×

ทิศทางค่าเงินบาทไทยปี 2565 กับ 4 ปัจจัยสำคัญ

13.10.2021
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยปรับตัวอ่อนค่าที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยมีแนวโน้มการอ่อนค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากระดับ 32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงสูงถึง 4.8% ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินเอเชีย และหากเทียบตั้งแต่ต้นปี 2564 สกุลเงินบาทในปีนี้ถือเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย และสูงกว่าสกุลเงินเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่าง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แม้จะมีบางช่วงที่เคยปรับตัวแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

การอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปีของค่าเงินบาท นำมาด้วยคำถามสำคัญที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าภายในประเทศต่างก็สงสัยถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงปลายปีนี้และในปีหน้าว่า จะมีทิศทางเป็นอย่างไร มีโอกาสจะอ่อนค่าต่อเนื่องไปมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาทไทยในอนาคต ทั้งทิศทางการแข็งค่าและการอ่อนค่าของสกุลเงินบาทมี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

 

ปัจจัยแรก การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาภายในประเทศไทย ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 แนวโน้มการเติบโตต่ำของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงชะลอการลงทุนในประเทศไทยต่อไป ปัจจุบัน แม้สถานการณ์การระบาดปรับตัวดีขึ้น จากระดับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

แต่ประเด็นเรื่องการระบาดของโรคโควิดก็ยังคงมีผลทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่าอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ดังนั้น หากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ ก็อาจช่วยให้ค่าเงินบาทไทยมีความน่าสนใจในมุมมองนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อแนวโน้มการแข็งค่าในระยะสั้นได้ 

 

ปัจจัยที่ 2 แนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในช่วงปลายปี 2564 นี้ และตลอดปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศมากน้อยเพียงใด เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดหายไปตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด ในเดือนมีนาคมปี 2563 การขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวส่งผลทำให้ดุลบริการ อันเป็นส่วนหนึ่งของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยติดลบต่อเนื่องมากว่า 5 ไตรมาส ซึ่งการขาดดุลบัญชีการชำระเงินถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงมากในปีนี้ ดังนั้น ในปี 2565  สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจึงถือว่ามีผลสำคัญต่อการกำหนดทิศทางค่าเงินบาท หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีการขาดดุลลดลง ค่าเงินบาทไทยก็มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้อีกในอนาคต

 

ทั้งสองปัจจัยส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะที่ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่อาจส่งผลในเชิงตรงกันข้าม ที่จะทำให้ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปอีก 

 

ปัจจัยที่ 3 แนวโน้มการส่งออกและการนำเข้าในปี 2565 ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุปทาน (Supply Shock) จากทั้งราคาต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของประเทศไทย ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยปี 2564 ที่เกินดุลลดลงเนื่องจากการนำเข้าของประเทศไทยมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก

 

ในปี 2565 ภาคการส่งออกไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากการส่งออกปี 2564 ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการสินค้าเกษตรและสินค้าในต่างประเทศปริมาณมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ส่งผลทำให้การส่งออกของประเทศไทยในปีนี้เติบโตได้ดี และถือเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 

 

แต่ในช่วงปี 2565 ปัญหาเรื่องราคาต้นทุนสินค้า ราคาวัตถุดิบด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและพลังงาน ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบ จนทำให้การส่งออกปรับตัวต่ำลง ขณะเดียวกัน ภาคการนำเข้า ก็อาจมีการคงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมูลค่าสินค้านำเข้าในกลุ่มพลังงาน เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันสหรัฐฯ ที่เพิ่งมีการปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะยาวอาจกลับมาอยู่ระดับสูง หากอุปทานของน้ำมันยังมีอยู่อย่างจำกัด  

 

ดังนั้น แนวโน้มดุลการค้าในปี 2565 จึงมีทิศทางที่จะเกินดุลน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ ค่าเงินบาทไทยมีการอ่อนค่าต่อเนื่องเพิ่มขึ้นไปอีก

 

และสุดท้าย ปัจจัยที่ 4 ถือเป็นปัจจัยภายนอกสำคัญ คือการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวที่ดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลก จากการสนับสนุนของมาตรการทางการคลัง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จำเป็นต้องตึงตัวมากขึ้น โดยมีแผนการปรับลดการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์เป็นที่น่าสนใจกว่าสกุลเงินอื่น และทำให้เงินบาทไทยและสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าต่อเนื่อง 

 

จากการศึกษาผลกระทบของนโยบายการเงินสหรัฐฯ ต่อเงินบาทไทยในช่วงปี 2556-2558 พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 จะพบว่าค่าเงินบาทมีการอ่อนค่า 12.1% ตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศแผนลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ และต่อมาในช่วงปี 2558 ตลาดการเงินมีการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินบาทไทยก็ยิ่งมีการอ่อนตัวต่อเนื่อง โดยอ่อนค่ากว่า 11.7 % ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2558 ถึงกันยายน 2558 จนทำให้ค่าเงินบาทแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 36.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

สรุปในภาพรวมปี 2565 ปัจจัยด้านการควบคุมการระบาดของโรคโควิด ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มความต้องการเงินบาทให้สูงขึ้น แต่เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจเป็นไปได้อย่างช้าๆ ประกอบกับทิศทางสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลให้ทิศทางเงินบาทไทยโดยรวมยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี 2565

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising