×

ทำการตลาดบน ‘โซเชียลเกิดใหม่’ ยังไงให้ปัง

26.04.2021
  • LOADING...

ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างพยายามหาจุดยืนและจับกลุ่มลูกค้าในคาแรกเตอร์ของตัวเอง แต่การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มที่มีขนาดใหญ่และแมสก็ย่อมนำมาซึ่งคู่แข่งจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจมากมายเริ่มมองถึงช่องทางที่เรียกว่า ‘โซเชียลเกิดใหม่’

 

การทำการตลาดบน Twitter, TikTok, Spotify และมีอีกมากมาย มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด นักการตลาดและองค์กรธุรกิจจะคว้าโอกาสตรงนี้ไว้ได้อย่างไร เคน นครินทร์ คุยกับ ปัญชรี สิทธิเสนี Managing Partner บริษัท MediaDonuts และ ธีรพล อำไพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดโซเชียลมีเดียโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

 


 

ความแตกต่างของพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละแพลตฟอร์ม ในมุมมองของ MediaDonuts 

ปัญชรี: แน่นอนว่าทุกแพลตฟอร์มมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อผู้บริโภคคนเดียวกันไปอยู่ที่แพลตฟอร์มใดก็ตาม เขาจะทำตัวไม่เหมือนกัน เราอาจจะคุยกับเพื่อนด้วยภาษาหนึ่ง แต่เมื่อกลับบ้านไปคุยกับพ่อแม่ก็เป็นอีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการเลือกสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม ต้องเข้าใจผู้บริโภคก่อนว่าเขาไปในที่นั้นๆ เพราะเขาอยากทำอะไรที่นั่น

 

ต้องเลือกแพลตฟอร์มที่ใช้ให้ตรงตามพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย

ปัญชรี: ก่อนจะถามว่าเลือกแพลตฟอร์มไหนดี ควรกลับมาตั้งต้นที่จุดประสงค์ของเราก่อนว่าอยากทำแบรนดิ้งแบบไหน ถ้าอยากให้คนพูดถึงแบรนด์ของเราก็ให้เล่น Twitter ถ้าอยากทำแบรนดิ้งแบบภาพใหญ่ ให้คนซึมมู้ดแอนด์โทนของแบรนด์ไปอย่างช้าๆ แนะนำ Spotify Playlists หรือถ้าอยากบ่งบอกแมสเสจสั้นๆ กระชับ แล้วก่อให้เกิดแอ็กชันอย่างรวดเร็ว แนะนำให้ไปที่ TikTok 

 

ในแต่ละแพลตฟอร์มต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน ถ้าหากเรามีบัดเจ็ตจำกัดก็ต้องเริ่มจากการดูที่เมสเสจของเราก่อน อย่างที่บอกว่ากลุ่มผู้ใช้คือคนเดียวกัน สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ความต้องการของแบรนด์ เมสเสจที่จะสื่อออกไป หรือผลลัพธ์สุดท้ายว่าคุณอยากจะให้มันไปทางไหน 

 

การโฆษณาในสื่อใหม่อย่าง Twitter ทำอย่างไรให้ขายดีและเกิดกระแส 

ปัญชรี: คนใน Twitter จะค่อนข้างมีความเซนสิทีฟระดับหนึ่ง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง โดยเฉพาะผู้เล่นคนไทยเขาจะไม่นิยมใส่ชื่อจริงกัน เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมาคือตัวตนจริงๆ ดังนั้นการที่จะเข้าไปอยู่ในใจของคนใน Twitter เมื่อเขาแสดงออกอย่างจริงใจ คุณก็ควรแสดงออกอย่างจริงใจเช่นกัน

 

การทำการตลาดที่ดี อย่างแรกเลยเราต้องจริงใจก่อน เมสเสจที่ส่งตรงเข้าไปต้องทำให้รู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกันนะ ทำให้เขารักเรา และเมื่อเขารักเราแล้ว เขาไม่มีทางที่จะไปเลือกแบรนด์อื่นได้เลย 

 

แบรนด์จะทำตลาดอย่างไร เมื่อใน Twitter มีแต่กลุ่มคนชอบ K-Pop และการเมือง 

ปัญชรี: การที่จะเห็นว่ามีเรื่องอะไรมากกว่าเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพราะว่าคนที่สนใจเรื่องเหล่านั้นเขาทวีตออกมาเยอะ ยกตัวอย่างเช่น K-Pop คนกลุ่มนี้เขาอาจจะต้องการให้กำลังใจศิลปิน จึงต้องทวีตออกมาเยอะๆ แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายคนที่อ่านอย่างเดียว เพราะฉะนั้นโปรไฟล์ที่เราเห็นมันไม่ได้มีแค่คนที่ทวีตออกมาเท่านั้น คนที่อ่านเพื่อติดตามข่าวสารก็ยังมีอยู่ด้วย ไม่ได้มีแค่คนที่สนใจ K-Pop หรือว่าการเมืองเท่านั้น

 

ดังนั้นแบรนด์สามารถเข้ามาได้ในรูปแบบหลากหลายเลยค่ะ อย่างลูกค้าของเราที่เป็น Real Estate เขาก็เลือกที่จะโฆษณาบ้านราคาหลายสิบล้านบน Twitter ได้ แต่ไม่ได้เป็นการโฆษณาแบบตรงๆ ค่ะ จะเป็นการสร้างมู้ดแอนด์โทนให้กลุ่มคนใน Twitter ชื่นชอบแบรนด์ของเขา อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นบ้านในฝันก่อนก็ได้ ให้รู้สึกว่าสักวันถ้ามีเงิน อย่างไรเขาก็จะต้องซื้อบ้านแบรนด์นี้

 

Twitter กับการวัดผลในเรื่องของ Brand Awareness 

ปัญชรี: ถ้าเป็นการวัดผลโดยตรง Twitter เขามีสื่อที่เป็น Click Ads อย่างที่แพลตฟอร์มอื่นมี ซึ่งเราไม่แนะนำให้พึ่งพาวิธีนี้เพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้ คือทำให้มันเกิด Buzz ก่อนแล้วค่อยเกิด Conversion ขึ้นตามมา

 

ถ้าเป็นการวัดผลโดยอ้อม เราเพิ่งมีการสำรวจมาว่าการที่มีคนพูดถึงสินค้าหรือแฮชแท็กของแบรนด์มากขึ้น มันจะทำให้ยอดขายของคุณเพิ่มขึ้นได้ เปรียบเทียบกับสมัยก่อน ถ้าเกิดว่าคนรอบๆ ข้างพูดถึงสินค้าเหล่านี้ แต่พอเราจะไปซื้อบ้าง กลายเป็นว่าของหมด หาที่เชลฟ์ไม่เจอแล้ว Twitter ก็ทำงานคล้ายๆ แบบนั้นค่ะ 

 

แต่หากเราอยากจะวัดแค่ Conversion บนเว็บไซต์เอง บางทีวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะ เพราะจุดประสงค์ของ Twitter คือการทำให้คุณอยากได้มัน แล้วตามไปซื้อที่ช่องทางที่คุณสะดวก

 

พฤติกรรมและความสนใจของผู้ใช้งาน TikTok 

ปัญชรี: สำหรับ TikTok จะเน้น Entertainment Content เป็นหลัก เพราะมันบูมขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ซึ่งหลังจากวิกฤตระลอกแรกผ่านไป การใช้ TikTok ก็ถือว่าหลากหลายมากขึ้น มีทั้ง TikTok Uni ที่เป็นการให้ความรู้ มีติวเตอร์ดังๆ มากมายมาร่วมทำคอนเทนต์ แต่สิ่งหนึ่งที่ TikTok ไม่เคยเปลี่ยนก็คือความฮิตของวิดีโอสั้นที่เราเรียกกันว่า Short-form Video ถ้าคุณสามารถจับความสนใจของเขาได้ เขาก็จะดูวิดีโอของคุณไปอีก 1 นาทีเลย 

 

เสน่ห์ของ TikTok คือนอกจากจะดูคอนเทนต์อย่างเดียวแล้ว คุณยังสามารถทำคอนเทนต์ของตัวเองให้แบรนด์ที่เราชื่นชอบได้ด้วย อย่างเช่นพวกชาเลนจ์ต่างๆ TikTok ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ล้ำไปกว่าคนอื่น เพราะนอกจากจะชวน KOL มาร่วมกิจกรรมได้แล้ว ยังสามารถชวนผู้ใช้มาใช้เอฟเฟกต์ของแบรนด์ แล้วก็ส่งต่อกันไปได้อีกเรื่อยๆ 

 

จุดประสงค์ของการใช้งาน TikTok แบรนด์หรือเอเจนซีควรสื่อสารในรูปแบบไหน

ปัญชรี: หลักๆ เลยคือต้องเป็น Entertainment เพราะผู้ใช้เขาเข้ามาเพื่อหาความผ่อนคลายแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าคุณอยากให้ความรู้ ความรู้นั้นก็ต้องช่วยผ่อนคลายในมุมของอะไรบางอย่าง

ถ้าคุณเป็นแบรนด์ธนาคาร อาจจะทำเป็นคลิปสั้นๆ ที่แชร์วิธีเก็บเงิน หรือเปรียบเทียบว่าการเล่นหวยคุณเสียเงินเท่านี้ แต่ถ้าฝากธนาคารคุณจะได้เท่านี้ ข้อสำคัญคือต้องเข้าถึงง่าย และอาจจะเพิ่มกิมมิกของความตลกไปเล็กน้อย คือแบรนด์ที่เข้าไปจะเป็นแบรนด์อะไรก็ได้ แต่มู้ดแอนด์โทนของเมสเสจควรเป็นในเชิงที่ทำให้เขาผ่อนคลายจะดีที่สุด

 

ในยุคของ Multi-Tasking เทรนด์ของ Audio ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ปัญชรี: เนื่องจากว่าคนยุคนี้ต้องการ Multi-Tasking เขาอาจจะขับรถไปด้วย ออกกำลังกายไปด้วย พร้อมกับการเสพข้อมูลข่าวสาร ตรงนี้ต้องไปที่แพลตฟอร์ม Spotify ซึ่งต้องบอกว่าเขามีข้อแตกต่างจากแพลตฟอร์มการฟังเพลงอื่นๆ พอสมควรเลยค่ะ

จุดเด่นของ Spotify คือเราสามารถเสิร์ชสิ่งที่อยากจะฟังตามมู้ดของเราได้ อย่างทุกวันอาทิตย์เราอาจจะเลือกเปิดเพลย์ลิสต์ Easy Sunday Morning ตอนกลางคืนเราอาจจะเปิดเพลงแจ๊ส ถ้าเราอกหักเขาก็มีเพลย์ลิสต์ Broken Heart ให้คุณ ดังนั้นคนที่เข้ามา Spotify เขาจะอยากได้เพลงหรือเนื้อหาที่แมตช์กับมู้ดในตอนนั้นจริงๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่าผ่อนคลายลง

 

เพราะฉะนั้นเวลาแบรนด์มีเมสเสจเข้าไปในช่วงที่ผู้ฟังกำลังผ่อนคลาย เขาจะรู้สึกเปิดรับมากขึ้น ซึ่ง Spotify Audio Ads จะสามารถแมตช์โฆษณากับมู้ดแอนด์โทนของเพลงที่ผู้ใช้กำลังจะฟังได้ เช่น ถ้าคุณเปิดเพลงตอนกำลังจะนอน Spotify จะรู้ว่าควรเสิร์ฟโฆษณาหลังจากนั้นแค่ 2 นาที แล้วควรจะหยุด เพราะผู้ใช้เขาจะนอนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างจะฉลาด 

 

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
แพลตฟอร์มใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับผู้บริโภค
นั่นแปลว่าแพลตฟอร์มเก่าๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้วหรือเปล่า

 

การตลาดในสื่อใหม่อย่าง Spotify แบรนด์ควรใช้กระบวนท่าแบบไหนในการเข้าหาลูกค้า 

ปัญชรี: การตลาดในยุคนี้ วันๆ หนึ่งคุณเห็นอะไรเยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือแบนเนอร์โฆษณาในที่ต่างๆ แต่เหตุผลที่ตอนนี้ Audio กำลังกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง เพราะมันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนจะสามารถจำได้ อาจจะเป็นเสียงเคี้ยวไก่กรอบๆ เสียงน้ำซ่าๆ หรือเสียงเหยียบคันเร่งรถ สิ่งนี้คือโฆษณาเสียงที่เรียกว่า 3D Audio

 

จริงๆ แล้วคนเราจำเสียงได้ดีพอๆ กับจำภาพ คุณไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก แค่เป็นเสียงอะไรบางอย่างที่ทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนโดนกล่อมไปเองว่าฉันต้องการสิ่งนี้ เสียงเหล่านี้มันจะไปตอกย้ำอินเนอร์ของแต่ละคน เหมือนการที่คุณได้ยินเสียงใครเคี้ยวอะไรเยอะๆ คุณก็ต้องหิว มันไม่ได้เป็นเมสเสจตรงๆ นะคะ แต่เป็นเหมือนเสียงที่ทำให้จิตใต้สำนึกของเรารู้สึกว่าอยากได้สิ่งนั้น

 

ข้อดีของ Spotify คือเขาจะเสิร์ฟโฆษณาไม่เยอะเกินไป โดยจะแทรกอยู่ตามสล็อตของเพลย์ลิสต์ต่างๆ เวลาเลือกกลุ่มเป้าหมาย เราอาจจะเริ่มต้นจากดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราฟังเพลย์ลิสต์แบบไหน ถ้าเป็นโฆษณาไก่กรอบ คุณก็ต้องเลือกเพลย์ลิสต์ Working ที่พนักงานชอบเปิดในเวลาทำงาน แล้วพอมีเสียงแทรกเข้ามาในจังหวะที่พอดี พอถึงช่วงพักกลางวัน ผู้ใช้เหล่านั้นก็คงต้องสั่งไก่ทอดมากินค่ะ

 

Spotify เหมาะกับแบรนด์แบบไหน 

ปัญชรี: จริงๆ แล้วทุกแบรนด์สามารถทำตลาดกับ Spotify ได้หมด เพียงแต่จะเหมาะมากเหมาะน้อยต่างกัน แต่ถ้าเป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจะค่อนข้างเห็นชัดๆ เลยว่าทำแล้วดี เพราะเราสามารถสร้างเสียงบางอย่างให้กระตุ้นการอยากได้ หรือการจดจำแบรนด์ 

 

หรือถ้าเป็นแบรนด์รถยนต์ เราเคยมีลูกค้ารถ MINI เขาเลือกใช้เป็นเสียงเร่งเครื่อง ซึ่งมันทำให้คนฟังแค่นิดเดียวก็รู้แล้วว่าถ้าเครื่องแรงแบบนี้จะต้องรถ MINI อย่างแน่นอน หรือถ้ารถของคุณเป็นรถที่มีความสุขุม แล้วจะเป็นเสียงแบบไหน แนวนี้ก็เหมาะเช่นกัน

 

แบรนด์จะดึงความสนใจอย่างไร เมื่อ Tinder ไม่ได้มีไว้หาคู่เพียงอย่างเดียว

ปัญชรี: จริงๆ แล้ว Tinder ไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันหาคู่อย่างเดียว แต่มันเป็นการหาคนที่มีความสนใจเดียวกันมากกว่า เพราะนอกจากเราจะโพสต์รูปใน Tinder แล้ว มันจะให้ใส่ข้อมูลว่าเรามีไลฟ์สไตล์แบบไหนด้วย 

 

ตอนนี้ MediaDonuts เองก็มีแคมเปญที่ร่วมกับค่ายเกมใน Tinder นะคะ คือเป็นการหาเพื่อนไปเล่นเกม หรืออย่างตอนนี้ที่คนกำลังฮิตเล่นบอร์ด ถ้าไม่รู้ว่าจะไปเล่นบอร์ดกับใคร เราก็ไปหาคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน หาเพื่อนไปทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบจากใน Tinder ได้ 

 

ในเรื่องของแบรนด์ที่จะเข้าไปทำการตลาดใน Tinder ถ้าแบรนด์ของคุณรู้สึกเป็นเชิงไลฟ์สไตล์ การสื่อสารในรูปแบบของการเปิดรับเพื่อนใหม่ๆ ก็เหมาะ หรือจะเป็นแบรนด์เครื่องสำอางก็ยังได้

 

มีเคสตัวอย่างลูกค้าของเราที่เป็นค่ายมือถือ เขาใช้วิธีสื่อสารในมุมของเบอร์มงคล ประมาณว่าใช้เบอร์นี้แล้วไม่นก คือไม่ว่าคุณจะขายอะไร สุดท้ายมันอยู่ที่เมสเสจของคุณว่าจะตรงใจกับแพลตฟอร์มหรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

เหตุผลที่ต้องเริ่มหันมาสนใจ Emerging Platform เหล่านี้ 

ปัญชรี: เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แพลตฟอร์มใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับผู้บริโภค นั่นแปลว่าแพลตฟอร์มเก่าๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์แล้วหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเลือกใช้สื่อเพื่อทำการตลาด ถ้าเราไม่หยิบแพลตฟอร์มใหม่ๆ เหล่านี้มาใช้ มันอาจจะทำให้ขาดกลุ่มคนบางกลุ่มที่คุณอยากจะสื่อสาร ทำให้เขาไม่ได้รับข้อมูลเหล่านั้น นี่คือเหตุผลที่คุณควรจะต้องพิจารณาสื่อใหม่ๆ ในการทำการตลาดเพิ่มเติมด้วย

 

เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว
เราจึงต้องพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา 

 

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กับกลยุทธ์การตลาดผ่าน Emerging Platform ที่ประสบความสำเร็จ

ธีรพล: ต้องยอมรับว่าองค์กรของเราก็เลือกใช้ Facebook, YouTube และ Instagram เป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าช่องทางเหล่านั้นจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ แต่เมื่อเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนมีพฤติกรรมที่มองภาพใหญ่มากขึ้น เราจึงมองว่า Emerging Platform คือคำตอบที่จะมาช่วยเราได้

 

เราใช้เวลา 1 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ทดลองทำการตลาดกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งก็คือ TikTok, Twitter และ Spotify ซึ่งช่องทางเหล่านี้เราเคยคิดว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับทางโรงพยาบาล แต่ว่าเมื่อเราได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกต่างๆ จากทาง MediaDonuts ก็ทำให้เราคิดว่าถึงเวลาที่ต้องลองครับ

 

ผมขอยกตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จมาแชร์ให้ฟังครับ ทางโรงพยาบาลของเราได้เริ่มต้นทำการตลาดอย่างจริงจังผ่าน Twitter ร่วมกับทีมของ MediaDonuts ซึ่งภายในเวลาเพียงแค่ 1 ปี เรามีการเติบโตของฟอลโลเวอร์ถึง 500% ที่ผ่านมาเราอาจจะมองว่า Emerging Media ยังไม่ได้สำคัญที่สุด แต่เมื่อเรามาทดลองใช้ก็ได้พบว่ามันคือคำตอบที่เรามองหา 

 

MediaDonuts ให้คำแนะนำอย่างไร แพลตฟอร์มจึงสามารถเติบโตได้ถึง 500% ภายใน 1 ปี

ธีรพล: ถ้าเราทำแค่การโพสต์ปกติอย่างการลงรูปพร้อมข้อความ อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการเติบโตรวดเร็วอย่างที่ต้องการ แต่เราต้องรู้จักใช้เครื่องมือของแพลตฟอร์มนั้นๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหา อย่าง Twitter ก็จะมีภาพแบบเลื่อนได้ (Carousel) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมาก 

 

อีกเครื่องมือหนึ่งคือ Twitter Moments เป็นการรวมสิ่งที่เกี่ยวข้องเข้ามาไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ยังไม่มีฟังก์ชันนี้ หรือจะเป็น Fleet ซึ่งก็เป็นฟังก์ชันใหม่เช่นกัน รวมถึงในอนาคตเราอาจจะได้ใช้ Spaces ที่จะทำให้เราได้โฟกัสในด้านของเสียงมากขึ้น

 

กลยุทธ์ในการครีเอตคอนเทนต์ผ่าน Twitter ทำอย่างไรให้เกิด Engagement สูงสุด

ธีรพล: คำตอบคือใช้ Trends ครับ ดูที่แฮชแท็กเป็นหลัก เมื่อรู้แล้วว่าเทรนด์ช่วงนั้นคืออะไร เราก็นำเอาคอนเทนต์มาผูกกับเทรนด์เพื่อให้เกิด Real Time Marketing ขึ้นมา วิธีนี้ล่ะครับที่จะทำให้ Engagement พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมไปถึงในแง่ของฟอลโลเวอร์ด้วย

 

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีคอนเซปต์หลักในการนำมาประยุกต์ใช้กับ Emerging Platform ด้วย ซึ่งเราเรียกว่า Core Competency ขององค์กรเลย นั่นก็คือ AIC ย่อมาจาก Agility, Innovation และ Caring 

 

A = Agility เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เราจึงต้องพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา อย่างเช่นสื่อใหม่อย่าง Twitter หรือ TikTok ถ้าเราทำในรูปแบบเดิมๆ คำตอบที่ได้ก็จะเหมือนเดิม แต่เมื่อเราปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับแต่ละรูปแบบของสื่อและผู้บริโภค คำตอบที่ออกมามันจะได้ประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

I = Innovation ในเมื่อทุกแบรนด์ก็ใช้โซเชียลมีเดียเหมือนกัน ฟังก์ชันเดียวกัน แล้วเราจะสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เราเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น Spotify, TikTok หรือ Twitter มันก็จะตอบโจทย์ในส่วนนี้ คือเราต้องเข้าใจในการดึงจุดเด่นแต่ละแพลตฟอร์มมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

 

C = Caring ตัวนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ในสายโรงพยาบาล เพราะว่าเรากำลังทำเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นข้อมูลที่ให้ไปต้องมีทั้งความถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งในด้านของ Caring เรามีหลักที่สำคัญมากเรียกว่า 3C คือ Critical Care, Complicated Disease และ Cutting-edge Technology เรานำสามตัวนี้มารวมกันจนทำให้เกิดความกลมกล่อมและอธิบายต่อผู้ฟังให้เข้าใจง่ายครับ

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Video Editor วุฒิชัย ถิระบัญชาศักดิ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Assistant อสุมิ สุกี้คาวะ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin จักรภัทร อ่ำพริ้ง
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising