×

NASA ยกเลิกโครงการดาวเทียมตรวจจับก๊าซเรือนกระจก เหตุสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

30.11.2022
  • LOADING...
NASA

วานนี้ (29 พฤศจิกายน) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ประกาศยกเลิกแผนพัฒนาดาวเทียมสำหรับตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มหาศาล และมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยระบุว่าจะใช้แนวทางอื่นในการสังเกตการณ์แทน

 

NASA ระบุว่า ภารกิจ GeoCarb ซึ่งในเบื้องต้นตั้งใจให้เป็นดาวเทียมต้นทุนต่ำสำหรับติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ต้องถูกยกเลิกไปเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเมื่อ 6 ปีก่อนที่มีการประกาศโครงการนี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่คาดการณ์ไว้คือ 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขล่าสุดนั้นกลับพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

เจ้าหน้าที่ของ NASA ระบุว่า ดาวเทียมในโครงการ GeoCarb นั้นแตกต่างจากดาวเทียมอื่นๆ ที่เฝ้าติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวงโคจรต่ำ โดย GeoCarb จะส่งขึ้นสู่ระดับความสูงที่ราว 35,786 กิโลเมตรจากตำแหน่งคงที่ในวงโคจร และมุ่งเน้นเฝ้าสังเกตการณ์ในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้โดยเฉพาะ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการทำงานมาก และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่างบประมาณเบื้องต้นที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังใช้เวลามากกว่าที่ประเมินไว้ด้วย โดยก่อนที่จะตัดสินใจยกเลิกภารกิจ NASA ได้ทุ่มเงินในโครงการดังกล่าวไปแล้วกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะไม่เพิ่มเงินเพื่อสานต่อโครงการนี้ให้แล้วเสร็จ

 

อย่างไรก็ตาม แคเรน เซนต์ เจอร์เมน ผู้อำนวยการของ NASA Earth Sciences ระบุว่า การยกเลิกภารกิจนี้ไม่ได้หมายความว่า NASA ลดความพยายามในด้านการเฝ้าติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เพราะ NASA จะยังคงใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการเฝ้าสังเกตการณ์ แต่จะเป็นในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

 

อนึ่ง การเฝ้าระวังก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนนั้น เป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมากในหลายมิติ เช่น สามารถช่วยระบุการรั่วไหลของก๊าซมีเทนได้ หรือช่วยตรวจสอบบริษัทและประเทศที่ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ทำการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ผ่านดาวเทียม นอกเหนือจากดาวเทียมของหน่วยงานรัฐ

 

ภาพ: NASA/Lockheed Martin/University of Oklahoma

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising