×

คันตา ตาไวต่อแสง ตาอักเสบ ส่องปัญหาดวงตาที่อาจเกี่ยวข้องกับโควิด

30.07.2021
  • LOADING...
Ophthalmology

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • พาไปสำรวจอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา เช่น อาการคันตา ตาไวต่อแสง ตาอักแสบ ตาแฉะ ตาแดง เปลือกตาบวม เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิดจริงหรือไม่ และจักษุแพทย์ไขข้อข้องใจว่าทำไมมีการพบตากุ้งยิงสูงขึ้นมาในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 

หนึ่งในการศึกษาของแพทย์เกี่ยวกับโรคโควิดที่ตีพิมพ์ใน BMJ Open Ophthalmology โดยศึกษาในผู้ป่วย 83 ราย พบว่าโรคโควิดมีผลกระทบต่อดวงตาอย่างไร ซึ่งจากรายงานปรากฏว่าปัญหาดวงตาในผู้ป่วยโควิดที่พบบ่อย ประกอบด้วย 3 อาการหลักๆ เช่น อาการคันตา 17% อาการตาไวต่อแสง 18% และอาการเจ็บตา ระคายเคืองตา 16% หลายคนจึงกังวลว่าหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเองนั่นอาจจะเป็นสัญญาณของโรคโควิดหรือไม่ อย่างไร 

 

ทั้งนี้ อาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาของเชื้อไวรัสโคโรนานั้นอาจรวมถึงอาการตาแสบร้อน คันตา ตาแดง เจ็บตา เปลือกตาบวม และในบางรายมีน้ำตาไหล ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าอาการดังกล่าวมักพบบ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรควิดในขั้นที่ค่อนข้างรุนแรง แต่สิ่งสำคัญคือต้องคอยสังเกตว่าปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นอาจเกิดจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ไวรัสก็ได้ บางทีอาจเกิดจากการที่ตามีอาการแพ้ทั่วไป ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำว่าอย่าด่วนสรุปทันทีว่าคุณอาจติดเชื้อโควิดหากดวงตาเกิดเจ็บ แสบร้อน หรือคันขึ้นมา 

 

รู้จักอาการเยื่อบุตาอักเสบกับโควิด 

 

เชื้อไวรัสโคโรนาอาจนำไปสู่โรคตาแดง ซึ่งพบในผู้ใหญ่ประมาณ 1-3% ตามที่ American Academy of Ophthalmology (AAO) ศึกษาพบว่า เยื่อบุตาอักเสบคืออาการอักเสบหรือการติดเชื้อของเยื่อบุตา ซึ่งเป็นลักษณะของเยื่อบางๆ ที่ปิดตาขาวและด้านในของเปลือกตา โดยอาการของเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสที่เกิดจากโคโรนาไวรัส อาจรวมถึงอาการต่อไปนี้ด้วย เช่น เคืองตา เจ็บตา ตาแดง ตาแฉะ ตาไวต่อแสง และเนื่องจากโรคโควิดสามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านการสัมผัสกับดวงตาได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา เช่น แว่นตาป้องกันโควิด หรือเฟซชิลด์ เพื่อป้องกันดวงตาจากละอองน้ำลายที่อาจมีไวรัสปะปน โดยผู้ที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสทางตาและมีผลตรวจโควิดเป็นผลบวกนั้น อาจมีอาการของเยื่อบุตาอักเสบ หรือในบางคนก็ไม่มีอาการ

 

น้ำตาไหล ตาแฉะ กับโควิด


ในการศึกษาเกี่ยวกับอาการน้ำตาไหลออกมาจากดวงตา ไหลอาบแก้ม หรือมีอาการตาแฉะ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคไขข้ออักเสบ การเกิดแผลที่กระจกตา และการติดเชื้อที่ดวงตา บางรายเกิดจากโรคต้อหินและจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งไม่อาจเหมารวมว่าหากคุณมีอาการน้ำตาไหลหรือตาแฉะจะเป็นเพราะได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัสเสมอไป เพราะบางครั้งน้ำตาที่มากเกินไปอาจเกิดขึ้นจากอาการทั่วไปที่เกิดจากการแพ้ ซึ่งวิธีการบรรเทาอาการคือ ใช้ยาแก้แพ้ การประคบเย็น การเปลี่ยนคอนแทคเลนส์​ (ในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์)​ และพักการจ้องหน้าจอ จะช่วยให้แก้ปัญหาตาแฉะได้ แต่หากทำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์ 

 

อาการตากระตุกเป็นสัญญาณของโควิดหรือไม่

 

ตากระตุกไม่ได้ระบุว่าเป็นอาการทางตาของโควิด อย่างไรก็ตาม โควิดอาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทในผู้ป่วยบางราย เคยมีรายงานผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการทางระบบประสาทของโควิด และมีอาการกระตุกบนใบหน้าซึ่งรวมถึงตากระตุกด้วยก็เคยเกิดขึ้น ทั้งนี้ อาการกระตุกของตาเป็นอาการกระตุกของเปลือกตาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมักจะกินเวลาไม่กี่นาที โดยอาการตากระตุก (Myokymia) อาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น การแพ้คาเฟอีน ตาแห้ง ความเครียด หรือปัญหาทางโภชนาการ ฯลฯ ซึ่งอาการนี้จะหายไปเอง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตากระตุกบ่อยๆ ควรไปพบจักษุแพทย์จะดีที่สุด  

 

ทำไมคนเป็นตากุ้งยิงสูงขึ้นมากในช่วงการระบาดของโควิด


นอกจากอาการเกี่ยวกับดวงตาที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคโควิดจะมีทั้งสาเหตุที่มาจากการติดเชื้อโควิดจริงๆ กับอาการของดวงตาที่ไม่ได้เกิดจากโควิด แต่เป็นสาเหตุมาจากอาการแพ้ทั่วไปแล้ว ในช่วงนี้ยังมีอาการเกี่ยวกับดวงตาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด นั่นคือ ‘ตากุ้งยิง’ ซึ่งข้อมูลจาก พญ.ศศิ ใหญ่สว่าง จักษุแพทย์ ได้ให้ความเห็นและข้อแนะนำเพื่อป้องกันตากุ้งยิงว่า “จากการพบ #ตากุ้งยิง สูงขึ้นมาในช่วงการระบาดของ #โควิด19 พบข้อสังเกตนี้ใน UK และ US เช่นกัน สันนิษฐานเบื้องตันว่า เกิดจากการใส่ #หน้ากากอนามัย ไม่พอดี หน้ากากเลื่อนขึ้นมาสัมผัสขอบตาบ่อยครั้ง จึงพาเชื้อบริเวณผิวหนังขึ้นมาติดบริเวณต่อมไขมันเปลือกตามากขึ้น แนะนำให้ซีลขอบบนหน้ากากให้รัดกุมจะช่วยได้ ส่วนอาการตาแห้งจะเรียกว่าเป็น ‘ภาวะตาแห้งจากหน้ากาก’ หรือ Mask Associated Dry Eye (MADE) เกิดจากลมรั่วขึ้นมาทางขอบด้านบนของหน้ากาก เป่าตา ทำให้ตาแห้ง ป้องกันได้ด้วยวิธีการเดียวกันคือการซีลขอบบนของหน้ากากอนามัยให้มิดชิด โดยใช้หน้ากากที่มีโครงเหล็กแนบกับผิวหนัง หรือติดเทปก็ช่วยได้” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising