×

75 ปี NATO อะไรคือ ‘ความท้าทายใหญ่’ ที่รออยู่

05.04.2024
  • LOADING...
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

วันที่ 4 เมษายน 2024 ครบรอบ 75 ปีการก่อตั้ง ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ หรือ NATO ซึ่งเป็นองค์กรด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาล 32 ประเทศสมาชิก โดยมี 2 ประเทศสมาชิกใหม่ คือ ฟินแลนด์ และสวีเดน ที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2023 และ 7 มีนาคม 2024 ตามลำดับ

 

โดยทั้งฟินแลนด์และสวีเดนยอมละทิ้งจุดยืน ‘เป็นกลาง-ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ ที่ยึดถือมานานหลายทศวรรษ หลังเผชิญภัยคุกคามจากกรณีรัสเซียบุกยูเครนเมื่อช่วงต้นปี 2022 จนนำไปสู่การตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO พร้อมมุ่งหวังที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 5 ที่บัญญัติไว้ว่า การโจมตีประเทศสมาชิกใน NATO ประเทศใดประเทศหนึ่ง ‘จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ’ เพื่อเป็นเกราะกำบังจากผู้รุกรานและภัยคุกคามต่างๆ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง: 


 

NATO กับความท้าทายใหญ่ที่รออยู่

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง อธิบายว่า ความท้าทายของ NATO ช่วงสงครามเย็นมีเพียงประการเดียวนั่นคือ ‘สหภาพโซเวียต’ ขณะที่ช่วงระยะ 10 ปีหลังสุด NATO เห็นความท้าทายจากการพุ่งทะยานและแผ่อิทธิพลของ ‘จีน’ จนเคยยกให้จีนเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในแผนยุทธศาสตร์ NATO

 

แต่พอมาถึงปี 2014 ที่เกิดวิกฤตไครเมีย NATO เริ่มมอง ‘รัสเซีย’ เป็นความท้าทาย จนกระทั่งรัสเซียบุกยูเครนเมื่อช่วงต้นปี 2022 ทำให้ NATO ยิ่งตระหนักถึงการเป็นภัยคุกคามของรัสเซียที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น 

 

รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า ความท้าทายอันดับ 1 ของ NATO ในขณะนี้ไม่ใช่จีน แต่เป็นรัสเซียที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบและความมั่นคงโลก 

 

ที่ประชุม NATO สองครั้งล่าสุดระบุว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอด (Existential Threat) ทำให้นโยบาย NATO ขณะนี้นั้นเน้นไปที่การซ้อมรบและเพิ่มงบประมาณทางด้านการทหาร นอกจากนี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังเคยเสนอแผนให้ส่งกองกำลัง NATO เข้าไปช่วยเหลือยูเครน สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำประเทศสมาชิกใน NATO ตระหนักดีว่ารัสเซียไม่ได้เป็นภัยคุกคามเฉพาะต่อยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาชิก NATO และยุโรปอื่นๆ ทุกประเทศ

 

ขอบเขตความสูญเสียและความเสียหายจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขคาดการณ์จากกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ทหารยูเครนเสียชีวิตและบาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 444,000 คน (27 กุมภาพันธ์) ขณะที่ BBC คาดการณ์ว่า ทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 115,000 คน (7 มีนาคม) ยังไม่นับรวมพลเรือนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

 

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO เสนอแผนช่วยเหลือยูเครนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ NATO มีบทบาทโดยตรงมากยิ่งขึ้นในการสนับสนุนยูเครนต้านการรุกรานของรัสเซีย โดยคาดว่าจะเปิดให้สมาชิกลงมติเห็นชอบภายในการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ 

 

ความเป็นเอกภาพใน NATO

 

รศ.ดร.สมชาย มองว่า นอกจาก ‘ความท้าทายภายนอก’ ของ NATO อย่างรัสเซียและจีนแล้ว ‘ความท้าทายภายใน’ โดยเฉพาะ ‘ความเป็นเอกภาพ’ ใน NATO ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากประเด็นนี้ผูกโยงอยู่กับ ‘ปัจจัยโดนัลด์ ทรัมป์’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงปลายปีนี้ และอาจกลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งทรัมป์จะทำให้ ‘ความไม่แน่นอน’ ใน NATO เพิ่มมากยิ่งขึ้น 

 

ด้วยลักษณะของทรัมป์ที่ ‘ไม่สามารถคาดเดาได้’ (Unpredictable) สร้างความหวาดระแวงให้กับบรรดาสมาชิก NATO ไม่น้อย โดยเฉพาะโอกาสในการดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวหรือแยกออกมาเป็นอิสระ (Isolation Policy) ตัดงบประมาณ NATO รวมถึงอาจยุติการช่วยเหลือยูเครน ทำให้บรรดาประเทศในยุโรปจำเป็นต้องวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันตัวเอง และลดการพึ่งพาสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเรื่องทรัมป์

 

นอกจากนี้ NATO ก็ยังเผชิญความท้าทายภายในจากสมาชิกบางประเทศ เช่น ฮังการี อยู่บ้าง โดย รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า แม้ฮังการีจะแสดงท่าทีคัดค้านหลายแนวทางของ NATO รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ต่อรัสเซีย เนื่องจากฮังการีต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย อีกทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็อยู่ไม่ไกลจากรัสเซียมากนัก การเลือกวางตัวในลักษณะนี้เป็นไปเพื่อให้ได้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย แต่ท้ายที่สุดแล้วความอยู่รอดของฮังการีก็ยังจำเป็นต้องอาศัยมาตรา 5 ของ NATO

 

ยุโรปต้องตื่นจากฝัน

 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวโดยสรุปว่า ครบรอบ 75 ปี NATO ความท้าทายเปลี่ยนจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น มาเป็นรัสเซียและจีนในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายเรื่องเอกภาพภายใน NATO จากปัจจัยทรัมป์ และสมาชิกบางประเทศ ทั้งหมดล้วนเป็นความท้าทายสำคัญที่รอ NATO อยู่ในอนาคต

 

พร้อมทั้งระบุว่า ทรัมป์เป็นเหมือนกระจกสะท้อน ‘อาการ’ ของพลเมืองอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศ มากกว่าที่จะนำเงินภาษีและงบประมาณของตนไปช่วยเหลือประเทศอื่น โดยกระแสเรียกร้องให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบาย Isolation มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

 

ไม่ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้หรือไม่ แต่ยุโรปจะต้องตื่นจากความฝันและป้องกันตัวเองมากขึ้น

 

แฟ้มภาพ: 

  • Getmilitaryphotos / Shutterstock
  • Pavlo Lys / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising