×

โลกยังคงสูญเสียป่าฝนต่อไปในอัตราเร็ว​ 10 สนามฟุตบอลต่อนาที

โดย Mr.Vop
10.04.2024
  • LOADING...

ตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมโดยสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และมหาวิทยาลัยแมริแลนด์เผยให้เห็นว่า พื้นที่ป่าฝนทั่วโลกยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่องในอัตราเร็วที่น่าเป็นห่วง

 

การเข้ามาสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล และประธานาธิบดี กุสตาโว เปโตร แห่งโคลอมเบีย ได้พลิกฟื้นชะตาของผืนป่าแอมะซอนไปโดยสิ้นเชิง ทั้งสองประเทศสามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าลงไปได้อย่างมากถึง 36% และ 49% ตามลำดับ โดยเฉพาะบราซิลนั้น อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2023 ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี

 

แต่โลกเรายังไม่พ้นเคราะห์ แม้ประเทศบราซิลและโคลอมเบียจะลดการทำลายป่าลงไปแล้ว แต่กลับมีประเทศอื่นๆ เช่น โบลิเวีย นิการากัว คองโก อินโดนีเซีย เปรู หรือแม้แต่ สปป.ลาว ที่เพิ่มอัตราเร็วในการทำลายป่าขึ้นมาแทน ตัวเลขที่บันทึกไว้ระบุว่า ในปี 2023 เพียงปีเดียว มีป่าฝนเก่าแก่ที่ไม่เคยมีมนุษย์เข้าไปรบกวนถูกแผ้วถางทำลายเป็นพื้นที่กว้างถึง 37,000 กิโลเมตร หรือประมาณแล้วเท่ากับ 10 สนามฟุตบอลต่อนาที

 

นั่นคือป่าฝนที่ถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ยังมีป่าฝนที่ต้องสูญเสียไปกับไฟป่าอีกหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น ป่าในประเทศแคนาดาในปี 2023 ที่ถูกไฟป่าเผาทำลายไปมากกว่า 8 ล้านเฮกตาร์ (20 ล้านเอเคอร์) “โลกก้าวไปข้างหน้าสองก้าว แล้วก็ต้องถอยหลังไปสองก้าว เมื่อพูดถึงการสูญเสียป่าฝนในปีที่ผ่านมา” มิคาเอลา ไวส์เซ ผู้อำนวยการ Global Forest Watch ของ WRI กล่าว

 

“การทำลายป่าแอมะซอนที่ลดลงอย่างชัดเจนในประเทศบราซิลและโคลอมเบีย แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่เป็นไปได้จริงในการป้องกันรักษาป่าฝนของโลกเราเอาไว้ แต่การสูญเสียป่าฝนที่กลับไปเพิ่มขึ้นในประเทศอื่นๆ นั่นเท่ากับความคืบหน้านี้ถูกขัดขวางไปเสียเฉยๆ” เธอกล่าว “เราต้องเรียนรู้และเผยแพร่วิธีการที่ได้ผลจากบราซิลและโคลอมเบีย รวมถึงประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการชะลอการตัดไม้ทำลายป่าไปสู่ประเทศที่มีปัญหาเหล่านั้น” 

 

ป่าฝนทั่วโลกที่ถูกทำลายไปนำมาสู่ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ยกตัวอย่างเช่น ป่าฝนแอมะซอนแห่งเดียวก็เป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ต่างๆ ที่เรารู้จักบนโลกอย่างน้อยถึง 10% นอกจากนี้ป่าฝนเขตร้อนยังเต็มไปด้วยพืชพรรณอันเขียวชอุ่มที่เก็บกักปริมาณคาร์บอนเอาไว้อย่างมหาศาล 

 

“การสูญเสียป่าปฐมภูมิเขตร้อนในปี 2023 ปีเดียว ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลกเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซของสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกปี” มิคาเอลา ไวส์เซ กล่าว “การอนุรักษ์ป่าฝนเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน ในการพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม”

 

ในการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่ดูไบเมื่อปี 2021 รัฐบาลประเทศต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหยุดการทำลายป่าทั่วโลก รวมทั้งต้องร่วมมือกันฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้ได้ผลภายในปี 2030 แต่ตัวเลขที่ได้มาล่าสุดกลับบอกเราว่า โลกยังอยู่อีกยาวไกลจากการบรรลุเป้าหมายนี้ 

 

บราซิล คองโก และโบลิเวีย ติดอันดับ 3 ประเทศเขตร้อนที่มีการสูญเสียป่าไม้มากที่สุด แม้ว่าความเสียหายในบราซิลจะลดลงไปแล้ว แต่อันดับ 2 อย่างคองโกก็ยังคงมีระดับการทำลายป่าฝนที่สูงแตะ 5,000 ตารางกิโลเมตร และอันดับ 3 อย่างโบลิเวียนั่นก็มีอัตราการสูญเสียป่าฝนเพิ่มขึ้นถึง 27% ทั้งการตัดไม้และการถูกเผาโดยไฟป่า โดยรวมแล้วในปี 2023 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีอัตราการทำลายป่าฝนเพิ่มขึ้น 3.2% 

 

เหตุผลเบื้องหลังการทำลายป่าฝนก็คือเรื่องของเงิน ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีทางแก้ไขได้ง่ายๆ “ผมเชื่อจริงๆ ว่าวิธีเดียวที่จะรักษาป่ายืนต้นได้คือ ประเทศร่ำรวยตั้งกองทุนชดเชยสำหรับการอนุรักษ์ป่าฝนขึ้นมา” ศ.แมทธิว แฮนเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจระยะไกลจากแผนกภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าว 

 

บางประเทศในยุโรป อย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ได้เริ่มทดลองทำข้อตกลงในการอุดหนุนเงินทุนให้กับประเทศป่าฝนเพื่อลดการทำลายป่าลง ทางประเทศนอร์เวย์ก็ได้มีแนวทางคล้ายกันนี้คือ การวางแนวทางร่วมกับสาธารณรัฐกาบองในแอฟริกาเพื่อลดการทำลายป่า โดยใช้ตัวเลขการกักเก็บคาร์บอนเป็นตัววัดค่า คู่กับการกำกับดูแลที่เข้มงวด “แนวทางแบบนี้รวมทั้งส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในภาคประชาสังคมอาจจะได้ผล” ศ.แมทธิว แฮนเซน กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพ: Per-Anders Pettersson / Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising