×

เกิดอะไรในซีเรีย? เข้าใจสงครามซีเรียแบบย่อยง่ายๆ กับ 2 ผู้เชี่ยวชาญการเมืองตะวันออกกลาง

18.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • สงครามซีเรีย เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’ เมื่อปี 2011 นับเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติและโค่นล้มระบอบเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ เริ่มต้นจากตูนีเซีย ก่อนที่ไฟแห่งการปฏิวัติและกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค
  • สงครามซีเรียคือเครื่องยืนยันว่า กระแสต่อต้านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการยังไม่ประสบผลสำเร็จ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม
  • นักวิชาการไทยชี้ ‘เหตุจำเป็นด้านมนุษยธรรม’ ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่เคยประกาศถอนตัวจากสมรภูมิซีเรีย กลับมาร่วมมือกับพันธมิตรเปิดฉากโจมตีทางทหารอีกครั้ง แต่ยังรวมถึงวิกฤตการณ์ในตัวผู้นำที่ต้องการสร้างผลงานและเบี่ยงเบนความสนใจ และผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ มากมายภายในตะวันออกกลาง

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวคราวของสงครามซีเรียกลับมาอยู่ในห้วงความสนใจของผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง แม้ว่าสงครามและความขัดแย้งนี้จะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 7 ปีและเงียบหายไปบางช่วงเวลาก็ตาม

 

จากประเด็นข่าวลือเรื่องการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย เพื่อโจมตีฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏในเขตกูตาตะวันออก เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ในการเปิดฉากโจมตีทางทหาร เพื่อป้องปรามไม่ให้รัฐบาลซีเรียละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเมืองของตนเองอีกในอนาคต ทำให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับสงครามซีเรียมากยิ่งขึ้น

 

THE STANDARD จึงได้พูดคุยถาม-ตอบประเด็นข้อสงสัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองตะวันออกกลางคนสำคัญอย่าง ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อทำความเข้าใจสงครามซีเรียในแบบฉบับเร่งรัดไปพร้อมๆ กัน

 

 

ตัวละครสำคัญ

  • รัฐบาลซีเรีย (ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย จีน และพันธมิตรชาติอื่นๆ) VS กลุ่มกบฏ กลุ่มไอเอส ชาวเคิร์ด
  • กลุ่มกบฏ ที่ต้องการโค่นล้มเผด็จการ (สนับสนุนโดยสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรชาติอื่นๆ) VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มไอเอส
  • กลุ่มไอเอส ที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ของอิรักและซีเรีย แยกตัวออกมาจากกลุ่มอัลกออิดะห์ VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มกบฏ ชาวเคิร์ด
  • ชาวเคิร์ด ชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ต้องการแยกตัวออกจากซีเรียและตุรกี พร้อมปกครองตนเอง (สนับสนุนโดยสหรัฐฯ) VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มไอเอส และตุรกี
  • สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่เข้ามาพัวพันกับสงครามซีเรีย โดยเริ่มจากการสนับสนุนรัฐบาล ก่อนที่จะหันมาสนับสนุนกลุ่มกบฏ หลังเชื่อว่ารัฐบาลซีเรียอยู่เบื้องหลังการโจมตีประชาชนด้วยแก๊สพิษ
  • รัสเซีย ที่เข้ามาในสมรภูมิซีเรียจากความพยายามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายและให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย

 

 

สงครามและความขัดแย้งในซีเรียเกิดขึ้นได้อย่างไร

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศ.ดร.จรัญ อธิบายว่า “สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในซีเรีย เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’ เมื่อปี 2011 นับเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติและโค่นล้มระบอบเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ เริ่มต้นจากตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ก่อนที่ไฟแห่งการปฏิวัติและกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค”

 

 

ซีเรียในขณะนั้นถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ที่รับช่วงต่อการบริหารประเทศจากพ่อของเขาที่ปกครองซีเรียมายาวนานเกือบ 30 ปี เกิดกระแสประท้วงขับไล่รัฐบาลซีเรียอย่างหนัก จนนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการของรัฐบาลซีเรียได้  

 

ความล้มเหลวดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) ของฝ่ายกบฏ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลซีเรีย ความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง (Civil War) ภายในประเทศ ก่อนที่จะถูกซ้อนทับด้วยปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาชาวเคิร์ดที่ต้องการจะแยกตัวออกจากซีเรียและปกครองตนเอง ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผลประโยชน์ของมหาอำนาจอื่นๆ ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย จนกลายเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ในที่สุด

 

เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลซีเรียกับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มไอเอสเรื่อยมา ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในซีเรียมากกว่า 450,000 คน และจากรายงานของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ปี 2016 ที่ผ่านมา มีชาวซีเรียมากกว่า 12 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดราว 18.43 ล้านคน) ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น

 

 

ทำไมข่าวการใช้อาวุธเคมี ถึงนำไปสู่การโจมตีทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร ทั้งที่มีการใช้ความรุนแรงต่างๆ มากมายในสงครามซีเรียตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

อ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์

หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

อ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า “สหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่ยอมรับและต่อต้านการใช้อาวุธเคมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา การใช้อาวุธเคมีถือเป็นการล้ำเส้นอย่างร้ายแรง เมื่อปี 2013 ก็เคยมีการใช้อาวุธเคมีในซีเรียเช่นกัน ในครั้งนั้นผลตรวจสอบของสหประชาชาติ ไม่ได้ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ และผู้นำซีเรียก็ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างเตรียมพร้อมที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารแล้ว แต่รัสเซียสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้ก่อน จนนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างกัน โดยให้รัฐบาลอัล-อัสซาดทำลายอาวุธเคมีของซีเรียทั้งหมดที่มีอยู่ในครอบครอง เพื่อที่ว่าต่อไปในอนาคตจะสามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีการใช้อาวุธเคมีโดยรัฐบาลซีเรียอีก โดยมีรัสเซียเป็นเสมือนผู้ค้ำประกัน

 

“นอกจากนี้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 รัฐบาลซีเรียถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีในลักษณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาคือ สหรัฐฯ มีคำสั่งปฏิบัติการทางทหารทันที ด้วยการยิงโทมาฮอว์กถล่มซีเรียถึง 59 ลูก ข่าวเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีซึ่งถือว่าเป็นอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) ของรัฐบาลซีเรีย จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ร่วมมือกันเปิดฉากโจมตีซีเรีย โดยระบุว่าเป็นเหตุจำเป็นด้านมนุษยธรรม แม้จะยังไม่เคยแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีการโจมตีโดยอาวุธเคมีจริงๆ ก็ตาม และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีเรียถูกรัฐบาลสหรัฐฯ โจมตีทางทหาร”

 

 

ความย้อนแย้งที่น่าตั้งคำถามในสงครามซีเรีย

ทั้ง ศ.ดร.จรัญ และ อ.ดร.มาโนชญ์ ต่างตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งที่ชวนให้ขบคิดว่า หากเรามองจากสถานการณ์ซีเรียตั้งแต่ปี 2017 เรื่อยมาจนถึงปลายปีจะพบว่า ฝ่ายที่ควบคุมสถานการณ์และความได้เปรียบเกือบทั้งหมดกลับเป็นรัฐบาลซีเรียและรัสเซีย ที่สามารถยึดคืนพื้นที่จากฝ่ายกบฏ ฝ่ายต่อต้านและกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ได้เกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงฐานที่มั่นสุดท้ายที่บริเวณเขตกูตาตะวันออกเท่านั้น ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลซีเรียสามารถยึดคืนพื้นที่ได้ทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า ‘ถ้าหากไม่มีปัจจัยอะไรเกิดขึ้น หรือไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมีขึ้นมา รัฐบาลซีเรียก็น่าที่จะประกาศชัยชนะและคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ’

 

คำถามสำคัญคือ ในเมื่อกำลังจะชนะอยู่แล้ว รัฐบาลซีเรียมีเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรที่ต้องใช้อาวุธเคมี?

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์ที่เคยถูกโจมตีอย่างหนักจากกองทัพสหรัฐฯ ยิ่งทำให้รัฐบาลซีเรียและรัสเซียน่าจะตระหนักดีว่า ถ้ามีการใช้อาวุธเคมีอีกครั้งก็อาจจะถูกโต้กลับในลักษณะเดียวกันหรืออาจจะได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้การเปิดฉากโจมตีของกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร มีขึ้นในขณะที่ทีมคณะผู้ตรวจสอบนานาชาติขององค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ยังไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรียได้ จุดนี้ทำให้รัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า ‘สหรัฐและชาติพันธมิตรต้องการที่จะขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ OPCW หรือไม่?’

 

 

โจมตีก่อน ตรวจสอบทีหลัง ‘เดจาวู’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกองทัพสหรัฐฯ

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกใช้วิธีชิงโจมตีเป้าหมายก่อนที่จะมีผลสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือได้รับมติเห็นชอบจากสหประชาชาติ โดย อ.ดร.มาโนชญ์ ระบุว่า “การโจมตีทางทหารของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรครั้งล่าสุด เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีที่สหรัฐฯ บุกยึดอิรักในปี 2003 ที่กล่าวหาว่าอดีตผู้นำเผด็จการของอิรักอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธร้ายแรง (WMD) ไว้ในครอบครอง ซึ่งซัดดัม ฮุสเซนในที่สุดก็ยินยอมให้หน่วยงานด้านปรมาณูอย่าง IAEA เข้าไปตรวจสอบ แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันจะแล้วเสร็จดี รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งให้หน่วยงานดังกล่าวเดินทางออกนอกพื้นที่ เนื่องจากระบุว่าตนมีภาพถ่ายดาวเทียมและหลักฐานชัดเจนแล้ว ก่อนที่จะเปิดฉากปฏิบัติการทำสงครามยึดครองอิรักอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่พบอาวุธร้ายแรงในอิรักตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

“ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เป็นฝีมือของใคร ถ้าหากมีกระบวนการตรวจสอบที่สมบูรณ์และน่าเชื่อถือสำหรับทุกฝ่ายแล้ว ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่บทลงโทษที่ทุกฝ่ายยอมรับและเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก”

 

 

‘ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม’ หรือ ‘ภาวะวิกฤตในตัวผู้นำรัฐบาล’

นอกจากความจำเป็นด้านมนุษยธรรม ยังมี ‘เหตุผลแอบแฝง’ อีกหลายประการที่ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจเปิดฉากโจมตีและเข้าแทรกแซงสงครามซีเรียในครั้งนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจุดยืน เตรียมถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากสมรภูมิซีเรียแล้ว

 

ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า “นัยทางการเมืองของมหาอำนาจที่เข้าไปพัวพันเหตุโจมตีในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากครั้งก่อน จากเดิมที่สหรัฐฯ จะปฏิบัติการทางทหารโดยลำพัง แต่ล่าสุดมีการดึงเอาสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติอีก 2 ประเทศอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าไปร่วมด้วย นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลก็ยังแสดงท่าทีสนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากซีเรีย ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กระตุ้นเตือนให้พันธมิตรเห็นความสำคัญของสหรัฐฯ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับปฏิบัติการต่างๆ ของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น”

 

 

โดย อ.ดร.มาโนชญ์ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากซีเรีย ทำให้ประเทศพันธมิตรในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย รวมถึงอิสราเอลแสดงท่าทีไม่พอใจ ซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นคงของทั้งสองประเทศนี้จะถูกสั่นคลอนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ เหล่านี้ที่เคยพึ่งพิงอยู่สหรัฐฯ อาจจะยิ่งรู้สึกไม่มั่นใจกับการฝากอนาคตและความมั่นคงของประเทศไว้กับสหรัฐฯ รวมถึงอาจนำไปสู่การทบทวนนโยบายต่างประเทศที่มีต่อสหรัฐฯ ก็เป็นได้

 

“อย่าลืมว่าในระยะหลังสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มากพอสมควร โดยสหรัฐฯ เสียพันธมิตรไปหลายประเทศ ยกตัวอย่างฟิลิปปินส์ที่หันมาใกล้ชิดกับจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่สามารถยับยั้งอิทธิพลของพญามังกรจีนในทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์มีผลประโยชน์อยู่ได้ ท้ายที่สุดฟิลิปปินส์ก็ต้องทบทวนจุดยืนและนโยบายที่มีต่อสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับในกรณีของตุรกี จากที่เคยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ช่วยกันสู้รบและสนับสนุนฝ่ายกบฏในซีเรียมาโดยตลอด ก็เริ่มตีตัวออกห่างสหรัฐฯ และหันไปใกล้ชิดกับรัสเซียและอิหร่านเพิ่มมากขึ้น

 

“ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา วาระและเป้าหมายสำคัญของสหรัฐอเมริกาคือ การโค่นล้มรัฐบาลอัล-อัสซาด อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรในอนาคต การสู้รบในซีเรียดำเนินเรื่อยมา อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุโรปมีโครงการที่จะวางท่อส่งก๊าซจากตะวันออกกลางผ่านไปทางซีเรีย ตุรกี และเข้าไปในยุโรป หากทำสำเร็จ ยุโรปก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพลังงานและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียและเท่ากับว่ารัสเซียก็จะสูญเสียอำนาจต่อรองกับประเทศต่างๆ ในยุโรปไปโดยปริยาย ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนระหว่างมหาอำนาจและชาติพันธมิตรทั้งหลาย อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจในตะวันออกกลาง จึงทำให้เดิมพันในสงครามซีเรียครั้งนี้สูงมาก

 

 

“ถ้าหากรัฐบาลเผด็จการของอัล-อัสซาด ยังอยู่ในอำนาจ นั่นแปลว่ารัสเซียมีชัยชนะเหนือสหรัฐอเมริกา และนั่นแปลว่าอิทธิพลของอิหร่านและขั้วอำนาจของชีอะห์ในตะวันออกกลางจะยิ่งแผ่ขยายมากยิ่งขึ้น โดยมีอิหร่านเป็นแกนนำ มีซีเรียเป็นประเทศชีอะห์ที่เข้มแข็ง มีเยเมนและอิรัก ที่รัฐบาลมีความใกล้ชิดกับอิหร่านเป็นอย่างมาก ถ้าหากรัสเซียสามารถปกป้องรัฐบาลของอัล-อัสซาดได้ จะทำให้สหรัฐฯ ดูเสียเชิงเป็นอย่างมาก ซึ่งจะสั่นคลอนภาพลักษณ์ของการเป็นมหาอำนาจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

โดย ศ.ดร.จรัญ และ อ.ดร.มาโนชญ์ ต่างมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘การโจมตีทางทหารของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวและเบี่ยงเบนความสนใจ’ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตัวผู้นำที่กำลังเสื่อมความนิยมลงอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอังกฤษและฝรั่งเศสด้วย

 

 

“นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษกำลังถูกตั้งคำถามหลังจากกล่าวหาว่า รัฐบาลรัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารสายลับสองหน้าเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า อะไรคือหลักฐานที่เชื่อถือได้ของผู้นำอังกฤษ จนนำไปสู่สงครามทางการทูตครั้งใหญ่ในซีกโลกตะวันตก ในขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสอย่างประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก็ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง อีกทั้งยังเผชิญหน้ากับเหตุประท้วงและกดดันจากหลายภาคส่วน เนื่องจากนโยบายปฏิรูปของรัฐบาล

 

“ส่วนในกรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งหนักเข้าไปอีก ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องความสัมพันธ์กับรัสเซียในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงกระแสกดดันเรื่องการแก้ไขกฎหมายสิทธิครอบครองปืนในสหรัฐฯ ประกอบกับหนังสือที่ตีพิมพ์ขึ้นเพื่อโจมตีเขาถูกวางจำหน่ายและติดอันดับหนังสือขายดี ยิ่งทำให้พลเมืองอเมริกันตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความสามารถในตัวของผู้นำสหรัฐฯ คนนี้”

 

อ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวปิดท้ายประเด็นนี้ว่า “การเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศ เป็นเครื่องมือคลาสสิกทางการเมืองของผู้นำในหลายๆ ประเทศที่เมื่อเกิดปัญหาการเมืองภายใน การเบนความสนใจออกไปภายนอกประเทศเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างผลงานและปรับให้คะแนนนิยมของตัวเองเพิ่มสูงขึ้น”

 

 

สงครามซีเรียมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็น ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ หรือ ‘สงครามเย็น’ หรือไม่

อ.ดร.มาโนชญ์ แสดงความเห็นว่า “หากดูพัฒนาการ แนวโน้ม และสถานการณ์ต่างๆในสงครามซีเรียขณะนี้ที่ยกระดับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 7 ปีที่แล้วที่เป็นสงครามกลางเมือง (Civil War) ภายในประเทศ ยกระดับกลายเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ที่มีมหาอำนาจภายในภูมิภาคและมหาอำนาจโลกเข้ามาพัวพัน ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะขยับไปเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคได้ แต่ผมยังไม่มองไปไกลถึงขนาดที่ว่า ความขัดแย้งในสงครามซีเรียจะพัฒนาไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ เนื่องจากมหาอำนาจแต่ละฝ่ายไม่ต้องการเผชิญหน้ากันหากไม่จำเป็น”

 

โดย ศ.ดร.จรัญ กล่าวเสริมว่า “หากดูจากการโจมตีซีเรียครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการโจมตีแบบจำกัดเป้าหมาย มาไว ไปไว สะท้อนให้เห็นว่า มหาอำนาจแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต่างไม่ต้องการเผชิญหน้ากัน โอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ยังถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย”

 

อ.ดร.มาโนชญ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันโลกซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหลายมิติมาก ไม่ว่าจะรักหรือไม่ชอบกันก็ไม่สามารถตัดขาดหรือออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การแบ่งแยก แข่งขัน และสร้างความขัดแย้งแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนช่วงสงครามเย็นอีกต่อไป สงครามเย็นแบบเดิมอาจจะไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะเป็นสงครามเย็นรูปแบบใหม่ ที่อาจมีการหันมาใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นจริงๆ ผมว่าอาจจะเป็นสงครามโลกทางด้านการค้า ที่ไม่ได้มีเพียงแค่สหรัฐฯ และรัสเซีย แต่ยังมีจีนที่เป็นผู้เล่นหลักอีกด้วย”

 

 

สงครามซีเรียกับ ‘จุดยืนของไทย’ ต่อมหาอำนาจที่อาจถูกสั่นคลอน

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาสงครามซีเรียที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีผลกระทบต่อไทยน้อยมาก และล่าสุดนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็ออกมายืนยันว่า หญิงไทย 2 คนที่แต่งงานกับชาวซีเรียยังคงปลอดภัยดี แต่การโจมตีทางทหารของบรรดามหาอำนาจก็ส่งผลให้ไทยต้องปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น้อย

 

อ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า “สงครามซีเรียจะกระทบกับเราอย่างน้อยใน 2 มิติ ไทยต้องตั้งรับให้ดี แต่ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนก ในทางเศรษฐกิจ การโจมตีดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาหุ้นและราคาน้ำมัน รวมถึงสินค้าเศรษฐกิจในตลาดโลกผันผวน ปรับขึ้นลงอย่างแน่นอน ซึ่งหน่วยงานหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องน่าจะกำหนดทิศทางและมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้แล้ว ในขณะที่ทางด้านการระหว่างประเทศ การวางตัวถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งในระยะหลังมักจะมีการโหวตในญัตติที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพันธมิตรของไทยทั้งสิ้น

 

“คำถามสำคัญคือ ไทยจะรักษาดุลแห่งอำนาจกับมหาอำนาจทั้งสามฝ่ายนี้อย่างไร โดยต้องยึดหลักสากลและปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ของสหประชาชาติ ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นของเราเอง บนพื้นฐานที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของชาติและพร้อมปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันกำลังถูกสั่นคลอนอยู่ ณ ขณะนี้”

 

Photo: AFP, Reuters

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising