×

ถอดบทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars EP.12

06.05.2018
  • LOADING...

The Face Thailand Season 4 All Stars สัปดาห์นี้เดินทางมาถึงวันที่แต่ละทีมต้องเลือกลูกทีมไปเดินไฟนอลวอล์กกันแล้ว ซึ่งผู้เข้าแข่งขันยังคงต้องเผชิญบททดสอบที่ท้าทายอยู่ กับโจทย์การถ่ายแอ็กชันวิดีโอพรีเซนต์ลิปสติกที่ต้องอาศัยทักษะการแสดง การต่อสู้ การโหนสลิง โดยแต่ละคนมีโอกาสทำได้จำกัดเทกและภายใต้เวลาไม่กี่นาที

 

บทเรียนโลกการทำงานที่เราได้เรียนรู้จาก The Face Thailand Season 4 All Stars สัปดาห์นี้มีอะไรบ้าง เรามาทบทวนกันเลยครับ

 

ติดตามดูรายการ The Face Thailand Season 4 All Stars EP.12 ย้อนหลังได้ที่ tv.line.me/v/3165526

 

*บทความมีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

 

 

ใช้ความไม่ถนัดให้เป็นประโยชน์

แม้จะเป็นแคมเปญที่ขายลิปสติกที่ผู้ชายจะมีโอกาสชนะยากมาก แต่อติลาก็ยังตั้งใจทำแคมเปญได้อย่างดีชนิดที่เรียกว่าเทกเดียวอยู่ตลอด เช่นเดียวกัน ผู้เข้าแข่งขันผู้หญิงหลายคนก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในงานแอ็กชันมาก่อนเลย ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ บางคนเก่งเรื่องอื่นมาก แต่ไม่ถนัดการแสดงเลย แต่ก็ต้องทำหน้าที่นี้ต่อ

 

ในการทำงาน บางทีเราจะได้ไปทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือไปอยู่ในสนามการแข่งขันที่เรารู้ว่าโอกาสที่จะชนะมีน้อยกว่าคนอื่น ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การได้มีโอกาสทำอะไรที่เราไม่ถนัดมาก่อนก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ ถ้าไม่ลองก็อาจจะไม่รู้ว่าเราทำได้หรือเปล่า โอกาสมาถึงแล้วลองไว้ก่อน เรื่องแพ้ชนะไม่ได้เป็นเป้าหมาย เป้าหมายคือได้ลองทำแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 

ข้อดีอย่างหนึ่งที่เราน่าจะคิดไว้เวลาต้องทำในสิ่งที่เราไม่ถนัดมาก่อนก็คือ ถ้าเราไปแบบน้ำไม่เต็มแก้ว เราก็จะรับน้ำได้เยอะ บางทีในมุมของคนที่ไม่เคยยึดติดกับวิธีการเก่าๆ มาก่อนหรือไม่รู้อะไรเลย เราอาจจะมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่คนที่ทำมานานมองไม่เห็นก็ได้ หรือเราอาจจะมาพร้อมกับวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกลัวถ้าต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ใช้ความไม่ถนัด ความประสบการณ์น้อยของเรานี่ล่ะให้เป็นประโยชน์

 

ส่วนถ้าเราต้องอยู่ในสนามที่โอกาสชนะน้อยกว่าคนอื่นด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เราทำให้คนรู้ว่าสู้สุดฝีมือแล้วแต่ยังไม่ได้รับเลือก ยังดีกว่าให้คนเห็นว่าเรายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง เราทำดีแล้วไม่ได้รับเลือกคนก็ยังเห็น แต่ถ้าทำแบบส่งๆ ไป คนก็จะมองว่าถูกแล้วที่เราไม่ได้รับคัดเลือก เพราะเราทำตัวเอง ตัวเราเองก็คงไม่ภูมิใจกับสิ่งที่ทำเท่าไรด้วย

 

ชนะหรือแพ้คงไม่ได้อยู่ที่ผลการตัดสินอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวเราว่าจะให้คะแนนตัวเองเท่าไร ภูมิใจกับงานที่เราทำมากน้อยแค่ไหน

 

 

ลูกน้องแต่ละคนต้องการความเอาใจใส่ต่างกัน (แต่ยังต้องการความเอาใจใส่อยู่)

ทีมเมนเทอร์ซอนย่าใช้วิธีการเลือกลำดับลูกทีมในการแข่งขันไว้น่าสนใจมาก เช่น เมื่อถึงฉากแอ็กชันที่ต้องโชว์การเตะต่อย การยิงปืน ก็ให้อติลาซึ่งมีประสบการณ์ในงานด้านแอ็กชันแบบนี้มากกว่ามาทำให้คนอื่นดูเป็นตัวอย่างก่อน โดยให้ทำเพียงเทกเดียว เพราะมั่นใจว่าเอาอยู่ ส่วนลูกทีมผู้หญิงอีกสองคนที่ประสบการณ์น้อยกว่าและอาจจะต้องใช้เวลาในการลองผิดลองถูกมากกว่าค่อยให้ทำคนละสองเทก วิธีนี้ทำให้แทนที่ลูกทีมผู้หญิงไปลองเอาดาบหน้าก็ได้ดูตัวอย่างจากอติลาก่อน

 

แต่กลับกัน ตอนที่ต้องโหนสลิง ทรายซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งทำเป็นคนสุดท้าย พอเครื่องเริ่มติดแล้วก็ได้โหนสลิงเป็นคนแรกเลย ทำสองเทก ต่อด้วยปริมอีกสองเทก และให้อติลาที่น่าจะคล่องที่สุดทำแค่เทกเดียว เพราะอย่างไรก็น่าจะรอด มาโฟกัสที่สองสาวดีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอทรายเครื่องติดแล้วก็มีพลังมากขึ้น เป็นตัวอย่างที่มุ่งมั่น สู้ไม่ถอย และกระโดดให้เพื่อนดูก่อนว่าขนาดคนที่กลัวความสูงอย่างทรายยังทำได้ คนอื่นก็ทำได้สบาย ทรายใช้เทกแรกแบบเอาจริงไปเลย แล้วปล่อยสุดในเทกสองแบบไม่ให้เสียเทก

 

วิธีการเลือกลำดับลูกทีมในเกมนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าคนแรกเละก็จะทำให้เสียเวลา ลูกทีมคนอื่นๆ ก็จะเสียขวัญไปด้วยว่าทำไมมันยากจัง คนแรกจึงเป็นคนสำคัญมาก เหมือนตัวเปิดให้เพื่อนๆ ได้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นคนกล้าไปลองก่อน ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้คนที่กำลังจะตามมารู้สึกว่าเราทุกคนทำได้ ไม่ต้องกลัว เหมือนการเอาอติล่กามาทำฉากแอ็กชันให้เพื่อนดูก่อน และการให้ทรายซึ่งเครื่องติดแล้วลุยโหนสลิงก่อนเลย

 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ในแต่ละการแข่งขัน เมนเทอร์ซอนย่าไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนแรกตลอด หรือเป็นคนสุดท้ายตลอด ลำดับในการเลือกมักจะมาจากการมั่นใจว่าในสถานการณ์นั้น คนไหนเป็นคนแรกที่น่าจะรอดที่สุด และไปใช้เวลามากขึ้นกับคนที่ต้องได้รับคำแนะนำมากหน่อย คนไหนชัวร์อยู่แล้วในตอนนั้นก็ปล่อยให้เขาลุยได้ ไม่ต้องใช้เวลามากเท่าไร ขณะเดียวกัน ลูกทีมก็จะรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเพราะเดาไม่ได้ว่าใครจะเป็นคนแรก บางครั้งเราอาจจะเป็นคนแรก บางครั้งเราอาจจะเป็นคนต่อๆ มา ไม่มีใครรู้สึกว่าใครได้รับความสำคัญมากกว่าคนอื่น แต่ดูว่าในสถานการณ์ไหนใครเก่งเรื่องอะไรก็เอาคนนั้นมาเป็นตัวอย่างให้เพื่อนก่อน เป็นวิธีการบริหารทีมที่น่าสนใจที่เราสามารถนำไปใช้ได้เหมือนกัน

 

ลูกน้องแต่ละคน ในแต่ละสถานการณ์ ต้องการได้รับการเอาใจใส่จากเราที่ต่างกัน ต้องการสปอตไลต์ที่ต่างกัน ลูกน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หรือเพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ อาจจะต้องการเวลาจากเรามากหน่อย เพราะเขาจะยังทำอะไรไม่ถูก ต้องไกด์เขาเยอะๆ ยิ่งกับลูกน้องจูเนียร์เราควรต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างไปเลย ต้องอยู่กับเขาทุกขั้นตอน พอเริ่มอยู่ตัวเราถึงค่อยๆ ปล่อยได้ ส่วนลูกน้องที่อยู่ในจุดที่เรามั่นใจฝีมือได้แล้ว หน้าที่ของเราคือปล่อยให้เขาฉายแสง ให้อิสระ ดูว่าเขาต้องการอะไร และสนับสนุนเขาเต็มที่ แต่ใช่ว่าเราจะทิ้งเขาไปเลย เรายังต้องเปิดประตูให้อยู่เมื่อเขาต้องการคำปรึกษา หรือคอยเข้าไปดูบ้างเป็นครั้งคราว

 

 

ผู้ชนะที่ดีคือคนที่คิดถึงผู้แพ้ ผู้แพ้ที่ดีคือคนที่ยินดีกับผู้ชนะ

ทุกซีซันเมื่อถึงตอนที่เมนเทอร์ต้องเลือกลูกทีมไปเดินไฟนอลวอล์กจะเป็นช่วงเวลาที่น่าหนักใจมากสำหรับทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือก เพราะต้องมีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวังในเวลาเดียวกัน ถ้าเราได้รับเลือก ขณะที่เราดีใจที่สุด ก็จะมีคนที่เสียใจอยู่ ถ้าเราไม่ได้รับเลือก ขณะที่เราผิดหวังอยู่ ก็จะต้องเห็นคนที่กำลังดีใจที่สุดอยู่ตรงหน้าไปด้วย มันเป็นสถานการณ์ที่จะดีใจก็ดีใจได้ไม่สุด จะเสียใจก็เสียใจได้ไม่สุด ซึ่งมันเป็นสถานการณ์เดียวกับเวลาที่เราทุกคนคงเคยเจอในการทำงานเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่งหรือพิจารณาความดีความชอบแล้วมีเพียงไม่กี่คนที่จะได้รับโอกาสนั้น

 

ผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้มันสอนให้เราวางตัวเองไว้ก่อนแล้วคิดถึงคนอื่น ถ้าเราไม่ได้รับเลือก แน่นอนว่าเราคงเสียใจ แต่เราต้องวางความเสียใจไว้ก่อน และไปยินดีกับคนที่ได้รับเลือก ชื่นชมในความสามารถของเขา ดูเป็นตัวอย่างว่าเขาทำอะไรดีๆ ไว้ถึงได้รับเลือก ถือโอกาสเรียนรู้จากเขาไปด้วยเลย ตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งเราจะไปให้ได้แบบนั้น และพยายามต่อไป

 

เช่นเดียวกัน ถ้าได้รับเลือก เราดีใจได้แต่อย่าดีใจจนไปเหยียบย่ำความรู้สึกของคนอื่น อย่าลำพองว่าเราแน่ที่สุดในโลกแล้ว อย่าแม้แต่จะคิดว่าคนอื่นกระจอก วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นผู้ชนะที่น่ารักคือการแสดงความระลึกถึงคนที่มีส่วนผลักดันให้เราได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น เราไม่ได้ทำงานคนเดียว เก่งคนเดียว แต่มีอีกหลายคนที่ร่วมมือกันช่วยให้ผลงานออกมาได้ดีอยู่ เราต้องไม่ลืมคนเหล่านั้น อย่าลืมขอบคุณลูกน้อง หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือใครก็ตามที่เราได้ทำงานด้วยและได้เรียนรู้ไปด้วยกันเพื่อให้เขารู้สึกว่าได้รับเครดิตนี้ด้วย การที่เราได้รับตำแหน่งจึงไม่ใช่ผลงานของเราคนเดียว แต่เป็นผลงานร่วมกันของทุกคน และเราไม่เคยลืมพวกเขา ทั้งเขียนอีเมลขอบคุณและขอบคุณด้วยตัวเองจะยิ่งดี ยิ่งคิดถึงคนอื่นก่อนเท่าไร เรายิ่งได้รับความรักกลับมา  

 

ที่สำคัญ ให้จำความรู้สึกของวันที่ได้รู้ว่าเราได้เลื่อนตำแหน่งไว้ จากนี้เมื่อไรที่เราท้อหรืออยากยอมแพ้ ให้นึกถึงว่าก่อนหน้าที่เราจะได้เลื่อนตำแหน่งเราก็เคยต้องผ่านอุปสรรคมามากมายไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น เก็บกำลังใจนี้ไว้เตือนตัวเองเวลาที่ท้อด้วยเช่นกัน  

 

ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือก ผมคิดว่าเรายังต้องทำเรื่องเดียวกันคือ ทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปจมอยู่กับการแพ้ชนะเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต

 

การเดินทางยังอีกยาวไกลครับ

 

 

ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้วิธีการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars มามากมายจนตอนนี้ได้ตัวแทนของทีมไปเดินไฟนอลวอล์กกันแล้ว สัปดาห์หน้าเราไปลุ้นกันว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ติดตามได้ที่ THE STANDARD กับท้อฟฟี่ แบรดชอว์ครับ  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising