบบ์ ที่มีการนำฟิลเตอร์มาเปลี่ยนเพื่อเก็บตัวอย่างละอองลอยจากนอกเครื่องบิน “อุปกรณ์บางชิ้นเป็นระบบอัตโนมัติที่คุณแค่กดปุ่มแล้วก็ปล่อยให้เครื่องเก็บข้อมูลได้เลย แต่คุณจะเห็นว่าแจ็กเป็นคนที่ยุ่งที่สุดคนหนึ่งของเครื่องเลย เขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนฟิลเตอร์ตลอดทั้งเที่ยวบิน นำตัวอย่างไปแช่เย็นที่หลังเครื่อง และกลับมารอเปลี่ยนฟิลเตอร์อีกครั้ง พร้อมกับเป็นคนตัดสินใจหลักๆ ว่าเราจะบินไปสำรวจบริเวณไหนด้วย”

 

หนึ่งในสิ่งที่นักวิจัยค่อนข้างสนใจจากการขึ้นบินในเที่ยวบินที่ 3 คือการได้บินเหนือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นเที่ยวบินแรก เนื่องจากทัศนวิสัยในสองเที่ยวบินก่อนหน้าไม่เป็นใจให้เครื่องบินไปสำรวจได้ โดยพบว่าอุปกรณ์ตรวจวัดพบการพุ่งขึ้นของค่าคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตริกออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างบินผ่านเหนือบริเวณเหมืองและโรงไฟฟ้า

 

นักวิจัยจากแต่ละทีมมีการพูดคุยแบ่งปันข้อมูลที่พวกเขาตรวจพบได้ผ่านระบบสื่อสารบนเครื่องบิน เช่นกันกับมีการจดบันทึกช่วงเวลาและข้อมูลสำคัญที่พวกเขาตรวจพบ เพื่อนำลงมาวิเคราะห์เพิ่มเติมที่ภาคพื้นอีกครั้ง (แต่ระบบสื่อสารนี้ก็มีการหยอกล้อเล่นมุกกันบ้าง เมื่อเครื่องอยู่ในช่วงการบินปกติ หรือไม่ได้พบความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ)

 

ดร.มัวร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณจะเห็นว่าเรามีนักวิจัยจากหลายทีม หลายหน่วยงาน กำลังศึกษาข้อมูลตามที่อุปกรณ์ของพวกเขาต้องการสำรวจ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเราเหมือนกำลังทำงานวิจัยขนาดใหญ่ ที่อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่เราสำรวจ ซึ่งถ้าข้อมูลจากอุปกรณ์ทุกชิ้นได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกัน แปลว่าเรากำลังทำงานนี้ได้ถูกต้อง และการตรวจวัดที่ได้มานั้นสามารถเชื่อถือได้ และจากตลอดช่วงที่เราขึ้นบินมานั้น ข้อมูลที่อุปกรณ์จากแต่ละทีมตรวจวัดได้ก็บ่งชี้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน”

 

หลังจากขึ้นไปสำรวจน่านฟ้า และเก็บข้อมูล ‘จารกรรม’ อนุภาคในอากาศเหนือประเทศไทยมาตรวจสอบ (และปล่อยคืนสู่บรรยากาศในภายหลัง) นานกว่า 7 ชั่วโมง 59 นาที เครื่องบิน DC-8 ก็ได้กลับมาลงจอดที่รันเวย์ของสนามบินอู่ตะเภาอีกครั้ง ถือเป็นการสิ้นสุดเที่ยวบินที่ 3 ด้วยการพบปัญหาเล็กน้อยที่เครื่องยนต์ ซึ่งนักบินและทีมวิศวกรได้ลงมาประชุมสรุปรายละเอียดดังกล่าว ก่อนตัดสินใจว่าจะต้องมีการตรวจดูและซ่อมแซมความเสียหายนี้ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม

 

ข้อมูลที่บันทึกได้จากทั้งเครื่องบิน DC-8 และเครื่องบิน G-III จะถูกส่งให้ทีมวิจัยและหน่วยงานต่างๆ ของไทยนำไปศึกษาต่อได้ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาคุณภาพอากาศ ตามหาสาเหตุ และพัฒนาโมเดลการตรวจคุณภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น โดย GISTDA ระบุในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 14 มีนาคมว่า ผลที่ได้จากการวิจัยและศึกษาข้อมูลของโครงการ ASIA-AQ จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี

 

เมื่อถูกถามถึงเรื่องของความเห็นจากภาคประชาชนที่มองว่า NASA อาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝง ดร.ครอว์ฟอร์ด ให้ความเห็นโดยสรุปว่า “เราเองก็เผชิญกับปัญหานี้ที่สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน (ฮา) แต่เรามีวัตถุประสงค์ในการทำงาน และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และเราก็แค่ไปปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ของเรา”

 

สำหรับโครงการ ASIA-AQ เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA กับ National Institute of Environmental Research หรือ NIER ของเกาหลีใต้ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย GISTDA เช่นเดียวกับหน่วยงานต่างๆ ในไทย เช่น NARIT, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising