×

หมู ณัฐวุฒิ ดีลกับความล้มเหลวอย่างไร ให้ Ookbee กลับมาทำเงินร้อยล้านและได้ร่วมทุนกับ Tencent

23.10.2018
  • LOADING...

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Ookbee ธุรกิจที่เคยผ่านความล้มเหลวจนต้องสูญเสียเงินไปกว่า 150 ล้านบาท เจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อต้องเลย์ออฟพนักงานในบริษัท

 

แต่ปัจจุบัน Ookbee กลับมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างแพลตฟอร์มได้โดนใจกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง ทำรายได้ถึงหลักร้อยล้าน และเติบโตจนบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Tencent เข้ามาร่วมทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 680 ล้านบาท

 

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks กองทุนลงทุนสตาร์ทอัพใหญ่อันดับต้นๆ ของไทยที่มีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ช่วยสตาร์ทอัพระดมทุนไปแล้วเกือบ 7,000 ล้านบาท สร้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง และกำลังมีกองทุนที่ 2 ตั้งเป้าลงทุนใน 150 สตาร์ทอัพทั่วอาเซียน สร้างมูลค่าธุรกิจในระดับ 10,000 ล้านบาท

 

ทำอย่างไรให้ธุรกิจของเราน่าสนใจสำหรับผู้ลงทุน และหากเราเป็นผู้ลงทุนเอง จะมีวิธีในการเลือกอย่างไรจึงจะให้ผลตอบแทนที่ดี 


เคน-นครินทร์ คุยกับ หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee ในพอดแคสต์ The Secret Sauce



ตั้งหลักใหม่จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค

ผมเริ่มต้นพัฒนาโปรดักต์ จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และพบว่าถ้าเป็น e-book ประเภทที่คนยังนิยมอ่านอยู่คือนิยาย ที่คนแต่งไม่ใช่สำนักพิมพ์ แต่เป็นคนทั่วไปที่ชอบเขียนงานแนวนี้ลงตามเว็บไซต์ต่างๆ โพสต์ครั้งละหนึ่งตอน ไม่ต้องเขียนจบรวดเดียว ทำให้คนอ่านรอติดตาม ผมเลยมาคิดต่อว่าจะสร้างระบบอย่างไร ให้เกิดรายได้กับทั้งคนเขียนและบริษัท



จอยลดา ตัวอย่างความสำเร็จของ Ookbee

จอยลดา คือแพลตฟอร์มอ่านนิยายในรูปแบบของแชต ทุกครั้งที่แตะหน้าจอข้อความแชตจะขึ้นมาให้อ่าน นับจำนวนครั้งที่แตะด้วยหน่วยที่เรียกว่า ‘จอย’ ผมเพิ่งเช็กตัวเลขคนอ่านล่าสุด หลังจากที่เด็กๆ ปิดเทอม มีคนอ่านมากถึง 1,400 ล้านครั้งต่อวัน ทราฟฟิกดีมาก ดีที่สุดในแพลตฟอร์มทั้งหมดของ Ookbee ตอนนี้



ทุกอย่างทดลองบนเฟซบุ๊กได้ก่อน

หลายครั้งเวลาจะเริ่มต้นทำอะไร ผมจะมองให้เป็นการทดลองขนาดเล็ก ที่บริษัทผมมีพนักงานที่เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่เยอะ เราจะสร้างทีมขึ้นมาทดลองไปด้วยกัน หลายครั้งมันอาจเริ่มแค่บนเพจเฟซบุ๊ก ผมเรียนรู้ว่าการทดลองไอเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา เพราะถ้าคุณจะสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อไปดึงคนให้ออกมาจากเฟซบุ๊ก มันมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ดูได้จากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบนออนไลน์ เขาขายง่ายๆ บนโซเชียลมีเดียที่มีอยู่แล้ว เพราะกลุ่มลูกค้าก็อยู่ในนั้นนั่นแหละ



ถ้าโปรเจกต์ไหนฟีดแบ็กดี เราถึงต่อยอดทำโปรดักต์ขึ้นมา ยกตัวอย่างเพจ a ดวง มันได้ไอเดียมาจากเวลาเราไปเจอเพื่อนๆ ผู้หญิงหลายคน เขามักพูดเรื่องดูดวง เลยลองเอามาต่อยอดเป็นแพลตฟอร์ม ที่ผ่านการทดลองจากเพจเฟซบุ๊กมาแล้ว ซึ่งผลตอบรับดีมาก ตอนนี้มีคนกดไลก์เกือบ 6 แสนคนแล้ว



มากกว่าแค่ ‘รายได้’ คือ ตัวเลขผู้ใช้และเวลา

ปี 2560 เป็นปีแรกที่เรามีกำไร รายได้หลักของเราคือการเก็บเงินลูกค้า เรียกว่า Micro Payment ผู้ใช้จะเสียเงินให้จากการอ่านนิยาย บทละ 3-4 บาท ช่วงแรกนักเขียนอาจยังไม่กล้าเก็บเงิน เพราะกลัวไม่มีคนอ่าน แต่เมื่อไรที่เริ่มมีชื่อเสียง นิยายบางเรื่องสร้างรายได้ให้หลายล้านบาทเลยทีเดียว



ทุกวันนี้เป้าหมายหลักของเรายังไม่ใช่รายได้ แต่เป็นตัวเลขผู้ใช้ (MAUs) กับเวลาที่พวกเขาจะอยู่กับเราในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด จากแพลตฟอร์มมากมายที่มี เราเก็บเงินผู้ใช้อยู่แค่ 2-3 ตัวเท่านั้นเอง



ทุกครั้งที่มีทางเลือก สิ่งที่ใช้ตัดสินใจคือ ‘เวลา’

ผมใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจ เลยบอกได้ว่าต้นทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เท่ากับความสำคัญเรื่องเวลา เพราะเวลามีจำกัด มันมีทั้งเวลาของคนทั้งประเทศ เวลาของบริษัท เวลาของตัวผม และเวลาของผู้ใช้ ถ้าต้องเลือกระหว่างซ้ายหรือขวา สิ่งที่ใช้ตัดสินใจคือเวลา



วิธีคิดที่ทำให้สร้างโปรดักต์ใหม่ได้อยู่เสมอ

หลายครั้งโปรดักต์ใหม่มาจากโอกาสที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเป็นคนที่ใจกว้างยอมรับฟังโลกที่ตัวเองไม่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่น ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ เรามีโปรแกรมเมอร์ที่เก่งเทคโนโลยีแต่ไม่เก่งดีไซน์ หรือมีกราฟิกที่ไม่เก่งเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่โปรดักต์ของเราคือการผสมผสานระหว่างการเขียนการวาดมาผูกกับเทคโนโลยี สองส่วนนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นในจุดที่สองสิ่งมาเจอกันมันคือ Magic และทำให้คนใช้มีความสุขอย่างแท้จริง มันจึงย้อนกลับไปที่การเปิดใจ ทำให้ทุกครั้งที่มีไอเดียใหม่ ผมจะไม่ตัดสินใคร แต่จะให้ทดลองดูก่อน



ใช้เข็มทิศศีลธรรมนำความรู้เทคโนโลยี

คนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสามารถสร้างระบบได้ แต่หลายครั้งมีคนที่เอาความไม่รู้ของคนมาใช้หากินในทางไม่สุจริต โดยที่พวกเขาไม่ได้สร้างระบบขึ้นมาจริงเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ใช้กระแสข่าวมาหลอกลวง ลองนึกถึงการทำแพลตฟอร์มแบบเรา เราเก็บเงินคนอ่านมาให้นักเขียน โดยที่จริงๆ แล้วนักเขียนไม่เคยรู้ว่าเงินที่เราจ่ายไปตรงกับจำนวนคนอ่านจริงหรือเปล่า มันเป็นความรับผิดชอบของคนทำงานที่ต้องมีศีลธรรมนำหน้าที่การงานเพื่อความถูกต้อง และท่องไว้เสมอว่า ‘คนโกงไม่เคยชนะ คนชนะไม่ต้องโกง’ นี่คือสิ่งแรกที่ผมปลูกฝังพนักงานเสมอ

 

บทเรียนจากความล้มเหลว

เราไม่ได้อยากผิดพลาดเร็ว แต่อยากประสบความสำเร็จในระยะยาว ฉะนั้นในระยะสั้น ถ้าเราล้มเหลว มันควรจะได้บทเรียนอะไรมาบางอย่าง เช่น Ookbee Mall เป็นโปรเจกต์ที่ล้มเหลว แต่ผมได้บทเรียนมาหลายเรื่อง อย่างที่บอกว่าเราสามารถทดลองในสเกลเล็กได้ แต่ตอนนั้นเราจะทำอีคอมเมิร์ซ เพราะคิดว่าเรามีตัวเลขผู้ใช้สูง เรารู้ว่าเขาชอบอะไร แต่เราไม่รู้ว่าการจะสร้างแพลตฟอร์มขายของ ต้องยอมขาดทุนไปเรื่อยๆ ก่อน วางแผนไว้ว่าเงินจำนวนที่มีน่าจะพอ แต่บริษัทประเภทนี้ เขายอมขาดทุนไตรมาสละพันล้านบาท เราเจ๊งไปแค่ร้อยกว่าล้าน อาจเป็นจำนวนเงินที่ไม่กระทบคู่แข่งเลยด้วย เทียบกับเวลาพวกเขาปล่อยแคมเปญใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นสเกลเราไม่ได้ เราเป็นบริษัทมีเดีย เงินที่ได้ไม่มากพอต่อการเอาไปใช้แบบนั้น


มันมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะขาดทุนต่อ หรือเราควรจะหยุดได้แล้ว เรื่องเดิมคือเวลามีจำกัด แต่ผลที่ตามมามันไม่เห็นขนาดนั้น สุดท้ายผมก็ตัดสินใจหยุดในที่สุด



ในท้ายที่สุด เราจะเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าสิ่งที่ทำพลาด ถ้าเรานอนอยู่บนเตียงใกล้ตาย เราคงไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ตัวเองเคยล้มเหลว แต่นึกถึงสิ่งที่ย้อนกลับไปแล้วรู้อย่างนี้น่าจะทำมากกว่า

 



สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising