×

นักวิจัยแนะ เพิ่มเกณฑ์ ‘ระดับ​ 6’ ใช้กับ​เฮอริเคน​ที่นับวันยิ่งรุนแรง​ขึ้น

โดย Mr.Vop
08.02.2024
  • LOADING...

วิกฤตสภาพ​อากาศ​กำลังเปลี่ยนแปลง​โลกใบนี้ในแทบทุกด้าน แม้แต่ ‘มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน’ ที่เคยใช้เป็นมาตรฐาน​วัดความรุนแรงของพายุหมุน​เขตร้อน​กันมายาวนานก็ยังมาถึงทางตัน ระดับ 5 ที่เคยเป็นระดับสูงสุดยังไม่พอ อาจต้องพิจารณา​เพิ่มระดับสูง​สุดขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือ ‘ระดับ 6’ 

 

ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NHC เริ่มใช้มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความยุ่งยากในการสื่อสารกับประชาชน มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันจะแบ่งเฮอริเคนออกเป็น 5 หมวด ตามระดับความเร็วลม โดยเริ่มจากพายุ​หมุน​เขตร้อน​ที่มีความเร็ว​ลมใกล้​ศูนย์กลาง​สูงกว่าพายุ​โซน​ร้อน​เป็นต้นไป

 

แล้วพายุหมุน​เขตร้อน​คืออะไร

 

พายุหมุน​เขตร้อน​คือ พายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวในมหาสมุทรบริเวณ ‘เขตร้อน’ นั่นคือใกล้เส้นศูนย์สูตร 

 

สาเหตุที่พายุนี้หมุน เริ่มมาจากความร้อนของน้ำที่ผิวทะเลในระดับ 50 เมตรมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่งผลให้อากาศลอยตัวขึ้นกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่ออากาศบริเวณใจกลางของหย่อมความกดอากาศต่ำลอยตัวขึ้น จะเกิดที่ว่างด้านล่างให้ลมจากรอบด้านพัดเข้ามา ลมที่พัดเข้ามาจะไม่เดินทางเป็นเส้นตรง แต่จะ ‘เลี้ยวขวา’ ตามแรงคอริออลิส (Coriolis Force) เมื่อลมทุกสายมาพบกัน แรงลมที่ปัดไปทางขวาจะทำให้แกนกลางของหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และจากนี้ไป หากปัจจัยคือความร้อนของน้ำทะเลยังคงมีอยู่ การยกตัวจะเกิดต่อเนื่อง แกนกลางก็จะหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็กลายเป็นดีเปรสชัน (ในซีกโลกใต้ลมจะพัดเลี้ยวซ้ายตรงข้ามกัน พายุหมุนเขตร้อนในซีกโลกใต้จึงหมุนตามเข็มนาฬิกา)

 

ดีเปรสชันนั้นถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนระดับเริ่มต้นที่ยังไม่มีการตั้งชื่อเรียก (ทาง WMO จะตั้งหมายเลขเอาไว้เรียกแทนชื่อ) หากน้ำทะเลใต้พายุลดอุณหภูมิลง ดีเปรสชันลูกนั้นก็จะมีโอกาสอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำได้อีกครั้ง แต่หากน้ำทะเลยังคงร้อน ความเร็วลมที่หมุนอยู่ในบริเวณศูนย์กลางพายุก็จะยังคงเพิ่มขึ้น ในที่สุดดีเปรสชันก็จะกลายเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งจะมีการตั้งชื่อเรียกเอาไว้ล่วงหน้า แยกไปตามกฎการตั้งชื่อของประเทศที่รับผิดชอบ และหลังจากนั้น หากพายุโซนร้อนยังคงมีความเร็วลมเพิ่มขึ้นไปอีกก็จะกลายเป็นเฮอริเคน และจากจุดนี้ มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันก็จะเข้ามามีบทบาทต่อไป

 

 

เฮอริเคนแตกต่างจากไซโคลนหรือไต้ฝุ่นหรือไม่

 

คำตอบคือไม่ เฮอริเคน ไซโคลน หรือไต้ฝุ่น เป็นพายุหมุนเขตร้อนในระดับเดียวกัน แต่ที่มีชื่อเรียกไม่เหมือนกันเพราะเป็นการเรียกแยกไปตามมหาสมุทรอันเป็นถิ่นกำเนิด คือหากก่อตัวขึ้นบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับแถบบ้านเรา ก็จะเรียกว่าไต้ฝุ่น หากไปก่อตัวในมหาสมุทรที่ติดกับสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแอตแลนติกหรือฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ก็จะเรียกว่าเฮอริเคน นอกเหนือจาก 2 กลุ่มนี้ พวกที่ไปก่อตัวในมหาสมุทรอื่น เช่น มหาสมุทรอินเดียหรือแปซิฟิกใต้ เราจะเรียกรวมๆ กันว่าไซโคลน 

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน ทำไมต้องเพิ่มระดับ 6

 

หลังจากเริ่มใช้งานมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันเป็นต้นมา ก็มีการปรับแก้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้สามารถใช้สื่อสารได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มาตรานี้มีลักษณะเป็นแบบปลายเปิด คือหลังจากระดับที่ 5 หรือความเร็วลมที่เกินกว่า 70 เมตรต่อวินาทีแล้ว มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันก็ไม่อาจแยกแยะความเร็วลมได้อีกต่อไป ส่งผลให้การวางแผนรับมือความเสียหายที่เกิดขึ้นของหน่วยงานรัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น  

 

 

ธรรมชาตินำหน้าเราก้าวหนึ่งเสมอ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2013) มีพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมเกินระดับ 5 จนสามารถนับเป็นระดับ 6 ก่อตัวขึ้นถึง 5 ลูก เช่น เฮอริเคนแพทริเซียในปี 2015 ที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุสูงที่สุดในโลกคือ 345 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 95.8 เมตรต่อวินาที โชคดีที่พายุลูกนี้อ่อนกำลังลงก่อนขึ้นฝั่งประเทศเม็กซิโก และยังขึ้นฝั่งที่รัฐฮาลิสโกซึ่งมีประชากรเบาบาง ทำให้ความสูญเสียค่อนข้างน้อย ตรงข้ามกับไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในปี 2013 ที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุ 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 87.5 เมตรต่อวินาที แต่พายุลูกนี้กลับเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ที่จังหวัดซีลางังซามาร์ที่มีประชากรหนาแน่น โดยไม่ลดความเร็วลมลงเลย จึงสร้างความสูญเสียมากมายระดับประวัติศาสตร์ คือมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,350 คน

 

สภาวะโลกร้อนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของกระแสน้ำอุ่นบนผิวทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีการประเมินว่าในอนาคต แม้จำนวนของเฮอริเคนที่เกิดในแต่ละปีจะไม่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือโอกาสที่จะเกิดเฮอริเคนที่มีความเร็วลมสูงมากๆ และเฮอริเคนลักษณะนี้มีโอกาสก่อตัวขึ้นในทุกน่านน้ำ 

 

ไมเคิล เวห์เนอร์ (Michael Wehner) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Berkeley ของสหรัฐฯ และนักวิจัยร่วม เจมส์ คอสซิน (James Kossin) รวมทั้งทีมงาน มีความเห็นว่า มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน น่าจะถึงเวลาที่ต้อง ‘อัปเกรด’ ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ไม่เช่นนั้นการประเมินความเสี่ยงในการรับมือมหันตภัยอย่างเฮอริเคนระดับ 6 จะผิดพลาด หากเรามีมาตรวัดที่สิ้นสุดแค่เฮอริเคนระดับ 5 เหมือนทุกวันนี้

 

ทีมงานเสนอให้มีการเพิ่มระดับ 6 ที่ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 86 เมตรต่อวินาที หรือ 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป 

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นแย้งมาจาก ไมเคิล เบรนแนน (Michael Brennan) ผู้อำนวยการศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ (NHC) ของ NOAA ในแง่ที่ว่าความสูญเสียด้านชีวิตส่วนใหญ่ที่เกิดจากเฮอริเคนไม่ได้เกิดจากความเร็วลมโดยตรง แต่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งแบบสตอร์มเซิร์จ (Storm Surge) ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน หรือการก่อตัวของทอร์นาโดระหว่างการขึ้นฝั่งของเฮอริเคน การอัปเกรดมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันจึงไม่ใช่เรื่องที่ทางหน่วยงานสนใจ

 

กลับมาทางด้านทีมงานของ ไมเคิล เวห์เนอร์ ที่สรุปทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันที่ใช้งานกันมาอย่างยาวนานน่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย ตามขั้นตอนหลังจากนี้คงต้องมีการจัดอภิปรายครั้งใหญ่ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นด้านผังเมือง ด้านจิตวิทยา และอีกมากมาย กว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ที่เกิดขึ้นไปแล้วคือเฮอริเคนที่มีความเร็วลมในระดับที่น่ากลัว นี่คือจุดมุ่งหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ที่เตือนให้เราตระหนักรู้ว่า โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ และเราต้องหันมาสนใจอย่างจริงจัง

 

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน PNAS เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2024 https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2308901121

 

ภาพปก: NOAA via Getty Images

อ้างอิง: 

FYI
  1. ทาง WMO ใช้ตัวเลขตั้งแต่ 90-99 ตามด้วยอักษรแทนน่านน้ำต่างๆ เพื่อเรียกหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อหมด 99 แล้วให้กลับไปใช้ 90 ใหม่ 
  2. ใช้ตัวเลข 01 เป็นต้นไปเพื่อเรียกดีเปรสชัน โดยเริ่มนับใหม่ทุกปี
  3. อักษรแทนน่านน้ำประกอบด้วย
    A – ทะเลอาราเบียน
    B – อ่าวเบงกอล
    C – โซนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก
    E – โซนตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก
    L – มหาสมุทรแอตแลนติก
    P – ทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก (135°E – 120°W)
    S – มหาสมุทรอินเดียใต้เส้นศูนย์สูตร (20°E – 135°E)
    W – โซนตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ตามกฎด้านบน เราจึงเห็นการเรียกหย่อมความกดอากาศต่ำในลักษณะ ‘90A’ หรือ ‘91W’ และเห็นการเรียกดีเปรสชันในลักษณะ ‘01E’ เป็นต้น ตามเว็บรายงานอากาศสากลรวมทั้งภาพดาวเทียมต่างๆ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising