×

โลกรวนทำทะเลเดือด ปะการังฟอกขาว หญ้าทะเลตาย เต่ามีแต่ตัวเมีย

18.04.2024
  • LOADING...
ภาวะโลกรวน

ไม่ใช่แค่มนุษย์เดินดินที่เป็นประจักษ์พยานต่อสภาพอากาศร้อนระอุจนแทบจะอยู่ไม่ไหว แต่สัตว์น้ำในโลกใต้ทะเลก็กำลังประสบเคราะห์กรรมจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทะเลอันกว้างใหญ่ซึ่งเคยเป็นบ้านอันฉ่ำเย็นของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ บัดนี้กำลังร้อนขึ้นทุกขณะ 

 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลว่า ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมและตายลง อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติจนทำให้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาว รวมถึงเต่าทะเลที่ปัจจุบันเป็นเพศเมียมากกว่าเพศผู้

 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากภาวะโลกรวนที่มนุษย์ก่อขึ้นทั้งสิ้น 

 

  • ปะการังฟอกขาว

 

โดยปกติแล้วปะการังในทะเลจะมีสีสันที่หลากหลาย ดึงดูดให้บรรดานักท่องเที่ยวและนักดำน้ำลงไปแหวกว่ายเพื่อชื่นชมความงาม แต่เมื่อเกิดภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 31 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน) จะทำให้ปะการังเครียด จนเนื้อเยื่อของมันมีสีจางลงจนกลายเป็นสีขาว ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

 

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวใหญ่เป็นวิกฤตโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปะการัง โดยปกติกว่าปะการังจะกลับคืนมาสภาพเดิมได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป 

 

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเคยเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวขนานใหญ่ 2 ครั้ง ทำให้ปะการังเติบโตไม่ทัน ผลพวงที่ตามมาจะทำให้สัตว์น้ำขาดแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และหลบภัย ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็อาจไม่อยากไปเที่ยวชมอีก ทำให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยปะการังฟอกขาวมักเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน

 

ขณะเดียวกัน รายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA เผยถึงภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่รอบที่ 4 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลก 

 

  • หญ้าทะเลเสื่อมโทรม

 

ไม่เพียงแค่ปะการังเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ภาวะโลกเดือดยังสร้างความเสียหายต่อหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมและตายในที่สุด ซึ่งเมื่อหญ้าทะเลตาย สัตว์น้อยใหญ่ก็จะขาดแหล่งอาหาร รวมถึงพะยูนและเต่าทะเลซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้วด้วย 

 

โดยปกติหญ้าทะเลที่ตายลง ใบจะร่วงแล้วงอกขึ้นมาใหม่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ปีนี้นับเป็นปีแรกที่สถานการณ์โลกเดือดทำให้เหง้าของหญ้าทะเลเกิดการเน่าเปื่อย เนื่องจากดินมีความร้อนสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้หญ้าทะเลเกิดการอืดแห้งนาน แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ 30-50 เซนติเมตร ทำให้หญ้าทะเลอืดแห้งนานกว่าปกติมากกว่าหนึ่งชั่วโมง 

 

ทช. ได้ส่งทีมนักวิชาการ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษา ดำเนินการค้นคว้าและวิจัยหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเล ปรากฏว่าภาวะโลกเดือดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง ซึ่ง ทช. ได้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม 

 

  • โลกเดือดกระทบเพศเต่าทะเล

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด นั่นก็คือการขาดความสมดุลเพศของเต่าทะเล เนื่องจากอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของเต่าทะเล 

 

รายงานของ National Ocean Service ระบุว่า หากไข่เต่าฟักตัวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าส่วนใหญ่จะออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากไข่เต่าฟักตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะเป็นตัวเมีย นักวิจัยยังพบด้วยว่า ยิ่งทรายมีอุณหภูมิอุ่นมากขึ้นเท่าไร สัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น 

 

ในอดีตโลกเคยสามารถรักษาสมดุลให้เต่ามีเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่ง แต่ปรากฏว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกรวนทำให้เต่าเพศเมียเยอะขึ้น ส่วนเพศผู้ลดลง ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อเต่าเพศผู้ลดน้อยลงก็ไม่เกิดการผสมพันธุ์ ทำให้ไข่ของแม่เต่าเป็นไข่ลมและเน่าเสียได้ 

  • ภาครัฐดำเนินการอะไรแล้วบ้าง

 

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สิ่งที่ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรม อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ และการเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาว นับว่าเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตทะเลเดือด จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้หารือกับ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งหาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ ทช. เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน

 

ส่วน ทช. ได้ติดตามสถานการณ์โลกเดือดอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือ และดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โดยมีการร่วมมือกับเครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง รวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว มีระบบติดตาม เฝ้าระวัง การตรวจวัดอุณหภูมิใต้ทะเล หากพบน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติจะดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนด โดยการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปะการัง รวมถึงลดภัยคุกคามต่างๆ ที่ทำให้ปะการังเครียด เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล กิจกรรมดำน้ำดูปะการัง และการปล่อยน้ำเสียลงในทะเล  

 

นอกจากนี้ ทช. ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบจุดปะการังฟอกขาวที่รุนแรง หรือมีแนวโน้มที่กำลังจะตาย ให้รีบแจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานภายในพื้นที่สังกัด ทช. ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล หรือโทรไปที่เบอร์ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่ ทช. จะดำเนินการประเมินและพิจารณาในการตัดสินใจย้ายปะการังไปไว้ในที่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ทะเลที่มีอุณหภูมิเย็น เพื่อปะการังจะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง

 

ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกเดือดที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกิดความวุ่นวายกลายเป็นทะเลเดือด สร้างความเสียหายแก่พี่น้องชุมชนชายฝั่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงต้องจับตามองและให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด 

 

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเกิดขึ้นจริง ถ้าหากเราไม่ช่วยกัน เราก็อาจไม่มีทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามหลงเหลือให้ลูกหลานได้เห็น ฉะนั้น ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ มาร่วมกันปกป้องทรัพยากรทางทะเลไม่ให้เสียสมดุลจากภาวะโลกเดือด เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันกอบกู้โลกใบนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

 

ภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อ้างอิง:

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising