×

เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นอีกครั้ง หรือสงครามจะเกิดขึ้นจริง?

29.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ ขีปนาวุธพุ่งทะยานผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นบริเวณทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด ก่อนที่จะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก นับเป็นการทดสอบครั้งที่ 5 ที่ทิศทางของขีปนาวุธพุ่งทะยานผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่น และนับเป็นครั้งที่ 14 แล้วในปีนี้ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น
  • ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามที่จะผลักดันให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจาหารือกัน ซึ่งดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาด้วยสันติวิธี ดูจะเป็นทางออกเดียวที่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายน้อยที่สุด

     การเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจและจับจ้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เกาหลีเหนือเดินหน้าเต็มสูบในการทดสอบขีปนาวุธโดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก จำนวนครั้งในการทดสอบที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ จากเพียง 5 ครั้งในปี 2016 แต่ปีนี้เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธไปแล้วถึง 14 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น

     อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศที่ประชาคมโลกต้องรีบจัดการแก้ไขอย่างแท้จริง

 

Photo: JUNG Yeon-Je/AFP

Photo: Kazuhiro NOGI/AFP

 

     เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ ประมาณ 6.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าขีปนาวุธลูกนี้อาจถูกยิงจากฐานทัพใกล้กรุงเปียงยาง ก่อนที่ขีปนาวุธจะพุ่งทะยานผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นบริเวณตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด ก่อนที่จะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทางทิศตะวันออกของญี่ปุ่นไปเพียง 1,180 กิโลเมตรเท่านั้น นับเป็นการทดสอบครั้งที่ 5 ที่ทิศทางของขีปนาวุธพุ่งทะยานผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่น ส่งผลให้เหตุการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นอีกระลอก

     พาดหัวหนึ่งใน Rodong Sinmun หนังสือพิมพ์ทางการของกองทัพเกาหลีเหนือ ใจความว่า “สหรัฐฯ ควรรู้ไว้ว่ามาตรการต่างๆ ที่จะคว่ำบาตรและกดดันเกาหลีเหนือทั้งด้านเศรษฐกิจและกำลังทางทหารนั้น ไม่อาจทำให้เราถอยหนีจากเส้นทางที่พวกเราเลือกเดินไว้แล้วได้” เป็นเครื่องยืนยันว่า เกาหลีเหนือจะยังคงเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธและพัฒนาเครื่องมือนี้ให้ทรงพลังและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของตน

 

Photo: STR/JIJI PRESS/AFP

 

เสียงตอบโต้และมาตรการกดดันที่ไร้ผลจากประชาคมโลก

     ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า “การยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดเมื่อเช้านี้คือสิ่งที่ทางการญี่ปุ่นไม่ได้คาดคิดหรือสืบทราบมาก่อน มันคือภัยคุกคามที่ร้ายแรงมากสำหรับญี่ปุ่น” รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นที่จะต้องหามาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้ และยืนยันว่า “สหรัฐฯ จะยืนหยัดอยู่ข้างญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์”

     ในทางทฤษฏีแล้ว มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และชาติพันธมิตรอื่นๆ ถือว่ายังคงอยู่ในสถานะเป็นคู่สงครามกับเกาหลีเหนือ เนื่องจากสมรภูมิสงครามเกาหลีในปี 1950-1953 นั้นเป็นเพียงการพักรบและหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้จบลงด้วยการเจรจาสงบศึกในสนธิสัญญาสันติภาพแต่อย่างใด

     สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการป้องปราม ต่อต้านการครอบครอง และทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และทวีความเข้มข้นขึ้นทุกระยะ โดยเฉพาะในปีนี้ที่เกาหลีเหนือมีท่าทีไม่เกรงกลัวต่อมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ เลย แม้จะมีการยกระดับมาตรการกดดันทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

 

Photo: SAUL LOEB, Ed JONES/AFP

 

     เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ต่างทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดอีกครั้ง หลังจากที่กองทัพเกาหลีเหนือขู่จะยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีเกาะกวม หนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ เกิดเป็น ‘สงครามน้ำลาย’ ระหว่างสองผู้นำประเทศและชาติพันธมิตรอื่นๆ จนหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะบานปลายกลายเป็นสงครามที่ใช้กำลังห้ำหั่นกันขึ้นมา

     ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทั้ง 15 ชาติสมาชิก เตรียมนัดประชุมหารือในประเด็นการทดสอบและครอบครองขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างเร่งด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะมนตรีความมั่นคงฯ จะมีมติเห็นชอบต่อการยกระดับมาตรการในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งใหม่อย่างเป็นเอกฉันท์

     โดยมาตรการคว่ำบาตรเพื่อเป็นการลงโทษเกาหลีเหนือในครั้งนั้นมุ่งเป้าไปที่สินค้าส่งออกที่สำคัญของเกาหลีเหนือ เช่น ถ่านหิน, แร่เหล็ก, ตะกั่ว และอาหารทะเล รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินและเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับเกาหลีเหนือโดยเด็ดขาด นับว่าเป็นมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่รุนแรงที่สุด ซึ่งสามารถตัดช่องทางรายได้ของเกาหลีเหนือกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของเกาหลีเหนือเลยทีเดียว

     แต่ดูจากท่าทีและสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ณ ขณะนี้แล้ว ดูเหมือนว่า การป้องปรามเกาหลีเหนือด้วยมาตรการกดดันและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่มหาอำนาจและสหประชาชาติมีต่อเกาหลีเหนือจะยังใช้ไม่ได้ผล ทั้งนี้ประชาคมโลกจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่สั่นคลอนความมั่นคงระหว่างประเทศมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนกว่าเกือบ 4 ทศวรรษ

 

Photo: JUNG Yeon-Je/POOL/AFP

 

ประชาคมโลกทำได้เพียงแค่ดำเนินมาตรการกดดันจริงหรือ

     ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามที่จะผลักดันให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจาหารือกัน ซึ่งดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีโดยการเจรจาดูจะเป็นทางออกเดียวที่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายน้อยที่สุด แต่ติดตรงที่การกำหนดข้อตกลงที่จะเจรจากันเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเกาหลีเหนือมองว่า การครอบครองและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยปกป้องประเทศและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนไว้ได้จากการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกและชาติพันธมิตร

     โดยผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือต่างเห็นบทเรียนจากผู้นำประเทศอื่นๆ อย่าง ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรัก และ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ที่ท้ายที่สุดก็ยอมอ่อนข้อให้กับชาติตะวันตก จนถูกกองทัพสหรัฐฯ สังหารและโค่นล้มอำนาจในที่สุด ซึ่งทางการเกาหลีเหนือมองว่า จุดจบเช่นนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับประเทศของตนอย่างแน่นอน

 

Photo: Toru YAMANAKA/AFP

 

     สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงคุกรุ่นและเต็มไปด้วยสภาวะกดดันและน่าอึดอัดใจที่ต่างฝ่ายต่างป้องปรามซึ่งกันและกัน ซึ่งความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้มาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemptive Strike) ถือว่าเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก หากเลือกใช้วิธีการนี้เข้าห้ำหั่นกัน โดยเฉพาะเกาหลีเหนือเองที่แทบจะไม่มีทางใช้มาตรการนี้ชิงโจมตีสหรัฐฯ ก่อนอย่างแน่นอน โดยดูจากกำลังรบและแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ ที่จะผนึกกำลังกับชาติพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งออสเตรเลียอีกด้วย

 

Photo: Kazuhiro NOGI/AFP

 

     รศ. ดร. กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และรักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า “มีความเป็นไปได้น้อยที่ความขัดแย้งในครั้งนี้จะกลายเป็นสงครามที่ใช้กำลังเข้าโจมตีห้ำหั่นกัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะหากจะต้องขอความชอบธรรมจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วยแล้ว ชาติมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และพันธมิตรที่ใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนืออาจจะคัดค้านต่อประเด็นดังกล่าว”

     “เนื่องจากการหายไปของเกาหลีเหนือในแผนที่โลกจะส่งผลเสียต่อจีนและประเทศข้างเคียงเป็นอย่างมาก จะเกิดกระแสผู้อพยพไหลทะลักเข้าประเทศ พร้อมกันนี้ จีนจะเสียรัฐกันชนที่เปรียบเสมือนเป็นป้อมคอยกันมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะฐานทัพสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ไม่ไกลจากพรมแดนทางด้านทิศตะวันออกของจีน ซึ่งจะทำให้การป้องปรามของจีนยากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาวะตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงดำเนินต่อไปอีกสักระยะ”

     ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่า สงครามน้ำลายระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะไปสิ้นสุดลงที่ใด เกาหลีเหนือจะยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจาหาข้อยุติในเรื่องนี้หรือไม่ สหรัฐฯ ชาติพันธมิตร และประชาคมโลกจะทำอย่างไร หากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ต่อไป… และเมื่อไรที่สถานการณ์ความตึงเครียดที่น่าอึดอัดใจนี้จะจบลงไปเสียที

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising