×

Toxic High: คนเสพติดความ Toxic มีวิธีคิดแบบไหน แล้วเราเป็นหนึ่งในนั้นหรือเปล่า

03.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIns. Read
  • ความคิดแบบ Toxic ทุกแบบล้วนมีฐานมาจากความกลัว (Fear-Based Feelings) ซึ่งความรู้สึกนี้จะดูดเอาพลังงานจากร่างกายของเราไปสร้างเป็นกลไกการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยต่างๆ ที่ร่างกายคาดว่าจะเกิดขึ้น
  • เรามองเห็นความ Toxic ของคนอื่นได้ง่าย แต่มองเห็นความ Toxic ของตัวเองได้ยากกว่ามาก จึงอยากให้คุณลองย้อนกลับมาสำรวจดูก่อนว่าตัวเองมีแพตเทิร์นความคิดที่อาจนำไปสู่ความ Toxic อยู่ในตัวบ้างไหม
  • คำถามก็คือความรู้สึกแย่ๆ พวกนี้ทำให้เราเสพติดได้อย่างไร มันทำให้เรารู้สึก ‘ดี’ ขึ้นมาได้อย่างไรกัน

อย่างที่คุยกันไปในตอนก่อนหน้านี้ (คลิกอ่านว่าความคิดร้ายๆ แบบ Toxic นั้นเป็นเรื่องที่ ‘เสพติด’ ได้)

 

คำถามก็คือ อะไรคือความคิดที่ ‘Toxic’ บ้าง

 

ตัวอย่างของความคิด Toxic ก็คือความกลัว ความโกรธ ความละอาย ความรู้สึกผิด ซึ่งซ่อนอยู่ข้างในลึกๆ แล้วระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมทีหลัง สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างในหรือ Toxic Thinking นั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น คนจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดพฤติกรรมแสดงออกมาแล้ว ความ Toxic จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ว่าต้องมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมากระตุ้นระยะหนึ่ง

 

พูดให้ถึงที่สุด ความคิดแบบ Toxic ทุกแบบล้วนมีฐานมาจากความกลัว (Fear-Based Feelings) ซึ่งความรู้สึกนี้จะดูดเอาพลังงานจากร่างกายของเราไปสร้างเป็นกลไกการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยต่างๆ ที่ร่างกายคาดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหายนะจริงๆ อย่างภัยธรรมชาติ (ซึ่งเราก็จะเอะอะโวยวาย วิ่งหนี หรือมีพฤติกรรมที่ปกติแล้วไม่ทำ แต่คนทั่วไปไม่รู้สึกว่า Toxic เพราะทุกคนเห็นเหมือนกันว่ามีภัยอยู่ตรงหน้า) รวมไปถึงความรู้สึกวิตกกังวลต่อเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเป็นคนหมกมุ่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบ (พวกเพอร์เฟกชันนิสต์ก็อาจทำให้คนอื่นรู้สึกได้ถึงความ Toxic ในตัวได้เหมือนกัน) การเอาแต่สงสัยโน่นนี่ มองโลกในแง่ลบ ไล่ไปจนถึง Toxic แบบเห็นตัวเองเป็นเหยื่อตลอดเวลา รวมไปถึงการชี้นิ้วบงการคนอื่นๆ

 

คำถามก็คือความรู้สึกแย่ๆ พวกนี้ทำให้เราเสพติดได้อย่างไร มันทำให้เรารู้สึก ‘ดี’ ขึ้นมาได้อย่างไรกัน

 

ถึงแม้ความคิด Toxic พวกนี้จะทำให้โลกมืดหม่น แต่เนื่องจากลึกๆ แล้วมันคือกลไกป้องกันตัว ดังนั้นเวลาเราเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมาและได้ปลดปล่อยความกลัวหรือความโกรธพวกนั้นออกไป ร่างกายจะเชื่อมโยงความรู้สึกนี้เข้ากับความรู้สึกดี (Feel Good) เพราะความกังวลต่างๆ มันลดลงเหมือนได้ระบายออกไปในฉับพลันทันที แต่ความรู้สึกดีนี้ นักจิตวิทยาเรียกว่าเป็นความรู้สึกดีเทียม (Pseudo Feel Good) เขาบอกว่าในระยะหลังมีการศึกษาทางประสาทวิทยาเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมความรู้สึก Toxic ที่น่าจะแย่ๆ นี้จึงทำให้คนรู้สึกดีแบบเทียมๆ ขึ้นมาได้

 

อย่างแรกสุดเลยก็คือความ Toxic มันทำหน้าที่คล้ายๆ เป็น ‘ครู’ สอนเราว่าเรื่องไหนควรทำ เรื่องไหนไม่ควรทำ

 

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะในสมองของเรามีศูนย์รางวัล (Reward Centers) อยู่หลายแห่ง ซึ่งศูนย์นี้จะผลิตสารสื่อประสาทออกมาหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นเหมือนสารเคมีที่ร่างกาย ‘ให้รางวัล’ ตัวเอง ก็คือโดพามีน (Dopamine) ทีนี้ปัญหาก็คืออารมณ์ทั้งความสุข (จริงๆ) และความกลัวล้วนไปกระตุ้นศูนย์รางวัลพวกนี้ให้หลั่งโดพามีนออกมาได้ด้วยกันทั้งคู่ เวลาเรามีความสุขจริงๆ โดพามีนจะหลั่งออกมา เวลาเรากลัว โดพามีนก็จะหลั่งออกมาเหมือนกัน (แต่ด้วยความเข้มข้นที่แตกต่างกัน)

 

ความกลัวถือว่าเป็น ‘ตัวกระตุ้นหลัก’ ที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีออกมามากมายเลยนะครับ สมมติว่าเรากลัวสิ่งหนึ่งๆ พอเรามีพฤติกรรม Toxic ออกไป ปรากฏว่าสิ่งนั้นหายไป (เช่น ตวาด ส่งเสียงดัง ด่าว่าคนอื่น ชี้นิ้ว ฯลฯ แล้วคนอื่นก็กลัวเราหัวหด หรือจริงๆ อาจจะแค่รำคาญแล้วไม่ได้ตอบโต้ก็ได้) เราก็จะรู้สึกดีขึ้นมา โดพามีนจะทำหน้าที่เป็น ‘ครู’ ตอกย้ำ ‘แพตเทิร์น’ ของพฤติกรรมนั้นๆ ทำให้เราจดจำว่า อ๋อ! Toxic แล้วได้ผลนี่นา อะไรร้ายๆ ก็หายไป แถมโดพามีนยังหลั่งอีก เราจึงเกิดอาการ ‘ไฮ’ อยู่ในความ Toxic ได้ง่าย

 

ด้วยเหตุนี้ความกลัวจึงไม่ได้แค่ทำให้เราเรียนรู้เพื่อหาวิธีจัดการกับสิ่งที่ทำให้เรากลัวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสท่ีจะทำให้เราจดจำวิธีตอบโต้นั้นลึกลงไปในระดับจิตใต้สำนึกของเราด้วย (เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสมองกำลังทำงานอยู่)

 

เมื่อ ‘ฝึก’ ตัวเองซ้ำๆ ย้ำๆ ในที่สุดเราก็จะเกิดอาการเสพติดโดพามีน อยากให้มันหลั่งออกมาเรื่อยๆ แต่โดพามีนก็เหมือนสารเคมีอื่นๆ ในร่างกาย ถ้ามันหลั่งออกมาบ่อยๆ ร่างกายก็จะคุ้นเคย ดังนั้นถ้าอยากได้ ‘ฤทธิ์’ ของมันมากขึ้นก็ต้องพยายามทำให้โดพามีนหลั่งออกมาอย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งก็สะท้อนกลับไปที่ความ Toxic ว่าจะต้อง Toxic มากขึ้นเรื่อยๆ

 

คนที่มีพฤติกรรม Toxic หรือเสพติดความ Toxic ของตัวเองแล้วจึงไม่ค่อยหายหรอกนะครับ มีแต่จะรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นโดยสมองส่วนที่ทำงานอัตโนมัติ อันเป็นสมองส่วนดึกดำบรรพ์เก่าแก่ในทางวิวัฒนาการ มันจึง ‘มีพลัง’ มากกว่าสมองส่วนที่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นก่อนทันได้ ‘คิด’ ด้วยซ้ำไป

 

ที่สำคัญก็คือถ้าเราลงลึกไปถึงการทำงานของจิตใต้สำนึก เราจะพบว่าจิตใต้สำนึกมันไม่รู้หรอกว่ากลไกทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง Toxic หรือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันคือการ ‘จัดการ’ ร่างกายแบบหนึ่ง คล้ายๆ กับเวลาเราอยากกินอาหารขยะที่อร่อยๆ ร่างกายมันโหยหาเร่งเร้าให้เราต้องกิน ต้องหยิบอาหารพวกนั้นเข้าปาก แต่มันไม่รู้หรอกว่าอาหารพวกนั้นดีต่อสุขภาพหรือเปล่า แล้วยิ่งถ้าเราไป ‘ป้อน’ อาหารขยะพวกนั้นมากขึ้น ตอนหลังศูนย์รางวัลก็จะค่อยๆ คุ้นชิน จึงมอบรางวัลเป็นสารเคมีในสมองให้เราได้น้อยลง สุดท้ายเราก็ต้องกินมากขึ้น ความ Toxic ก็เป็นแบบเดียวกัน

 

นักจิตวิทยาแบ่ง ‘แพตเทิร์น’ ของวิธีคิดแบบ Toxic ออกมา 7 ประเภท ได้แก่

 

1. Fault-Finding หรือการบ่น เช่น เวลาดุด่าคนอื่น (โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจน้อยกว่าตัวเอง) ว่า “ทำแบบนี้อีกแล้วนะ” หรือ “รู้อยู่แล้วเชียวว่าต้องทำแบบนี้” อะไรทำนองนี้

 

2. Blaming หรือการตำหนิโดยตรง เช่น “ถ้าเธอไม่ได้ทำแบบนั้นแบบนี้ ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเธอต้องรับผิดชอบ”

 

3. Gossiping ซึ่งก็คือการใช้บุคคลที่สามมาเป็นผู้รองรับความ Toxic ของตัวเอง จริงๆ อาจจะไม่เหมือนการ ‘เมาท์’ แบบเพื่อนฝูงเมาท์กันนะครับ แต่น่าจะเป็นการ ‘นินทาว่าร้าย’ มากกว่า

 

4. Communication Blocking แบบนี้คือการพยายามปิดกั้นการสื่อสาร เช่น ไปพยายามบอกหรือสั่งคนอื่นๆ ว่าอย่าให้คนที่เป็นเป้าหมายรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้นะ ซึ่งก็มีทั้งการสั่งโดยตรงและการพยายาม manipulate หรือบงการด้วยวิธีต่างๆ อย่างบอกว่า “อย่าไปบอกนาย ก. นะ ถ้าเขารู้เขาจะต้องแย่แน่ๆ”

 

5. Rescuing Others หรือการเข้าไปกอบกู้คนอื่น ซึ่งฟังดูเผินๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่มันหมายถึงการที่เราอยากเข้าไป ‘ซ่อม’ (Fix) คนคนนั้นให้ ‘ดี’ ตามแบบและเบ้าของเรา ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนเพอร์เฟกชันนิสต์ที่อยากให้คนอื่นเป็นเหมือนตัวเอง

 

6. Portraying Self as a Victim แบบนี้คือการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วย เช่น “เรื่องคงจะไม่แย่ขนาดนี้หรอกนะ ถ้าฉันไม่ทำแบบนั้นลงไป แต่ฉันทำก็เพื่อแม่เพื่อพ่อจริงๆ นะ”

 

7. Making Excuses หรือการแก้ตัวด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งถ้ามากเกินไปหรือเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็แสดงให้เห็นแพตเทิร์นความคิดแบบ Toxic ที่ขังอยู่ภายในได้เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกคุณด้วยว่าเรามองเห็นความ Toxic ของคนอื่นได้ง่าย แต่มองเห็นความ Toxic ของตัวเองได้ยากกว่ามาก จึงอยากให้คุณลองย้อนกลับมาสำรวจดูก่อนว่าตัวเองมีแพตเทิร์นความคิดที่อาจนำไปสู่ความ Toxic เหล่านี้อยู่ในตัวบ้างไหม

 

แล้วตอนหน้ามาดูกันครับว่านักจิตวิทยาแนะนำวิธีหนีออกจากแพตเทิร์นความคิด Toxic พวกนี้อย่างไรบ้าง

 

ภาพประกอบ: Nisakorn R.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising