×

ลัดเลาะเส้นทางประวัติศาสตร์! พาชม 10 ตึกยุคโคโลเนียลในย่างกุ้ง ภาพสะท้อนความรุ่งเรืองเหนือกาลเวลา

15.02.2019
  • LOADING...
myanmar-yangon-colonial-buildings

‘ย่างกุ้ง’ อดีตเมืองหลวงของเมียนมา เมืองที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาในช่วงที่ประเทศกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นจึงมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกอยู่มาก

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

อดีตศูนย์กลางการบริหารประเทศของเมียนมาแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ชเวดากอง 1 ใน 5 มหาบูชา สถานที่ที่พุทธศาสนิกชนในเมียนมาให้ความเคารพบูชาสูงสุด โดยมีวัดและเจดีย์ต่างๆ มากมายกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางด้านศาสนาที่ยังคงซึมลึกอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่จวบจนปัจจุบัน

 

นอกจากย่างกุ้งจะเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าบรรดานักเดินทางสายบุญทั้งหลายแล้ว เมืองแห่งนี้ยังมีความสวยงามของอาคารสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ถ้ายังพอมีเวลาเหลือราวๆ สัก 1-1.30 ชั่วโมง THE STANDARD ขอแนะนำให้คุณเดินลัดเลาะบนเส้นทางประวัติศาสตร์ ชมความงามสไตล์ตะวันตกที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้

 

ไม่แน่ว่าตึกยุคโคโลเนียลที่เห็นอยู่เบื้องหน้าอาจทำให้คุณลืมนึกไปชั่วขณะว่าคุณกำลังอยู่ในทวีปเอเชีย อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมา

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

โดยเราจะเริ่มต้นกันที่ Maha Bandoola Park สวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์แห่งอิสรภาพ นับตั้งแต่เมียนมาประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 ซึ่งชื่อของสวนสาธารณะมีที่มาจากชื่อของนายทหารระดับสูงของเมียนมา ผู้เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษในช่วงสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 1 เมื่อปี 1824-1826

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

1. Yangon City Hall (No.31)

หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของย่างกุ้ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ Maha Bandoola Park อยู่ใกล้กับเจดีย์สุเลสีทองอร่ามตาที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 2,000 ปี Yangon City Hall เป็นอาคารหลังใหญ่ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวเมียนมา และสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930

 

อาคารหลังนี้สะท้อนศิลปวัฒนธรรมและความเป็นเมียนมาได้อย่างเด่นชัด มองผิวเผินคล้ายป้อมปราการขนาดยักษ์ หลังคามีลักษณะเป็น ‘เปี๊ยะตั๊ด’ (Pyatthat) คล้ายกับปราสาทขนาดเล็ก ยอดบนสุดมีลักษณะปลายแหลมคล้ายฉัตร มีพญานาคหรืองูยักษ์ตามความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดูอยู่บริเวณทางเข้าและออกทั้งสองข้าง ซึ่งสีของอาคารยุคโคโลเนียลหลังนี้ได้รับการปรับโฉมมาแล้วหลายครั้ง จากสีครีมมาเป็นสีม่วงอ่อน และจบลงด้วยสีขาวอย่างเช่นในปัจจุบัน

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

2. Rowe & Company Building (No.32)

จุดเช็กอินที่ 2 เป็นอาคารสไตล์วิกตอเรียน อยู่ติดกับ Yangon City Hall เป็นอดีตห้างสรรพสินค้า Rowe & Co. หรือรู้จักกันดีในชื่อ Harrods of the East หนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่เคยมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1911 ก่อนที่ในช่วงทศวรรษ 1960 จะกลายเป็นสถานที่ราชการและศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองที่สำคัญของประเทศ

 

นับตั้งแต่มีการย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังกรุงเนปิดอว์เมื่อปี 2006 อาคารยุคโคโลเนียลหลังนี้ก็ว่างลง มีนายทุนพยายามที่จะปรับเปลี่ยนอาคารหลังนี้ให้กลายเป็นโรงแรมสุดหรู ก่อนที่จะกลายเป็นพื้นที่ตั้งของธนาคาร Ayeyarwady Bank ในที่สุด ถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของใจกลางย่างกุ้ง

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

3. Central Telegraph Office (No.36)

เดินตามถนน Maha Bandoola ไปทางทิศตะวันออกอีกสักระยะ เราจะพบที่ทำการโทรเลขกลางตั้งอยู่บริเวณหัวมุม อาคาร 4 ชั้นหลังนี้สร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายทศวรรษ 1920 โดย 10 ปีต่อมาอาคารยุคโคโลเนียลหลังนี้กลายเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารที่สำคัญที่สุดของประเทศ ที่ทำการโทรเลขกว่า 656 แห่งทั่วประเทศถูกเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิลกว่า 50,000 กิโลเมตร เป็นอาคารที่ช่วยให้เมียนมาสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้

 

คุณรู้หรือไม่ การมีโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดไว้ใช้เพิ่งเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ในอดีตเมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกน้อยที่สุดในโลก อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมักหายากและมีราคาแพง หลังจากที่เมียนมามีการเปิดประเทศและยินยอมให้บริษัทด้านการสื่อสารของต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้การติดต่อสื่อสารในประเทศนี้พัฒนาขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ปัจจุบันอาคารสื่อสารหลังนี้ยังคงเปิดให้บริการแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

4. Yangon High Court Building (No.37)

เดินเลี้ยวขวาลงมาทางทิศใต้ตามถนน Pandosan เราจะพบกับศาลสูงของเมียนมา อาคารยุคโคโลเนียลสีเหลืองและแดงหลังใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐ มีหอนาฬิกาขนาดใหญ่ที่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายใน Maha Bandoola Park สะท้อนกลิ่นอายของตะวันตกอย่างชัดเจน เคยเป็นสถานที่ตัดสินคดีของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการระดับสูงในช่วงอาณานิคม

 

ศาลสูงแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นอาคารหลังแรกๆในย่างกุ้งที่มีห้องน้ำ ระบบท่อประปา และระบบไฟฟ้าใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่อาคารหลังนี้ก็ทรุดโทรมลงอย่างมากในช่วงที่เผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลเนวินทำรัฐประหารและขึ้นบริหารประเทศ

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

คณะผู้พิพากษาและตุลาการภายในศาลสูงแห่งนี้ตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองลำดับต้นๆ ก่อนที่นายพลเนวินจะยึดอำนาจไว้ได้ทั้งหมด รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการในกระบวนการยุติธรรมของประเทศเสียใหม่ โดยมีตนเองเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุด

 

ภายหลังปี 2006 ศาลสูงสุดได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ อาคารหลังนี้ถูกลดระดับให้เป็นเพียงศาลประจำภูมิภาค และเปิดพื้นที่ให้บริการแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

5. Lokanat Gallery (No.50)

เดินตามถนน Pandosan ต่อลงมาเรื่อยๆ จนข้ามถนน Merchant จะพบตึกสีเหลืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่หัวมุมทางซ้ายมือ อาคารยุคโคโลเนียลแห่งนี้มีชื่อว่า Lokanat Gallery เดิมทีรู้จักกันในชื่อ Sofaer Building เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินชาวเมียนมาและเป็นแหล่งซื้อขายสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเบียร์เยอรมนี วิสกี้สกอตช์ ซิการ์อียิปต์ ขนมหวานจากอังกฤษ และร้านตัดผมของช่างชาวฟิลิปปินส์

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

ปัจจุบันภายในอาคารแห่งนี้ยังคงถูกเช่าพื้นที่และประกอบไปด้วยกิจการต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘Gekko’ ไฮไลต์สำคัญของร้านอาหารแห่งนี้ซึ่งอาจจะรวมถึงตัวอาคารทั้งหลังคือพื้นกระเบื้องโมเสกที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นกระเบื้องหลากสีสันทั้งสีเขียว สีทอง สีดินเผา และสีฟ้าจากหินลาพิส ลาซูรี ซึ่งนำเข้ามาจากเมืองแมนเชสเตอร์นับตั้งแต่ปี 1906 อีกทั้งยังมีคานเหล็กคุณภาพดีที่นำเข้ามาจากโรงงานเหล็กในสกอตแลนด์ภายหลังจากที่อังกฤษผ่านพ้นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมไปแล้วสักระยะหนึ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งอาคารที่ยังคงทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวในอดีตช่วงที่ประเทศนี้อยู่ใต้อาณานิคมได้เป็นอย่างดี

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

6. Rander House (No.45)

อาคารยุคโคโลเนียลทรงสี่เหลี่ยมนี้ตั้งอยู่ตรงข้าม Lokanat Gallery บริเวณหัวมุมถนนเป็นอาคาร 5 ชั้นสีนวลสะอาดตา ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1930 โดยกลุ่มพ่อค้าอินเดียที่เดินทางมาจากเมือง Rander ที่ตั้งอยู่ในรัฐคุชราต ทางทิศตะวันตกของอินเดีย

 

ภายหลังจากการประกาศเอกราช อาคารหลังนี้กลายเป็นสถานทูตปากีสถานประจำเมียนมา ก่อนที่จะถูกเช่าเป็นธนาคาร Dawson’s Bank สาขาย่างกุ้งอีกนานหลายปี ก่อนที่จะกลายเป็นพื้นที่ของกรมสรรพากร (Internal Revenue Department) ที่ทำหน้าที่รวบรวมรายได้ที่เกิดขึ้นภายในประเทศดังเช่นในปัจจุบัน

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

7. Accountant General’s Office (No.50)

หากเราเดินตามถนน Pandosan ต่อลงมาเรื่อยๆ จนสุดถนนที่บรรจบกับถนน Strand หัวมุมทางด้านขวามือของเราขณะนั้นจะเป็นที่ตั้งของอาคารหลังนี้ เป็นตึกยุคโคโลเนียลที่ถูกใช้เป็นแหล่งจัดทำบัญชีและประมวลรายได้ทั้งหมดจากกิจการและสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ การรถไฟ ศุลกากร การไปรษณีย์ โทรเลข หรือแม้แต่รายได้จากการค้าฝิ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินของเมียนมาที่จะป้อนเหรียญและธนบัตรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก โครงสร้างส่วนหนึ่งเคยถูกทำลายจากกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่เมียนมาจะประกาศเอกราชได้เพียงไม่นาน หลังจากนั้นอาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นศาลเยาวชนและพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเงินบำนาญ โดยพื้นที่หลายส่วนของตัวอาคารถูกปิดและไม่สามารถเข้าใช้งานได้ เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ทำจากไม้ ซึ่งปัจจุบันก็ผุพังตามกาลเวลา จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากยังเปิดให้ใช้บริการอยู่

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

8. Myanma Port Authority (No.55)

อีกฟากฝั่งหนึ่งของหัวมุมถนนทางซ้ายมือของเราเมื่อสักครู่ ตรงจุดที่ถนน Strand มาบรรจบ ตรงข้ามกับ Accountant General’s Office เป็นที่ตั้งของการท่าของเมียนมา อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญของย่างกุ้ง เมืองแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในเมืองท่าของอาณานิคมอังกฤษที่มีการติดต่อซื้อขายมากที่สุดในช่วงเวลานั้น เป็นเมืองท่าเนื้อหอมติดอันดับโลกที่พ่อค้าและนักลงทุนต่างชาติต่างต้องเดินทางมาค้าขายที่นี่

 

การท่าแห่งนี้มีระบบตรวจคนเข้า-ออกประเทศ ชาวต่างชาติที่เดินทางมาอาศัยในประเทศแห่งนี้จะต้องผ่านอาคารหลังนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นพ่อค้าจากอินเดีย ปัจจุบันนี้การท่าแห่งนี้ยังคงเปิดทำการตามปกติ โดยสินค้าทุกชนิดที่จะนำมาขายยังประเทศแห่งนี้ต้องผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตจากการท่านี้แทบทั้งสิ้น

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

9. Strand Hotel (No.56)

อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บนถนน Strand ไม่ไกลจากการท่าเมียนมา เป็นตึกยุคโคโลเนียลที่ยังคงเปิดให้ใช้บริการในฐานะโรงแรมสุดหรูที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำย่างกุ้ง สร้างขึ้นโดยสองพี่น้องชาวอาร์เมเนียน ซึ่งก่อนหน้านั้นเปิดกิจการโรงแรมในเมืองปีนังของมาลายา หรือมาเลเซียนในปัจจุบัน รวมถึงที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะขยายกิจการมายังเมืองย่างกุ้ง

 

โรงแรมแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยมีเพียง 3 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องพักที่เปิดไว้คอยบริการเพียง 31 ห้องเท่านั้น ภายในจัดตกแต่งอย่างสวยงามด้วยภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เฟอร์นิเจอร์สุดหรู พร้อมมีการแสดงดนตรีอย่างพิณเมียนมา หรือ Pattala (เครื่องดนตรีคล้ายระนาด ทำจากไม้ไผ่) บริเวณชั้น 1 ของโรงแรม

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

Strand Hotel ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่รัฐบาลเมียนมาพยายามที่จะใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับไฮคลาสให้ตัดสินใจเดินทางมาเยือนเมืองท่าที่สำคัญแห่งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

10. Bank of Bengal (No.26)

อาคารหลังที่ 10 ที่จะเป็นจุดเช็กอินจุดสุดท้ายของการลัดเลาะตามเส้นทางประวัติศาสตร์ในย่างกุ้งครั้งนี้คืออาคารยุคโคโลเนียลสีฟ้าขาวออกแนวพาสเทล ที่ตั้งอยู่หัวมุมถนน Strand มาบรรจบกับถนน Sule Pagoda ซึ่งอาคารหลังนี้เคยเป็นธนาคาร Bank of Bengal มาก่อน ก่อนที่จะขยับขยายและใช้ชื่อใหม่เป็น Imperial Bank ภายหลังจากที่ถูกควบรวมกิจการจาก Imperial Bank of India

 

Imperial Bank ถือเป็นธนาคารที่มีความสำคัญมากที่สุดธนาคารหนึ่งในยุคอาณานิคมของที่นี่ มีระบบเคลียริ่งเช็ก ให้บริการทางการเงินทั้งฝากถอนและกู้ยืมเงิน ภายหลังจากการประกาศเอกราช รัฐเข้าควบคุมกิจการดังกล่าวเอง ก่อนที่จะเป็นพื้นที่ของธนาคาร Myanmar Economic Bank สาขา 3 ดังเช่นปัจจุบัน

 

myanmar-yangon-colonial-buildings

 

นอกจากตึกยุคโคโลเนียลทั้ง 10 หลังที่ THE STANDARD พาชมไปเมื่อสักครู่แล้ว ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมที่สวยงามอีกมากมายภายในอดีตเมืองหลวงแห่งนี้ เตรียมแบตโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปให้พร้อม ไม่มีผิดหวังแน่นอน

 

วิธีการเดินทาง: สายการบิน Thai AirAsia มีเส้นทางบินจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองบินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งทุกวัน เช็กวันลาและแพ็กกระเป๋าเดินทางให้พร้อม แล้วไปลัดเลาะชมความงามของย่างกุ้งกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising