×

NASA จับมือ Nikon พัฒนากล้องสำหรับนักบินอวกาศถ่ายภาพบนดวงจันทร์

01.03.2024
  • LOADING...

NASA ร่วมมือกับ Nikon พัฒนากล้องถ่ายภาพ Mirrorless สำหรับนักบินอวกาศใช้บันทึกภาพและวิดีโอบนพื้นผิวดวงจันทร์ กับการเดินทางกลับไปสำรวจครั้งแรกในรอบนานกว่า 54 ปี

 

ภารกิจอาร์ทีมิส 3 ที่มีกำหนดออกเดินทางในเดือนกันยายน 2026 จะเป็นครั้งแรกที่มีนักบินอวกาศเดินทางไปลงสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ นับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 17 เมื่อเดือนธันวาคม 1972 โดยการลงจอดของอาร์ทีมิส 3 จะเกิดขึ้นที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องแสงสว่าง และอุณหภูมิที่สุดขั้วบนพื้นผิว ทำให้มีการพิจารณากล้องถ่ายภาพที่เหมาะสมกับการบันทึกรายละเอียดสภาพแวดล้อมได้อย่างคมชัด และไม่มีปัญหาต่อการใช้งานโดยนักบินอวกาศ

 

พื้นที่บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ ได้รับความสนใจในการสำรวจจากนานาประเทศ จากการตรวจพบน้ำจำนวนมากในบริเวณที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง เช่นเดียวกับการศึกษาตัวอย่างหินที่อาจไขปริศนาประวัติศาสตร์ระบบสุริยะของเราได้ แต่ก็มีความท้าทายจากอุณหภูมิที่แปรผันรุนแรง โดยพื้นที่ที่สัมผัสแสงอาทิตย์มีอุณหภูมิ 54 องศาเซลเซียส แต่ในเงามืดนั้นอาจเย็นถึง -203 องศาเซลเซียส และยังมีปัจจัยของเงามืดที่ทอดยาวจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า

 

ในความร่วมมือนี้ NASA กับ Nikon จะพัฒนากล้องถ่ายภาพ Handheld Universal Lunar Camera หรือ HULC เพื่อเป็นกล้องถ่ายภาพมาตรฐานสำหรับใช้งานบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยมีพื้นฐานมาจากกล้อง Nikon Z 9 และเลนส์ Nikkor ที่ถูกดัดแปลงหุ้มด้วยผ้ากันความร้อนของ NASA เพื่อปกป้องกล้องจากฝุ่นและอุณหภูมิบนดวงจันทร์ เช่นเดียวกับกริปแบบพิเศษเพื่อให้นักบินอวกาศที่สวมใส่ถุงมือค่อนข้างหนา ยังสามารถใช้งานกล้องได้ตามปกติ

 

กล้อง HULC จะเป็นกล้อง Mirrorless ตัวแรกที่ถูกนำไปใช้บนดาวดวงอื่น โดยมีความสามารถในการบันทึกวิดีโอจากขั้วใต้ดวงจันทร์ได้ในตัวเดียว โดยที่นักบินอวกาศไม่จำเป็นต้องนำกล้องถ่ายภาพนิ่ง และกล้องวิดีโอลงไปบนพื้นผิว เหมือนกับที่เคยเป็นในสมัยโครงการอพอลโล

 

ก่อนที่ HULC จะถูกใช้กับภารกิจอาร์ทีมิส 3 NASA ได้วางแผนให้นักบินอวกาศนำไปทดลองใช้ในสภาพแวดล้อมจำลองบนโลก เพื่อตรวจดูความสามารถในการบันทึกรายละเอียดที่สำคัญด้านธรณีวิทยา เช่นเดียวกับส่งขึ้นไปทดสอบใช้โดยนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นลำดับถัดไป

 

ภาพ: NASA

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising