×

คนในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบส่งข่าวการเมือง Fake News เข้ามาในกรุ๊ป รำคาญมากครับ เราควรจะบอกเขาไหมครับ?

18.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

 

  • ปัญหามันอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกว่า Social Media Literacy หรือการรู้เท่าทันโซเชียล ซึ่งรวมไปถึงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย การตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่เกิดประโยชน์ การไม่ตกเป็นเหยื่อของ Fake News หรือเป็นผู้ส่งต่อ Fake News กับ Hate Speech ต่างๆ 
  • ถ้าเราไม่มี Social Media Literacy ก็เป็นไปได้ครับที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเป็นพิษเป็นภัยให้คนอื่นได้ ซึ่งทำให้เกิดความรำคาญ ความเข้าใจผิด ไปจนถึงเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง เป็นอันตรายต่อคนอื่นไปด้วย
  • เรื่องการเมือง ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเหมือนเรา และถ้าเขาจะคิดแบบนั้นก็เป็นสิทธิ์ของเขา สิทธิ์ของเราคือการมาจัดการกับชีวิตของเราเอง เหมือนถ้าเขาจะแชร์ข่าวการเมืองผิดๆ มา นั่นเป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะเชื่อว่ามันจริง ส่วนสิทธิ์ของเราคือจะอ่านหรือไม่อ่าน เชื่อหรือไม่เชื่อ เอามาใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ โต้เถียงหรือไม่โต้เถียง แลกเปลี่ยนความคิดหรือไม่แลกเปลี่ยน เลือกจะคุยด้วยหรือไม่คุยด้วย 

 

Q: พี่ในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบฟอร์เวิร์ดข่าวการเมือง Fake News มาในกรุ๊ปบ้าง รำคาญมากเลยครับ ส่งมาอยู่ได้ทุกวัน อ่านก็รู้ว่า Fake News บ้าง ตรรกะเสียบ้าง แต่เขาก็ขยันส่งมาตลอด เราควรจะบอกเขาไหมครับ และบอกเขาอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกไม่ดี ไม่ให้เสียความสัมพันธ์ครับ

 

A: อย่าว่าแต่เรื่องการเมืองเลยครับ ทุกวันนี้ผมยังเจอกรุ๊ปไลน์บางกรุ๊ปที่ผมอยู่ยังฟอร์เวิร์ดเรื่องมะนาวช่วยทำให้หายจากโรคมะเร็งได้อยู่เลย!

 

กรุ๊ปไลน์ที่เราใช้กันสำหรับรวมตัวคนที่อยู่ในที่ทำงานจะมีสองแบบคือ กรุ๊ปไลน์แบบทางการ คือเอาไว้คุยเรื่องงานจริงจัง ซึ่งบางทีก็จะเป็นกรุ๊ปที่มีหัวหน้าอยู่ด้วยนั่นแหละครับ บางทีก็อยู่กันคนละแผนก คนละหน้าที่ แล้วแอดไลน์กรุ๊ปเอาไว้คุยเรื่องงานกัน กับอีกแบบคือกรุ๊ปไลน์แบบไม่เป็นทางการ คือเอาไว้คุยเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องงาน กรุ๊ปเมาท์นั่นแหละครับ กรุ๊ปใหญ่บ้าง กรุ๊ปเล็กบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่การแชร์คอนเทนต์ต่างๆ ที่ฟอร์เวิร์ดต่อๆ กันมา หรือไปแชร์มาจากที่อื่น กรุ๊ปไลน์อื่นอีกต่อ ก็มักจะเกิดขึ้นกับกรุ๊ปนี้แหละครับ เพราะถ้าแชร์ข่าวในกรุ๊ปทางการก็ดูจะยังไงๆ อยู่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน

 

เท่าที่ผมสังเกต คนที่ขยันแชร์ก็จะขยันแชร์จริงๆ ครับ คือคอนเทนต์เดียวแต่แชร์ต่อมันทุกกรุ๊ป เหมือนได้รับบทนักแชร์ในตำนานมาอย่างแท้จริง ซึ่งคอนเทนต์พวกนี้เอาจริงๆ คนเขียน คนทำก็เก่งตรงที่สามารถเขียนให้คนต้องหยุดอ่าน พาดหัวแรง หยุดความสนใจของคนได้ อันนี้ไม่เถียงว่าเขาเก่ง ปัญหาคือความถูกต้องของข้อมูลมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เขาสนใจด้วยอยู่แล้ว อย่างคอนเทนต์การเมืองในฝั่งที่เขาชอบ อันนี้ยิ่งไว เพราะเขาพร้อมจะเปิดรับสารพวกนี้อยู่แล้ว บางทียังไม่ทันอ่าน ไม่ทันตรวจสอบหรอก แต่มันตรงกับความเชื่อบางอย่างก็พร้อมจะแชร์ต่อ

 

ปัญหามันอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกว่า Social Media Literacy หรือการรู้เท่าทันโซเชียล ซึ่งรวมไปถึงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย การตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่เกิดประโยชน์ การไม่ตกเป็นเหยื่อของ Fake News หรือเป็นผู้ส่งต่อ Fake News กับ Hate Speech ต่างๆ ถ้าเราไม่มี Social Media Literacy ก็เป็นไปได้ครับที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเป็นพิษเป็นภัยให้คนอื่นได้ ซึ่งทำให้เกิดความรำคาญ ความเข้าใจผิด ไปจนถึงเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง เป็นอันตรายต่อคนอื่นไปด้วย

 

คำแนะนำของผมก็คือ อย่างแรก ปล่อยผ่านครับ ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเขามักจะส่ง Fake News แต่ครั้นจะไปบอกเขาก็กลัวจะเสียเวลาหรือเสียความรู้สึก เราไม่ต้องสนใจคนนี้ไปเลย ส่งอะไรมาก็ผ่านไป ความรำคาญมันเกิดขึ้นเพราะเราไปอ่าน แล้วไปอ่านเจอสิ่งที่ตรรกะวิบัติ ไม่เป็นความจริงอีก เราก็จะหงุดหงิด 

 

ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองแล้ว โดยส่วนตัวนะครับ ผมจะเลือกคนที่ผมจะโต้แย้งด้วยเฉพาะคนที่เราสามารถคุยด้วยกันได้อย่างมีเหตุผล คือคุยกันอยู่บนหลักเหตุผลเหมือนกัน ไม่ได้คิดว่าเราต้องถูกทุกอย่าง แต่อยากฟังเหตุผลของคนอื่นที่คิดต่างด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่ฟังแล้วจะคล้อยตามหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง และถ้าจะคุยก็จะคุยกับคนประเภทที่ไม่แปะป้ายคนที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างไปจากตัวเองว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ คุยแล้วเหนื่อย ถ้าไม่ได้คุยแล้วต่อยอดทางปัญญาได้ ไม่มีความจำเป็นต้องคุย ปล่อยผ่านเลย 

 

ถ้าแชร์อะไรมาแล้วไม่มีคนสนใจ ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับใดๆ ทุกคนคุยกันเรื่องอื่น หรือพอแชร์อะไรมาไม่มีคนสนใจ เงียบกริบ อ่านหมดแต่ไม่มีคนตอบโต้ แต่พอคุยเรื่องอื่นแล้วทุกคนมีส่วนร่วมกันหมด แอ็กทีฟกันหมด เจ้าตัวก็คงรู้สึกได้ว่าที่แชร์ไปไม่มีคนสนใจ มีเขาคนเดียวที่สนใจ ก็อาจจะค่อยๆ เพลาการแชร์บ้างเอง 

 

ในกรณีบางเรื่องที่เขาแชร์มันเป็นเรื่องที่ผิดและจะเป็นอันตรายต่อชีวิตเขาหรือคนอื่นได้ถ้าเขาแชร์ต่อ เหมือนที่ผมยกตัวอย่างว่า เอามะนาวมาล้างฆ่าพิษมะเร็งนั่นแหละครับ ผมก็จะไปบอกเขาเป็นการส่วนตัวว่ามันเป็น Fake News ครับ โดยที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าที่เขาส่งมาเป็นข้อมูลที่ผิด ไม่บอกเขาต่อหน้าคนทั้งกรุ๊ปไลน์ เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากเสียหน้า 

 

แต่ถ้าเขาจะยืนยันหนักแน่นว่ามันไม่ใช่ Fake News อันนี้ก็ปล่อยผ่านเลยครับ เราบอกเขาแล้ว เอาที่สบายใจเลย

 

วิธีการสุดท้ายที่เราจะใช้คือ ถ้าดูทรงแล้ว บอกไปก็ไม่ได้ประโยชน์ และพี่แกก็ขยันแชร์มาตลอดจนเรารำคาญ มันก็มีกรุ๊ปอื่นที่เราสามารถคุยได้โดยไม่ต้องมีคนคนนี้ ทั้งกรุ๊ปที่มีอยู่แล้ว หรือจะตั้งขึ้นมาใหม่โดยคัดสมาชิกมาเฉพาะคนที่เราอยู่ด้วยแล้วเราสบายใจ แล้วไปปิด Notification กรุ๊ปที่ขยันแชร์ Fake News ซะ แชร์อะไรมาเราก็ไม่อ่าน พอไม่อ่านเราก็ไม่รำคาญใจไปด้วย เราไปแอ็กทีฟคุยกันในกรุ๊ปที่เราสบายใจดีกว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่อ่าน ก็สบายใจอีกแบบนะครับ คนอยากแชร์ก็แชร์ไป ไม่มีผลกับเราแน่นอน

 

Fake News ก็เหมือนขยะครับ มีคนมาโยนขยะใส่เราทุกวัน การอ่านขยะก็เหมือนการบริโภคขยะไปด้วย ถ้าบอกเขาไม่ได้ว่าอย่าโยนขยะเข้ามา อย่างน้อยที่สุด เราเลือกที่จะไม่บริโภคขยะได้ แต่ถ้าใครอยากบริโภคขยะด้วยความเต็มใจ อันนั้นเขาก็เลือกแล้วเหมือนกันว่าเขาเชื่อว่าขยะมันดี ถ้าดูแล้วเราพอจะบอกเขาได้ว่า อย่าโยนขยะเข้ามาเลย หรือบอกได้ว่าอะไรคือขยะ ก็บอกครับ แต่ถ้าดูทรงแล้วบอกไปก็เท่านั้น อยากโยนขยะก็ตามสบาย แต่เราไม่จะไม่สนใจขยะ ไม่กินขยะแน่นอน แล้วเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ดีต่อชีวิตเราดีกว่า ก็ถ้าเขาคิดว่า Fake News ดีต่อชีวิตของเขาก็ตามสบาย เขาเลือกแล้ว ปล่อยให้เขา ‘หนักขวา’ อยู่คนเดียวดีกว่า

 

ผมเชื่ออย่างหนึ่งนะครับว่า คอนเทนต์ที่เราเสพมีผลต่อการสร้างตัวตนของเรา เสพคอนเทนต์ที่ดี มีประโยชน์ เราก็สร้างตัวเราเองให้ดีตามแบบนั้น แต่ถ้าเสพคอนเทนต์ที่สร้างความเกลียดชัง คอนเทนต์ที่ข้อมูลเท็จ ตัวเราก็จะเป็นแบบนั้นไปด้วย ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกเสพคอนเทนต์ได้ 

 

เรื่องการเมือง ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเหมือนเรา และถ้าเขาจะคิดแบบนั้นก็เป็นสิทธิ์ของเขา สิทธิ์ของเราคือการจัดการกับชีวิตของเราเอง เหมือนถ้าเขาจะแชร์ข่าวการเมืองผิดๆ มา นั่นเป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะเชื่อว่ามันจริง ส่วนสิทธิ์ของเราคือจะอ่านหรือไม่อ่าน เชื่อหรือไม่เชื่อ เอามาใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ โต้เถียงหรือไม่โต้เถียง แลกเปลี่ยนความคิดหรือไม่แลกเปลี่ยน เลือกจะคุยด้วยหรือไม่คุยด้วย 

 

มาจัดการชีวิตของเราเองดีกว่าครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

 

 

ภาพ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising