×

ไทยพาณิชย์คาดเดือน พ.ค. นี้ มี Sell in May หลังมีหลายปัจจัยลบกดดัน ทั้งดอกเบี้ยลงช้า-สงครามปะทุ

24.04.2024
  • LOADING...

แบงก์ไทยพาณิชย์ประเมิน 3 ธนาคารกลางหลักของโลกไม่เร่งลดดอกเบี้ย หลังสัญญาณเศรษฐกิจยังดูดี ปัญหาเงินเฟ้อไม่น่าห่วง จับตาเดือนพฤษภาคมนี้ เกิด Sell in May พร้อมแนะนำกลยุทธ์รับมือ

 

รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโส Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณออกมาชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะชะลอไปอีก เนื่องจากฝั่งเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้นและตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่ได้ปรับขึ้นรุนแรงจนมีผลกระทบให้ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้จะยังไม่ลงไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในสหรัฐฯ ยังเติบโตดี สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความต้องการแรงงาน แม้จะมีการรายงานข้อมูลออกมาว่า สหรัฐฯ มีการปลดพนักงานลงบ้าง แต่ภาพรวมอัตราการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ดังนั้นมีผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะยังชะลออีกสักระยะ ในขณะที่ฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มเห็นกระแสข่าวว่าอาจลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ แต่หากดูข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปแล้ว ตัวเลข GDP ยังสามารถขยายตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดีเป็นลำดับ

 

ส่วนตัวเลขการว่างงานของยุโรปก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5-6% ดังนั้นมองว่าหาก ECB เร่งปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจมีผลกระทบไปสร้างฟองสบู่ใหม่ในภาคเศรษฐกิจได้ ดังนั้นการเก็งกำไรว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยเร็วจึงถือเป็นความเสี่ยง

 

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ปัจจุบันสามารถขยายตัวได้อย่างร้อนแรง ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหนักสุดในรอบประมาณ 10-20 ปี แต่ประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ต้องการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพราะจะมีผลกระทบกับนักลงทุนต่างประเทศใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Carry Trade โดยนักลงทุนต่างประเทศกู้เงินเยนมาลงทุนหุ้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่น หากดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี

 

ดังนั้นสรุปมุมมองได้ว่า ทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ประเมินว่าโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้ามีน้อยมาก 

 

เปิด 4 ปัจจัยเกิด Sell in May

 

นอกจากนี้ประเมินภาพการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ค่อนข้างกังวลว่ามีโอกาสเกิดภาวะ Sell in May การศึกษา MSCI World Index จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา หรือในช่วง 13 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา พบข้อมูลว่า มีจำนวน 7 ครั้งจากทั้งหมด 13 ครั้งที่ในเดือนพฤษภาคมให้ผลตอบแทนที่ติดลบ อีกทั้งพบว่ามีค่าเฉลี่ยติดลบค่อนข้างเยอะอยู่ที่ระดับประมาณ 3% เฉพาะในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเห็นการเกิด Sell in May 

 

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิด Sell in May มี 4 ปัจจัย ดังนี้ 

 

  1. ดอกเบี้ยนโยบายโลกที่ยังไม่ปรับลด ส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นชะลอตัวลงในช่วงเวลานี้ รวมถึงอาจมีการ Take Profit ออกมาด้วย

 

  1. ดอกเบี้ยพันธบัตรอายุยาวของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

  1. Valuation ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ยังแพงมาก

 

  1. ความเชื่อในระยะสั้นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นลดลง จากปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดการสู้รบในตะวันออกกลาง

 

อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจไม่ได้มีทิศทางที่แย่จนมีผลกระทบให้นักลงทุนต้องเทขายหุ้นออกมา

 

กลยุทธ์รับมือ Sell in May 

 

ทั้งนี้ ยังแนะนำให้ Stay Invest โดยให้ลงทุนต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรับมือสถานการณ์ Sell in May แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 2 ด้าน ได้แก่

 

  1. การลงทุนในสินทรัพย์ที่ดูแลเงินต้น ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น, กองทุน Structured Product

 

  1. ลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment) ได้แก่ ทองคำ, Private Debt 

 

อย่างไรก็ดี แม้ช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง แต่เริ่มเห็นแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยแนะนำให้ลงทุนในทองคำสัดส่วนประมาณ 5% ของพอร์ต เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อใช้กระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยปัจจุบันทองคำคิดเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีสัดส่วนประมาณ 5-6% ของสินทรัพย์ลงทุนของทั้งโลก รวมถึงการลงทุนใน Private Debt 

 

ทั้งนี้ ดูข้อมูลของกองทุน Invesco US Senior Loan ซึ่งลงทุนใน Private Debt เปรียบเทียบกับ S&P 500 Index สามารถทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างคงที่ โดยการลงทุนใน Private Debt อ้างอิงกลุ่มสินเชื่อคุณภาพดีของธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีหลักประกัน จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ อีกทั้งมีข้อดีที่กองทุนมีสภาพคล่องที่สามารถทำการซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน

 

โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ มีแผนจะเสนอขายกองทุนหน่วยลงทุนที่ลงทุนใน Private Debt ดังกล่าว ซึ่งจะเสนอขายเฉพาะลูกค้ากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising