×

ติดโซเชียลหนักมาก อยากลดการใช้ลงบ้าง ต้องทำอย่างไร

20.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • วิธีลดการใช้โซเชียล ต้องเริ่มด้วยการยอมรับตัวเองก่อนว่าติด และเข้าใจว่าโซเชียลไม่มีผลกับชีวิตเราขนาดนั้น หลังจากนั้นลองจำกัดเวลาการเล่น ปิดระบบการแจ้งเตือน และหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำแทน

โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เกือบทุกคนต้องใช้ ไม่ว่าจะเสพข่าว คุยกับเพื่อน รู้ว่าเพื่อนโพสต์อะไร กินข้าวที่ไหน หรือเราเองจะคิดอะไรก็โพสต์ได้ทันที บางคนหมกมุ่นกับยอดไลก์ ยอดแชร์ ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูตลอด บางครั้งทำให้เราเสียบุคลิกและเสียสมาธิในการทำงาน

 

หากใครคิดว่าตัวเองมีพฤติกรรมเข้าข่ายติดโซเชียล เริ่มมีปัญหาและผลเสียตามมาในชีวิตประจำวัน และปีนี้อยากลองลดการเล่นโซเชียลลง จูนจูน พัชชา มีวิธีมาแนะนำ

 

1. ยอมรับก่อนว่าตัวเองติดโซเชียล

หลายคนอาจติดโซเชียลมาก สังเกตจากโซเชียลเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันของเรา และให้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันกับมันมากเกินไป

 

2. เข้าใจว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ส่งผลกับเราขนาดนั้น

ตัวตนของเราจริงๆ แล้วไม่ใช่โลกออนไลน์ เพราะภาพและเพลงที่เราเลือกโพสต์มันคืออีกโลกและตัวตนหนึ่งที่เราฝากไว้ เราควรออกจากโลกนั้นแล้วใช้ชีวิตในโลกจริงๆ มากกว่า

 

3. ลองจำกัดเวลาเล่น

เช่น ก่อนนอน ถ้าเรานอนเล่นมือถือไปเรื่อยๆ ลองจำกัดเวลาต่อครั้ง เช่น ไม่เกิน 10 นาที หรือนับแล้วเวลารวมไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือถ้าใครต้องทำงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ลองเข้าแอปพลิเคชันที่ใช้ทำงานเท่านั้นจะทำให้เราสามารถลดการเล่นโซเชียลได้

 

4. ปิดระบบแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือ

ลองปิดเสียง เปิดสั่น หรือถ้ายังรู้สึกรบกวนอยู่ให้ปิดสั่นไปเลย โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการสมาธิมากๆ เช่น ตอนเรียน หรือทำงาน โซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้จะได้ไม่มากวนใจ และสนใจมันน้อยลงตามลำดับ

 

5. หางานอดิเรกใหม่ๆ แทนการเล่นโซเชียล

เช่น การอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่สื่อสารกับคนในชีวิตจริง จะทำให้ตัวตนของเราในโซเชียลลดลง

 

“สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดจากการลดการเล่นโซเชียลคือเราจะมีเวลามากขึ้น และเราสามารถเอาเวลานั้นไปทำสิ่งอื่นที่เกิดประโยชน์ได้อีกมากมาย”

 

จูนจูน ได้คุยกับ พี่เอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์ ที่หลายคนรู้จักในชื่อแอ็กเคานต์ @khajochi ซึ่งครั้งหนึ่งพี่เอ็มเคยติดโซเชียลหนักมากจนถึงขั้นอ้วก เลยลองหักดิบหยุดเล่น 5 วัน

 

“เรื่องเกิดขึ้นประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นคนไทยยังไม่ได้ติดโซเชียลกันมาก แต่ผมเองเล่นโซเชียลหลายตัว ทั้ง Multiply, Space, Facebook, Hi5 และที่กำลังมาแรงอย่าง Twitter แต่พอมีโซเชียลหลายตัวและชอบเป็นคนชอบลองโน่นลองนี่ เลยสมัครโซเชียลทุกตัว มีทั้งหมดเกือบ 20 แอ็กเคานต์ โซเชียลที่ชอบมากตอนนั้นคือทวิตเตอร์ มันเป็นโซเชียลที่ไปไวมาก ข้อมูลข่าวสารเยอะ ทำให้เราเสพข้อมูลเยอะมากจนรู้สึกว่าอาการไม่ไหวแล้ว นอกจากวางมือถือไม่ได้ ไม่มองอย่างอื่น อยากมองแต่จอแล้ว ช่วงนั้นเริ่มนอนไม่หลับและเริ่มมีอาการมึนหัว จนสุดท้ายที่รู้ว่าเป็นหนักคือนอนไม่ได้เลยจนตี 3 ตี 4 แล้วลุกขึ้นมาอาเจียน คือร่างกายเราปกตินะ แต่รู้สึกว่าเราเสพโซเชียลมาก มันวนอยู่ในหัวจนร่างกายรับไม่ไหว เลยรู้สึกว่าตอนนั้นเริ่มป่วยแล้ว

 

“พอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นโรคติดโซเชียลมีเดีย เริ่มจากหาข้อมูลจากกูเกิล แต่ข้อเสียคือไม่ได้ไปหาหมอ ดูว่าต่างประเทศเขาเจออย่างนี้ เขาหาทางออกอย่างไรกันบ้าง เพราะตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีอาการอย่างนี้เท่าไร พอเราเจอวิธีก็หาทางออกว่าเราจะไปทางไหนบ้าง เลยเริ่มไม่ใช้ดู แต่ไม่ค่อยเวิร์ก เพราะมีงานที่ต้องทำผ่านช่องทางนั้น ทำให้เราต้องเข้าโซเชียลทุกวัน เราแทบลดลงไม่ได้ด้วยตัวเอง

 

“วิธีต่อมาคือเริ่มใช้ให้น้อยลงและเป็นเวลามากขึ้น อาจจะใช้แค่ชั่วโมงละครั้งหรือ 2-3 ชั่วโมงครั้ง แต่พอลองทำแล้วก็ยังต้องทำงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ มันคืองานประจำวันที่เราต้องทำ เลยลดไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายไปเจอบทความจากที่ไหนจำไม่ได้เหมือนกัน เขาใช้วิธีหักดิบด้วยการหยุดใช้โซเชียลเลยช่วงหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นการดีท็อกซ์ก็ได้ ผมเลยลองไปเกาะเสม็ด 5 วัน และตั้งใจว่าจะไม่ใช้โซเชียลเลย พอไปถึง สิ่งแรกที่ทำคือเอามือถือใส่เซฟแล้วล็อกไว้ แล้วไม่ทำงานเลย อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ

 

“จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยน คือมันคงไม่มีอะไรแก้ปัญหาการติดโซเชียลได้ในทันที เหมือนคนหยุดสูบบุหรี่ที่ผ่านไป 5 วันอาจจะยังไม่หายขาด แต่มันได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นการปักหมุดว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่ของจำเป็น แต่การได้อยู่กับครอบครัว การได้อออกไปเที่ยว การได้วางโทรศัพท์มือถือ 2-3 ชั่วโมง มันก็เป็นความสุขได้เหมือนกัน ได้พักผ่อนตัวเอง และเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่ง ความสำคัญที่สุดของการพักผ่อนครั้งนั้นคือการได้รู้ว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต”

 


 

Credits
The Host พัชชา พูนพิริยะ
The Guest ขจร เจียรนัยพานิชย์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producers อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising