×

ถอดบทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars EP.10

22.04.2018
  • LOADING...

The Face Thailand Season 4 All Stars สัปดาห์นี้เป็นการฟาดฟันกันของเมนเทอร์คริส เมนเทอร์พลอย และเมนเทอร์ริต้า กับโจทย์การถ่ายแฟชั่นวิดีโอแบบลองเทกที่ต้องมีบล็อกกิ้งที่เป๊ะ! เจอทั้งลมแรง ฝูงชน รับโทรศัพท์ และต้องหลบสิ่งกีดขวางอีก โดยมีเวลาซ้อมหน้าเซตแค่ 10 นาที และถ่าย 5 เทกภายใน 15 นาที ภายในเวลาที่เร็วมากต้องทั้งจำบล็อกกิ้ง จำสคริปต์ พรีเซนต์ผม ประคองสติให้ดูมั่นใจตลอด ฯลฯ ผิดไม่ได้แม้แต่น้อย ไม่งั้นเทกนั้นใช้ไม่ได้เลย ยากกว่านั้นคือภายในเทกที่จำกัด แต่ละทีมจะบริหารการทำงานอย่างไรให้ออกมาได้ดีในเวลาที่กำหนด แปลว่าผู้เข้าแข่งขันบางคนมีโอกาสทำได้แค่เทกเดียวให้อยู่รวดเดียวเลย ทำไมมันยากแบบนี้! ต้องปรบมือให้ทีมงานในการคิดโจทย์นี้และยังทำโปรดักชันออกมาได้ดี อยากให้มีโจทย์ยากๆ แบบนี้บ่อยๆ ได้ประโยชน์กับคนแข่งและคนดูด้วยกันหมด

การแข่งขันยิ่งยากเราก็จะได้เห็นวิธีการทำงานของแต่ละทีมที่ต้องเค้นเอาทุกหยาดหยดของประสบการณ์มาใช้ นอกจากดราม่าที่ขยันมีทุกตอนแล้ว สัปดาห์นี้เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกการทำงานกันบ้าง มาทบทวนไปด้วยกันเลย

ติดตามดูรายการ The Face Thailand Season 4 All Stars EP.10 ย้อนหลังได้ที่ tv.line.me/v/3080747

*บทความมีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

 

 

Storytelling

ผมชอบวิธีการลงรายละเอียดของเมนเทอร์ริต้าทุกครั้งที่เธอทำงาน อย่างเรื่องการสะบัดผม เมนเทอร์ริต้าสอนให้ลูกทีมเรียนรู้ว่าการสะบัดผมมีหลายระดับและแสดงออกได้หลายคาแรกเตอร์ สะบัดผมแบบไหนใช้กับโอกาสอะไรและเพื่อสื่อว่าอะไร หมุนคออย่างไร ที่น่าสนใจคือเมนเทอร์ริต้าสอนว่า ให้คิดว่าผมคือเพื่อนที่ดีที่สุด และก็สอนวิธีการ ‘เรียกเพื่อน’ (สะบัดผม) เรียกเพื่อนจากข้างหลังมาอยู่ข้างหน้า หรืออยากให้เพื่อนจากซ้ายมาอยู่ทางขวาจะเรียกเพื่อนอย่างไร

 

วิธีการของเมนเทอร์ริต้าเป็นการสอนแบบมี Storytelling ช่วยให้ผู้เรียนจดจำได้ง่ายด้วยการใส่เรื่องราวว่าผมเป็นเหมือนเพื่อน และเรียกการสะบัดผมว่าเป็นการเรียกเพื่อน วิธีการแบบนี้ทำให้เมสเสจที่เราต้องการจะสื่อไปมีพลังมากกว่า ดึงดูดมากกว่า จดจำและเข้าไปอยู่ในใจง่ายกว่า เพราะเราใช้เรื่องราวมาห่อหุ้มทำให้คนจดจำง่าย

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนตอนเราเรียนวิชาภาษาไทยแล้วเรียนเรื่องอักษรกลาง อักษรต่ำ อักษรสูง แล้วแทนที่จะมานั่งท่องว่าอักษรกลางมีอะไรบ้างแบบทื่อๆ เราก็ผูกเรื่องราวเป็น ‘ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง’ ทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น เพราะเรากำลังจำเป็นเรื่องราว เช่นเดียวกัน พอใส่เรื่องราวว่าผมคือเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา เราจะรู้สึกว่าจะสะบัดผมก็ต้องสะบัดอย่างทะนุถนอม เรากับผมใกล้ชิดกัน เราจะไม่ทำร้ายผม ไม่เหวี่ยงผมแรงๆ เหมือนไม่สนใจใยดี ที่สำคัญคือเรารู้ใจผม รู้ว่าจะจัดการกับผมอย่างไรเหมือนเพื่อนที่เรามองตาก็รู้ใจกันหมดแล้ว ความรู้สึกของเราก็จะเปลี่ยนไป

 

 

เคลียร์บรีฟให้ดีและอย่าเป๋

ในแคมเปญสัปดาห์นี้ได้โจทย์มาว่าคนในแฟชั่นวิดีโอนี้เป็นเลขา กำลังจะไปทำงานอย่างมีความสุข เป็นคนมั่นใจ เส้นทางที่เขาเดินนี้แม้จะมีสิ่งกีดขวางแต่เขาเดินผ่านมาทุกวันแล้วเลยไม่กลัว ไม่มีความกังวล ไม่ลนลาน ไม่รู้สึกว่าต้องรีบร้อนจนต้องวิ่งหน้าตั้งเหมือนมาทำงานสาย ทุกอย่างจัดการได้หมด


พอบรีฟมาแบบนี้แล้วเราเซตเรื่องราวตามนี้ไว้ในหัว เราก็จะแสดงออกออกมาได้ตรงกับคนที่โจทย์ต้องการ เราจะถือกาแฟอย่างไรให้ดูเป็นเลขาไม่ใช่ไม่กลายเป็นพนักงานเสิร์ฟ เราจะเดินเร็วแค่ไหนไม่ให้ดูเหมือนเป็นคนรีบร้อน เราจะเดินในระดับไหนให้ดูเหมือนเรากำลังจะเข้าออฟฟิศไม่ได้ไปเที่ยว เราจะหลบสิ่งกีดขวางอย่างไรให้ดูเหมือนเราไม่ได้ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและจัดการมันได้อยู่หมัด เราจะสะบัดผมอย่างไรไม่ให้เราดูเหมือนรำคาญผมแต่แค่สะบัดผมเพราะมันคือเสน่ห์ของเรา ฯลฯ ถ้าเราเซตเรื่องราวที่ถูกต้องไว้ในหัว เข้าใจมันจริงๆ ว่าเรากำลังเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ และยึดสิ่งนั้นไว้ให้ดี การทำงานในโจทย์นี้ก็จะไม่เป๋

 

 

การทำงานเหมือนกันครับ เราต้องหาให้เจอก่อนว่าจุดประสงค์ของการทำงานแต่ละโปรเจกต์คืออะไร ทำไมเราถึงต้องทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งห้ามตอบว่าเพราะเจ้านายสั่ง หรือเพราะทำกันมาทุกปี แต่เราต้องหาให้เจอว่าเราต้องการทำสิ่งนี้เพื่อไปแก้ไขปัญหาอะไร เช่น จุดประสงค์คือการทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น จุดประสงค์คือการทำให้สินค้าใหม่ที่กำลังจะวางขายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จุดประสงค์คือการทำให้พนักงานรักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้น ฯลฯ

 

ทีนี้ระหว่างที่เราทำงานอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหนก็ตาม เราต้องหมั่นกลับมาทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้กลับไปตอบจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรกไหม สมมติเราต้องการทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำตลาดด้านนวัตกรรม เราต้องกลับมาทบทวนว่าแล้วงานที่เราทำอยู่นั้นกลับไปทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมหรือเปล่า ถ้าสิ่งที่เราคิดไม่ตอบโจทย์เรื่องนวัตกรรมแสดงว่าเราต้องคิดใหม่แล้ว ทำอันเก่าไปเสียเวลาเพราะไม่ตอบโจทย์ ถ้าจะเป็นผู้นำตลาดด้านนวัตกรรม แปลว่านวัตกรรมที่เราคิดขึ้นมาต้องเจ๋งมาก ต้องเป็นคนแรกหรือไม่ก็เป็นคนที่ทำได้ดีที่สุดถึงจะเป็นผู้นำ หรือเราได้นำเอานวัตกรรมอะไรบ้างมาใช้ในการทำงานแต่ละส่วน ถ้าไม่ได้เอามาใช้เลยก็แปลว่าไม่ตอบโจทย์

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะหลายครั้งเรามีไอเดียพลุ่งพล่านแต่ถ้าไอเดียนั้นไม่กลับไปตอบโจทย์เรื่องจุดประสงค์ของเราก็ไม่ใช่ไอเดียที่ดี พับเก็บไว้ก่อน ไปจนถึงหลายครั้ง ถ้าเราทำงานไปแบบไม่ได้กลับมาทบทวนว่าเราทำไปทำไมหรือเราทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องอะไรอยู่ เราก็จะไม่มีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน ทำไปแล้วสูญเปล่า เพราะฉะนั้นถึงต้องชัดเจนกับตัวเองให้ได้ก่อนว่าโจทย์หรือจุดประสงค์การทำงานคืออะไร แล้วทำงานเพื่อตอบโจทย์นั้น โดยคอยเช็กตัวเองว่าสิ่งที่เราทำยังตอบโจทย์นี้อยู่ไหม เราจะได้ไม่ทำงานไปแบบงงๆ เป๋ๆ และไม่ตอบโจทย์

 

 

แม้แต่คนไม่เก่งก็ต้องได้รับโอกาส
แคมเปญสัปดาห์นี้ถือว่าโหดมากเพราะมีเวลาน้อยแค่ 15 นาทีในการถ่ายทำ และทำได้แค่ 5 เทก ทีมคริสและทีมพลอยมีทีมละ 4 คน ทีมริต้ามี 2 คน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมคริสและทีมพลอยให้ลูกทีมทั้ง 4 คนทำหมด และมาดูว่าใน 4 คนนั้นคนไหนเวิร์กสุดก็ให้ทำเทกสุดท้ายเพิ่มเผื่อเลือก เช่นเดียวกันกับทีมริต้าที่ให้ลูกทีมทำคนละ 2 เทกเท่ากัน แล้วค่อยมาดูหน้างานว่าใครเวิร์กสุด

 

ซึ่งโดยส่วนตัวผมชอบวิธีการนี้เหมือนกัน เราคงเคยได้เห็นในอีพีก่อนๆ ที่เมื่อเงื่อนไขทางเวลามันบีบมาก เมนเทอร์ก็อาจจะเลือกเอาแค่ลูกทีมบางคนที่เมนเทอร์มั่นใจว่าจะทำได้ดีและก็ให้คนอื่นอยู่ข้างสนาม แล้วมาโฟกัสเอาคนที่เมนเทอร์คิดว่าน่าจะเอาอยู่ ซึ่งวิธีนั้นก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีในการบริหารเวลาเพื่อให้มีเวลาในการเคี่ยวกรำคนที่เรามั่นใจได้และไม่เสียเวลากับคนที่เราไม่อยากเสี่ยง ขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้ลูกทีมที่เราไม่ได้เลือกรู้สึกน้อยใจเหมือนกัน ในขณะที่สัปดาห์นี้เมนเทอร์ให้โอกาสลูกทีมทุกคนลงสนามหมด นั่นแปลว่าเมนเทอร์จะต้องยอมเหนื่อยมากขึ้น บางเทกอาจจะไม่ได้ใช้เลย แต่ลูกทีมทุกคนจะได้ฝึกหมด ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพหมด ทุกอย่างมีข้อดีและข้อด้อยที่หัวหน้าต้องรู้จักบริหารเอาเอง

 

 

ผมชอบวิธีการที่เราให้โอกาสลูกทีมทุกคนเท่ากันหมดก่อน เพราะทุกคนจะได้ฝึก ได้ลงสนาม ต่อให้เป็นคนที่เก่งน้อยกว่าคนอื่นเขาก็ยังควรค่าที่จะได้รับโอกาสได้ฝึกฝน จุดเริ่มต้นเรื่องความสามารถอาจจะไม่เท่ากัน แต่เราต้องเชื่อว่าทุกคนพัฒนาขึ้นมาได้ถ้าเราให้โอกาสเขา และคอยชี้ให้เห็นว่าเขาต้องพัฒนาอย่างไร พอเราให้โอกาสทุกคนเท่ากันแล้ว เราค่อยมาดูว่าแต่ละคนใช้โอกาสนั้นอย่างไร คนไหนทำได้ดี คนไหนต้องเพิ่มเติมอย่างไร เราจะได้ส่งเสริมถูก

 

แต่ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำเลย เขาก็จะไม่พัฒนา เคยเก่งเท่าไหนก็ย่ำอยู่ที่เดิมเพราะไม่ได้มีโอกาสฝึก มันเหมือนกับเราเป็นหัวหน้าที่ให้ใจ ให้โอกาสกับทุกคนแล้ว เราเสี่ยงกับทุกคน เราเชื่อมั่นในลูกทีมทุกคน ลูกทีมเองก็จะรู้สึกว่าเขาต้องใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุด ให้สมกับความเชื่อมั่นที่หัวหน้าให้มา บวกกับถ้าเราให้โอกาสทุกคนเท่ากันแล้ว และแต่ละคนเอาไปต่อยอดตามแต่ศักยภาพของแต่ละคน ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรก็จะไม่เกิดคำครหาว่าหัวหน้าลำเอียงได้ เพราะเราให้โอกาสเท่ากัน เราไม่ได้ปิดโอกาสใคร ทุกคนเห็นกันหมด

 

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะโปรโมตคนที่เราเห็นว่าใช้โอกาสที่ได้รับและสร้างผลงานออกมาดี ก็จะไม่มีใครว่าเราได้ ขณะเดียวกันแม้จะมีคนที่เราเห็นอยู่แล้วว่าเก่งที่สุด เราก็ต้องไม่ทิ้งลูกทีมที่เหลือ เพียงแต่เราต้องมองให้ออกว่าเราต้องเติมอะไรให้ลูกทีมแต่ละคนบ้าง ก็ให้เติมและแนะนำในส่วนนั้น เช่นเดียวกับเมนเทอร์พลอยที่มองออกว่าต้องเติมอะไรให้ทราย และจุดอ่อนของฟ้าคืออะไร

 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เมนเทอร์ริต้าจะเห็นว่าสกายทำได้ดีกว่าเทีย องค์ลงแล้ว แต่เมนเทอร์ริต้าเห็นว่าผ่านไปสองเทกแล้วเทียยังไม่ได้สักเทกเลย มันมีวิธีคิดสองแบบคือ แบบแรก เห็นอยู่ว่าสกายทำได้ดี ให้สกายทำเทกสุดท้ายอีกรอบเผื่อเลือกไปเลยแล้วกัน กับอีกแบบคือ สกายทำได้แล้ว แต่เทียยังไม่ได้สักเทก งั้นลองเสี่ยงให้เทียทำอีกรอบ ถ้าเทียทำออกมาดี อย่างน้อยก็อาจจะมีลุ้นว่ามีเทกที่ดีที่สุดของทั้งสกายและเทีย แต่ถ้าเทียทำออกมาไม่ดี ก็ยังมีเทกที่ดีของสกายอยู่ สุดท้ายเมนเทอร์ริต้าเลือกเทียให้ทำเทกสุดท้าย ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงแต่แสดงถึงใจของหัวหน้าแบบริต้ามากๆ ว่า ให้โอกาสคนที่อ่อนกว่า

 

ยิ่งเป็นคนที่อ่อนกว่าเราอาจจะต้องให้เวลาเขามากขึ้นในการฝึกฝน ไปขลุกกับเขามากๆ ใกล้ชิดเขามากกว่าเดิม ที่สำคัญเราต้องศรัทธาในตัวลูกทีม เราเสี่ยงไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกัน แม้สุดท้ายเทียจะยังทำออกมาไม่ดี แต่อย่างน้อย ผมคิดว่าการให้โอกาส เขาจะรู้สึกว่าหัวหน้าเชื่อมั่น ที่เหลือมันคือแล้วแต่ว่าลูกทีมจะใช้โอกาสนั้นแสดงศักยภาพไปได้ไกลแค่ไหน

 

สอนคนเก่งให้เก่งขึ้นไม่ยากเพราะต้นทุนความเก่งมีมาดีอยู่แล้ว แต่สอนคนอ่อนกว่าให้เก่งขึ้นนี่ต้องใช้ใจเยอะๆ ให้เวลากับเขามากๆ และอดทนรอวันที่เขาจะเก่งขึ้น เชื่อเถอะครับว่าไม่เพียงลูกน้องจะเก่งขึ้นแล้ว เราที่เป็นหัวหน้านี่แหละครับจะเก่งขึ้นไปด้วย

 

 

เหตุผลที่เรายังต้องสู้ต่อ

น้ำหวานขอถอนตัวจากการแข่งขันตอนที่อยู่ในห้องดำ เพราะรู้สึกว่าแม้ตัวเองจะอยากไปเดินไฟนอลวอล์กแค่ไหนแต่ก็คงสู้จีน่าไม่ได้ และตอนนี้ยิ่งการแข่งขันเข้มข้นขึ้น การที่ทีมยังมีคนเยอะอยู่อาจเป็นอุปสรรคของทีมได้ น้ำหวานเลยคิดว่าถ้าตัวเองออกไปอาจเป็นการช่วยทีมได้เหมือนกัน แต่เมนเทอร์ริต้าบอกว่าควรคิดกลับกันคือ ถ้าอยากเดินไฟนอลวอล์กก็ต้องสู้ให้เต็มที่ เปล่งศักยภาพออกมา ต่อให้จีน่าเก่งแค่ไหน แต่เราก็ต้องพยายามให้มากกว่าเขา สุดท้ายน้ำหวานเข้าใจและตั้งใจว่ากลับไปคราวนี้จะพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม

 

สิ่งที่น้ำหวานคิดตอนต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะครับเวลาที่เรารู้อยู่แล้วว่าโอกาสของเราที่จะสู้กับคนอื่นมันน้อยกว่ามาก ซึ่งอาจจะทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราจะสู้ต่อทำไม หรือมองว่าถ้าเราออกไปอาจจะช่วยทีมได้มากกว่า แต่อีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าการอยู่ต่อหรือออกไปของน้ำหวานก็ช่วยทีมได้ทั้งคู่เหมือนกัน

 

ถ้าอยู่ต่อก็เป็นประโยชน์เพราะน้ำหวานเองก็ได้เรียนรู้ต่อ ฝึกต่อ และยิ่งมีคนมีแพสชันอยู่ในทีม ก็จะยิ่งส่งเสริมให้คนในทีมรู้สึกต้องมีแพสชันไปด้วย มันทำให้บรรยากาศในทีมมีพลังไปในตัว และใครจะรู้ ถ้าตั้งใจสุดๆ ไปแล้ว อาจเป็นน้ำหวานก็ได้ที่ทำให้ทีมชนะ เราคงฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่จีน่าคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อดีต่อตนเองและดีต่อทีม หรือถ้าจำเป็นต้องออกไปก็อาจจะทำให้ทีมมีคนน้อยลง บริหารเวลาได้มากขึ้น แต่ตัวเราก็จะหมดโอกาสได้แข่งขันต่อ หมดโอกาสได้ฝึกฝนในรายการต่อ

ซึ่งถ้าประเมินแล้ว ผมคิดว่าเราน่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ที่สุดไปก่อน เรียนรู้จากโอกาสที่เราได้รับ ที่เหลือเดี๋ยวให้ผลงานมันพาเราไปเองว่าเราจะไปได้ถึงจุดไหน

 

 

บอก ‘อะไร’ กับบอก ‘อย่างไร’

เมนเทอร์ริต้ากลับเข้ามาในห้องรวมคนเดียว แต่เมนเทอร์คริสและพลอยเมื่อไม่เห็นลูกทีมตัวเองกลับมาด้วยก็คิดว่าเมนเทอร์ริต้าคงตัดลูกทีมไปเรียบร้อยแล้ว เลยเดินออกจากห้องไม่รอฟังอะไรทั้งนั้น เมนเทอร์ริต้าจะเรียกให้อยู่ต่อแต่ทุกคนก็ออกไปหมด สุดท้ายทั้งฟ้าและน้ำหวานกลับเข้ามาในห้อง ไม่มีใครโดนตัดออก เมนเทอร์พลอยเลยเดินมาขอบคุณเมนเทอร์ริต้า และบอกว่าตอนนั้นเข้าใจว่าโดนตัดไปแล้วเลยไม่อยากอยู่เพื่อเถียงกัน

 

เวลาเราทำงานเราอาจจะเจอสถานการณ์ที่เรามีสิ่งที่อยากพูด แต่ไม่มีคนฟัง คล้ายๆ กับเมนเทอร์ริต้านี่แหละครับ บางครั้งต่อให้สิ่งที่เราอยากบอกจะเป็นสิ่งที่ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคนฟังไม่รับฟัง ปิดใจที่จะฟัง เขาก็จะไม่ได้ยินสิ่งที่เราบอกอยู่ดี หรือไม่เข้าใจเราหรอก อาจจะตีเจตนาเราผิดด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าบางครั้งเราบอก ‘อะไร’ อาจจะไม่สำคัญเท่าเราจะบอก ‘เมื่อไร’ หรือบอก ‘อย่างไร’ เพราะถ้าเราบอกผิดจังหวะ หรือบอกในตอนที่เขาไม่รับ การสื่อสารนั้นก็จะไม่มีความหมาย หูเขาอาจจะฟังเรา แต่ใจไม่ฟังก็จบกัน บางครั้งเราต้องพูดเดี๋ยวนั้น และบางครั้งเราอาจต้องปล่อยให้อีกฝ่ายไปคิด ไปตกตะกอนก่อน เขาถึงจะเข้าใจ ถึงตอนนั้นการสื่อสารของเราถึงจะมีความหมาย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดอะไร ประเมินก่อนเลยว่านี่ใช่เวลาที่ถูกต้องที่เราจะพูดไหม อีกฝ่ายอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะรับฟังหรือเปล่า และค่อยมาคิดต่อว่าแล้วเราจะบอกเขาอย่างไร

 

 

เรื่องแบบนี้ผมคิดว่าเกิดจากการที่เราต้องเข้าใจคนที่เราต้องการสื่อสารด้วยมากๆ ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ถ้าเราให้ความสำคัญกับคนฟัง คิดว่าเขาคือคนสำคัญมากๆ เราจะออกแบบการสื่อสารให้ตรงกับเขา ทำมาเฉพาะเขาคนเดียว และคิดถึงตัวเขาเป็นหลักก่อน โดยที่ไม่เอาเราเป็นตัวตั้ง วิธีการสื่อสารที่เราใช้ได้กับคนหนึ่งอาจจะใช้กับอีกคนไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับวิธีการสื่อสารให้เข้ากับแต่ละคน

เราจะได้เรียนรู้อะไรจาก The Face Thailand Season 4 All Stars ที่เอาไปใช้กับการทำงานของเราได้อีก ติดตามได้ที่ THE STANDARD กับท้อฟฟี่ แบรดชอว์ครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising