×

กบฏวากเนอร์ในรัสเซีย ปาหี่หรือมีมูล?

26.06.2023
  • LOADING...
กบฏวากเนอร์

ทำเอาชาวโลกตื่นเต้นไปจนถึงอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน เมื่ออยู่ดีๆ ก็มีการเคลื่อนกำลังพลของกลุ่มทหารรับจ้าง (PMC) อย่าง ‘วากเนอร์’ (Wagner) ในภาคใต้ของรัสเซีย และมีการประกาศจะเคลื่อนพลบุกกรุงมอสโกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

 

ในช่วงที่ ‘ฝุ่นยังตลบ’ หลายคนคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า หรือนี่จะเป็นการรัฐประหารโค่นอำนาจระบอบปูตินหรือไม่?

 

ไม่นานก็มีความชัดเจนว่า เป้าหมายของการลุกฮือติดอาวุธแบบจัดเต็มขนาดนี้คือ รัฐมนตรีกลาโหมอย่าง พล.อ.พิเศษ เซอร์เกย์ ชอยกู และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. วาเลรี เกราซิมอฟ ที่ เยฟเกนี พริโคชิน ผู้บัญชาการทหารรับจ้างวากเนอร์ได้ชี้หน้าด่าว่าไร้น้ำยา และทำให้ลูกน้องของเขาต้องตายเป็นเบือในสมรภูมิสงครามยูเครน!

 

สรุปว่าเป็นเรื่องความแค้นระหว่างพริโคชินและชอยกู ประมาณว่าวันนี้เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้แล้วต่อแต่นี้ไป!

 

แต่ก็แน่นอนว่าเบื้องหลังความแค้นนั้นก็มีที่มาที่ไปอยู่เช่นกัน

 

ถึงแม้ว่าพริโคชินจะแสดงตนว่าเป็นศัตรูกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชอยกูมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่การแสดงออกส่วนใหญ่มักเป็นไปในลักษณะคำพูดกล่าวโจมตีมากกว่า แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นเหตุตัวจุดชนวนก็คือ มีการออกคำสั่งให้ทหารรับจ้างสังกัดต่างๆ มาเซ็นสัญญาอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เพื่อการจัดการที่เป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งส่วนใหญ่ยินยอมแต่โดยดี แต่ไม่ใช่กับพริโคชินที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนคุมกระทรวงนี้

 

คงจะเป็นในลักษณะที่ว่า วากเนอร์คืออาณาจักรของข้า และไม่มีวันที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ใคร โดยเฉพาะศัตรูของข้า (อย่างชอยกู)

 

แต่ทำไมมีแค่วากเนอร์ที่มั่นหน้าและแผลงฤทธิ์อยู่แต่เพียงผู้เดียว?

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้นำอย่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ก็มีการเลี้ยงขุนพลก๊กต่างๆ ซึ่งก็มอบอำนาจให้พอสมควร จนกระทั่งการเมืองรัสเซียมีลักษณะที่เป็นรัฐซ้อนรัฐ หลายครั้งแต่ละก๊กก็พยายามสร้างผลงาน สร้างความดีความชอบ จนกระทบกระทั่งกันเอง และในกรณีวากเนอร์ vs. กลาโหมรัสเซีย ก็เช่นกัน อย่างเช่น สงครามในยูเครนต่างฝ่ายต่างก็พยายามทำผลงาน โดยเฉพาะสมรภูมิที่บัคมุตที่วากเนอร์เองก็ทุ่มสรรพกำลังในการเข้าโจมตี แต่ก็เสียกำลังพลไปมากเช่นกัน นี่ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่พริโคชินออกมากล่าวโจมตีฝั่งกองทัพหลักว่า ไม่ช่วยบ้าง ปล่อยให้ตายบ้าง ตามประสาคนปกป้องลูกน้อง

 

กลับมาที่การก่อกบฏ ตัวพริโคชินเองก็คงจะทะนงตนประมาณหนึ่งว่า เป็นลูกน้องที่ ‘นาย’ รัก แต่กลายเป็นว่าเมื่อ ‘นาย’ ต้องเลือก ‘นาย’ กลับเลือกกองทัพหลัก และประกาศว่าพวกพริโคชินเป็นกบฏ แน่นอนว่านี่เป็นการทิ้งไพ่ผิดใบอย่างมหันต์ของพริโคชิน

 

เราก็ทราบกันดีแล้วเช่นกัน สาเหตุที่เขาฮึ่มๆ กันนั้น จู่ๆ ก็หยุดลงราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อพริโคชินประกาศให้กองกำลังวากเนอร์กลับเข้าค่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือด ส่วนตัวเขาเองจะเนรเทศตัวเองไปอยู่เบลารุส

 

เรื่องของเรื่องก็คือ ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ เป็นใครก็ต้องเลือกกองทัพหลักอยู่แล้ว ถ้าไปเลือกกองทัพรับจ้างแล้ว ผู้ที่เป็นผู้นำจะคุมระบบระเบียบของรัฐได้อย่างไร? แต่ในขณะเดียวกันพริโคชินในฐานะที่เคยมีความดีความชอบมากมายก็ต้องมีทางลงในเรื่องนี้ได้เช่นกัน (เดี๋ยวจะพูดถึงความดีความชอบของวากเนอร์ต่อไป) จึงปรากฏ ‘กาวใจ’ ที่ชื่อ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ซึ่งนอกจากจะสนิทกับทางปูตินแล้ว ยังรู้จักเป็นการส่วนตัวกับพริโคชินมานานเช่นกัน โดยลูคาเชนโกเสนอประเทศตัวเองเป็นที่ลี้ภัยให้พริโคชิน 

 

ในขณะที่ทางปูตินเองก็ยอมไม่จับพริโคชินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ว่าด้วยการก่อกบฏ และยังรับประกันความปลอดภัยกำลังพลวากเนอร์ทุกนาย แถมยังเสนอให้พลพรรควากเนอร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกบฏสามารถเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมได้อีก (กองกำลังวากเนอร์ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าร่วมกบฏ ซึ่งจริงๆ แล้วเข้าร่วมไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ และนั่นก็เป็นอีกสาเหตุที่เชื่อได้ว่า ทำต่อไปก็ไม่ชนะ) โดยแลกกับการที่วากเนอร์หันหลังกลับเข้าที่ของตัวเอง

 

ว่าด้วยเรื่องความดีความชอบของพริโคชินในฐานะผู้บัญชาการวากเนอร์นั้น จริงๆ ไม่ได้เพิ่งมามีแค่ช่วงสงครามในยูเครน แต่มีมานานแล้ว โดยวากเนอร์ถือว่าเป็นแขนเป็นขา (แบบไม่เป็นทางการ และเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาระดับนานาชาติ) ของรัฐบาลรัสเซียในการเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ช่วยฝ่ายรัฐบาลซีเรียปราบกลุ่ม ISIS ไปจนถึงการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกองกำลังฝ่ายมั่นคงหรือกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกฝน การส่งอาวุธ ตัวอย่างเช่น ในลิเบีย ซูดาน มาลี แอฟริกากลาง และโมซัมบิก ไปจนถึงวิกฤตการณ์ประธานาธิบดีในเวเนซุเอลา เรียกได้ว่าเป็นแขนเป็นขาในทางลับของการขยายอิทธิพลของรัสเซียในกลุ่มประเทศดังกล่าว 

 

ทีนี้ท่านผู้อ่านคงพอนึกภาพได้แล้วว่า ทำไมปูตินถึงยอมไม่สำเร็จโทษพริโคชิน?

 

บางคนอาจบอกว่า นี่อาจเป็น ‘แผนลวง’ โดยการส่งวากเนอร์ไปที่เบลารุสเพื่อเตรียมบุกก็เป็นได้ แต่คงลืมไปว่าถ้าจะทำแค่นั้นก็ทำได้ แต่สิ่งที่ปรากฏในเหตุการณ์กบฏคือ ฝั่งกบฏเองก็ทำเอาฝั่งกองทัพหลักถึงกับต้องสูญเสียอากาศยานไปหลายลำ เพราะวากเนอร์เองก็ได้รับการติดอาวุธหนักไม่แพ้กองทัพหลักเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะทำแผนลวงแล้วเล่นใหญ่ขนาดนี้ก็ไม่ใช่ตรรกะที่ควรคิดเช่นกัน

 

บางแนวคิดก็มองว่า พริโคชินคนนี้อาจโดนฝ่ายตะวันตกหรือยูเครน ‘ซื้อตัว’ ก็เป็นได้ ถึงยอมทิ้งไพ่ตายขนาดนี้ 

 

แต่ก็ยากที่จะพิสูจน์ได้ และในข้อเท็จจริงคือ สิ่งที่พริโคชินทำลงไปนั้นกลับกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของทางฝ่ายยูเครนเองเช่นกัน ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ออกมาประกาศสนับสนุนวากเนอร์ (แม้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม)

 

ไม่ว่าอย่างไร การที่เหตุความไม่สงบสามารถยุติลงได้ในชั่วข้ามคืน อย่างน้อยก็เป็นผลดีต่อรัสเซียในขณะนี้ 

 

แต่ในระยะยาว ในเชิงระบบรัฐซ้อนรัฐ ถ้าก๊กอื่นๆ เกิดแผลงฤทธิ์แบบก๊กของพริโคชินอีกจะเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะถ้าถึงวันที่ไม่มีผู้นำที่ชื่อปูติน ผู้มากด้วยบารมีและผู้คุมเกมขุนศึกคนนี้ รัสเซียจะเป็นอย่างไร?

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้ปูตินยิ่งต้องอยู่ในอำนาจต่อไปตราบนานเท่านานหรือไม่?

 

แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ในครั้งนี้ปูตินก็มีการใช้หลัก ‘พลิกวิกฤตเป็นโอกาส’ ปลุกกระแสความรักชาติในสังคมรัสเซีย ณ​ ห้วงเวลาที่ประเทศเกิดการกบฏ 

 

แต่จะได้ผลหรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามกัน

 

ภาพ: Roman Romokhov / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising