×

ทำไม Supply Chain ถึงมีส่วนดันบริษัทสู่ความยั่งยืน

17.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • เมื่อโลกยังไม่ซับซ้อน การทำธุรกิจจากผู้ผลิตถึงผู้รับจึงยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องมาก แต่ปัจจุบันการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
  • ถ้าไม่นำเรื่อง ESG เข้าไปอยู่ในนโยบายหรือในห่วงโซ่อุปทานแต่ละฝ่ายงานแล้ว หากวันหนึ่งคู่ค้าได้ละเมิดหรือฝ่าฝืนด้าน ESG บริษัทย่อมได้รับความเสี่ยงและปัญหาทั้งด้านชื่อเสียง แบรนด์ และผลประกอบการอย่างปฏิเสธไม่ได้
  • ประโยชน์ที่จะได้นอกจากเป็นการสร้างภูมิเพื่อป้องกันการเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดแล้ว ยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือพนักงาน และยกระดับการทำงานร่วมกับคู่ค้าที่อาจกลายเป็นการสร้างนวัตกรรมและการผลิตสินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิม

ในอดีตการดำเนินธุรกิจหนึ่งจะมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ผลิตสินค้าหรือการบริการสู่ผู้รับใช้หลักการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก เช่น การบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การสร้างรายได้ให้เติบโต แต่ปัจจุบันหาใช่ไม่ เพราะโลกได้แปรผันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และยังมีการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็วตามเทคโนโลยีที่กระตุ้นให้โลกใบนี้หมุนเร็ว ซึ่งแน่นอนย่อมทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีจำนวนและความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเช่นกัน

 

ความต่าง ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ กับ ‘ห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน’

 

เดิมเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคู่ค้าในการผลิต ตั้งแต่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้า ผู้จำหน่ายสินค้า และคู่ค้า ตลอดการขนส่งที่ไปถึงปลายทางผู้รับ ทว่าปัจจุบันได้มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ผู้บริโภค ผู้ลงทุน พนักงานในองค์กร และสังคมเอง ต่างก็เริ่มให้น้ำหนักและความสำคัญเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาล) จึงเริ่มเป็นสารตั้งต้นให้บริษัทต่างๆ ต้องนำเรื่องเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายและแผนงานการปฏิบัติตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่ต้องมีการกำกับเรื่อง ESG ตลอดวัฏจักรของสินค้าและบริการของบริษัทนั้นๆ หรือเรียกว่า ‘การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Supply Chain) 

 

จะยั่งยืนได้ต้องบริหารจัดการ ESG ครอบคลุม

 

เช่น ธุรกิจอาหารที่บริษัทต้องมีการทำงานที่เป็นระบบ และมีมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน หรือตรวจย้อนหลังที่มาของวัตถุดิบที่จะไม่มีผลกระทบต่อการรุกพื้นที่หรือมีการตัดไม้ทำลายป่า ต้องมีการเคารพสิทธิมนุษยชนตั้งแต่พนักงานและแรงงาน หรือการคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่จะนำมาแปรรูป อีกทั้งต้องมีการบำบัดน้ำให้ดีที่สุดโดยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะทำลายชุมชน เช่น หากมีการจ้างเกษตรกรเลี้ยงกุ้งก็ต้องส่งพนักงานบริษัทไปอธิบายและแนะนำพี่เลี้ยง ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งให้ถูกต้อง โดยทำฟาร์มให้ถูกกฎหมายตั้งแต่ต้นที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่รอบข้างของคู่ค้าที่เลี้ยงกุ้งให้ด้วย เพราะถ้าเกิดผลกระทบขึ้นมาก็จะไม่มีผู้เลี้ยงกุ้งมาขายให้บริษัท และทำให้การผลิตของธุรกิจหยุดชะงักได้ ซึ่งยังส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท หรือถ้าเกิดเหตุเป็นข่าวไม่ว่ากรณีใดกรณีหนึ่งขึ้นมาก็ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ โดยฝ่ายจัดหาจะต้องทำงานร่วมกับฝ่ายควบคุมคุณภาพหรือฝ่ายผลิตและคู่ธุรกิจ และควรมีการทำแผนพัฒนาร่วมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยสร้างการเติบโตและยั่งยืนแบบก้าวหน้าไปด้วยกัน

 

เป้าหมายบริษัทต้องชัด เพื่อสร้าง DNA ทุกหน่วยงาน

 

การจะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรที่ต้องเขย่านโยบายและกำหนดเป้าหมายและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจภายในองค์กร ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัทไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายคลังสินค้า และฝ่ายจัดส่งสินค้า ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับพนักงานทุกคนและทุกฝ่ายงานที่ต้องไปจัดกระบวนการทำงาน และหาวิธีการปฏิบัติให้ส่วนงานของตัวเองคำนึงเรื่องยั่งยืน 

 

ตั้งแต่การระบุความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ความเสี่ยงจากการพึ่งพาคู่ค้าน้อยราย ความเสี่ยงจากการได้รับสินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพ หรือทางด้านสังคม เช่น การให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงานและแรงงาน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากคู่ค้าของบริษัท อีกทั้งควรสร้างการมีส่วนร่วมกับคู่ค้า เพื่อสื่อสารความคาดหวังและความตั้งใจของบริษัทในการบริหารจัดการความยั่งยืน ตลอดจนหาแนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน และสร้างพลังความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวสักระยะหนึ่ง แต่เชื่อเถอะว่าพอทำได้ในระยะหนึ่งก็จะกลายเป็นการปฏิบัติที่คุ้นชิน และอาจนำไปสู่การเป็น DNA ของพนักงานหรือวัฒนธรรมองค์กรต่อไป 

 

เตรียมรับคลื่นผลกระทบหากไม่เอาจริง

 

อย่างฝ่ายจัดซื้อก็ต้องทำงานควบคู่ไปกับฝ่ายงานอื่น เพราะจะมีเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการดำเนินงาน เช่น เรื่องกฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาเกี่ยวกับจริยธรรม หรือด้าน ESG ที่คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจอาจมีความเกี่ยวข้องในการจัดหาวัตถุดิบ หรือการกีดกันทางการค้าที่ห้ามทำการค้ากับบริษัทที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายพื้นที่ป่าที่ฝ่ายจัดซื้อเองต้องมีการคัดกรอง ประเมินคู่ค้าธุรกิจให้ละเอียดเป็นอย่างดีก่อน รวมถึงต้องปรับวิธีการทำงานร่วมกับคู่ค้าธุรกิจ ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจได้ ทั้งในแง่ของผลประกอบการและความน่าเชื่อถือจากลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือแบรนด์และตัวบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

จับมือโตไปด้วยกันกับคู่ค้า

 

เป็นการเปลี่ยนวิธีการที่จากเดิมจะใช้อำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าธุรกิจ มาเป็นการจับมือทำการค้าร่วมกัน ซึ่งสามารถร่วมกันพัฒนาและเสริมมุมมองความยั่งยืนเรื่อง ESG กับคู่ค้า โดยจัดทำแนวปฏิบัติหรือจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ที่ครอบคลุมประเด็น ESG เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่ได้เป็นเพียงการบอกกล่าว แต่ต้องเป็นไปตามความร่วมมือที่ตกลงกัน อธิบายเหตุทั้งหมดว่าทำไมบริษัทถึงมีความเคร่งครัดทางด้านนี้ และควรมีการประเมินคู่ค้าอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน อย่างน้อยก็ช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเท่ากับเพิ่มโอกาสให้กับคู่ธุรกิจเช่นกัน ในขณะเดียวกันเท่ากับเป็นการช่วยกันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ที่สามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตหรือพัฒนาสินค้าและการบริการร่วมกันได้ จนบางครั้งอาจทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่สุดท้ายทั้งบริษัทและคู่ค้าต่างก็จะ Win-Win ไปด้วยกัน 

 

นอกจากนั้น เพื่อบริหารความเสี่ยงของผู้ผลิตเองก็ควรลดการพึ่งพาวัตถุดิบหลักจากคู่ค้าเพียงแห่งเดียว เพราะหากคู่ค้าไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบใดได้ ก็ยังคงสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าได้อยู่ อีกทั้งควรมีการจัดกลุ่มประเภทคู่ค้าและแบ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญกับคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ เพราะจะทำให้ช่วยกำหนดแผนงานได้ชัดเจน

 

ป้องกันเหตุดีกว่าค่อยไปฟื้นความเชื่อมั่นหลังเกิดผลกระทบ

 

การส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้ายกระดับการทำธุรกิจที่เติบโตไปด้วยกัน เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการหรือปิดความเสี่ยงทางด้านความยั่งยืนไว้ แม้ต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการป้องกันเหตุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่อาจส่งผลกระทบด้าน ESG ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ยังดีกว่าไปแก้ที่ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วระหว่างการดำเนินงานแต่ละห่วงโซ่ธุรกิจ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ แต่ความเสียหายอาจมากกว่าการเสียค่าใช้จ่ายหากดำเนินการไปแล้ว และไม่น่าจะคุ้มกับการต้องแลกความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของบริษัท 

 

ประโยชน์ที่ได้จากการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

 

สิ่งที่บริษัทหรือหน่วยงานจะได้คือ ลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะหยุดชะงักเนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เท่ากับได้ช่วยบริษัทปกป้องและเสริมสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง มี Brand Value และถือเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือพนักงานไปในตัวด้วย พร้อมกับช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สอดรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปที่สามารถช่วยลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินธุรกิจได้อีก รวมทั้งยังทำให้ผู้บริโภคได้มีการปรับตัวจากการรับรู้ข้อมูลการดำเนินงานและการผลิตหรือบริการของบริษัท ได้เข้าใจในเรื่องของผลิตภัณฑ์และการบริหารงานเพื่อให้ธุรกิจและสังคมมีความยั่งยืนไปด้วยกัน 

 

ตัวอย่างการเปลี่ยนวิธีห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

 

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) 

  • การคัดเลือกคู่ค้า เดิมจะมีการประเมินประสิทธิภาพการผลิตและส่งมอบ พร้อมร่วมทุนกับผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศที่มีมาตรฐานและศักยภาพในการผลิต โดยแนวทางใหม่ที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมคือ สนับสนุนสินค้าของเกษตรกรที่มี GI และเลือกคู่ค้าที่มีมาตรฐาน Green Industry ระดับ 2 ขึ้นไป ด้านสังคม ได้จัดตั้งศูนย์รับซื้อสินค้าเกษตรทั่วประเทศ โดยทำสัญญาการผลิตกับเกษตรกรให้ปลูกและผลิตอย่างยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน GAP พร้อมสนับสนุนให้ความรู้เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 
  • โรงงานผลิตและคลังสินค้า เดิมกระบวนการผลิตสินค้า เช่น สบู่ กระดาษชำระ ขวดแก้ว จะเน้นพัฒนาคุณภาพและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด หรือการจ้างหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องสำหรับการขนส่ง บำบัด หรือกำจัดขยะและของเสียระหว่างกระบวนการผลิต แบบใหม่คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่รับผิดชอบ เช่น ใช้เยื่อกระดาษที่มาจากป่าปลูก (FSC) และวัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิล เช่น เศษแก้ว อะลูมิเนียม และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดจากการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา รวมทั้งผลิตสินค้าที่สามารถนำมาผลิตซ้ำได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ผลิตขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม ด้านสังคม สร้างความตระหนัก ให้ความรู้และอบรมพนักงานเรื่อง ESG หรือด้านบรรษัทภิบาลที่จะติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการจัดการคลังสินค้า ระบบชั้นวางสินค้าที่ทันสมัย เพื่อจัดและควบคุมการจ่ายสินค้าได้ตามระบบและล็อตการผลิต

 

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (HMPRO) 

  • การตลาดและการขาย ที่เดิมให้บริการและจำหน่ายสินค้าหน้าร้านตามแต่ละสาขา และขายสินค้าใหม่เท่านั้น แต่แบบใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อม ทำแคมเปญเก่าแลกใหม่เพื่อใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน โดยมีการจัดการอย่างถูกวิธี และผ่านกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล ด้านสังคม ได้ปรับรูปแบบการขายสินค้าเป็น Omni-Channel ที่ผสมผสานช่องทางการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และเพิ่มรูปแบบการส่งเป็นซื้อและส่งภายในวันเดียว เพื่อลดการเดินทางของลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์และตรงกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า 
  • บริการหลังการขาย เดิมช่างบริการติดตั้งและซ่อมแซมส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเท่านั้น และแยกทักษะตามประเภทสินค้า และมีประกันสินค้าตามเงื่อนไขข้อกำหนดของแต่ละแบรนด์ เมื่อหมดประกันถือว่าสิ้นสุด โดยแบบใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อม มีเครือข่ายช่วยศึกษาการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และพัฒนาวัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิล ซึ่งสามารถควบคุมต้นทุนได้ ด้านสังคม ได้ยกระดับฝีมือช่างให้มีทักษะที่หลากหลาย และจ้างทุกเพศสภาพ พร้อมจัดตั้งศูนย์ซ่อมสินค้าหมดประกัน สินค้าเก่าแลกใหม่ เมื่อซ่อมเสร็จก็นำมา Resell ช่วยเหลือกลุ่มไม่มีกำลังซื้อ เพื่อยืดอายุการใช้งานและลดการเกิดขยะ

 

บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ZEN)

  • การบริหารปัจจัยการผลิต เดิมเน้นการควบคุมคุณภาพและเน้นราคาต้นทุนถูกที่สุด แบบใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม จะเน้นคู่ค้าที่ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านการจัดซื้อวัตถุดิบและจัดกิจกรรมการพัฒนาชุมชน เช่น ทำใจดีฟาร์มส่งเสริมคนพิการเลี้ยงไก่ไข่ ส่วนการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี จะจัดหาและเลือกสินค้าที่มีมาตรฐาน ยอมรับและกำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส เสมอภาค คุ้มค่า พร้อมใช้เทคโนโลยีช่วยควบคุมกระบวนการจัดซื้อ และมีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้า ซึ่งพร้อมประเมินคู่ค้าประจำปี
  •  การคลังและการกระจายสินค้า เดิมมีคลังสินค้าของตัวเอง ซึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายที่สูงยาก เพราะมีการใช้น้ำมันและพลังงานปริมาณมาก แบบใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการสินค้าคงคลังและเก็บวัตถุดิบเพื่อลดการสูญเสียมากที่สุด โดยเลือกใช้ Outsource ที่ส่งหลายแห่งแทน ทำให้ช่วยลดและประหยัดพลังงาน หรือเท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งได้ พร้อมปรับขั้นตอนการใช้ยานพาหนะให้มีประโยชน์สูงสุด 
  • การผลิตอาหาร จากเดิมนำของเสียไปทิ้งและดำเนินความปลอดภัยตามกระทรวงสาธารณสุข แบบใหม่ ทางด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดไม่ใช้โฟมเด็ดขาด โดยใช้กล่องบรรจุอาหารที่เลี่ยงการใช้พลาสติก พร้อมแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกับ SCG ด้านสังคม พร้อมพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสเติบโตให้พนักงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างเหมาะสม ด้านการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีคือ พัฒนาสินค้าโดยเน้นสุขอนามัยและความปลอดภัยทางอาหารเสมอ 

 

ปัจจุบันถือเป็นยุคที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธการมีส่วนร่วมที่จะคำนึงถึงเรื่อง ESG ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทต่างๆ เพราะทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising